มุทิตา เชื้อชั่ง : ความฝันสูงสุดของ “จรัล ดิษฐาอภิชัย”

To dream … the impossible dream

To fight … the unbeatable foe

To bear … with unbearable sorrow

……

To reach the unreachable star

This is my quest, to follow that star

No matter how hopeless, no matter how far

To fight for the right, without question or pause

To be willing to march into Hell, for a Heavenly cause…

 

จรัล ดิษฐาอภิชัย ในวัย 71 ปี อดีตสหายนักปฏิวัติ อดีตอาจารย์ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน อดีตแกนนำ นปช. และปัจจุบันคือผู้ลี้ภัยทางการเมือง เสิร์ชหาละครเพลงที่เขาชอบใน youtube อย่างคล่องแคล่ว มันคือละครเรื่อง Man of La Mancha หรือ Don Quixote เวอร์ชั่นปี 1972

เหลือเชื่อว่าน้ำตาของเขาเหมือนจะเอ่อออกมาขณะร้องเพลง the impossible dream ในฉากสุดท้ายคลอไปด้วยเรื่องราวของ “คนบ้า” ที่ไม่เคยหยุดเดินทางตามฝันจากวรรณกรรมเมื่อ 700 ปีที่แล้วตราตรึงใจเขาตั้งแต่วัยหนุ่มจนบัดนี้

“ผมชอบเรื่องนี้มาก คล้ายๆ คนเสียสติ คนฝันเฟื่อง ผมว่าผมก็คล้ายๆ อยู่” จรัลแซวตัวเอง แต่ทุกคนกลับพยักหน้า

เขาน่าจะเป็นมนุษย์โรแมนติกน้อยนิดที่ตกค้างมาจากยุคสงครามเย็น โรแมนติกในแง่ที่ยังคงมีอุดมการณ์ ความใฝ่ฝัน อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นในทุกวันที่ลืมตาตื่น

“เพราะมีคนอย่างแก ผมถึงมีกำลังใจ ผมถึงยังมีความฝันในการเปลี่ยนแปลงสังคมอยู่”

“ความฝันหนึ่งของผมก็คือ ผมอยากพาแกกลับบ้านแบบยังมีชีวิต”

ผู้ลี้ภัยหนุ่มมหาเศรษฐีคนหนึ่งเปรยขึ้นกลางโต๊ะอาหาร ทุกคนยิ้ม มีแต่ความเงียบที่ตีความได้ไม่ยากว่าคือความสิ้นหวัง

 

22 พฤษภาคม 2557 คือวันรัฐประหารครั้งล่าสุด และครั้งที่ 13 ของประเทศไทย (นับเฉพาะที่สำเร็จ) หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยได้ 86 ปี คำนวณแบบโง่ๆ ง่ายๆ เรามีรัฐประหารกันทุก 6 ปี และหากดูระยะเวลาการครองอำนาจรัฐ จะพบว่าทหารครองอำนาจราว 2 ใน 3 ของช่วงชีวิตประชาธิปไตยไทยทั้งหมด

และหลังรัฐประหารครั้งล่าสุด

จรัลเป็นหนึ่งในหลายคนต้องออกจากประเทศไทยพร้อมหมายจับ 4 คดี

ใครที่ไม่รู้จักจรัล อาจคิดว่าเขาเป็นคนก้าวร้าว รุนแรง แต่เปล่าเลย

ใครที่รู้จักจรัลอย่างดีก็ย่อมรู้ว่าเขาเป็น “อาจารย์จรัล” ผู้ใจเย็น พูดคุยได้กับทุกฝ่าย แต่ก็เป็นคนดื้อ ไม่ประนีประนอมยอมอ่อนข้อกับอะไรง่ายๆ เพียงแค่ไม่ปะทะรุนแรง เขาไม่เคยด่าว่าใครเสียๆ หายๆ และยังเป็นคนไม่ถือโทษโกรธใคร ส่วนใครที่ถือโทษโกรธเขา โดยมากเขาก็ไม่ค่อยรู้ตัว ภรรยาเขาว่าอย่างนั้น

ใครที่รู้จักจรัลดียิ่งขึ้นไปอีก ย่อมรู้ว่า ในทางความคิด ตั้งแต่วัยหนุ่มเขาก็เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยซึ่งศัตรูหมายเลขหนึ่งคือ “ศักดินา” ขณะที่ในวัยชราแม้ความเชื่อในการปฏิวัติจะไม่มีแล้ว แต่ร่องรอยและกลิ่นอายของมันยังอบอวล อีกทั้งการพูดถึงระบอบในฝันของเขาอย่างระบอบ “สาธารณรัฐประชาธิปไตย” ก็เป็นเรื่องพูดที่ไหนก็ได้ แต่ไม่ใช่ที่นี่…ประเทศไทย

