อ่านฉบับเต็ม! ‘สุทธิชัย หยุ่น’ เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง อ.ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม 2561
เรียนอาจารย์ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ที่นับถือ
ผมได้อ่านบทความ “สุทธิชัยไร้ราคา วาทกรรมใหม่ยุคโซเชียลไล่ล่าสื่อ” ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับ 27 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2561 แล้ว มีประเด็นบางประการที่ผมต้องทำความเข้าใจกับอาจารย์ที่พาดพิงถึงการทำงานของผม

ในคำโปรยทางหน้าแฟนเพจของอาจารย์ในเฟซบุ๊กได้เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า
“…..ความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารดีจนถูกตั้งเป็นกรรมการปฏิรูปและบารมีกว้างขวางจนถูกให้เข้าไปทำรายการหลักในทีวีช่องที่ได้เงินภาษีปีละ 2,000 ล้านและคลังถือหุ้น 65 % …”
ในตัวบทความเองนั้น อาจารย์ได้เขียนว่า

“ถ้ายอมรับว่าการที่ทหารตั้งคุณสุทธิชัยเป็นกรรมการปฏิรูปประเทศและถูกจ้างให้ทำรายการช่วงไพร์มไทม์ให้ช่องที่ได้งบฯจากภาษีปีละ 2,000 ล้านกับช่องที่คลังถือหุ้นใหญ่ 66% แสดงความยอมรับของรัฐและพลังของเครือข่ายคุณสุทธิชัย…”

ผมอ่านทั้งสองข้อความนี้แล้วทำให้เข้าใจได้ว่าอาจารย์กำลังสื่อต่อสาธารณะว่าการทำหน้าที่ของผมในบทบาทที่เอ่ยถึงนั้นเป็นเรื่องของ “ความสัมพันธ์อันดี” กับรัฐบาลทหาร และ “บารมีกว้างขวาง” ของผม
การที่อาจารย์เสนอภาพเช่นนั้นไม่เป็นธรรมกับคนที่ทำอาชีพสื่อมาตลอดเวลาเกือบ 50 ปีที่ไม่เคยต้องอาศัยเส้นสายหรือความสัมพันธ์กับนักการเมืองหรือนายทหารคนใดมาเสริมส่งไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม
มันละม้ายกับวาทกรรมในแวดวงวิชาการบางแห่งที่ชอบชี้นิ้วว่าคนอื่น “รับใช้เผด็จการทหาร” หรือ “รับใช้ผู้มีอำนาจ” เป็นเพียงเพราะอาจมีความเห็นไม่ตรงกันในบางด้านเท่านั้น


การทำหน้าที่เป็นคนข่าวของผมได้ผ่านการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการทั้งในรูปแบบทหารและพลเรือน ทั้งที่มาจากรัฐประหารและที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นประสบการณ์ที่สั่งสมจากการต้องเผชิญกับสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นด้วยตนเองมายาวนาน

ข้อแรกที่ต้องทำความเข้าใจกับอาจารย์คือการที่ผมยอมรับเป็นหนึ่งในสมาชิกของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศนั้นก็ไม่ได้เกี่ยวกับ “ทหาร” หรือ “พลเรือน” เป็นคนแต่งตั้งแต่อย่างใด

หากแต่เป็นการตัดสินใจเข้าไปพร้อมกับสื่อมวลชนอีกหลายท่านนั้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้มีความพยายามต่อเนื่องที่จะออกกฎหมายเพื่อลิดรอนเสรีภาพของสื่อในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการให้คนทำสื่อต้อง “ขึ้นทะเบียน” อย่างที่เคยมีการเสนอมาก่อนหน้านี้

ความพยายามจะลิดรอนสิทธิเสรีภาพของการแสดงออกของประชาชนด้วยการควบคุมสื่อนั้นมีทั้งจากรัฐพลเรือนและทหาร ประสบการณ์ของผมบอกว่าเราเชื่อใครที่มีอำนาจไม่ได้ทั้งนั้น

เชื่อหรือไม่ครับว่าในกรณีนี้ สิ่งที่พวกเราที่เป็นสื่อตัดสินใจเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการก็เพื่อจะสกัดความพยามของ “นายทหาร” บางคนที่จะออกมาตรการควบคุมสื่อนี่แหละครับ แต่เราก็ไม่สนใจว่าทหารจะคิดอย่างไร เราต้องการเพียงปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานการแสดงออกของประชาชนที่ไม่มีรัฐบาลไหนมีสิทธิจะมาละเมิดได้
เรื่องการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของการแสดงออกของประชาชนไม่ใช่เพิ่งทำกันวันนี้นะครับ หากอาจารย์ย้อนกลับไปจะเห็นว่าคนทำสื่ออย่างพวกผมได้ต่อสู้กับรัฐบาลทั้งทหารและพลเรือนที่ผ่านมาตลอดตั้งแต่การรณรงค์ให้ยกเลิก ปร. 42 และความพยายามออกกฎหมายคุกคามเสรีภาพของสื่อมาตลอด
ขอเรียนให้อาจารย์ทราบว่าก่อนหน้านี้ผมปฏิเสธทุกข้อเสนอและการทาบทามให้เข้าไปมีบทบาทที่เกี่ยวกับรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นพลเรือนหรือทหาร หรือตำแหน่งแห่งหนที่โยงกับด้านนิติบัญญัติหรือบริหารใด ๆ เพราะผมต้องการรักษาความเป็นอิสระในฐานะคนข่าวอาชีพที่จะวิพากษ์วิจารณ์ความเป็นไปของบ้านเมืองโดยไม่มีกรณีการทับซ้อนแห่งผลประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น

ดังนั้น การเขียนข้อความใด ๆ ที่ส่อไปในทางชี้นำว่าผมรับใช้เผด็จการทหาร หรือผู้มีอำนาจไม่ว่าในช่วงใดของการทำหน้าที่คนข่าวของผมจึงเป็นการหมิ่นศักดิ์ศรีของการเป็นมืออาชีพตลอดชีวิตของผม

ในทำนองเดียวกัน การที่อาจารย์เขียนข้อความทำนองว่าผมได้ทำรายการใน ThaiPBS และช่อง 9 ก็เข้าข่ายเกี่ยวโยงกับอำนาจรัฐเพราะทั้งสองช่องมีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

การเขียนเช่นนั้นก็เป็นการตีความอย่างไม่เป็นธรรม เสหมือนหนึ่งจะให้ผู้อ่านข้าใจว่าผม “รับใช้” ผู้มีอำนาจเช่นกัน

ขอเรียนให้ทราบว่าตลอดชีวิตการทำหน้าที่สื่อของผมไม่มีใครหรือกลุ่มคนใดสามารถสั่งให้ผมทำหรือไม่ พูดหรือไม่พูด นำเสนอหรือไม่นำเสนอเรื่องราวที่ผมคิดว่าเป็นประโยชน์ของสังคม

จุดยืนของผมในเรื่องนี้ผมถือเป็นหลักการที่ต่อรองไม่ได้ และไม่ว่าการเมืองจะเปลี่ยนอย่างไร ใครจะมีอำนาจปกครองบ้านเมืองอย่างไร ผมก็ไม่เคยตกอยู่ในฐานะที่ต้องทำในสิ่งที่ผิดไปจากจรรยาบรรณแห่งสื่อ
ผมเคยถูกทั้งนายทหารที่ทำรัฐประหารและผู้นำพลเรือนจากการเลือกตั้ง นับตั้งแต่ยุคถนอม – ประภาสจนถึงการเมืองยุคนี้กดดันกลั่นแกล้งคุกคามเพราะการทำหน้าที่ในฐานะคนข่าวอาชีพ แต่ก็ฟันฝ่าอุปสรรคมาตลอดด้วยความเชื่อมั่นว่าหน้าที่ของเราคือการพยายามทำความจริงให้ประจักษ์โดยไม่เคยวิ่งเต้นเข้าหาใคร ไม่เคยพยายามจะหาเส้นสายเข้าเรียนหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีตำแหน่งฐานะอันใด

ความเป็นคนข่าวสำหรับผมคือการที่ทุกเช้าผมตื่นขึ้นมาสามารถบอกกับตัวเองและตอบคำถามทุกคนได้ว่าผมไม่เคยทรยศต่อหลักการของการเป็นนักข่าวที่สังคมไว้วางใจ ไม่ว่าต่อหน้าหรือลับหลัง ไม่ว่าในยามสงบหรือสงคราม


ผมเป็นคนริเริ่มให้มีการเขียน “คู่มือจริยธรรมของคนข่าว” ที่เรียกว่า The Nation Way “ผิดจากนี้ไม่ใช่เรา” ที่ระบุอย่างละเอียดว่าคนข่าวต้องรักษาจรรยาบรรณอย่างไรจึงจะคู่ควรกับการที่สังคมตั้งความคาดหวังจากคนทำอาชีพนี้
ผมยึดถือหลักการเหล่านั้นเป็นวิถีปฏิบัติของผมพอๆ กับที่ผมคาดหวังว่าคนข่าวในสังกัดจะต้องทำตามอย่างเคร่งครัด และหากสังคมเห็นว่าเราทำผิดพลาดข้อไหนอย่างไร สามารถจะชี้โทษกล่าวหาและฟ้องสังคมได้อย่างเปิดเผย

