เชิงบันไดทำเนียบ : จับอาการ ‘2ป.พยัคฆ์’ ปีหมู ไม่หมู – ‘ขยับเลือกตั้ง’ ออกฤทธิ์ คสช. ปาดเหงื่อ

จับอาการ ‘บิ๊กป้อม’พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ คสช. ที่มีท่าทีหนักแน่นตั้งแต่ปีที่แล้ว ย้ำมีเลือกตั้งแน่ 24ก.พ.62 ถึงขนาดเคยชูนิ้วเลข 2-4 มาแล้ว จึงเป็น ‘สัญญาใจ’ ที่สำคัญมาก แต่พอขึ้นปีใหม่ 2562 ความหนักแน่นนั้นก็หายไป พร้อมโยนให้ กกต. เป็นผู้พิจารณาวันเลือกตั้ง เช่นเดียวกับ ‘บิ๊กตู่’พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. เพื่อให้มีการหารือระหว่างรัฐบาลกับกกต.ขึ้นก่อน
.
จากนั้น ‘วิษณุ เครืองาม’ รองนายกฯ มือกฎหมาย คสช. ได้เข้าพบ กกต. ชี้แจงถึงรายละเอียดขั้นตอนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อให้ กกต. ใช้ในการจัดทำปฏิทินการเลือกตั้ง ไม่ให้ขั้นตอน ‘หลังเลือกตั้ง’ ไปตรงกับช่วงงานพระราชพิธีสำคัญ โดยช่วง 15 วันก่อนและหลัง 4-5-6 พ.ค.62 ยังคงมีงานที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธีฯอยู่
.
โดย ‘รองนายกฯวิษณุ’ ชี้แจงว่า ช่วงตั้งแต่กลาง เม.ย.62 จะมีการจัดเตรียมงาน ได้แก่ การเตรียมน้ำอภิเษก การจารึกพระสุพรรณบัฏ ส่วนช่วงหลัง 6พ.ค.62 จะมีการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ ประมาณ 2 สัปดาห์
.
ทำให้ไทม์ไลน์ ‘ปฏิทินการเมือง’ ต้องมีความรอบคอบ โดย ‘รองนายกฯวิษณุ’ ได้ระบุกรอบเวลาวันเลือกตั้ง จะต้องเกิดขึ้นภายในเดือนมี.ค.นี้ และการประกาศผลการเลือกตั้งของ กกต.จะเกิดขึ้นช่วงปลายพ.ค.62
.
จึงมีการคาดการณ์ว่า ‘วันเลือกตั้ง’ จะขยับจาก 24ก.พ.62 ออกไป 1 เดือน เป็น 24มี.ค.62 แทน ซึ่ง ‘รองนายกฯวิษณุ’ ได้ยืนยันชัดเจนตั้งแต่ต้นว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นก่อนพระราชพิธีฯแน่นอน อีกทั้งไม่สามารถใช้ ม.44 ในการไป ‘เลื่อนเลือกตั้ง’ ได้ เพราะ รธน. ระบุชัดเจนว่าจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน หลัง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้เมื่อ11ธ.ค.61
.
ถ้ามองโดยครอบคลุม หากวันเลือกตั้งเกิดหลัง 24ก.พ.62 ไม่เกิน 9พ.ค.62 ก็จะเป็นเพียงการ ‘ขยับเลือกตั้ง’ ไม่ใช่การ ‘เลื่อนเลือกตั้ง’ ตามที่ระบุกัน เพราะยังอยู่ในกรอบ 150 วัน และ กกต. ยังไม่ได้กำหนดด้วย โดยวันที่ 24ก.พ.62 เป็นวันที่เร็วที่สุดในการจักการเลือกตั้ง ที่ต้องทิ้งระยะเวลาให้ได้มีการหาเสียง การสมัครรับเลือกตั้ง การจับเบอร์ เป็นต้น โดยยึดวันอาทิตย์ของแต่ละสัปดาห์ ดังนั้นหากเกิดขึ้นหลัง 9พ.ค.62 จึงจะเป็นการ ‘เลื่อนเลือกตั้ง’ โดยสมบูรณ์ เพราะเกินกรอบเวลาที่กำหนด แม้จะไม่ได้กระทำ ‘ขัดกฎหมาย’ แต่กำลังจะไป‘ขัดใจ’สังคม เพราะ 24ก.พ.62 ถือเป็น ‘สัญญาใจ’ ที่ทุกฝ่ายร่วมกันปักธงไว้แล้ว
.
กระแสข่าวการ ‘ขยับครั้งนี้’ ทำให้ คสช. ถูกวิจารณ์หนัก เพราะเลื่อนมาแล้วหลายครั้ง อีกทั้งรอบนี้รัฐบาลก็ปูทาง ‘เลือกตั้ง’ ไว้อย่างดี ทั้งการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง จนถึงการ ‘ปลดล็อคพรรค’ ให้พรรคทำกิจกรรมและหาเสียงได้ จึงเป็น ‘สัญญาณบวก’ ของการมีเลือกตั้งที่มีมาโดยตลอด พร้อมทั้งคอนเฟิร์มเรื่องวันเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น 24ก.พ.62 ด้วย
.
