สุจิตต์ วงษ์เทศ : ร.5 โปรดให้ปลูกต้นมะขาม รอบท้องสนามหลวง

ท้องสนามหลวง เพิ่งเริ่มปลูกต้นมะขามสมัย ร.5

ท้องสนามหลวงกว้างขวางกว่าเดิม แล้วปลูกต้นมะขามโดยรอบ มีขึ้นสมัย ร.5 ต่อจากนั้นพัฒนาสืบมาอย่างต่อเนื่อง จะสรุปจากงานศึกษาค้นคว้าของ เทพชู ทับทอง มาดังต่อไปนี้

ร.5 โปรดให้รื้อกำแพงป้อมปราการที่ไม่สำคัญของวังหน้าทางด้านทิศตะวันออก คงไว้แต่ที่สำคัญๆ กับรื้อสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ที่มีมาแต่รัชกาลก่อนๆ ท้องสนามหลวงจึงได้มีเนื้อที่เพิ่มขึ้นมาอีกถึงเท่าตัว

โปรดให้ปลูกต้นมะขามไว้รอบท้องสนามหลวงเพื่อให้เกิดความร่มรื่นเหมือนอย่างถนนในต่างประเทศ ซึ่งพระองค์ได้เสด็จประพาสทอดพระเนตรมา

เมื่อคราวฉลองพระนครครบรอบ 100 ปี ใน พ.ศ. 2425 (จุลศักราช 1244) สมัย ร.5 ก็ได้ใช้ท้องสนามหลวงเป็นที่ตั้งกระบวนแห่พยุหยาตราอย่างใหญ่ มีทั้งกระบวนช้าง กระบวนม้า และกระบวนเท้า ส่วนรอบท้องสนามหลวงก็ปลูกโรงไทยทานสำหรับเลี้ยงพระเลี้ยงไพร่ตลอดงาน

นอกจากนั้นยังจัดให้มี “นาเชนนัล เอกซฮิบิเชน” การแสดงสินค้าที่ผลิตได้ในเมืองไทยให้ราษฎรได้ชมเป็นเวลาถึง 3 เดือนอีกด้วย

หลังจากที่ ร.5 เสด็จกลับจากประพาสยุโรปครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2440 (ร.ศ. 116) ก็ได้มีพวกข้าราชการ ฯลฯ มาเฝ้ารับเสด็จบริเวณท้องสนามหลวงหลายครั้ง

พ.ศ. 2446 (ร.ศ. 122) ร.5 มีพระชนมพรรษา 50 พรรษา ทรงจัดให้มีพระราชกุศลนักขัตฤกษ์เนื่องในการเฉลิมพระชนมพรรษาที่ท้องสนามหลวงด้วยส่วนหนึ่ง โดยพระองค์และมกุฎราชกุมารได้เสด็จพระราชดำเนินประทับ ณ พลับพลาให้ประชาชนทั้งผู้ใหญ่และเด็กเข้าเฝ้าถวายพระพรเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน

ท้องสนามหลวงสมัย ร.5 ยังไม่ปลูกต้นมะขามรอบสนามหลวง (ภาพกองทหารสวนสนามน่าจะถ่ายราว พ.ศ. 2436 จากหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส พ.ศ. 2436 เปิดเผยแสนยานุภาพของกองทัพสยามในกรณี ร.ศ. 112) (คำอธิบายภาพ โดย ธัชชัย ยอดพิชัย)
ท้องสนามหลวงสมัย ร.5 ยังไม่ปลูกต้นมะขามรอบสนามหลวง (ภาพกองทหารสวนสนามน่าจะถ่ายราว พ.ศ. 2436 จากหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส พ.ศ. 2436 เปิดเผยแสนยานุภาพของกองทัพสยามในกรณี ร.ศ. 112) (คำอธิบายภาพ โดย ธัชชัย ยอดพิชัย)

งานสนุกๆ ที่ท้องสนามหลวง

งานใหญ่ๆ ที่สนุกสนานมากซึ่งจัดที่ท้องสนามหลวงใน ร.5 ยังมีอีก 2 งาน คือ

เล่นโขนกลางแปลงรับเสด็จ ร.5 กลับจากประพาสยุโรปครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2440 ดัดแปลงท้องสนามหลวงให้เป็นบ้านเมืองและเป็นป่า

งานสงครามบุปผาชาติแต่งแฟนซี และตกแต่งรถจักรยานสองล้อด้วยดอกไม้นานาพันธุ์ แล้วขี่ขว้างปากันด้วยกระดาษลูกปาและกระดาษสายรุ้ง ซึ่ง ร.5 ทรงจัดรับเสด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ที่ทรงศึกษาวิชาการทหารอยู่ประเทศรัสเซีย เสด็จกลับประเทศไทยชั่วคราวเมื่อ พ.ศ. 2442

ปลายสมัย ร.5 กีฬาว่าวท้องสนามหลวงเป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่เจ้านายและข้าราชการตลอดจนพ่อค้าประชาชน ถึงขนาดมีการแข่งขันชิงถ้วยทองคำพระราชทาน สนามหลวงยังเคยเป็นสนามแข่งม้าและสนามกอล์ฟ

สืบเนื่องจาก ร.5 เสด็จกลับจากประพาสยุโรป ข้าราชการทุกกระทรวงทบวงกรมต่างก็พร้อมใจกันจัดให้มีงานฉลองน้อมเกล้าฯ ถวายแสดงความจงรักภักดีต่างๆ

ส่วนการเล่นกอล์ฟนั้น ก็เริ่มต้นที่ท้องสนามหลวงเหมือนกัน เพราะสมัยนั้นมีสนามขนาดใหญ่อยู่ใกล้กันเพียง 3 สนามเท่านั้น คือสนามหลวง สนามสถิตย์ยุติธรรม และสนามไชย เจ้าพระยามหินทร์เล่าว่าพวกข้าราชการที่เป็นชาวต่างประเทศที่ชอบเล่นกอล์ฟ ได้อาศัยสนามทั้ง 3 นี้รวมกันทำเป็นสนามกอล์ฟเล่นได้ 9 หลุมพอดี