เชิงบันไดทำเนียบ : จับทาง ‘บิ๊กตู่’ ทางแยก ‘ขึ้นหลังเสือ’ ทางไหน ‘เซฟตี้โซน’

เชิงบันไดทำเนียบ : จับทาง ‘บิ๊กตู่’ ทางแยก ‘ขึ้นหลังเสือ’ ทางไหน ‘เซฟตี้โซน’
.
เปรียบเป็นทางแยกของ ‘บิ๊กตู่’พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ที่จะตัดสินอนาคตทางการเมือง จะไปลงในบัญชีแคนดิเดทนายกฯของพรรคใดหรือไม่ ? โดยเฉพาะกับพรรคพลังประชารัฐ ที่เตรียมแห่ขันหมากมาสู่ขอ อีกทั้ง ‘อุตตม สาวนายน’หน.พลังประชารัฐ ก็ออกมาแง้มว่ามีชื่อ ‘สมคิด จาตุศรีพิทักษ์’รองนายกฯ ถูกพูดถึงในการเป็นแคนดิเดทนายกฯอีกคน จึงทำให้มีการจัดโผเป็น ‘บิ๊กตู่ – อุตตม – สมคิด’ ขึ้นมา หรือเรียกได้ว่าเป็น ‘แพ็คเกจคู่’
.
อีกกระแสข่าวก็มีการมองว่า ‘บิ๊กตู่’ อาจไม่ลงในบัญชีแคนดิเดทนายกฯพรรคใดทั้งสิ้น เพราะหากลงไปแล้วก็จะเป็น ‘ข้อจัดกัด’ และ ‘ตกเป็นเป้า’ พร้อมทั้งเจอ ‘แรงเสียดทาน’ขึ้นมาทันที เพราะรัฐบาลจะมี ‘อำนาจเต็ม’ ไม่ต้องเป็น ‘รัฐบาลรักษาการ’ เฉกเช่นรัฐบาลในสถานการณ์ปกติ และยังนั่งในตำแหน่ง ‘หัวหน้าคสช.’ ด้วย ที่ ‘บิ๊กตู่’ เคยระบุว่า “ไม่ลาออก” ขณะเปิดใจว่า “ผมสนใจงานการเมือง” เมื่อปีที่แล้ว
.
ซึ่งในระยะนี้ ‘บิ๊กตู่’ ก็ระมัดระวังตัวเองอย่างมาก อีกทั้งการไม่ลงในบัญชีแคนดิเดทนายกฯพรรคใด ก็ไม่ต้องเจอกับ ‘สภาวะเสี่ยง’ ที่พรรคนั้นอาจไม่ไปถึงฝัน และไม่เป็น ‘หลักฐานชัด’ ถึงความนิยมและภาพสะท้อนจนชัดเกินไปด้วย
.
อีกมุมหาก’บิ๊กตู่’ลงไปในบัญชีแคนดิเดทนายกฯพรรคใดพรรคหนึ่ง ก็เป็นการร่วมลงแข่งขันทันที แน่นอนว่ามี ‘ต้นทุน’ ที่ต้องจ่าย หนึ่งในนั้นคือ ‘แรงเสียดทาน’ ต่างๆ แต่ก็เป็น ‘หลักประกัน’ ให้กับ ‘บิ๊กตู่’ ว่า ‘ไม่ได้ขาลอย’ มีพรรคให้พักพิง และหากพรรคนั้นได้รับชัยชนะ ก็จะเสริม ‘บารมี – ความชอบธรรม’ ให้กับ ‘บิ๊กตู่’ ไปทันที สามารถนำมาใช้อ้างได้ เมื่อต้องขึ้นเป็น นายกฯ อีกครั้ง แต่ถ้าไม่ชนะ ก็ทำให้เกมพลิกทันที ที่อาจต้องมี ‘ก็อกสอง’ เกิดขึ้นก็ได้ คือเส้นทาง ‘นายกฯคนนอก’ ที่ รธน.60 เปิดช่องไว้นั่นเอง
.
ในช่วงเวลานี้ จึงเป็นช่วงที่ ‘บิ๊กตู่’ ตัดสินใจทางการเมือง เชื่อได้ว่ามีคำตอบอยู่ในใจแล้ว เพียงแค่รอ ‘เวลาที่เหมาะสม’ เปิดเผยออกมา ที่จะเข้าสู่โหมด ‘หาเสียง – เลือกตั้ง’ อย่างสมบูรณ์ ในเดือนก.พ.นี้

