เช็กประวัติ รปภ. ให้ชัวร์! ผ่านอบรม-ถูกกฎหมายหรือไม่ ? ตร.ขีดเส้นตาย3มี.ค.ทั้งประเทศต้องถูกต้อง

พลตำรวจโท ชนสิษฎ์ วัฒนวรางกูร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยธุรกิจความปลอดภัย เปิดเผยหลังได้เรียกคณะทำงานประชุมเพื่อ ชี้แจงทำความเข้าใจให้กับตัวแทนกองบัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บังคับตำรวจภูธรทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้เข้าใจ และเร่งรัด ในเรื่องของการอบรมพนักงานรักษาความปลอดภัย ทั้งเรื่องข้อกำหนดตามหลักสูตร ความพร้อมสถานที่ เพื่อรองรับ รปภ. อีกจำนวนมาก ที่ต้องอบรมตามข้อกำหนดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 3 มีนาคม 2562 โดยที่ผ่านมาได้ประชุมเพื่อให้ตำรวจที่รับผิดชอบ ได้ปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกันทั่วประเทศ

พล.ต.ทชนสิษฎ์ เปิดเผยว่า พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ. ศ. 2558 ได้มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2560 เป็นต้นมา แต่ปรากฏว่ายังมีบริษัทรักษาความปลอดภัยบางบริษัทยังไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนและพนักงานรักษาความปลอดภัยบางคนยังไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งภายใน3 มีนาคมนี้ พนักงาน รปภ.ทุกคนต้องมีใบอนุญาตและผ่านการอบรม หากพ้นกำหนดจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามบทเฉพาะกาลของกฎหมายฉบับนี้ โดยต้องได้รับโทษ ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้ ว่า ผู้ใดทำหน้าที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกิน 5,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่ผู้ประกอบการผู้ใดประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับการจัดดำเนินการฝึกอบรมหลักสูตรรักษาความปลอดภัยที่ต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 3 มีนาคม 2562 นั้น เพื่อไม่ให้ถูกนายทะเบียนเพิกถอนใบอนุญาตในการเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เตรียมความพร้อมทางด้านเจ้าหน้าที่และสถานที่ โดยสามารถติดต่อฝึกอบรมสถานฝึกอบรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 123 แห่ง และในส่วนของเอกชนที่มีสถานฝึกอบรมที่ได้รับการรับรองอีก 126 แห่ง รวม249 ขอย้ำว่าหากเกินกำหนดระยะเวลาหลังจากนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

พล.ต.ท.ชนสิษฎ์ ขยายความว่า จริงๆแล้วพ.ร.บ.กฎหมายรักษาความปลอดภัยที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ 4 มีนาคม 2559 ถือว่าเป็นการจัดระเบียบรปภ.ทั้งหมดทั่วประเทศให้เข้ามาสู่กฎหมายฉบับนี้ โดยผมเพิ่งได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบภารกิจนี้ต่อจากท่าน พล.ต.ท.มนู เมฆหมอกได้รับผิดชอบงานดังกล่าว ซึ่งจากนี้ต้องเร่งขับเคลื่อน การประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ในเรื่องการฝึกอบรมให้ทัน ภายในวันที่ 3 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา รปภ.ที่ไม่ได้อบรมยังได้รับข้อยกเว้นตามหลักเกณฑ์อยู่จึงปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่หลังจาก 3 มีนาคม 2562 เป็นต้นไป รปภ.ทั้งหมดจะต้องผ่านการฝึกอบรม
จากข้อมูลพบว่า ปัญหาในขณะนี้ ยังมีรปภ.อีกจำนวนมากที่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการฝึกอบรม เราเลยต้องเร่งรัดขับเคลื่อน ทุกด้าน ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงอยาก ประชาสัมพันธ์ ให้รปภ.เข้าอบรมและเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องทั้งหมด มิฉะนั้น รปภ.ที่ไม่ผ่านจะถือว่าพ้นสภาพ ไม่สามารถต่อใบอนุญาตได้ นั่นหมายความว่าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อีกต่อไป ถือว่าผิดกฎหมาย
ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สั่งการให้นายทะเบียนจังหวัด หรือผู้บังคับการ ตำรวจภูธรจังหวัดนั้นๆ รวมถึงนายทะเบียนกลาง คือ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลขับเคลื่อน เรียกประชุมตัวแทนพนักงานบริษัทรักษาความปลอดภัยทั้งหมดที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบที่ผ่านมาได้มีการประชุมชี้แจงกันหลายรอบ เพื่อผลักดันให้พนักงานรักษาความปลอดภัยทั้งหมดเข้ามาสู่ระบบ อบรมให้ครบตามกฎหมาย จึงต้องประชาสัมพันธ์ในทุกๆช่องทางให้ พนักงาน รปภ. และเจ้าของบริษัท เกี่ยวกับธุรกิจรักษาความปลอดภัย เข้ามาสู่ระบบให้ได้ทั้งหมดอย่างถูกต้อง ภายใน 3 มีนาคม 2562 มิเช่นนั้นจะปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้และความเดือดร้อนจะตามมา และเกิดผลกระทบใหญ่

อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่าที่ผ่านมาได้พยายามสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับบริษัท ธุรกิจด้านรักษาความปลอดภัยทั่วประเทศ อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการยกระดับการให้บริการและการปฏิบัติหน้าที่ให้ได้มาตรฐานสากล ต้องเข้ารับการฝึกอบรม ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมให้ความร่วมมือในทุกด้าน ในการอำนวยความสะดวกการฝึกอบรม ทั้ง ด้านหลักสูตร วิทยากรรวมถึงสถานที่ ทางผู้ประกอบการเองก็ต้องกระตุ้นเตือน และส่งบุคลากร พนักงานรักษาความปลอดภัย ให้เข้าฝึกอบรม เพื่อเป็นการยกระดับการทำงานและมีมาตรฐานถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ต้องหลบๆซ่อนๆ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่ามีความสำคัญมากเพราะว่าจะเป็นการยกระดับความมาตรฐานปลอดภัย หากไม่ดำเนินการถูกต้องจะส่งผลกระทบต่อหลายๆด้าน ทั้งภาพลักษณ์ การท่องเที่ยว ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมาย และสถานที่ฝึกอบรมที่ใกล้เคียงท่านสามารถ ติดต่อสอบถามได้ที่ ฝ่าย ฝ.5 กองบัญชาการตำรวจนครบาล โทรศัพท์หมายเลข 02-280-5189 เพื่อสอบถามขั้นตอนการติดต่อฝึกอบรม และรายละเอียดเพิ่มเติม รวมถึงบทบัญญัติตามกฎหมายที่ควรรู้ ว่ามีอะไรบ้าง เพื่อกระตุ้นเตือนให้พนักงานของท่านตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้

ข้อมูลประกอบเกี่ยวกับการฝึกอบรม
ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจความปลอดภัย ได้กำหนดหลักสูตร การรักษาความปลอดภัยเจ้าหน้าที่รปภต้องฝึกอบรมเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมง ประกอบด้วยภาคทฤษฎี 16 ชั่วโมงและภาคปฏิบัติ 24 ชั่วโมง โดยมีหลักสูตรหลากหลายด้าน อาทิ กฎหมายเกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัย การรักษาความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับธุรกิจความปลอดภัย ความรู้ทักษะทัศนคติต่อวิชาชีพ ตลอดจนความรับผิดชอบในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายหรือทรัพย์สินของผู้ว่าจ้างอย่างเต็มความสามารถ โดยกฎหมายและหลักสูตรจะระบุถึงเรื่องจรรยาบรรณ ความมีระเบียบวินัย ซื่อสัตย์สุจริต และต้องให้ความร่วมมือกับทางราชการเพื่อช่วยในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมไทย
ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องรู้ เกี่ยวกับ องค์ประกอบพื้นฐานความปลอดภัย เช่น การห้ามเข้าพื้นที่ การเคลื่อนย้ายคนเพื่อไปในที่ปลอดภัย , การกำหนดเขตหวงห้ามหรือปิดกั้นสถานที่ หรือจะต้องรู้เรื่องของการเขียนรายงานจดบันทึกข้อมูลเพื่อรายงาน การตรวจตราบริเวณพื้นที่รับผิดชอบ ให้เทคนิคในการสังเกต การตรวจสอบบุคคลและสัมภาระจดจำตำหนิรูปพรรณ


แม้แต่เรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งที่อาจทำให้เกิดเหตุฉุกเฉิน หรือ ปัจจัยเสี่ยงเช่น เหตุเพลิงไหม้เหตุระเบิดมีวัตถุต้องสงสัย จะมีการให้ความรู้แล้วก็อบรมเชิงทฤษฎีและปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ รวมไปถึง การใช้ภาษาในการติดต่อสื่อสารต้องมีทักษะทางการพูดการเขียน ต้องเรียนรู้ การใช้วิทยุสื่อสารและโทรศัพท์
นอกจากนี้ยังครอบคลุมถึงการอบรมเรื่องของการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เช่น การจัดการพื้นที่ฉุกเฉิน การช่วยเหลือกรณีมีคนช็อก เป็นลมหมดสติ เกิดอาการสำลัก หรืออาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจ หรือมีกรณีผู้เสียเลือดอย่างรุนแรง และเรียนรู้การปฏิบัติช่วยฟื้นคืนชีพหรือ CPR เบื้องต้นด้วย
นอกเหนือจากนั้นจะเป็นการฝึกภาคสนามเรื่องระเบียบแถวการทำความเคารพการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยมือเปล่าและกระบอง รวมถึงวิธีการใช้อาวุธ อย่างถูกต้อง และ การจัดการจราจรการควบคุมคนหรือยานพาหนะกรณีมีเหตุฉุกเฉิน การใช้อุปกรณ์เพื่อควบคุม เป็นต้น

วัตถุประสงค์ต้องการให้พนักงานรักษาความปลอดภัย มีมาตรฐาน สากลโดยเฉพาะในส่วนของรปภ.ทุกคนต้องผ่านการฝึกอบรมทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความห่วงใยและจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนได้ทราบว่าภายในวันที่ 3 มีนาคม 2562 รปภ.ทุกคนที่เคยได้รับการผ่อนผันตามบทเฉพาะกาล มาตรา 74 ให้เร่งการฝึกอบรม ถ้าท่านฝึกอบรมไม่ทันแม้ว่าจะเคยได้ใบอนุญาตไปแล้วท่านอาจจะถูกเพิกถอนได้ และสิ่งที่ตามมาคือท่านจะถูกดำเนินคดีได้ ตามบทบัญญัติอัตราโทษที่กำหนดไว้สำหรับการที่เป็นรปภ.โดยไม่ได้รับอนุญาต มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งทุกคนสามารถเข้ารับการฝึกอบรมได้ของตำรวจและของทางเอกชน

ทาง ตร.จึงจำเป็น ต้องเร่งเกี่ยวกับมาตรการเชิงรุก เพื่อให้นายทะเบียนทุกจังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ของตนเองว่ารปภ.ในสังกัดของท่าน ได้ผ่านการฝึกอบรมแล้วหรือยัง ถ้ายังต้องรีบมาอบรมในส่วนที่ใกล้เคียงหรือหน่วยงานใดที่มีปัญหาใดสามารถติดต่อได้ที่นายทะเบียนกลางหรือที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ หมายเลข 02-280-5189จะเป็นตัวกลางในการประสานให้ทั้งหมด