E-DUANG : ชัยชนะบนความพ่ายแพ้ของ”เพื่อไทย”

ทั้งๆที่ “บทสรุป” ที่ว่า พรรคเพื่อไทย จะต้องได้ชัยชนะอย่างแน่นอนใน “การเลือกตั้ง”

ไม่ว่าจะเป็นตอน”ปลายปี”ของ พ.ศ.2560 หรือเร็วกว่านั้น

เป็นเรื่องประเภท “เหลือเชื่อ” หรือเป็นเรื่องประเภท”เป็นไปไม่ได้”

เหตุใดจึงยังมีคน”เชื่อ”

ความเชื่อนี้มิได้เกิดขึ้นภายใน “แม่น้ำ 5 สาย”อันมาจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

หากแต่”ดำรง”อยู่ภายใน”พรรคประชาธิปัตย์”

หากแต่”ดำรง”อยู่ภายใน”พรรคภูมิใจไทย” และภายใน”พรรคชาติไทยพัฒนา”

นี่จึงนับว่า “แปลก”

ขณะเดียวกัน หากติดตามบทบาทของ”แม่น้ำ 5 สาย”ที่ร่วมลง “เรือแป๊ะ”จากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ก็เชื่อใน “บทสรุป”นี้

แม้จะมิได้ยอมรับด้วย”วาจา”

คำตอบ 1 มีรากฐานมาจากคำถามที่ว่าทำไมต้องมีรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557

ทั้งๆที่เพิ่งทำรัฐประหารมาเมื่อเดือนกันยายน 2549

นั่นก็เห็นได้จากบทสรุป”ร่วม”ที่มีความมั่นใจเป็นอย่างว่ารัฐ ประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นรัฐประหาร”เสียของ”

คำตอบ 1 ประเมินได้จาก “การเลือกตั้ง”

ทั้งๆที่พรรคไทยรักไทยถูกยุบ ทั้งๆที่เมื่อยุบแล้วก็เกิดความแตกแยกกลายเป็น พรรคเพื่อแผ่นดิน กลายเป็นพรรคมัชฌิมาธิปไตย

คำถามก็คือ การเลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 ใครชนะ

ยิ่งเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 คำถามยิ่งเด่นชัดว่า ใครชนะ

จึงต้องมีรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557

ความเชื่อมั่นที่ว่า ไม่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเร็วหรือช้า ในที่สุดชัย ชนะก็ยังเป็นของพรรคเพื่อไทย

พรรคเพื่อไทยอันต่อเนื่องจากพรรคพลังประชาชน

พรรคพลังประชาชนอันต่อเนื่องจากพรรคไทยรักไทย

จึงเป็น “ความเชื่อมั่น”ซึ่งดำเนินไปด้วย”ความย้อนแย้ง”อย่างยิ่งในทางการเมือง

เหมือนกับ พรรคไทยรักไทย ยังดำรงอยู่

เพราะว่า พรรคพลังประชาชน คือลักษณะ”อวตาร”แห่งพรรคไทยรักไทย

เพราะว่า พรรคเพื่อไทย คือ ลักษณะ”อวตาร”แห่งพรรคพลังประชาชน

กระนั้น ภายในความเชื่อในชัยชนะของพรรคเพื่อไทย ก็ยังมีจุดต่างอย่างมีนัยสำคัญเมื่อบทสรุปในขั้นต่อมาคือ พรรคเพื่อไทยจะไม่ได้เป็นรัฐบาล

ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยจึงเป็นชัยชนะของ”ผู้แพ้”