เรื่องเล่าจากพุนดัง – เมืองแห่งชนชั้นกลางและSilicon Valleyแห่งเกาหลีที่กำลังพัฒนา

“ครอบครัวของเราเป็นกลุ่มแรกๆที่ย้ายเข้ามาอยู่ในพุนดัง ป้าเคยอยู่แถวควังฮวามุนแล้วก็ย้ายไปอัพกูจอง แล้วเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนก็ย้ายมาที่พุนดัง ตอนนั้นพุนดังป่าเยอะกว่านี้ แล้วย่านที่อยู่อาศัยก็มีแค่ของเรานี่แหละ” คุณคิมกรุณาแบ่งปันประสบการณ์ของเธอในการย้ายที่อยู่มาอยู่ในเมืองพุนดัง – เมืองรอบนอกของกรุงโซลที่ตั้งอยู่ในเขตซ็องนัม จังหวัดคยองกีให้ฟัง

พุนดัง (Bundang) เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาเมืองของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่มุ่งพัฒนาเมืองรอบนอกของโซลเพื่อลดความแออัดของเมืองหลวง โดยรัฐบาลเวนคืนที่ดินจากชาวบ้านกลุ่มเดิมในพุนดังแล้วสร้างตึกที่อยู่อาศัยเพื่อเป็นชุมชนใหม่และดึงดูดให้คนย้ายออกจากโซลเพื่อไปอยู่ในพุนดัง พุนดังบริเวณที่ถูกสร้างในยุคแรกๆจึงเป็นที่อยู่อาศัยเสียเกือบทั้งหมด มีโรงเรียนประถมและโรงเรียนมัธยมแทรกอยู่ตามชุมชนบ้างเพื่อให้เด็กๆของครอบครัวที่ย้ายไปอยู่ใหม่เข้าเรียนในโรงเรียนใกล้บ้าน ไม่ต้องเข้าไปเรียนในกรุงโซล

“นี่คือโรงเรียนประถม แล้วทางนู้นก็เป็นโรงเรียนมัธยม เมื่อก่อนเราเดินไปเรียนได้หมดเลย ทุกโรงเรียนอยู่ใกล้บ้านมากๆ” ช็อง ชี้ชวนให้ดูโรงเรียนขนาดกลางที่ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนให้ดู

หากเมืองเซจงถูกสร้างให้เป็นศูนย์ราชการแห่งใหม่ เมืองพุนดังก็ถูกมุ่งหวังให้เป็นย่านที่อยู่อาศัยแห่งใหม่เช่นกัน ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองพุนดังส่วนมากเป็นชนชั้นกลาง คุณคิมบอกว่าถ้าจะมาดูชีวิตจริงๆชนชั้นกลางของเกาหลีก็ต้องมาที่พุนดัง

แต่โครงการพัฒนาเมืองใหม่ของรัฐบาลเกาหลีใต้ไม่ได้จบเพียงแค่นั้น

โครงการใหญ่อีกโครงการของโครงการพัฒนาเมืองก็คือการสร้าง “พันกโย” (Pangyo) พื้นที่อีกแห่งหนึ่งในเมืองพุนดังให้กลายเป็นSilicon Valleyแห่งเกาหลี ณ ปัจจุบันมีบริษัทไอทีเกาหลีจำนวนมากย้ายฐานและสำนักงานไปอยู่ที่พันกโยภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาล

“ส่วนมากที่ย้ายมาตอนนี้คือบริษัทที่ผลิตเกม” คุณคิมบอกเล่าพลางชี้ให้ดูกลุ่มตึกที่ดูยังใหม่ราวกับเพิ่งสร้างเสร็จได้ไม่กี่เดือน

สิ่งที่ตามบริษัทไอทีเหล่านี้มาก็คือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รถไฟใต้ดินสถานีพันกโย สถานีที่เพิ่งสร้างเสร็จไม่กี่เดือนก่อนก็ผุดขึ้นมาอยู่ใกล้บริษัทไอทีเหล่านั้น ตามด้วยห้างฮยอนแดที่เรารู้จักกันในนาม “ฮุนได” ที่ใหญ่ยิ่งกว่าบางสาขาในกรุงโซลก็อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากบริษัทเหล่านั้นนัก ทั้งยังใกล้กับสถานีพันกโยมากด้วย การเข้ามาของสิ่งเหล่านี้ก็นำพาคนจำนวนมากเข้ามาอยู่ในเมืองพุนดังตามความตั้งใจเดิมของรัฐบาล ตอนนี้ป่าในพุนดังลดลงและป่าเหล่านั้นก็ถูกแทนที่ด้วยตึก เป็นอพาร์ตเมนท์บ้าง เป็นห้างบ้าง เป็นสถานที่ราชการบ้าง

“การมีพันกโยเป็นเรื่องดี แต่ช่วยไม่ได้ที่มันพาความแออัดมาด้วย” คุณคิมออกความเห็น “เมื่อก่อนรถไม่ได้เยอะขนาดนี้หรอก แต่ตอนนี้ล้นออกมาหมด”

ตามถนนในเมืองพุนดังและพันกโย เราจะเห็นรถยนต์จอดเรียงรายกันเต็มสองข้างทางได้เป็นปกติ ไม่เว้นแม้กระทั่งถนนใหญ่ ราวกับรัฐบาลไม่ได้แบ่งสรรปันพื้นที่ไว้ให้เป็นที่จอดรถยนต์ซึ่งค่อนข้างเป็นสิ่งที่เรามักไม่ค่อยพบเห็นในกรุงโซล แม้แต่ถนนในชุมชนของคุณคิมและช็องที่ไม่ได้เป็นถนนใหญ่มากก็มีรถจอดเต็มสองฝั่ง ทำให้ถนนที่เล็กอยู่แล้วกลายเป็นถนนที่สามาถเดินรถได้แค่เพียงทางเดียว ช็องเล่าว่าสมัยที่เธอยังเด็กรถเคยสวนกันไปมาบนถนนนี้ได้สบายๆ

เห็นได้ชัดว่า “การพัฒนา” ที่รัฐบาลนำมาสู่เมืองพุนดังพ่วงปัญหาหลายอย่างมาด้วย

ปัญหาที่น่าวิตกพอๆกันหรืออาจจะมากกว่าปัญหารถล้นที่จอด ก็คือปัญหาสภาพอากาศและคุณภาพอากาศของเมืองพุนดัง

การลดลงของพื้นที่ป่าและการเพิ่มจำนวนของตึกทำให้อากาศในเมืองพุนดังร้อนขึ้นจนน่าตกใจ เมื่อประกอบกับปีนี้ที่คลื่นความร้อนเล่นงานประเทศเกาหลีจนสัตว์ในระบบปศุสัตว์ตายไปกว่าสี่ล้านตัว อุณหภูมิในเมืองพุนดังของหน้าร้อนปีนี้พุ่งสูงจนเป็นประวัติการณ์ จนคุณคิมถึงกับบอกว่าการจะผ่านหน้าร้อนไปได้โดยไม่มีเครื่องปรับอากาศเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป

แต่ไม่เพียงแค่อากาศร้อนระอุเท่านั้นที่กำลังเล่นงานพุนดัง ปัญหาฝุ่นควันจากการก่อสร้างพันกโยก็เช่นกัน

“ก่อนจะมีพันกโย พุนดังไม่ได้ร้อนขนาดนี้ และคุณภาพอากาศก็ไม่ได้แย่ขนาดนี้ด้วย” ช็องกล่าว “ข้อดีของพันกโยก็มีหลายอย่าง แน่นอนว่าการมีSilicon Valleyในแถบชานเมืองเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะมันดึงดูดการลงทุนจากทั้งแชบ็อล (Chaebol – กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้มีธุรกิจหลากหลายประเทศไว้ในครอบครอง และบริหารงานโดยมีคนในครอบครัวเป็นหุ้นส่วนใหญ่ เช่น Samsung, Hyundai, LG Lotte, Hanjin Group บริษัทเจ้าของสายการบินKorean Air) และบริษัทต่างชาติ แล้วก็ยังสร้างงานสร้างอาชีพ แต่สิ่งที่รัฐบาลไม่ได้คำนวนไว้ก็คือผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อชีวิตของคนในเมืองพุนดังอีกทอดหนึ่ง”

โครงการสร้างSilicon Valleyแห่งเกาหลียังไม่เสร็จสมบูรณ์ พื้นที่ว่างในแถบพันกโยที่ถูกล้อมรอบด้วยรั้วจากบริษัทก่อสร้าง (แน่นอนว่าอยู่ในเครือของแชบ็อล) เป็นเครื่องยืนยันเรื่องนั้นได้เป็นอย่างดี พันกโยยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น ทว่าผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนพุนดังที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลเกาหลีควรจะต้องทบทวนการพัฒนาพันกโยและSilicon Valleyแห่งเกาหลีในขั้นต่อไปให้ถี่ถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่รัฐบาลไม่ควรมองข้ามไป

แต่รัฐบาลนำโดยประธานาธิบดีมุนแจอินกลับออกแผนเวนคืนพื้นที่ป่าในเขตพุนดังช่วงต้นปี2018เพื่อนำพื้นที่ส่วนนั้นไปสร้างเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยอีกแห่งหนึ่ง สร้างความไม่พอใจประชาชนพุนดังเป็นอย่างมาก ทำให้โครงการยังติดขัดและไม่ขยับไปไหนเพราะเจ้าของที่ไม่ยอมขายที่ให้รัฐบาลโดยเด็ดขาด

โครงการล่าสุดของรัฐบาลมุนแจอินนี้ทำให้เป็นที่น่าสนใจว่าการพัฒนาSilicon Valleyแห่งเกาหลีและพันกโยจะเป็นไปในทิศทางใด และจะเกิดแรงต้านจากคนในพื้นที่มากขนาดไหน ความต้องการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาเป็นเรื่องดี การสร้างและพัฒนาพันกโยเพื่อดึงดูดการลงทุนก็เพื่อตอบสนองจุดประสงค์นั้นในประการหนึ่ง แต่การเลือกเพิกเฉยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลพวงจากโครงการพัฒนาเมืองใหม่ทำให้ทิศทางการพัฒนาของรัฐบาลเกาหลีในตอนนี้ชี้ชัดว่านี่ยังไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด

ต้องติดตามกันต่อไปว่ารัฐบาลมุนแจอินจะเลือกให้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นที่หนึ่งและปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่สำคัญรองลงมาต่อไปหรือไม่

*ขอขอบคุณ “คุณคิม” และ “ช็อง” คนในพื้นที่พุนดังที่กรุณาพาชมเมืองใหม่และแบ่งปันประสบการณ์ไว้ ณ ที่นี้