พระบรมราโชวาทด้านกีฬา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

ตลอดการครองสิริราชสมบัติ 70 ปีของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” ทรงทุ่มเททำงานอย่างหนักด้วยความห่วงใยในพสกนิกรชาวไทยของพระองค์

พระองค์ท่านทรงพระปรีชาสามารถในทุกๆ ด้าน ทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกล ด้านหนึ่งเป็นเรื่องของกีฬาที่เป็นที่ทราบกันว่าทรงชนะเลิศการแข่งขันเรือใบประเภท โอ.เค. และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองจาก “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ” เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2510 ซึ่งเป็นวันพิธีปิดการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ณ สนามศุภชลาศัย ท่ามกลางความปลื้มปีติของพสกนิกรชาวไทย

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” ทรงเป็นกษัตริย์นักกีฬาอย่างแท้จริง เมื่อย้อนกลับไปดูพระราชจริยวัตรด้านกีฬาของ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” จะพบว่าทรงโปรดกีฬามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อครั้งยังประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ทรงเล่นสกีน้ำแข็ง

ต่อมายังสนพระทัยในกีฬาหลายประเภท เช่น สกีน้ำ, ว่ายน้ำ, เรือกรรเชียง, เรือพาย, แบดมินตัน, ยิงปืน, กอล์ฟ, การแข่งขันรถเล็ก, เครื่องร่อน ฯลฯ ทรงศึกษาข้อมูลของกีฬาแต่ละประเภทอย่างละเอียด และทรงฝึกฝนจนปฏิบัติได้ดี นับเป็นแบบอย่างที่ดีของนักกีฬา

ณ โอกาสนี้ขออัญเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ต่อวงการกีฬามาน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม

 

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่พระราชทานให้ลงพิมพ์ในหนังสือเนื่องในวันกีฬาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2531 โดยรัฐสภาได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานบริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภา 2 ความว่า “…กีฬามีความสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับชีวิตของแต่ละคน และชีวิตของบ้านเมือง…”

พระบรมราโชวาท ที่พระราชทานไว้ในวันเปิดการแข่งขันกรีฑานักเรียนประจำปี ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2514 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ความว่า

“…จุดประสงค์ของการกีฬา ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเป็นการฝึกให้บุคคลและคณะ มีความเข้มแข็งสามัคคี เพื่อให้แต่ละคนมีความแข็งแรงทั้งในทางกาย ทางจิตใจ เป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้นำเกียรติมาสู่ประเทศ ได้เกียรติทั้งในความสามารถ ความแข็งแรง น่าเกรงขามของประชากรในแต่ละประเทศ…”

พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาสมัครเล่นแห่งประเทศไทย และคณะนักกีฬายอดเยี่ยมประจำปี ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ 9 กันยายน 2514 ความว่า

“…อันเรื่องของการกีฬานั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างที่กล่าวมาแล้วหลายครั้งว่า สำหรับประเทศหนึ่งๆ ควรจะส่งเสริมการกีฬาให้ดี เพราะว่าการกีฬาเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นอยู่ของบ้านเมืองสำคัญส่วนหนึ่ง ประเทศใดที่มีนักกีฬา และมีน้ำใจดีก็ทำให้ประเทศนั้นมีหน้ามีตา และแสดงถึงนิสัยใจคอประชาชนในประเทศนั้น การส่งเสริมกีฬาจึงเป็นงานที่สำคัญ นักกีฬานั้น ต้องมีความสามารถรอบตัวหลายอย่าง ขั้นแรกก็คือต้องมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงในการกีฬาทุกชนิด ข้อนี้เป็นสำคัญเมื่อมีความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกายแล้ว จะต้องฝึกฝนให้มีความสามารถในด้านกีฬาที่ตนได้ปฏิบัติ ก็เป็นการฝึกทั้งกายทั้งใจ ซึ่งก็เป็นข้อสำคัญอีกข้อหนึ่งในด้านทางจิตใจนักกีฬา ซึ่งเป็นข้อที่สำคัญที่สุด ก็ได้รับการฝึกฝนอย่างมาก การฝึกวิชากีฬานี้ทำให้นักกีฬาจะต้องระมัดระวังตัว ควบคุมทั้งกายทั้งใจของตนให้อยู่ในขอบเขตของกีฬานั้น และทั้งในเขตของความดีด้วย

เพราะว่านักกีฬาก็ควรจะส่งเสริมจิตใจที่บริสุทธิ์ จิตใจที่มีความซื่อสัตย์โดยแท้…”

 

พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ 18 กันยายน 2516 ความว่า

“…การกีฬานี้มีประโยชน์หลายด้านและสมควรที่จะส่งเสริมในทางที่ถูกต้อง ในหลักการการกีฬาเพื่อความสามัคคี และเพื่อให้คุณภาพของมนุษย์ดีขึ้นมา เวลานี้การกีฬาก็นับว่ามีความสำคัญในทางอื่นด้วยคือในทางสังคม ทำให้คนในประเทศชาติได้หันมาปฏิบัติสิ่งที่เป็นประโยชน์ในทางสุขภาพของร่างกายและจิตใจ ทำให้สามารถที่จะอยู่เป็นสังคมอย่างอยู่เย็นเป็นสุข