นั่นทำให้เขาต้องมาใช้บั้นปลายของชีวิตอยู่ในฝรั่งเศส

บางคนว่าเขาเป็นผู้ลี้ภัย elite ที่ได้อยู่ประเทศโลกที่หนึ่งอย่างสะดวกสบายแล้ว

บางคนเป็นห่วงว่าชีวิตเขาน่าจะลำบากและโดดเดี่ยว

จรัลเป็นนักจัดตั้ง เขาสามารถเล่าไอเดียทางการเมืองและประวัติชีวิตของเขาได้ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก และจนถึงพระอาทิตย์ขึ้นอีกหน

น่าแปลกที่ผู้ฟังก็ฟังมันได้ไม่รู้หน่าย คงเพราะส่วนผสมของความเป็น “จรัล” นั้นมีสีสัน ชนิดที่คนสร้างหนังที่นั่งฟังอยู่ข้างๆ ยังอดรำพึงเบาๆ ไม่ได้ว่า “น่าสร้างหนังสักเรื่อง” และหากจะมีหนังเรื่องนั้นก็ขอแนะนำให้ใช้ชื่อเรื่องตามชื่อนิยายอัตชีวประวัติที่เขาเขียน (แต่เขียนไม่เสร็จ)

“การเกิดสามครั้งของจรัล”

 

“ผมเกิดสามครั้ง ครั้งแรกเกิดจากแม่จนโตเป็นหนุ่ม ครั้งที่สองเกิดจากพรรคคอมมิวนิสต์ ใช้ชีวิตอยู่กับมัน 15-16 ปี ครั้งที่สามเกิดจากเสื้อแดง ถึงวันนี้ก็ 12 ปีแล้ว”

“ถ้าพูดถึงการหนี ผมนี่หนีจนชินแล้วเพราะหนีมา 3 ครั้งเหมือนกัน หนีครั้งแรกคือหนีจากคุกเข้าป่า ครั้งที่สองคือปี 2553 หลังสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ครั้งที่สามคือครั้งนี้ ถ้าจะมีครั้งที่สี่ก็คือหนีจากโลกนี้ไปเลย”

จรัลพูดรวบยอดชีวิตของเขาแบบติดตลก

 

ด.ช.จรัลเติบโตมาจากครอบครัวชาวนา ในเมืองที่ฝนตกปีละ 6 เดือนอย่างพัทลุง ลูกชายคนสุดท้องที่ไม่เอาดีทางชกมวยเหมือนพี่ๆ เพราะมีนิสัยติดแม่และชอบเรียนหนังสือ ในช่วงวัยรุ่นมีโอกาสไปอาศัยใกล้ชิดกับฝรั่งอเมริกันที่มาสอนหนังสือในประเทศไทย ทำให้ได้ฝึกภาษาอังกฤษ เรียนรู้วัฒนธรรมต่างชาติ เปิดมุมมองเรื่องราวการเมืองทั่วโลก

ความที่เป็นคนชอบอ่านหนังสือและโรแมนติก เขาจึงมักจัดวางความฝันในชีวิตไว้เหมือนกับตัวเอกของหนังสือที่ชอบ

“ชีวิตผมมันดำเนินไปตามหนังสือ อ่านหนังสือที่พระเอกเป็นตำรวจผมก็อยากเป็นตำรวจ อ่านหนังสือที่พระเอกเป็นนักการเมืองผมก็อยากเป็นนักการเมือง ตอน ม.ศ.3 ผมอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่มีส่วนทำให้ผมเป็นผมอย่างนี้มาจนปัจจุบัน คือเรื่องสั้น บนผืนแผ่นดิน ของ อ.อุดากร พระเอกเป็นนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ ความคิดเป็นซ้ายสังคมนิยม เป็นพวกคอมมิวนิสต์ สุดท้ายถูกตำรวจไล่ยิงตาย”

