รายงานพิเศษ : เปิดใจ ยุวดี ธัญญศิริ หัวใจนักข่าว-วันที่เข้าทำเนียบไม่ได้

ในวันที่ไม่มีสิทธิ์เข้าทำข่าวภายในทำเนียบรัฐบาล “เจ๊ยุ” หรือ “ยุวดี ธัญญศิริ” ผู้สื่อข่าวอาวุโส ยังมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส พูดคุยสนุกสนานเหมือนเคย

หากไม่มีธุระการงานอื่นให้ต้องทำ เธอจะปักหลักอยู่ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คอยมอนิเตอร์ข้อมูลข่าวสาร ช่วยงานสมาคมบ้าง นักข่าวรุ่นใหญ่ผู้นี้ไม่คิดพักผ่อนนอนอยู่บ้าน

“การทำงานทำให้คนเรายังมีไฟ” นั่นคือคำพูดของนักข่าวที่ทำงานมา 48 ปี

กลายเป็นเรื่องทอล์กออฟเดอะทาวน์ โดยเฉพาะในวงการสื่อมวลชน ที่อยู่ๆ ก็มีมาตรการคุ้มเข้มผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล เริ่มจากสำนักโฆษกฯ ส่งหนังสือไปยังบรรณาธิการสื่อทุกสำนัก แต่ไม่มีการแจ้งนักข่าวในพื้นที่เหมือนเคย โดยขอให้ออกใบรับรองสถานะผู้สื่อข่าวในสังกัด ต่อมาได้ยกเลิกบัตรประจำตัวผู้สื่อข่าวทำเนียบ ทั้งที่จะหมดอายุในสิ้นปีนี้อยู่แล้ว

กระทั่งสำนักโฆษกฯ ออกบัตรผ่านเข้า-ออกทำเนียบชั่วคราว ให้ผู้สื่อข่าวที่ต้นสังกัดรับรองสถานะเท่านั้น ผลก็คือ “ยุวดี ธัญญศิริ” หมดสิทธิ์เข้าทำเนียบรัฐบาล นับตั้งแต่วันเริ่มมาตรการ 1 พฤศจิกายน เนื่องด้วยบางกอกโพสต์ ซึ่งเปลี่ยนผู้บริหาร ไม่ได้ออกใบรับรองให้เธอเหมือนเคย

วันต่อมา “เจ๊ยุ” ได้ปรากฏตัวที่ทำเนียบอีกครั้ง ครั้งนี้มาเพื่อเก็บข้าวของส่วนตัวออกจากห้องผู้สื่อข่าว หรือที่เรียกกันว่า “รังนกกระจอก”เธอไม่มีคำอำลาใครคนใดทั้งสิ้น เพราะยังเชื่อว่านี่เป็นการจากกันแค่ชั่วคราว หาใช่ตลอดไป

“ไม่ได้อำลา ไม่เคยอำลาจากการเป็นนักข่าวเลย” เจ๊ยุ ว่าอย่างนั้น

%e0%b8%a2%e0%b8%b8%e0%b8%a7%e0%b8%94%e0%b8%b5-2

จากเรื่องที่เกิดขึ้น “ยุวดี ธัญญศิริ” เปิดใจกับ “มติชนสุดสัปดาห์” ด้วยการปูพื้น เล่าการทำงานของนักข่าวในอดีตให้ฟังว่า นักข่าวการเมืองยุคก่อนจะไม่มีสายประจำเหมือนทุกวันนี้ ที่มีสายทำเนียบ สภา หรือสายทหาร นักข่าวยุคนั้นจะวิ่งทำข่าวตามหมายงานและเหตุการณ์สำคัญ

ต่อมาเมื่อแต่ละสำนักเริ่มเติบโต องค์กรเริ่มขยาย จึงต้องมีนักข่าวประจำแต่ละหน่วยงาน เพื่อเพิ่มความเชี่ยวชาญแต่ละด้าน จากนั้นนักข่าวบางกอกโพสต์ที่ชื่อ “ยุวดี” ก็ปักหลักอยู่ที่ทำเนียบ เพราะเห็นว่าเป็นศูนย์อำนาจ อีกทั้งข่าวสำคัญส่วนใหญ่ก็จะออกมาจากทำเนียบรัฐบาล