การเข้าไปทำรายการใน ThaiPBS และช่อง 9 ของผมไม่ใช่เรื่องใหม่ ผมเคยทำรายการที่นี่ในรูปแบบวิเคราะห์ข่าวบ้าง เสริมข่าวบ้างมานานแล้วโดยไม่เกี่ยวกับว่าใครเป็นผู้มีอำนาจในบ้านเมืองเลยแม้แต่น้อย
ผมเคยริเริ่มรายการกับช่อง 9 เพื่อสร้างประชาธิปไตยด้วยการเชิญผู้สมัครรับเลือกตั้งมาตอบคำถามสด ๆ จากผู้ชม ตระเวณสัญจรไปทั่วประเทศเพื่อเปิดศักราชแห่งการทำทีวีที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงและรายงานสดวันเลือกตั้ง ทำ Exit Poll เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การรายงานข่าว…ทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวว่าใครเป็นรัฐบาลทั้งสิ้น

ผมพยายามสร้างเนื้อหาข่าวต่างประเทศให้น่าสนใจเพื่อให้สังคมไทยหันมาติดตามข่าวในเวทีระหว่างประเทศที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย และไม่ลังเลที่จะวิพากษ์รัฐบาลไทยหากเห็นว่าเราอ่อนด้อยทางด้านใด

รายการใหม่ของผมกับ ThaiPBS ก็เกิดจากการพูดคุยกันอย่างมืออาชีพขของผู้บริหารกับผมที่ต้องการสร้างเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ตรงกับเจตนารมย์ของทีวีสื่อสาธารณะ เช่น Thailand Live คือการไปฟังเสียงประชาชนในชนบทเพราะเราเชื่อตรงกันว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” ทำทั้งผ่าน FB Live และทีวีและทำกิจกรรมบนภาคพื้นดินร่วมกับเจ้าของพื้นที่
อย่างนี้ถือว่า “รับใช้ผู้มีอำนาจ” ไหมครับ ?
บทสนทนากับคนชนบทในรายการนี้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้แสดงความเห็นตรงไปตรงมา วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเป็นเนือง ๆ มีข้อเสนอให้รัฐบาลต้องทำในสิ่งที่ระบบราชการเป็นตัวปัญหาและการกระจุกตัวของอำนาจรัฐที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาคนระดับรากหญ้า

อีกรายการหนึ่งชื่อ “โลกป่วน”มาจากความเห็นพ้องกันระหว่างผู้บริหารของสถานีกับผมว่าถ้าผมสัมภาษณ์คนไทยและต่างประเทศที่มีวิสัยทัศน์สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ก็น่าจะกระตุ้นให้คนไทยได้ตื่นตัวว่าจะต้องปรับเปลี่ยนให้ทันกับโลกสมัยใหม่

เนื้อหาเหล่านี้ส่อไปในทาง “รับใช้ผู้มีอำนาจ” ตรงไหน หรือเปล่าครับ ?

รายการทางช่อง 9 อันใหม่ชื่อ “กาแฟดำค่ำนี้” มาจากที่ฝ่ายบริหารของช่องเสนอให้ผมทำรายการทีวีเหมือนที่ผมเขียนคอลัมน์ “กาแฟดำ” ในหนังสือพิม์กรุงเทพธุรกิจหลังจากที่ผมเกษียณออกมาจากเครือเนชั่น…เป็นการแสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์บ้านเมืองในทุก ๆ มิติ วิพากษ์วิจารณ์จากแง่มุมของคนข่าว ไม่ได้มาทำรายการนี้เพราะ “กระทรวงการคลังถือหุ้น 66%” อย่างที่อาจารย์ตั้งข้อสังเกตไว้ในบทความแต่ประการใด ๆ ทั้งสิ้น

และไม่ว่าในบทบาทไหนของผม หากมีการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจ ไม่เคารพในความคิดความเห็นอันเป็นอิสระของมืออาชีพหรือมีวาระซ่อนเร้นที่ผิดทำนองคลองธรรม ผมก็จะยุติบทบาทและรายงานต่อสังคมได้รับทราบตามที่เหมาะควรทันที

อีกทั้งในการทำรายการต่าง ๆ รวมถึงที่ผมทำผ่าน Facebook Live ทุกวันนี้ ผมสัมภาษณ์คนจากวงการต่าง ๆ และนักการเมืองทุก ๆ ค่ายเพราะหน้าที่ของสื่อที่รับผิดชอบคือการเปิดพื้นที่กว้างสำหรับความเห็นหลากหลาย ประชาชนเป็นผู้ตัดสินเองครับ

ใครจะเห็นพ้องเห็นต่างกับผมเป็นเรื่องธรรมดาในระบอบประชาธิปไตย แต่การจะกล่าวหาว่าใครได้อะไรเพราะมีผลประโยชน์ร่วมกับรัฐบาลโดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่น่าจะเหมาะสมกับสังคมประเทืองปัญญานะครับ ผมว่า