ทั้งเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเจริญของบ้านเมือง และโดยเฉพาะในการกีฬาระหว่างประเทศก็ได้เพิ่มความสำคัญกับมนุษย์อื่นซึ่งอยู่ในประเทศอื่น ฉะนั้น กีฬามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชีวิตของแต่ละคน และชีวิตของบ้านเมือง ถ้าปฏิบัติกีฬาอย่างที่ถูกต้องหมายถึงว่า อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสามารถ ก็จะได้นำชื่อเสียงแก่ตน และแก่ประเทศชาติ ถ้าปฏิบัติกีฬาด้วยความเรียบร้อย ด้วยความสุภาพ ก็ทำให้มีชื่อเสียงเหมือนกัน และจะส่งเสริมความสามัคคีในประเทศชาติ การที่สมาคมได้ส่งเสริมการกีฬาโดยมีการเลือกนักกีฬายอดเยี่ยมเพื่อเป็นกำลังใจแก่นักกีฬา ก็เป็นสิ่งที่ดีมากและสมควรที่จะปฏิบัติต่อไป

ขอให้วางหลักเกณฑ์ให้ดีเพื่อที่จะให้ได้เป็นการส่งเสริมการกีฬาโดยแท้…”

 

พระบรมราโชวาทตอนหนึ่ง ในพิธีเปิดการแข่งขันกรีฑาประจำปี ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ วันที่ 1 ธันวาคม 2498 ความว่า

“…การกีฬานั้น ย่อมเป็นที่ทราบกันอยู่โดยทั่วไปแล้วว่า เป็นปัจจัยในการบริหารร่างกายให้แข็งแรง และฝึกอบรมจิตใจให้ผ่องแผ้วร่าเริง รู้จักแพ้ และชนะ ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน มีการให้อภัยซึ่งกันและกัน สามัคคีกลมเกลียวกัน อย่างที่เรียกกันว่า มีน้ำใจเป็นนักกีฬา…”

พระบรมราโชวาทตอนหนึ่ง ในพิธีเปิดการประชุมใหญ่สัมมนาเรื่องการออกกำลังเพื่อสุขภาพ วันที่ 17 ธันวาคม 2523 ความว่า

“…ร่างกายของเรานั้น ธรรมชาติสร้างมาสำหรับให้ออกแรงใช้งาน มิใช่ให้อยู่เฉยๆ ถ้าใช้แรงให้พอเหมาะ พอดีโดยสม่ำเสมอ ร่างกายก็เจริญแข็งแรง คล่องแคล่ว ดังนั้น ผู้ที่ปกติทำการงานโดยไม่ได้ใช้กำลัง หรือใช้กำลังแต่น้อย จึงจำเป็นต้องหาเวลาออกกำลังกายให้พอเพียงกับความต้องการตามธรรมชาติเสมอทุกวัน…”

 

พระบรมราโชวาทตอนหนึ่ง พระราชทานแก่นักกีฬาที่จะเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 5 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ 28 พฤศจิกายน 2512 ความว่า

“…การกีฬานั้นมีหลักสำคัญอยู่ที่ว่า จะต้องฝึกฝนตนเองให้แข็งแรง ให้มีความสามารถในกีฬาของตน เพื่อจะพร้อมที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ในการแข่งขันและได้ชัยชนะมา ถึงเวลาเข้าแข่งขันก็จะต้องตั้งสติให้ดี เพื่อให้ปฏิบัติได้เต็มที่ตามที่ได้ฝึกฝนมา…”

พระบรมราโชวาทตอนหนึ่ง ในวันเปิดงานกรีฑาและศิลปหัตถกรรมนักเรียน ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ วันที่ 28 ธันวาคม 2502

“…การกีฬานั้นเป็นที่ทราบกันอยู่ทั่วไปว่า เป็นการบริหารร่างกายให้แข็งแรง ทั้งเป็นการฝึกอบรมจิตใจให้เป็นผู้ร่าเริง รู้จักแพ้และชนะ ไม่เอารัดเอาเปรียบ ให้อภัยซึ่งกันและกัน อย่างที่เรียกว่ามีน้ำใจเป็นนักกีฬา รวมความว่าผลของการกีฬาคือ ผลทางร่างกายและจิตใจ นอกจากนั้น ยังจะส่งเสริมความสามัคคีกลมเกลียวกัน อันเป็นวัตถุประสงค์ที่พึงปรารถนายิ่ง…”

พระบรมราโชวาทที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งในพระราชกรณียกิจของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ต่อวงการกีฬา

เป็นพระบรมราโชวาทที่คนกีฬาควรนำมาน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมตราบนานเท่านาน…