แม้วันนี้ “ยุวดี” จะหมดสิทธิ์เข้าไปยิงคำถามในสถานที่ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอำนาจ แต่เธอไม่คิดว่าเป็นปัญหาต่อการทำงาน เพราะเชื่อว่าเมื่อสวมหัวใจนักข่าวแล้ว อยู่ไหนก็สามารถทำงานได้

“เฉยๆ นะ เพราะเราเองก็อายุมากขึ้น เรารักในอาชีพและการทำงาน ที่ผ่านมาก็เป็นไปด้วยความมุ่งมั่น นักข่าวเป็นอาชีพที่มีเกียรติ เราทำงานเพื่อสังคม ทำหน้าที่ตรวจสอบเพื่อให้ประชาชนรับทราบข่าวสารอย่างถูกต้อง ยืนหยัดในผลประโยชน์ของสังคม”

จากนั้นได้เล่าความรู้สึกแรกที่ไม่สามารถก้าวผ่านประตูทำเนียบรัฐบาล ซึ่งความรู้สึกแรกที่เข้ามาคือการตั้งคำถามกับตัวเอง เพื่อหาเหตุผลว่าเกิดอะไรขึ้น เหตุใดอยู่ๆ จึงไม่สามารถเข้าไปทำงานได้เหมือนเคย

“แต่มันก็พอมีสัญญาณสิ่งบอกเหตุให้เรารู้ล่วงหน้า นักข่าวในทำเนียบทุกคนปฏิบัติตามระเบียบ มีบัตร ไม่มีแปลกปลอม อย่างเราก็ปฏิบัติตามระเบียบมาโดยตลอด ไม่เคยออกนอกกติกา มีอะไรก็ว่ากันมา หน้าที่ของเราข่าวคือข่าว ทำมาหลายรัฐบาลแล้วก็ยังไม่เห็นมีปัญหาอะไร ผู้บริหารประเทศต้องการสื่อสารกับประชาชน หรือมีข่าวสารอะไรที่คนไทยควรรับทราบ เราก็รายงานไปตามนั้น ไม่มีอะไรอื่น”

“จะว่าใจหายไหม” เธอหยุดคิด ก่อนพูดต่อ “ก็ใจหายเหมือนกัน เราเคยมาทุกวัน มาเจอน้องๆ มาทำงานตลอด ไม่ว่าจะรัฐบาลทหารหรือรัฐบาลพลเรือน เราก็ทำงาน วันนี้มาประจำที่ทำเนียบ ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่ต้องวิ่งทำข่าวไปทั่ว ถ้าถามถึงใจหายที่หมายถึงความผูกพัน ถามตอบก็อย่างนั้นแหละ ขณะเดียวกันมันก็ชินแล้ว เพราะเห็นมาเยอะ อาจเป็นเพราะว่าเราอยู่นาน เขาเลยกลัวว่าจะไปรู้อะไร”

“แต่เมื่อมีมาตรการแบบนี้ออกมา เราก็ต้องปฏิบัติ และไม่เห็นว่าจะต้องไปเต้นอะไรเลย อีกอย่างเราก็ไม่เห็นว่าตัวเองวิเศษวิโสอะไร แต่ก็ตลกดี เราให้เกียรติทุกรัฐบาล นายกฯ ทั้งนักการเมืองหรือที่มาจากการปฏิวัติ ทุกคนเราให้เกียรติเขา”

ยุวดี ซึ่งเป็นภรรยาอดีตปลัดกระทรวงกลาโหม รุ่นพี่ของเหล่าบิ๊กทหารในรัฐบาล และ คสช. ตอบข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงเหมือนถูกบีบให้ออกจากทำเนียบ โดยปฏิเสธเรื่องของความสัมพันธ์ส่วนตัว แยกเรื่องที่บ้านออกจากอาชีพการทำงานอย่างสิ้นเชิง

“ไม่เคยคิดอย่างนั้น เพราะเรามาทำงานเป็นนักข่าว แม้ที่บ้านเราจะอยู่ในอาชีพที่ต้องเจอกัน แต่ก็แยกกันโดยเด็ดขาด เวลาเราเป็นนักข่าวก็ไม่เคยไปขอข้อมูลอะไรจากเขา เพราะหาเองภูมิใจกว่า เช่น การแต่งตั้งโยกย้าย หาเองสบายใจกว่า ป้องกันคนมาสงสัยเราด้วย ว่าไปเอาข้อมูลมาจากไหน”

นับตั้งแต่ปี 2511 ที่เริ่มต้นทำหน้าที่ผู้สื่อข่าว วันนี้ได้กลับมาทบทวนตัวเอง หาเหตุผลว่าทำไมจึงถูกสั่งห้าม โดย “ยุวดี” ตั้งคำถามกับตัวเองว่า อะไรคือสิ่งที่ผู้มีอำนาจเกรงกลัว เพราะตลอดการทำงานที่ผ่านมา สิ่งสำคัญที่ยึดถือคือการคำนึงถึงความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติ

“อะไรที่ไม่เข้าใจสื่อทำไมไม่ถาม ไปเอาอะไรมาตัดสิน ทุกคนมีเกียรติ คนเราต้องรู้จักให้เกียรติซึ่งกันและกัน สื่อเองก็ให้เกียรติแหล่งข่าว เราทำงานด้วยความสามารถ คุณธรรมจริยธรรม ไม่เคยไปกลั่นแกล้งใคร”

 

หลังการเป็นเรื่องฮือฮากันทั้งวงการ วันนี้ “เจ๊ยุ” ได้รับกำลังใจอย่างดีจากเพื่อนร่วมวงการ ตั้งแต่รุ่นเดอะไปจนถึงรุ่นหลาน ซึ่งได้แวะเวียนเยี่ยมเยียน พูดคุยให้กำลังใจซึ่งกันและกันไม่ขาดสาย จนมีตารางนัดกินข้าวพูดคุยไม่เว้นแต่ละวัน

“นึกไม่ถึงเลย เกิดมาไม่เคยนั่งรับโทรศัพท์ทุกนาทีอย่างนี้ คนโน้นคนนี้โทร.มา ผู้ใหญ่รุ่นเก่าๆ ยังโทร.มาเลย มีนัดกินข้าวกันเยอะมาก”

“นั่นก็แสดงว่าคนที่เราเคยตักเตือนหรือว่าเขา แต่เขาก็ไม่เคยโกรธเรา เพราะบางทีเราจะเจ้าระเบียบหน่อย แต่สมัยก่อนเวลามีอะไรเราก็จะปกป้องน้องๆ แต่เวลานี้เขาบอกว่า เรามีปัญหาก็มาให้กำลังใจ”

“แต่เราไม่คิดว่าเรามีปัญหาหรอก ทุกวงการก็มีบ้าง ห้ามเขามาได้ ยืนยันว่าทำทุกอย่างด้วยความบริสุทธิ์ใจ จริงใจ และที่ยอมไม่ได้คือการดูถูกอาชีพของเรา เพราะมันมีเกียรติเหมือนกับอาชีพอื่นๆ นั่นแหละ”

 

ในวัยเกษียณมาหลายปี “นักข่าวรุ่นใหญ่” อธิบายว่าทำไมถึงยังต้องทำงานว่า “เราชอบ อีกอย่างก็ไม่ได้มีภาระอะไร คือเป็นผู้หญิงที่ชอบทำงาน ไม่ชอบนั่งอยู่เฉยๆ แต่ก็ประเมินศักยภาพตัวเอง ทั้งสมอง สติปัญญายังใช้ได้หรือไม่ ยังมีคนจ้างทำหรือเปล่า หากมีก็ทำ แต่ก็ไม่ได้ทำเหมือนสมัยที่ยังมีกำลังวังชา สมัยก่อนยังมีสงคราม ประเทศถูกคุกคามด้วยคอมมิวนิสต์ เราก็ลุยทุกที่ การทำงานทำให้เรามีความสุข ถ้ายังสามารถทำประโยชน์ให้สังคมได้ก็จะทำ”