อาจารย์ครับ อาชีพของพวกเราไม่ว่าจะเป็นสื่อหรือนักวิชาการนั้นต้องตรวจสอบย้อนหลังและประเมินจากงานปัจจุบันได้เพราะเราต้องรับผิดชอบต่อประชาชน

อีกทั้งสังคมไทยนั้นเหมือนหมู่บ้านเล็ก ๆ ใครทำอะไรก็ย่อมเป็นที่รู้กันไปหมด จะพยายามปิดบังซ่อนเร้นอย่างไรก็คงไม่อาจจะพ้นการค้นหาตรวจสอบได้

ผมมั่นใจว่าอาจารย์คงมีความเชื่อเหมือนผมว่าการที่อาจารย์หรือผมไปทำรายการที่ไหนก็คงไม่ได้แปลว่าเราจะต้อง “รับใช้” คนที่เป็นเจ้าของหรือผู้บริหารใช่ไหมครับ?

สำหรับผม ถ้าสื่อไหนเสนอให้เราทำรายการไหนต้องแปลว่าเขาเห็นความรู้ความสามารถเราที่จะสร้างคุณภาพให้สาธารณชน ถ้าเขาจะหาคน “เชลียร์” เจ้าของหรือผู้มีอำนาจ เขาก็คงไม่ต้องลำบากลำบนมาพูดคุยกับผม มันยากกว่าเยอะเลยครับ


วันนี้ ณ วัย 72 ผมไม่มีสังกัด“สื่อใหญ่” หรือเป็น “นายทุนสื่อ”แล้ว อีกทั้งผมไม่เคยคิดว่ามี “บารมีกว้างขวาง” อย่างที่อาจารย์อ้างถึงในบทความ ผมเป็นเพียงคนข่าวที่ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างรับผิดชอบ ทำทุกข่าวและทำเนื้อหาให้ได้มาตรฐานที่สังคมจะได้ประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยเท่านั้นครับ
ส่วนเรื่องผมสัมภาษณ์ “หมูป่า” ที่มีคำวิพากษ์วิจารณ์ใน “โซเชียลมีเดีย” นั้นผมน้อมรับคำติชมตามปกติวิสัยอยู่แล้วครับ ไม่มีปัญหาแต่ประการใด
ผมเพียงแต่จะเรียนให้อาจารย์ทราบว่าก่อนการขึ้นเวทีนั้น ผมได้พบกับหมูป่า, คณะแพทย์, นักจิตวิทยาและผู้เกี่ยวข้อง ได้มีการซักซ้อมคำถามคำตอบกันเป็นที่ชัดเจนของทุกฝ่ายว่าเพื่อไม่ให้ละเมิดสิทธิส่วนตัวของเยาวชนและครอบครัวขณะเดียวกันก็ตอบสนองความต้องการข่าวสารของสังคม โดยพยายามรักษาเส้นของความพอดีให้กับทุกฝ่าย
ส่วน “ความพอดี” อยู่ตรงไหนก็เป็นเรื่องของแต่ละคนที่จะพิจารณาเช่นกัน ผมได้พยายามทำหน้าที่สื่อที่รับผิดชอบให้ดีที่สุดเท่านั้น


ผมเพียงอยากจะเรียนอาจารย์ว่าเมื่อผมสนทนากับหมูป่าทั้ง 13 คนแล้วเขามีความกระตือรือร้นที่จะเล่าเรื่องจริงของพวกเขา และต้องการให้ปฏิบัติต่อพวกเขาตามปกติจริง ๆ ครับ

อาจารย์ทราบไหมครับว่าคำวิพากษ์วิจารณ์หลังจากรายการบนเวทีครั้งนี้น่าสนใจมากตรงที่ว่าคนกลุ่มหนึ่งไม่พอใจที่ผมถามบางคำถามขณะเดียวกันที่คนอีกกลุ่มหนึ่งไม่พอใจที่ผมไม่ถามบางคำถาม…และบังเอิญเป็นคำถามชุดเดียวกันเสียด้วยที่บางคนไม่อยากให้ถามและอีกบางคนต้องการให้ถาม

นี่ครับโลกแห่งสื่อสารยุคใหม่ที่พวกเราทุกคนต้องทำความเข้าใจเพื่อปรับตัวหรือปรับปรุงหรือปรับมาตรฐานก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละท่าน

ส่วนประเด็นที่อาจารย์ยกขึ้นมาในบทความว่า “สื่อโซเชียลมีเดีย” กับ “สื่อหลัก” ใครมีบทบาทต่างกันอย่างไร ผมเห็นว่าน่าสนใจมากครับ ควรแก่การถกแถลงกันอย่างกว้างขวางในสังคมไทย ผมหวังจะมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับอาจารย์อย่างเปิดเผยและสร้างสรรค์ในโอกาสต่อไปครับ

ขอแสดงความนับถือ
สุทธิชัย หยุ่น
กาแฟดำจำกัด