ดังนั้นการมีกระแสถึงการ ‘ขยับเลือกตั้ง’ ทำให้ คสช. ตกเป็นจำเลยทันทีว่าไปเกี่ยวข้อง หรือ ‘อยู่เบื้องหลัง’ หรือไม่ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้พรรคใดหรือไม่ โดยเฉพาะฟากฝั่งที่หนุน คสช. งานนี้ทำให้ ‘บิ๊กป้อม’ ออกอาการปฏิเสธเสียงแข็งทันที
.
“โอ๊ย คสช.ไม่เกี่ยวเลย” พล.อ.ประวิตร กล่าว 4ธ.ค.62
.
ที่สำคัญนับจากขึ้นปี62 มา ‘บิ๊กตู่’ ก็เจอสื่อแค่เพียงหลังประชุม ครม. เมื่อ 2 ม.ค.เท่านั้น นอกนั้นมีเพียงงานประชุมภายในที่ทำเนียบฯ ที่ไม่ได้พบสื่อ จึงไม่ได้มีการสัมภาษณ์เพื่อซักถาม พร้อมให้ ‘รองนายกฯวิษณุ’ ไปพูดคุยกับทาง กกต. เพื่อพิจารณากำหนดวันเลือกตั้งขึ้นมา ซึ่ง ‘บิ๊กตู่’ ก็ยืนยันเพียงว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นก่อนพระราชพิธีฯ และทำคู่ขนานกันไปด้วย
.
สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือ หากมีการ ‘ขยับวันเลือกตั้ง’ ออกไป 1 เดือน ได้มีการมองถึงฝ่ายที่ได้หรือเสียประโยชน์ขึ้นทันที ซึ่งสามารถมองได้อย่างหลากหลาย เช่น พรรคขั้วต้าน คสช. ที่ระบุว่าการ ‘ขยับเลือกตั้ง’ ครั้งนี้เอื้อให้กับพรรคที่หนุนคสช. แต่อีกมุม คสช. เองก็เสียคะแนนจากการ ‘ขยับเลือกตั้ง’ ออกไปไม่น้อย เพราะแสดงถึงความไม่จริงใจในความต้องการให้มีการเลือกตั้งตามสัญญาใจ 24ก.พ.62 หากยิ่งทอดเวลาไปเท่าใด คะแนนก็จะยิ่งตกไปยังพรรคขั้วต้านคสช.มากขึ้น ถูกใช้เป็นประเด็นโจมตีได้ไม่น้อย รวมทั้งพรรคฝั่งขั้วต้านคสช.ที่เกิดใหม่ ก็มีเวลาเตรียมตัวมากขึ้นด้วย
.
สำหรับมุมพรรคหนุน คสช.ก็ไม่ได้รับผลดีจากการ ‘ขยับเลื่อกตั้ง’ ออกไปนัก เพราะหากเลือกตั้งเร็วเท่าใด ก็สามารถนำผลงาน คสช.และรัฐบาล มาใช้ในการเรียกคะแนนเสียงได้ แม้ ‘บิ๊กตู่’ จะพยายามระบุชัดให้แยกพรรคกับการเมืองออกจากกัน เพราะตนยังไม่ได้ตกลงจะไปอยู่พรรคใดและยังไม่มีใครมาทาบทาม แต่ก็ปฏิเสธได้ยากที่จะแยกพรรคกับรัฐบาล เพราะมี 4 รัฐมนตรีไปเป็นแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ที่ชัดเจนพร้อมชู ‘บิ๊กตู่’ เป็นแคนดิเดทนายกฯของพรรค รวมทั้งการทอดระยะเวลาเลือกตั้งออกไป ก็ทำให้พรรคต่างๆมีความพร้อมมากขึ้นด้วย
.
หากมีการขยับวันเลือกตั้งออกไป 1 เดือน แต่ละพรรคก็ต้องมาวางแผนและจัดขบวนกันใหม่ ทั้งพรรคที่หนุนและต้านคสช. เพราะการแข่งขันก็จะยาวนานขึ้น การสร้างแรงเชียร์สู้แรงต้าน การตรึงใจคน ลงพื้นที่ต่างๆ ล้วนต้องระดมสรรพกำลังทั้งสิ้น การจะได้หรือเสียเปรียบจึงไม่ได้อยู่ที่สถานการณ์อย่างเดียว แต่อยู่ที่การรับมือด้วย จึงมีคำว่าที่ว่า ‘พลิกวิกฤตเป็นโอกาส’ ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบเสมอไป บนกติกาที่ต้องเป็นธรรมและเท่าเทียมด้วย

เสียงประชาชนจะชี้ชะตาเอง !!