วิรัตน์ แสงทองคำ ว่าด้วยยุทธศาสตร์ภูมิภาค : ซีพีเอฟ-ไทยเบฟฯ (1)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ – ซีรี่ส์ว่าด้วยธุรกิจครอบครัวไทย กับยุทธศาสตร์ภูมิภาค มองผ่านเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กับเครือไทยเจริญ (ทีซีซี)

ซีพีเอฟ กับไทยเบฟเวอเรจ ธุรกิจไทย

มุ่งขยายเครือข่ายระดับภูมิภาค

อย่างเอาการเอางาน

ทั้งซีพีเอฟและไทยเบฟฯ ล้วนให้ภาพความสัมพันธ์กับบริบทและบุคลิกสังคมไทยอย่างน่าทึ่ง

กิจการหนึ่ง เริ่มต้นจากการพัฒนาเกษตรกรรมดั้งเดิม

อีกกิจการหนึ่ง พัฒนามาจากรากเหง้าระบบสัมปทานอันคลาสสิคที่ทรงอิทธิพล

ที่สำคัญ ทั้งสองเชื่อมโยงกับสังคมพื้นฐาน สังคมผู้บริโภคที่มีฐานกว้าง

ว่าด้วยยุทธศาสตร์ธุรกิจระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นบทบาทธุรกิจไทยที่ท้าทาย กำลังจะก้าวเป็นผู้นำธุรกิจอาเซียน บางคนมองว่า กลุ่มทีซีซีโดยเฉพาะกรณีไทยเบฟเวอเรจ เคลื่อนไหวเชิงรุกอย่างครึกโครม เข้มข้นอย่างน่าสนใจอย่างมากๆ

ผมได้เฝ้ามองและติดตามความเคลือนไหวดังกล่าวเช่นกันด้วยมุมมองที่แตกต่างออกไป

เช่นเดียวกันกับกรณีซีพีเอฟ ปรากฏความเคลื่อนไหว ซึ่งดูเป็นไปอย่างเงียบๆ แต่แผนการใหญ่อันแยบยล และก้าวไปอย่างรวดเร็ว

จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ซีพีเอฟ เริ่มต้นดำเนินแผนการใหม่ ด้วยปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ โดยไทยเบฟฯ เดินตามหลังจากนั้น ห่างกันถึง 4 ปี

14122387241412253757l
ปรับโครงสร้าง

ปี2542 “เข้าซื้อหุ้นสามัญของบริษัทจำกัดที่ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของเครือเจริญโภคภัณฑ์จำนวน 9 แห่ง ส่งผลให้กลุ่มบริษัทซีพีเอฟ มีการดำเนินธุรกิจสัตว์บกและสัตว์น้ำแบบครบวงจรครอบคลุมไปทั่วทุกภาคของประเทศ…เปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)” พร้อมกับประกาศวิสัยทัศน์ “ครัวของโลก” (Kitchen of the World)” ข้อมูลซีพีเอฟเอง (http://www.cpfworldwide.com/)

ให้ภาพที่มาของเครือข่ายกิจการใหม่ มาจากฐานธุรกิจดั้งเดิมก่อตั้งมานานแล้ว ส่วน “บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)” หรือซีพีเอฟ นั้น ได้เปลี่ยนชื่อมาจากกิจการผลิตอาหารสัตว์แห่งหนึ่ง ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2521 และเข้าตลาดหุ้นไทยมาแล้วตั้งแต่ปี 2530 ที่สำคัญซีพีเอฟ คือฐานธุรกิจหลักเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ในช่วงเกือบครึ่งศตวรรษก่อนหน้านั้น ก่อนที่ขยับขยายสู่ธุรกิจอื่นๆ

ส่วนกลุ่มทีซีซี พยายามปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจสุรา กิจการหลักที่เหลืออยู่ ซึ่งสามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2540 มาอย่างไม่มีปัญหา

