หาทางฟื้นภาพลักษณ์ ปมเงื่อนจากจำนำข้าว

ต้องยอมรับว่า “โครงการรับจำนำข้าว” ของ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ถูกตราหน้าว่าเป็น “โครงการโคตรทุจริตครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์”

การเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลที่พรรคประชาธิปัตย์นำการต่อสู้ทางการเมืองเคลื่อนจากรัฐบาลมาเล่นกันบนท้องถนน จนเกิดความรุนแรงสารพัดรูปแบบไม่เว้นแม้แต่ต่อต้านการเลือกตั้ง จนในที่สุดนำสู่การเปิดทางอย่างกว้างขวางให้เกิดการปฏิวัติรัฐประหาร

และกระทั่งถึงวันนี้ทั้งที่เกิดภาพจัดเชนว่าชาวนาเดือดร้อนกับราคาข้าวอย่างสาหัส แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังเห็นดีเห็นงามกับการยึดอำนาจเอามาเสียจาก “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” นั้น ส่วนหนึ่งเกิดจาก “เรื่องราวที่โครงการรับจำนำข้าวถูกตราหน้าให้เป็นอัครมหาโครงการคอร์รัปชั่น”

ทั้งที่มีประชาชนส่วนหนึ่งที่เปิดใจรับฟังเสียงอีกด้านจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการจะรับรู้ว่า ทางฝ่ายนี้ย้ำถึง “ความเสียเปรียบของชาวนา” ที่ตกเป็น “เบี้ยล่างในวงจรของธุรกิจค้าข้าว” มาตลอด และ “โครงการรับจำนำข้าว” ที่ว่าไปแล้วเหมือน “การรับซื้อข้าวจากชาวนานเกวียนละ 15,000 บาท” เป็นการที่รัฐบาลกระโดดเข้ารับภาระจัดการให้ “ชาวนาได้รับส่วนแบ่งจากธุรกิจข้าวในสัดส่วนที่ดีขึ้น”

โดยเชื่อว่าหากบริหารจัดการให้ดี จะส่งผลให้โครงสร้างธุรกิจนี้เปลี่ยนไปในทางที่ให้ความเป็นธรรมกับชาวนามากขึ้น

 

ในมุมมองของพรรคเพื่อไทยนั้น สาเหตุที่ “โครงการเคลียร์ผลประโยชน์ข้าวคืนชาวนาในสัดส่วนที่เหมาะสม” ประสบความล้มเหลวเกิดจากการถูกต่อต้านไม่ให้ดำเนินโครงการอย่างตลอดรอดฝั่ง เมื่อชะตากรรมของชาวนาถูกนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ปิดหนทางความสำเร็จทุกอย่างเพื่อสร้างความไม่ชอบธรรมให้รัฐบาล

พรรคเพื่อไทยมองว่าเป็นเพราะ “รัฐบาลควบคุมการใช้อำนาจไม่ได้” ทำให้โครงการที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผลประโยชน์ในธุรกิจข้าวขาดพลังที่จะผลักดัน เคี่ยวเข็ญให้ประสบความสำเร็จ

จึงกลายเป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และที่ตามมาคือ “ความเสียหายอย่างยับเยินอันเนื่องมาจากการดำเนินการไม่ต่อเนื่องทำให้จุดสุดท้ายเปลี่ยนแปลงจากชีวิตดีขึ้นของชาวนาที่หวังไว้เป็นความเลวร้าย”

อย่างไรก็ตาม มุมมองของพรรคเพื่อไทยนี้ คล้ายกับว่าจะไม่เคยอยู่ในความเข้าใจของคนไทยส่วนใหญ่

ดังนั้น การจัดการกับ “ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว” ด้วยวิธีการรุนแรงจึงได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนส่วนใหญ่ในทางเห็นดีเห็นงามด้วยตลอดมา

 

แม้กระทั่งจากการสำรวจล่าสุดของ “กรุงเทพโพลล์” เรื่อง “ประชาชนคิดเห็นอย่างไรต่อการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว” ยังปรากฏว่าในคำถาม “เห็นอย่างไรกับการใช้มาตรา 11 ให้อำนาจกับกรมบังคับคดีในการตรวจสอบคดีโครงการรับจำนำข้าว” ร้อยละ 63.4 ตอบว่าเห็นด้วย, ในคำถามว่า เห็นอย่างไรกับการออกคำสั่งให้ยึดทรัพย์กว่า 20,000 ล้านบาทจากผู้กระทำผิดในโครงการรับจำนำข้าวในส่วนการซื้อขายแบบจีทูจี ร้อยละ 44.2 บอกควรเพิ่มโทษอย่างอื่นนอกเหนือจากการยึดทรัพย์ ร้อยละ 27.7 บอกเป็นการเรียกค่าเสียหายที่คุ้มค่า ร้อยละ 14.8 บอกว่าน้อยเกินไป ควรชดใช้มากกว่านี้ มีเพียงร้อยละ 13.3 เท่านั้นที่เห็นว่าเป็นการเรียกค่าเสียหายมากเกินไป

และเมื่อถามถึงความพึงพอใจต่อภาพรวมการดำเนินคดีโครงการรับจำนำข้าว ร้อยละ 29.2 ตอบว่าพึงพอใจมาก ร้อยละ 33.1 บอกพึงพอใจค่อนข้างมาก มีร้อยละ 27.1 ที่ตอบว่าพึงพอใจน้อย

และร้อยละ 10.6 ที่ตอบว่าไม่พึงพอใจ

 

จากความคิดเห็นของประชาชนดังกล่าวนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีทางที่จะเข้าใจเจตนาของโครงการรับจำนำข้าวอย่างที่พรรคเพื่อไทยอยากจะให้เข้าใจ

ภาพของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจึงยังเป็นความเลวร้าย ยากที่จะเปลี่ยนแปลง

คำถามก็คือว่า หากคิดถึงการคืนอำนาจให้ประชาชน การเยียวยาภาพลักษณ์ของนักการเมืองที่ประชาชนเป็นผู้เลือกขึ้นมาเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำ เพราะไม่เช่นนั้น นิยามของประชาธิปไตยจะยิ่งผิดเพี้ยนไปกันใหญ่ จนชวนให้หวาดระแวงว่าระยะยาวประชาชนส่วนใหญ่จะหยุดการสนับสนุนประชาธิปไตย และเห็นดีเห็นงามกับอำนาจรวมศูนย์ที่ผู้ไม่ได้มาจากประชาชนมีอิทธิพลต่ออำนาจเหนือกว่า

ในสถานการณ์ที่มีแนวโน้มเช่นนี้ นักการเมืองควรทำอย่างไร เพื่อให้อำนาจยังเป็น “ของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน”