พจนานุกรมนักเรียน ฉบับราชบัณฑิตยสภา

ราชบัณฑิตยสภา มีหนังสือที่น่าสนใจเผยแพร่ออกมาอีกเล่มหนึ่งแล้ว นั่นคือ พจนานุกรมนักเรียน ฉบับราชบัณฑิตยสภา เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘

พจนานุกรมเล่มนี้ต่างจาก พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ อยู่หลายประการ เช่น

เก็บคำศัพท์ที่เหมาะสมกับนักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

คัดเลือกศัพท์และปรับปรุงบทนิยามตามหนังสือ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ให้สอดคล้องกับระดับความรู้ของเด็ก และเก็บศัพท์เฉพาะที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน พร้อมยกตัวอย่างคำซึ่งเป็นภาษาปัจจุบัน ไม่เก็บคำโบราณ คำแบบ คำภาษาถิ่น ชื่อพืช ชื่อสัตว์ ศัพท์วรรณคดี ศัพท์กฎหมาย

เมื่อตั้งแนวทางไว้แล้วเช่นนั้น สิ่งที่ได้ก็คือ

๑. คำทุกคำเป็นคำตั้ง ไม่มีลูกคำ เพื่อให้ค้นได้ง่ายขึ้น เช่น กกหู ซึ่งเคยเป็นลูกคำของคำว่า ก็นำมาเรียงต่อจาก ก๊ก

๒. คำที่มีความหมายหลายอย่างจะใช้หมายเลขกำกับความหมายต่างๆ เชน

กก ๑. แนบไว้กับอกขณะนอน เช่น กกกอด กกไข่ กกลูก.

๒. เก็บเอาไว้นานเกินควร เช่น เอาเรื่องไปกกไว้.

๓. คำหรือพยางค์ที่มีตัว ก ข ค ฆ สะกด เรียกว่า มาตรากก หรือ แม่กก.

๓. ไม่มีการบอกชนิดคำ เพื่อตัดความกังวลเรื่องไวยากรณ์ ซึ่งนักวิชาการอาจจะมีความเห็นแย้งกัน โดยให้มุ่งที่ความหมายของคำเพียงอย่างเดียว

๔. ใส่คำว่า (สำนวน) (ภาษาปาก) (ราชาศัพท์) ไว้หน้าบทนิยามที่เป็นคำสำนวน คำภาษาปาก และคำราชาศัพท์ เช่น

กงการ (ภาษาปาก) กิจการ, หน้าที่, ธุระ, เช่น กงการอะไรของคุณ ไม่ใช่กงการของฉัน.

กบในกะลาครอบ (สำนวน) ผู้มีความรู้และประสบการณ์น้อย แต่สำคัญตนว่ามีความรู้มาก.

กันแสง (ราชาศัพท์) ร้องไห้, ราชาศัพท์ใช้ว่า ทรงพระกันแสง หรือ ทรงกันแสง.

๕. คำที่มีปัญหาในการอ่าน จะบอกคำอ่านด้วย เช่น

ก้นกุฏิ [ก้นกุดติ] (ภาษาปาก) ที่สนิทเป็นที่ไว้วางใจได้.

๖. บอกที่มาของคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ เช่น

คาราเต้ ศิลปการต่อสู้ป้องกันตัวแบบหนึ่งของญี่ปุ่น ใช้สันมือและเท้าเป็นอาวุธ มีต้นกำเนิดที่เกาะโอกินาวา (ญิ.)

หวังว่าหนังสือเล่มนี้คงจะเป็นประโยชน์แก่เด็กๆ และผู้ใหญ่บ้างพอสมควร