ปี 2546 “มีการรวมตัวของบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบริษัทธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง 58 บริษัท เป็น บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ด้วยทุนจดทะเบียน 20,000 ล้านบาทในเดือนตุลาคม พ.ศ.2546 ต่อมามีการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 22,000 ล้านบาทในเดือนธันวาคม” (http://www.thaibev.com/)

นั่นคือ จุดกำเนิดบริษัทใหม่– ไทยเบฟเวอเรจ ซึ่งมักเรียกกันว่า “เบียร์ช้าง” ให้ความหมายเชื่อมโยงกับธุรกิจใหม่ของกลุ่มทีซีซีซึ่งก่อตั้งมายังไม่ถึงทศวรรษ เชื่อกันว่าจะเป็นอนาคตธุรกิจเครื่อดื่มแอลกอฮอล์ในยุคสมัยใหม่ ขณะเดียวกัน ให้ภาพธุรกิจซึ่งสลัดพ้นจากยุคสัมปทานสุราผูกขาด

“รัฐบาลเปิดเสรีอุตสาหกรรมเบียร์ในปี 2534 จึงมีผู้ขอตั้งโรงงานเบียร์หลายราย เบียร์ช้าง เป็นเบียร์ไทยยี่ห้อเดียวที่ใช้พยัญชนะไทยในฉลากเบียร์อย่างภาคภูมิในความเป็นไทยออกสู่ตลาดในปี 2538”

อย่างไรเสีย รากเหง้าดั้งเดิมยังคงอยู่ เป็นธุรกิจสำคัญของเครือข่ายธุรกิจอย่างไม่สั่นคลอน

“สัมปทานโรงงานสุราสิ้นสุดลงในปี 2542 และรัฐมีนโยบายเปิดเสรีการค้าสุรา บริษัท สุราบางยี่ขัน จำกัด ซึ่งอยู่ในเครือบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ชนะการประมูลซื้อโรงงานสุราบางยี่ขัน จังหวัดปทุมธานี และบริษัทในเครืออีก 11 บริษัท ชนะการประมูลซื้อโรงงานสุราของกรมสรรพสามิต 11 โรงงาน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) โดยบริษัทในเครือจึงมีโรงงานสุราที่ซื้อจากรัฐบาลทั้งหมด 12 โรงงาน และเริ่มดำเนินกิจการตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา” (อ้างแล้วข้างต้น)

เป็นเหตุการณ์หนึ่งไทยเบฟฯ บันทึกไว้ ควรเพิ่มเติมด้วยว่า ช่วงเวลาผ่านมากว่าทศวรรษ ความสำคัญธุรกิจสุรายังคงอยู่

ว่าไปแล้วแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจสุราและเบียร์เป็นบริษัทไทยเบฟเวอเรจ เพื่อจะนำกิจการเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ด้วยเผชิญแรงต่อต้านอย่างหนัก จึงได้ปรับแผนเข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์ (Singapore stock exchange) แทน สำเร็จในปี 2548


แผนการที่แตกต่าง

ซีพีเอฟ กับวิสัยทัศน์ “ครัวของโลก” ดำเนินไปตามแผนการการควบรวมกิจการ ผนึกกำลังเครือข่ายธุรกิจครบวงจรที่มีอยู่เดิม มุ่งสู่ปลายทาง เชื่อมกับผู้บริโภคโดยตรง ด้วยการสร้างแบรนด์สินค้าคอนซูเมอร์

แบรนด์ CP เกิดขึ้นในปี 2549 “เริ่มผลิตและจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทานภายใต้เครื่องหมายการค้าซีพี ออกจำหน่ายในประเทศไทยและต่างประเทศ” ตามมาด้วยแผนการสร้างเครือข่ายค้าปลีกสมัยใหม่ของตนเอง

ปี 2554 เปิดธุรกิจค้าปลีกรูปแบบซูเปอร์คอนวีเนียนสโตร์-CP FreshMart กับร้านอาหารบริการด่วน-CP Kitchen

ไทยเบฟฯ จากฐานธุรกิจสุราและเบียร์ที่มีอยู่แล้ว ก้าวสู่แผนการใหญ่ขึ้น กว้างขึ้น สู่ธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ ซี่งเป็นการก้าวสู่พรมแดนใหม่ แผนการเข้าซื้อกิจการจึงดูครึกโครมเป็นพิเศษ ไม่ว่ากรณี โออิชิ (2549) หรือ เสริมสุข (2555)

ขณะเดียวกันก็พยายามกวาดธุรกิจสุราและเกี่ยวข้องรายเล็กๆ ในประเทศไทย เข้ามาอยู่ในเครือข่ายอย่างเงียบๆ


เครือข่ายภูมิภาค

ซีพีเอฟ เดินหน้าอย่างรวดเร็ว ควบรวมกิจการในเครือข่ายดั้งเดิมของซีพี ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคอาเชียน แผนการดูราบรื่น จึงเข้าสู่แผนการใหญ่ ควบรวมกิจการสำคัญ (ไม่ใช่ทั้งหมด) ในประเทศจีน ผ่านบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง

ปี 2555 “เข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 74.18% ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงซึ่งปัจจุบันดำเนินธุรกิจอาหารสัตว์ในประเทศจีนและเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารในประเทศเวียดนาม” เป็นที่รู้กันดีว่า คือ C.P. Pokphand หรือ CPP กิจการดั้งเดิมของซีพี อยู่ที่ฮ่องกง

“ในประเทศจีน CPP มีธุรกิจหลัก-ธุรกิจอาหารสัตว์ภายใต้ชื่อ “เจียไต๋” (Chia Tai) เป็นแบรนด์ที่ใช้ในประเทศจีนเป็นเวลากว่า 30 ปีโดยดำเนินธุรกิจครอบคลุมทั่วประเทศใน 28 มณฑลและเขตการปกครอง ธุรกิจอาหารสัตว์คิดเป็นประมาณ 95% ของยอดขาย CPP 6 เดือนแรกของปี 2554 มียอดขาย 1,191 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 36,325 ล้านบาท) มีกำไรสุทธิ 64 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 1,952 ล้านบาท) ส่วนประเทศเวียดนาม CPP ได้เข้าซื้อหุ้นจำนวน 70.82% ของหุ้นทั้งหมดของ CPV (29 กรกฎาคม 2554) ซึ่งดำเนินธุรกิจเกษตรครบวงจร 6 เดือนแรกของปี 2554 CPV มียอดขาย 648 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 19,764 ล้านบาท) มีกำไรสุทธิ 97 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 2,958 ล้านบาท)” ถ้อยแถลงของซีพีเอฟในช่วงเวลานั้น (25 พฤศจิกายน 2554) พร้อมกับสรุปไว้ว่า

“ผลจากการเข้าซื้อธุรกิจในครั้งนี้ จะทำให้ซีพีเอฟเป็นหนึ่งในบริษัทจดทะเบียนชั้นนำในประเทศไทย ในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งมีการดำเนินธุรกิจครอบคลุมไปสู่ 12 ประเทศทั่วโลก รองรับการบริโภคของประชากรกว่า 3 พันล้านคน และยอดขายปีหน้าเติบโตอย่างน้อยทันที 50%”

จากนั้นเพียงไม่ถึงปี ไทยเบฟฯ ดำเนินแผนการใหญ่เช่นกัน ซื้อกิจการเก่าแก่ของสิงคโปร์ เริ่มต้นขึ้นกลางปี 2555 ไทยเบฟฯ ได้เข้าซื้อหุ้นประมาณ 24% ของ Fraser and Neave แห่งสิงคโปร์

ถือเป็นดีลที่ยิ่งใหญ่ด้วยมูลค่าเกือบหนึ่งแสนล้านบาท ตามแผนการก้าวกระโดด 2 ขั้น ไม่เพียงเข้าสู่ธุรกิจมิใช่แอลกอฮอล์อย่างเป็นการเป็นงานมาก ยังถือเป็นก้าวสำคัญในฐานะธุรกิจระดับภูมิภาคที่เป็นจริงเป็นจัง

ซีพีเอฟ-ไทยเบฟฯ ไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น