สิ่งที่ ‘บิ๊กตู่’ ได้กล่าวที่ ร.ร.เตรียมทหาร ในงานวันสถาปนา ร.ร.เตรียมทหาร ครบรอบ 61 ปี ก็ทิ้งปมให้ต้องวิเคราะห์กันไม่น้อย ในเรื่อง ‘ศักดิ์ศรี-เกียรติยศ’ ของพี่น้องเตรียมทหาร ว่า ‘บิ๊กตู่’ ต้องการจะสื่อสารสิ่งใดออกมา และจะเชื่อมโยงประเด็นการเมือง เรื่อง ‘ความสง่างาม’ หรือไม่ ?
.
“อยากฝากไปกับพี่น้องทหารทุกคนทั้งในและนอกราชการที่มาร่วมงานและที่ไม่ได้มาร่วมงาน ขอให้ทุกคนได้สร้างเกียรติยศและศักดิ์ศรีความภูมิใจในการเป็นทหาร ตำรวจ
.
ในการเป็นนักเรียนเตรียมทหาร ที่จะอยู่กับท่านตราบจนสิ้นชีวิต ไม่มีอะไรมาเปลี่ยนแปลงได้ ศักดิ์ศรีเกียรติยศอยู่ที่ประชาชนจะมอบให้ เราไม่สามารถไปบังคับให้ใครเคารพนับถือได้
.
เกียรติภูมิของท่าน ซึ่งมาได้จากการปฏิบัติหากทำดีท่านก็จะได้รับสิ่งตอบแทนดี มีความสุขสุขใจและมีเกียรติยศให้กับครอบครัว

หากทำไม่ดีก็จะเสื่อมเสียโดยเฉพาะเสื่อมเสียกับกองทัพ และทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่า ทหาร ตำรวจเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ทุกโอกาส เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชนอันเป็นที่รักของเรา” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
.
อีกทั้ง ‘บิ๊กตู่’ ก็เลี่ยงตอบคำถามสื่อ หลังไม่ได้พบสื่อมา 2 วัน นับจาก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งฯ ประกาศใช้ โดย ‘บิ๊กตู่’ ได้ตอบสื่อสั้นๆว่า “ให้ไปดูกฎหมาย” หลังสื่อถามว่าการกล่าวถึงศักดิ์ศรีและเกียรติของทหารนั้น ได้ตัดสินใจอนาคตทางการเมืองแล้วหรือยัง ? แต่ก่อนขึ้นรถก็ได้กล่าว่า “เพื่อชาติ เพื่อชาติ” พร้อมชูมือไอเลิฟยู โดยความหมายที่สื่อออกมาคือ ‘ทำเพื่อชาติ’ ไม่ใช่กล่าวถึงพรรคเพื่อชาติ
.
อย่างไรก็ตาม หาก ‘บิ๊กตู่’ ลงในบัญชีแคนดิเดทนายกฯ ในพรรคพลังประชารัฐ ก็จะยิ่งตอกย้ำภาพการ ‘สืบทอดอำนาจ’ ของ ‘ระบอบคสช.’ ด้วย ซึ่ง ‘อุตตม’ ก็ได้ให้คำตอบว่า ไม่เป็นการสืบทอดอำนาจ เพราะในกรรมการบริหารพรรคไม่มีใครติดยศ ยกเว้น ‘ผู้กองมนัส’ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งประเด็นนี้จะเป็น ‘หนามยอกอกพรรค’ ไปตลอด
.
ซึ่งทั้งหมดจะมีความชัดเจนยิ่งขึ้นในช่วงเดือนก.พ.นี้ ที่จะเริ่มเห็น ‘ทิศทางลม’ รวมทั้งระยะเวลา 2 เดือนนับจากนี้ ถึง 24มี.ค.นี้ สถานการณ์จะแกว่งอยู่ตลอดและพลิกได้ทุกเมื่อ เฉกเช่นสถานการณ์ในวันนี้ ที่แตกต่างจากปีที่แล้ว หรือ ธ.ค.61 ด้วย
.
สถานการณ์เช่นนี้ไม่ว่า ‘บิ๊กตู่’ จะเลือกทางเดินใด ก็มีทั้ง ‘แรงหนุน’ และ ‘แรงเสียดทาน’ ที่ต้องเจอ ดังนั้นการ ‘ขึ้นหลังเสือ’ อีกครั้ง จึงยากกว่า ‘ลงหลังเสือ’ ในขณะนี้
.
ทำการใหญ่ ใจต้องนิ่ง !!