โชคดีที่อย่างน้อยชีวิตเขาก็ไม่เหมือนตอนจบในหนังสือ แม้จะมีโอกาสอยู่มากก็ตาม

ปี 2509 เป็นปีที่จรัลเข้าเรียนมหาวิทยาลัย สถานการณ์บ้านเมืองช่วงนั้นอยู่ในยุคของจอมพลถนอม กิตติขจร ต่อเนื่องจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ บริบทโลกช่วงนั้นหลายประเทศเปลี่ยนมาปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม ขณะที่ขบวนการฝ่ายซ้ายอย่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ก็มีมติจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลไทยมาตั้งแต่ปี 2504

ส่วนจรัลกำลังค้นหาความหมายของชีวิตวัยหนุ่มที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นแห่งแรก แต่แล้วก็ต้องเลิกกลางคัน

“ผมพบว่าผมไม่ชอบต้นไม้ ผมชอบคน ชอบคุยกับคน ผมอยากเป็นผู้แทนฯ”

 

จากนั้นเขาเข้าศึกษาต่อที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แต่เหตุที่ทำกิจกรรมมากมายรวมทั้ง “หนังสือเล่มละบาท” ไม่ค่อยได้เข้าเรียน ทำให้คาดการณ์ได้ว่าอาจสอบแคลคูลัสไม่ผ่าน จึงย้ายมาเรียนคณะรัฐศาสตร์แทน

ช่วงเปลี่ยนผ่านจากคณะนั้นไปคณะนี้ เขาใช้เวลาหมกตัวในห้องสมุดตะลุยอ่านหนังสือมากมายทั้งปรัชญา ประวัติศาสตร์ การเมือง นิยาย ฯลฯ

“ผมอ่านรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่สมัยแรกจนถึงสมัยสุดท้ายที่สฤษดิ์ทำรัฐประหารเลิกสภาไป ผมจึงรู้จักนักการเมืองเยอะมาก ใครปราศรัยอะไร ยังไง โดยเฉพาะนักการเมืองอีสาน…แต่ก็ไม่รู้โชคร้ายหรือโชคดี เพราะดันไปสนใจปรัชญา อ่านหมดทั้งตะวันตก ตะวันออก เกิดอาการฟุ้งหน่อย ไว้ผมยาว ไว้หนวดไว้เคราเป็นฮิปปี้ ความสนใจปรัชญาทำให้ผมเป็นคอมมิวนิสต์ช้าลง แต่สุดท้ายก็มาจบที่ปรัชญามาร์กซ์”

ในช่วงเวลานั้นวิธีคิดแบบ “ซ้าย” เริ่มครอบงำความคิดของปัญญาชนไทย ขบวนการนักศึกษาก็เติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนปี 2511 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ประชาชนทุกหมู่เหล่าเริ่ม “บริหารเสรีภาพ” ชุมนุมประท้วงกันหนักหน่วง

จรัลตระเวนไปทำความรู้จักแกนนำนักศึกษาในพื้นที่ต่างๆ มากมายเพื่อหาแนวร่วมจัดตั้งองค์กรกลางนักศึกษา เพื่อนหลายต่อหลายคนของเขาในตอนนั้นก็เติบโตมามีบทบาทในทางการเมืองสังคมจนถึงตอนนี้

เมื่อเรียนจบ เขาไปทำงานที่วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์อันโด่งดังซึ่งมีสุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็น บ.ก.ต่อจากสุลักษณ์ ศิวรักษ์

“ปี 2513 ผมเรียนจบ ตอนนั้นความคิดยังไม่ชัดเจนแม้ออกไปทางสังคมนิยม พอเกิดรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 ถนอมทำรัฐประหารตัวเอง ประเทศไทยกลับไปเป็นเผด็จการเหมือนเดิม ผมตัดสินใจเลย ไม่เอาแล้วแนวทางการต่อสู้ทางสภา ที่จะเป็นนักการเมืองก็เลิก ต้องเป็นนักปฏิวัติเท่านั้น”

เช กูวารา คือไอดอลของ The Young Jaran เขาตามหาข้อต่อของ พคท.จนเจอและได้เป็นผู้ปฏิบัติงานในเมืองของพรรค มีหน้าที่ “จัดตั้ง” บรรดานักศึกษาให้มีความคิดในการเปลี่ยนแปลงสังคมตามแนวทางพรรค จากนั้นชนชั้นปกครองเริ่มปราบปรามล่าสังหารผู้นำชาวนา กรรมกรมากขึ้น ทำให้คนเริ่มเข้าป่าร่วมกับ พคท.มากขึ้นๆ

จนกระทั่งสุดท้ายนักศึกษาเข้าป่าราวเขื่อนแตกภายหลังเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาฯ