E-DUANG : ภาพลักษณ์ท่าแปรเปลี่ยนของ”ขงเบ้ง”

เหมือนกับการนำเอาคำว่า “ขงเบ้ง” มาเปรียบเทียบหรือเสมอเป็นสมญาจะเป็นการยกย่อง ให้เกียรติ
อย่างเช่นที่เคยเรียกบางท่านว่า เป็น”ขงเบ้ง”แห่ง”กองทัพบก”
หรือกระทั่งมีสำนวนในการขยายและอธิบายท่วงทำนองของบางคนว่า
เป็น”ขงเบ้ง”หลัง”เหตุการณ์”
นั่นก็คือ ก่อนเกิดเหตุการณ์ไม่เคยมี”ท่าที”อะไร แต่จะฉาดฉานเป็นอย่างยิ่งหลัง”ผ่าน”ไปแล้ว
ไม่ว่าจะกรณี”กำแพงเบอร์ลิน”แตก
ไม่ว่าจะกรณี”ต้มยำกุ้ง”ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2540 ในประเทศไทย
ทั้งหมดนี้ยืนยันความหมายของ “ขงเบ้ง”
สะท้อนว่า ขงเบ้งคือ”ผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร” สามารถตอบ คำถามและแก้ปัญหาต่างๆได้
แต่ ณ วันนี้ ไม่แน่ว่าคำว่า”ขงเบ้ง”จะเหมือนเดิม

หากใครที่อ่านหนังสือ “ประวัติศาสตร์จีน” อันเป็นงานระดับมหึมาของ ทวีป วรดิลก

จะสัมผัสได้ใน “ความเปลี่ยนแปลง”
ระหว่างการค้นคว้าเพื่อเรียบเรียง ทวีป วรดิลก ได้อ่านและรวบรวมข้อมูลอย่างมานะพยายาม
ยิ่งอ่านยิ่งพบ”การตีความ”ใหม่
และการตีความ 1 โดยนักวิชาการจีนรุ่นหลังการปฏิวัติวัฒน ธรรมก็คือ
ให้น้ำหนักไปทาง”โจโฉ” มากกว่า “ขงเบ้ง”
สรุปตามสำนวนของ “คอมมิวนิสต์”ในการประเมินตัวบุคคลก็คือ เส้นแบ่งระหว่าง 70 กับ 30
ปรากฏว่า โจโฉได้ไป 70 เหลือให้ขงเบ้งเพียง 30

ไม่ว่าใครก็ตามที่อ่านยุทธนิยายเรื่อง”สามก๊ก” จบเดียวหรือมากกว่า 3 จบ

ยอมรับตรงกันว่าพระเอกคือ “ขงเบ้ง”
ยอมรับตรงกันว่าผู้ร้ายจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก”โจโฉ” และพวกของโจโฉ
นั่นเป็นเพราะปลายพู่กันของ”หลอกวนตง”
กระนั้น เมื่ออ่าน”สามก๊ก”ตั้งแต่บทแรกกระทั่งจบก็จะประจักษ์ว่ามีบุคคล 1 ซึ่งขงเบ้งไม่สามารถกำราบปราบปรามได้อย่างง่ายดาย
บุคคลคนนั้น คือ “สุมาอี้”
สุมาอี้เป็นลูกน้องเก่าของโจโฉ เป็นขุนนางที่ทำงานรับใช้ก๊กวุยอันเป็นก๊กของโจโฉมาอย่างยาวนาน
บุคคลนี้แหละที่ทำให้ขงเบ้งต้องได้รับความพ่ายแพ้
ทั้งมิได้เป็นความพ่ายแพ้อย่างธรรมดา หากแต่เป็นความพ่ายแพ้ถึงขั้นต้องเสียชีวิต
บรรทุกศพกลับ”เสฉวน”อย่างเศร้าซึม
ไม่เพียงแต่เกียรติภูมิ”ขงเบ้ง”จะสั่นคลอน หากแต่ความหมายก็เริ่มแปรเปลี่ยนไปด้วย