รถคันแรกของสยาม จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) เป็นผู้นำเข้าเป็นคนแรก

ก่อนที่จะไปพบกับรถยนต์คันแรกของสยามประเทศ เรามารู้จักผู้ที่ประดิษฐ์รถยนตร์คันแรกของโลกกันก่อนดีกว่า

โดยในอดีตได้มีการบันทึกไว้ว่า นาย นิโคลาส กูโย่ วิศวกรชาวฝรั่งเศส ได้ทดลองประดิษฐ์รถยนตร์ขึ้นในปี พ.ศ. 2312 โดยรถของนายนิโคลาสนั้น ในเบื้องต้นไม่ใช่รถ 4 ล้อหรือ 6 ล้อเหมือนในปัจจุบัน แต่จะมีเพียง 3 ล้อ วิ่งไปด้วยเครื่องจักรไอน้ำ มีหม้อและลูกสูบติดต่อกันเป็นลิ้นกับล้อหน้า สามารถวิ่งได้เร็ว 2 ไมล์ครึ่งต่อ 1 ชั่วโมง แต่วิ่งได้เพียง 100 ฟิต ไอน้ำก็จะหมดและต้องหยุดรถเพื่อทำกำลังไอน้ำใหม่

กลับมาที่ประเทศไทยของเรา ผู้ที่นำรถยนต์เข้ามาเป็นคนแรกนั้น ปรากฏอยู่ในสาส์นสมเด็จ เล่มที่23 อันเป็นลายพระหัตถ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้บันทึกไว้ว่า

จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) เป็นผู้นำเข้ามาเป็นคนแรก โดยมีลายพระหัตถ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงศ์ ดังนี้

“รถยนต์คันแรกที่เข้าในเมืองไทย ดูเหมือนจะเป็นเจ้าพระยาสุรศักดิ์ เอาเข้ามาครั้งไปยุโรป หรือไม่ก็คงจะมีฝรั่งเอาเข้ามา แล้วเอามาขายให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์ เป็นปกติของเจ้าพระยาสุรศักดิ์ที่ชอบของใหม่ ๆ แปลก ๆ เห็นคงจะซื้อไว้ ได้ยินเขาว่าใส่เกียร์ยากล้นพ้น ลางทีฝ่าพระบาทจะได้ทอดพระเนตรเห็นแล้วก็หายสูญไป คงเป็นอันใช้ไม่ได้ ที่ใช้ได้จริงจังจำได้ว่ากรมหลวงราชบุรีเอาเข้ามา เป็นเหตุให้ฮือรถยนต์กันขึ้นในเมืองไทย”

ในลายพระหัตถ์ยังกล่าวอีกว่า “รถคันแรกในเมืองไทย รูปร่างคล้ายรถบดถนน ล้อยางตัน หลังคาเป็นปะรำ มีที่นั่งสองแถว ใช้น้ำมันปิโตรเลียมไฟหน้าลักษณะคล้ายเตาฟู่”

จนต่อมาในปี พ.ศ. 2448 รถยนตร์เริ่มเป็นที่นิยมในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ จึงมีการจัดการชุมนุม รถยนตร์ครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ และในครั้งนั้นมีรถยนต์ไปร่วมชุมนุมถึง 30 คัน และเคลื่อนขบวนรถไปตามถนนสามเสน และ

ในปี พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริที่จะสั่งซื้อรถยนต์มาเป็นของขวัญพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการชั้นสูง เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์ แก่แผ่นดินเป็นจำนวน 10 คัน และทรงพระราชทานนามแก่รถยนต์แต่ละคัน ในลักษณะเดียวกับที่พระราชทานนามแก่ช้าง เพื่อแสดงถึงฐานะและความมั่งมี เช่น แก้วจักรพรรดิ์ มณีรัตนา ทัดมารุต ไอยราพต กังหัน ราชอนุยันต์ สละสลวย กระสวยทอง ลำลองทัพ พรายพยนต์ กลกำบัง สุวรรณมุขี