รายงานพิเศษ : “มกุฏ อรฤดี” กับโครงการบันทึกหัวใจ ถวายในหลวงรัชกาลที่ 9

เขียนหนังสือยังไม่เก่ง จึงเป็นรูปบันทึกความทรงจำ-เด็กหญิงอมลรดา ผาติหัตถกร อายุ 6 ขวบ

แม้การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จะนำมาซึ่งความเสียใจอย่างแสนสาหัส แต่ในขณะเดียวกันก็ได้เห็นถึงความจงรักภักดีที่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่ามีต่อพระองค์

หลายคนพร้อมใจกันมาเฝ้าฯ ถวายสักการะพระบรมศพ หลายคนรวมใจกันทำความดีด้วยการแจกอาหาร น้ำดื่ม เก็บขยะ บริเวณท้องสนามหลวงและพระบรมมหาราชวัง อีกหลายคนก็ลุกขึ้นมาทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดเพื่อ “พ่อ”

มกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2555 ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ขอทำหน้าที่ “คนทำหนังสือ” ให้ดีที่สุด ด้วยการประกาศผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าจะรวบรวมบันทึกความทรงจำและความรู้สึกของคนไทยทั้งประเทศเพื่อถวาย ในหลวงรัชกาลที่ 9

13598639391359864014l
มกุฏ อรฤดี

“ตอนแรกไม่รู้หรอกว่ามันเป็นงานหนัก หรืองานใหญ่” เขาว่า

กระทั่ง “พอประกาศไปแล้วรู้ว่ามันใหญ่มาก แต่ถ้าไม่มีใครทำเลย มันน่าเสียดายหัวใจของประชาชนนะ ที่มันจะหายไป แล้วสิ่งเหล่านี้เอากลับคืนมาไม่ได้”

“ถ้าเกิดว่าเราลงมือทำ สิ่งนี้ไม่เพียงแต่รวบรวมหัวใจของคนไว้ แต่มันจะสอนอะไร บอกอะไรเราบางอย่างในนั้น” มกุฏ ให้เหตุผลที่ริเริ่มโครงการ ก่อนเล่าย้อนไปว่า อันที่จริง สำนักพิมพ์ผีเสื้อ มีโครงการให้เด็กเขียนบันทึกแต่วัยเยาว์เมื่อปี 2557 โดยมอบสมุดบันทึกให้เด็กทั่วประเทศประมาณหนึ่งพันกว่าคน เพราะเชื่อว่าบันทึกคือวิธีให้เด็กอ่านหนังสือที่ดีที่สุด ซึ่งโครงการนี้ทำให้ได้พบนักเขียนรุ่นเยาว์ที่ฝีมือไม่ธรรมดา

“ต่อมาเมื่อมีข่าวว่าพระเจ้าอยู่หัวประชวร ก็ส่งข่าวถึงเด็กๆ ของเรา 2-3 คน ว่าพระเจ้าอยู่หัวประชวร อยากจะเขียนอะไรถึงไหม ก็บอกไปแค่นั้น”

“ผลปรากฏว่า เขาเขียนสิ่งที่เราคาดไม่ถึงมาหลายบททีเดียว เป็นข้อเขียนที่นึกไม่ถึงว่าจะได้เห็น นึกไม่ถึงว่าเด็กจะมีความคิดสิ่งเหล่านั้นได้”

“เขาเขียนโดยที่ยังไม่รู้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระอาการหนักหรือเปล่า แต่เขาก็เขียนด้วยความเป็นห่วงเป็นใย เขียนด้วยความหวังว่าคำพรของเขาจะช่วยได้”

“เรารู้เลยว่า หัวใจของคนในสภาวะบางสภาวะมันมีพลังมหาศาล ถ้าเกิดว่าเราเก็บหัวใจอันยิ่งใหญ่ไว้ได้ในหนังสือสักชุดนึง วันหน้าคนที่มาอ่านก็จะรู้ว่าประเทศไทยอยู่ได้ด้วยหัวใจยิ่งใหญ่ของคนเหล่านี้ แต่ถ้าไม่มีอะไรบันทึกไว้เลย ท้ายที่สุดเขาก็ลืมไป”

yyyoyy

ในที่สุดจึงเกิดความคิดว่า “เราน่าจะเปิดโอกาสให้เด็กและคนทั่วไป เน้นชาวบ้านในต่างจังหวัดที่ไม่มีโอกาสได้เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ เลย เขียนความรู้สึกของคุณมาในหนึ่งหน้ากระดาษ เด็กจะเขียนลายมือขยุกขยิกยังไงก็แล้วแต่ จะวาดรูปก็ได้ เรารับหมดทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่”

แต่ที่สำคัญ “ต้องไม่ใช่การเล่าประวัติศาสตร์ซึ่งมีประวัติศาสตร์อยู่แล้ว ไม่ใช่เขียนเรื่องที่คนอื่นก็รู้อยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องที่มีอยู่ทั่วไป”

“เราต้องการสิ่งที่ออกมาจากข้างในของแต่ละคน ที่เราไม่เคยได้ยิน ที่เราไม่เคยรู้ ซึ่งมันมีพลังบางสิ่งบางอย่าง เรื่องซึ่งบอกอะไรแก่คนทั้งหลายได้ดี”

“การเขียนว่ามีข่าวอย่างนี้ไปจำมาแล้วมาเขียนซ้ำ ไม่มีความหมายอะไร”