“ในโลกนี้ไม่มีอะไรแก่เกินแกง คนแก่ๆ ยังเรียนมหาวิทยาลัยและทำอะไรต่อมิอะไรได้ ถ้าคิดว่าแก่แล้วต้องนั่งอยู่บ้านกอดเข่า นั่นคิดผิด ขณะเดียวกันเราก็รู้ตัวเองว่าร่างกายยังพร้อมทำงานหรือเปล่า ไม่พร้อมก็เลิก พักผ่อน แต่ส่วนตัวไม่มีกำหนดจะหยุดเมื่อไหร่ ทำไปเรื่อยๆ ก็เขาไม่ได้ห้ามนี่”

“ยุวดี” ถอดใจเมื่อต้องประเมินความเข้มแข็งของวงการสื่อมวลชนขณะนี้ โดยบอกว่า เนื่องจากสื่อมีการแข่งขันค่อนข้างสูง ความอยู่รอดของสื่อแต่ละสำนักเป็นเรื่องน่าเห็นใจ จึงเป็นไปไม่ได้ที่องค์กรสื่อจะมีความเข้มแข็งดังก่อนเก่า

อย่างไรก็ตาม ดีใจที่สื่อยังคงทำหน้าที่บนพื้นฐานประโยชน์ของประชาชน เพราะหากสื่อไม่มีคุณธรรมจริยธรรมแล้ว ประชาชนก็ไม่รู้จะไปพึ่งใคร สื่อจึงมีความสำคัญ เช่นเดียวกับที่องค์กรสื่อโลกคิดคำว่า เสรีภาพของสื่อ คือเสรีภาพของประชาชน

 

“สื่อเองก็ต้องมีความสามัคคีกัน เพราะวันนี้มีคนที่หาผลประโยชน์ ชอบแทงข้างหลังเพื่อน มีอยู่บางคนเท่านั้นเอง ไม่ใช่ทุกคน คนไหนเป็นก็คงจะรู้ตัวเอง สิ่งสำคัญอย่าลืมว่าคุณภาพของสื่อนั้น อยู่ที่ความน่าเชื่อถือเมื่อได้รายงานข่าวออกไป” ยุวดี ยกกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. พูดเหมือนกับรู้ว่าผู้สื่อข่าวคุยอะไรกันบ้างในรังนกกระจอก

นักข่าวอาวุโส ยังวิเคราะห์ความอยู่รอดของวงการหนังสือพิมพ์ว่า รูปแบบการนำเสนอของหนังสือพิมพ์นั้นมีความหลากหลาย แต่เมื่อมีสื่อรูปแบบใหม่ๆ เข้ามา หนังสือพิมพ์จึงจำเป็นต้องลดปรับรูปแบบ ปรับองค์กร เปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม เพราะไม่มีทางที่หนังสือพิมพ์จะกลับมาได้รับความนิยมเหมือนในอดีต

ก่อนจบการสนทนา “เจ๊ยุ” ทิ้งท้ายว่า แม้วันนี้จะเข้าไปทำงานในทำเนียบรัฐบาลไม่ได้ ก็ใช่ว่าวันหน้าจะเข้าไปไม่ได้เหมือนวันนี้

คล้ายคำพูดในวันที่ต้องเข้ามาเก็บข้าวของออกจากทำเนียบ ซึ่ง “ยุวดี ธัญญศิริ” กล่าวกับนักข่าวรุ่นน้อง สะท้อนก้าวย่างของตัวเองออกมาว่า

“ตรงไหนที่มืด เราก็ยังไม่ต้องเข้าไป เสรีภาพสื่อ เสรีภาพประชาชน”