ตกลงแล้ว “เงินโบนัส” คืออะไร ? รางวัล สินน้ำใจ หรือภาพลวงการกดขี่?

ตลอดหนึ่งปีเต็มที่เหล่ามนุษย์เงินเดือนต่างทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ ระเบิดไอเดียสุดบรรเจิดเพื่อสร้างสรรค์ผลงานแก่องค์กรมาอย่างสม่ำเสมอ

นอกจากค่าจ้างรายเดือนที่พึงได้รับแล้ว “โบนัส” ก็เป็นอีกรางวัลสำคัญที่สามารถ “ซื้อใจ” ลูกจ้าง แรงงาน หรือชนชั้นกรรมาชีพที่ไม่มีทรัพยากรมากเพียงพอในการก้าวขึ้นสู่สถานะนายทุนในเร็ววัน

แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธความจริงข้อหนึ่งไปได้ว่า ไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะให้รางวัลนี้แก่ลูกจ้าง

และไม่ใช่ทุกปีที่หลายบริษัทจะให้โบนัสแก่พนักงานอย่างสม่ำเสมอ

ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้บริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อะไหล่รถยนต์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์แห่งหนึ่งในจังหวัดปราจีนบุรีก็กำลังประสบปัญหาดังกล่าว

เนื่องจากมีพนักงานกว่า 1,200 คนรวมตัวประท้วงเพื่อทวงถามถึงโบนัสประจำปีด้วยการกินอยู่หลับนอนตั้งเต็นท์บริเวณลานหน้าบริษัท หนักเข้าถึงขั้นมีกลุ่มคนงานนำกุญแจล็อกปิดทางเข้า-ออกผู้บริหาร

ปัญหาก็คือ บริษัทนี้จะมีการปิดประกาศแจ้งให้พนักงานทราบถึงอัตราโบนัสในช่วงต้นเดือนของพฤศจิกายน แต่ครั้งนี้กลับมีกำหนดเลื่อนออกไปถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน รวมถึงการลดจำนวนเงินโบนัสเหลือเพียง 0.8 เดือนซึ่งต่ำกว่าทุกปีที่ผ่านมา

สร้างความไม่พอใจแก่พนักงานหลายคนเป็นอย่างมาก

 

โดยปกติภาพของขบวนการ/สหภาพแรงงานรวมตัวประท้วงนายจ้างก็เกิดขึ้นบ่อยครั้งทั้งในและต่างประเทศ และมูลเหตุส่วนใหญ่ก็มักจะเกี่ยวพันกับปัญหาค่าแรงหรือสวัสดิการที่ไม่เป็นธรรม

ทำให้หลายความเห็นตามสื่อโซเชียลมีเดียเทไปที่ฝั่งของนายจ้างเสียส่วนใหญ่

ด้วยความที่โบนัสไม่ใช่ผลตอบแทนกับค่าแรงโดยตรง และมองว่าโบนัสเป็น “สินน้ำใจ” ที่นายจ้างเต็มใจจะจ่ายมากกว่า

ทีนี้เราลองมาดูในแง่มุมของตัวบทกฎหมายกันก่อนตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พุทธศักราช 2518 ซึ่งยังเป็น พ.ร.บ.ที่ใช้มาจนถึงปัจจุบันระบุถึงเรื่องโบนัสไว้ทั้งสิ้นหนึ่งมาตรา ได้แก่ มาตรา 53 ความว่า

“มาตรา 53 ห้ามมิให้นายจ้างให้หรือตกลงจะให้เงินหรือสินทรัพย์แก่กรรมการลูกจ้าง เว้นแต่ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด โบนัส เงินปันผล หรือประโยชน์อื่นที่กรรมการลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามปกติในฐานะลูกจ้าง”

ตามมาตรานี้สามารถตีความได้ว่า กรรมการลูกจ้างไม่มีสิทธิหรือพึงได้รับผลประโยชน์มากกว่าลูกจ้างสมาชิกหรือลูกจ้างทั่วไปหากอิงตามมาตรา 52 ที่เป็นมาตราเพื่อคุ้มครองกรรมการลูกจ้างในฐานะลูกจ้างคนหนึ่ง

โดยสรุปแล้วมาตรา 53 จึงตีความได้ว่า เป็นมาตรากฎหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์พึงได้รับของกรรมการลูกจ้างเท่านั้น

หมายความว่า กฎหมายหรือมาตราที่ว่าด้วยรายละเอียดการจ่ายโบนัสไม่มีใน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์พุทธศักราช 2518 แม้แต่มาตราเดียว

ฉะนั้น การให้โบนัสที่คล้ายกับเป็นของขวัญหรือรางวัลพิเศษจึงเป็นสิทธิพึงกระทำของนายจ้างแต่เพียงผู้เดียว เว้นแต่ในสัญญาจ้างงานจะมีการระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรว่า บริษัทดังกล่าวจะมีการแบ่งจ่ายโบนัส ลูกจ้างจึงจะสามารถเรียกร้องได้

ยิ่งไปกว่านั้น หากมีการรวมตัวประท้วงและทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท นายจ้างก็สามารถยกเลิกสัญญาจ้างเอาดื้อๆ ได้เช่นกัน

ปฏิกิริยาโต้กลับของนายจ้างทำให้ภาพของการกดขี่ขูดรีดที่ถูกฉายโดยลูกจ้างพลันสลายหายไปทันทีเมื่อมีการตกลงจ่ายเงินโบนัสให้ตามเดิม (แม้จะเป็นไปในอัตราที่ลดลงก็ตาม) ทว่าสิ่งที่นายจ้างหยิบยื่นให้แท้จริงแล้วเป็นสินน้ำใจ รางวัล หรือเม็ดเงินเพียงเล็กน้อยที่ทำหน้าที่ในการฝังกลบความเน่าเฟะรากเหง้าแห่งทุนนิยมอุตสาหกรรมหรือไม่?

 

เพื่อให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้น ผู้เขียนขอย้อนกลับไปครั้งการถือกำเนิดขึ้นของสังคมอุตสาหกรรมราวศตวรรษที่ 19 ปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดการผลักคนเข้าสู่ระบบการทำงานในโรงงาน คือ การถือกำเนิดขึ้นของรัฐชาติหรือรัฐประชาชาติ ทำให้แต่ละชาติต่างต้องเร่งฝีเท้าในการพัฒนาประเทศผ่านระบบอุตสาหกรรมมากขึ้น และแน่นอนว่าประเทศไทย ณ ขณะนั้นเองก็เชื่อมั่นเหลือเกินว่าระบบการทำงานในลักษณะนี้จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนให้กับประเทศอย่างไร้ข้อกังขา

ระบบอุตสาหกรรมจึงแบ่งคนออกเป็นสองกลุ่มหลักๆ ได้แก่ ชนชั้นนายทุน คือ ผู้ที่ครอบครองปัจจัยการผลิต และชนชั้นกรรมาชีพ, ชนชั้นแรงงาน หรือลูกจ้าง คือผู้ที่ไม่มีปัจจัยการผลิตและหาเลี้ยงชีพด้วยการขายแรงงานให้แก่นายทุน การเกิดขึ้นของรัฐชาติที่มาพร้อมกันกับโรงงานอุตสาหกรรมส่งให้สถานะของไพร่และทาสถูกเปลี่ยนผ่านสู่แรงงานที่ไม่ต้องผูกติดกับเจ้าที่ดินและมีอิสรภาพในการดำเนินชีวิตมากกว่า

แต่หากลองพิจารณาดูดีๆ แท้จริงแล้วอิสระที่ว่ากลับเป็นเพียง “น้ำผึ้งอาบยาพิษ” ที่หอมหวานและแฝงไว้ด้วยการกดขี่อย่างแยบคาย เป้าหมายของนายทุนคือ การสะสมทุนจากขั้นตอนกระบวนการผลิตไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งมูลค่าส่วนเกินของการผลิต หรือเรียกอย่างเข้าใจง่ายๆ ว่ากำไร หมายความว่า นายทุนต้องทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ผลประกอบการสุทธิคุ้มค่ากับทุนที่เสียไป และต้องขูดรีดส่วนเกินจากการผลิตเพื่อให้ออกดอกออกผลมาเป็นกำไรได้มากที่สุด

ในทางกลับกัน เป้าหมายของแรงงานเป็นไปเพื่อการแสวงหารายได้เพื่อยังชีพ ทั้งการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคหรือการจุนเจือครอบครัวก็ดี ด้วยวัตถุประสงค์ที่สวนทางกันเช่นนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่เรามักจะเห็นความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างอยู่ตลอดเวลา

 

สิ่งสำคัญที่สุด เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น นายทุนจะต้องหาทางประนีประนอมและสลายความขัดแย้งดังกล่าวให้ได้โดยเร็วที่สุด การประท้วงต่อรองโบนัสจากลูกจ้างตามข่าวส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กรและกระบวนการผลิตอย่างแน่นอน มูลค่าความเสียหายจากการประท้วงอาจลุกลามถึงขั้นนัดหยุดงานกระทบต่อรายรับของนายทุนโดยตรง การประนีประนอมยอมจ่ายโบนัสเพียงเล็กน้อยจึงเป็นยุทธวิธีที่นายจ้างมองแล้วว่า “ได้มากกว่าเสีย”

ถ้ามองให้ลึกลงไปกว่านั้นอีก ตัวบทกฎหมายที่ว่า ล้วนถูกเขียนขึ้นจากกลุ่มคนประเภทเดียวกันกับนายทุน ฉะนั้น การจะถามหาความเข้าใจจากบุคคลที่อยู่ในสถานการณ์และผลประโยชน์ที่ต่างกันย่อมเกิดขึ้นได้ยาก

โบนัส = สินน้ำใจจากนายจ้างจึงไม่เพียงแต่ถูกตีตราเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น หากยังอยู่ภายใต้ความรับรู้ของ “ลูกจ้าง” โดยทั่วถึงกัน