“ประชาชนบางคนเขาเคยพบในหลวง บางคนเคยทำงานร่วมกับท่าน เป็นชาวบ้านที่ท่านมาหา มาทำงานด้วย เขารู้สึกยังไง เราไม่รู้เลย แล้วคนเหล่านี้มีอยู่เท่าไร เพราะตลอดเวลา 70 ปี พระองค์พบคนมากมาย ช่วยคนมากมายจริงๆ”

“บางคนอาจจะไม่เคยพบพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเลย แต่ว่ารู้ว่าท่านทำอะไรบ้าง แล้ววันหนึ่งเมื่อพระองค์สวรรคตไป รู้สึกอย่างไร”

“อาจจะไม่ใช่บันทึกประวัติศาสตร์อย่างเป็นพิธีการ แต่เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์โดยคนที่ไม่มีโอกาสเขียนประวัติศาสตร์” มกุฏ กล่าว

ฟังดูแล้วไม่ง่าย ซึ่งเขาว่า “มีคนถามหลายคนมากว่าทำไมถึงทำ”

 

“ผมไม่เคยได้ทำงานรับใช้พระองค์ คืออยู่ห่างๆ แต่ว่าพอมาถึงเวลานี้ ผมทำหนังสือมาตลอดชีวิต อยู่กับเรื่องสมุดมาครึ่งชีวิต อยู่กับการเขียนบันทึกมาครึ่งชีวิต เข้าใจดีว่าสิ่งนี้มันมีค่า มีความหมายอย่างไร”

“ถ้าเราไม่ทำ ใช้คำว่าเสียชาติเกิด อุตส่าห์เป็นครูสอนวิชาหนังสือ นี่คือสิ่งหนึ่งในวิชาหนังสือ วิชาหนังสือคืออะไร วิชาหนังสือคือการแสวงหาต้นฉบับ เพื่อให้ได้หนังสือดี ในโอกาสนี้คือการหาต้นฉบับจากคนมหาศาลในประเทศ เราอาจจะพบอะไรที่เราไม่คาดคิด” มกุฏ บอกพลางยิ้ม

อย่างไรก็ตาม สำหรับบันทึกที่ได้รับการคัดเลือกจะนำมาจัดทำเป็นรูปเล่ม โดยใช้ชื่อว่า บันทึกถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยูหัวภูมิพลอดุลยเดช สำหรับผู้ใหญ่ และ บันทึกถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 สำหรับเด็ก โดยจะเรียงตามตัวอักษรของชื่อผู้เขียนตั้งแต่ ก-ฮ รวมทั้งหมดชุดละ 9 เล่ม แล้วส่งไปสถานที่สำคัญ เช่น หอสมุดแห่งชาติ หอสมุดประจำมหาวิทยาลัย หอสมุดประจำจังหวัด สถานเอกอัครราชทูตในประเทศต่างๆ

ส่วนบันทึกที่ไม่ได้ถูกคัดเลือกก็จะนำมารวบรวมและจัดเรียงตามตัวอักษรของชื่อผู้เขียนตั้งแต่ ก-ฮ เช่นกัน แต่จะเก็บไว้ยังสถานที่สำคัญที่ใดที่หนึ่งของราชการเพียงแห่งเดียว ซึ่งกำหนดการและวิธีการส่งสามารถติดตามได้ที่เฟซบุ๊ก Makut Onrudee

 

นอกจากนี้ สำนักพิมพ์ผีเสื้อ ยังมีโครงการ อ่านหนังสือพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ที่จะจัดกิจกรรมสนทนาและเสวนาการอ่านหนังสือพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ขึ้นในปี 2560

“เหตุที่เราจัดงานที่นั่นเพราะว่า งานทุกอย่างมักจะจัดในกรุงเทพฯ แล้วคนต่างจังหวัดจะมาก็ลำบาก สังคมการอ่าน ที่เฟื่องฟูทางสติปัญญาก็ไม่เกิดในต่างจังหวัด”

“เราจึงอยากให้ที่นั่นเป็นศูนย์กลาง อย่างน้อยภาคใต้ตอนบนให้ที่นั่นเป็นศูนย์กลาง แล้วขยายไปจังหวัดใกล้เคียง บริเวณนั้นทั้งหมดมาใช้บริการได้”

ดังนั้น นอกจากหนังสือพระราชนิพนธ์ ห้องสมุดที่นั่นจึงมีหนังสือประเภทต่างๆ ให้อ่านอีกมากมายแม้ว่าจะจบโครงการแล้ว

“เราพยายามเอาหนังสือประเภทต่างๆ เข้าไป หนังสือที่เหมาะกับชาวบ้าน หนังสือทำสวน ความรู้พื้นฐานต่างๆ เพราะต้องไม่ลืมว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เป็นนักหนังสือที่คิดเรื่องความรู้พื้นฐาน ทรงพยายามทำหนังสือสารานุกรมสำหรับประชาชนเพื่อให้ทุกคนมีความรู้เท่ากัน นี่คือการจัดการความรู้พื้นฐานของคนไทย”

ที่สำคัญ “อยากให้คนรู้สึกว่า แม้แต่พระเจ้าอยู่หัวยังพยายามกระตุ้นให้คนอ่านหนังสือ ก็คงมีแต่ประเทศนี้ ที่พระเจ้าอยู่หัวทำทุกสิ่งทุกอย่าง”

โดยทั้งหมดก็ทำเพื่อพสกนิกรของพระองค์ “ประชาชนชาวไทย”