กระทรวงดิจิทัล เถียงกันมากในโลกโซเชียล มาพิจารณาเรื่องชื่อกันดูบ้าง?

ตั้งแต่มีกระทรวงใหม่ที่ชื่อ “กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” ก็มีเรื่องที่ถกเถียงกันในวงการสื่อสังคม (social media) อย่างมากมาย ส่วนหนึ่งสงสัยเรื่องชื่อว่า ชื่อภาษาไทยกับชื่อภาษาอังกฤษน่าจะไม่ตรงกัน เพราะชื่อภาษาอังกฤษของกระทรวงนี้คือ “Ministry of Digital Economy and Society”

มีผู้สงสัยว่า คำว่า Digital เป็นส่วนขยายของคำไหน ความจริงมันคือ Digital Economy (เศรษฐกิจดิจิทัล) และ Digital Society (สังคมดิจิทัล) ใช่หรือไม่

ถ้าใช่ ชื่อไทยของกระทรวงนี้น่าจะเป็น “กระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมดิจิทัล” หรือ “กระทรวงเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล” ใช่หรือไม่ เพราะกระทรวงนี้น่าจะดูแลเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมดิจิทัล ไม่ได้ดูแลเรื่องดิจิทัลที่เอามาใช้ในเศรษฐกิจและสังคม

เอ๊ะ หรือว่าใช่

ก่อนที่จะถกเถียงกันต่อไป เราน่าจะมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า คำว่า digital หมายความว่าอย่างไร

ในทางไวยากรณ์ คำว่า digital เป็นคำคุณศัพท์ที่สร้างจากคำนามว่า digit

คำว่า digit หมายถึง ตัวเลขตัวใดตัวหนึ่งจาก ๐ ถึง ๙ ซึ่ง ศัพท์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน บัญญัติว่า เลขโดด หมายความว่าเป็นตัวเลขโดดๆ ตัวเดียว เช่น จำนวน “๑๒๓” มีเลขโดด ๓ ตัว คือ ๑, ๒ และ ๓ ส่วนคำว่า digital บัญญัติว่า “-เชิงเลข, -ดิจิทัล” เครื่องหมาย – ที่อยู่ข้างหน้าแสดงว่าคำนี้เป็นคุณศัพท์ใช้ขยายคำนามที่มาข้างหน้า

ในวงการคอมพิวเตอร์ มีอีกคำหนึ่งที่ใช้กัน คือ binary ซึ่งหมายถึง “-ฐานสอง” binary digit ก็คือเลขโดดที่ มีค่าเพียง ๒ ค่า คือ ๐ หรือ ๑ อันที่จริงคอมพิวเตอร์ก็รู้จักเพียงความแตกต่างระหว่าง ๒ สถานภาพดังกล่าวนี้เท่านั้น เช่น “๐ หรือ ๑” “เปิด หรือ ปิด” “มีไฟ หรือ ไม่มีไฟ” “มีสัญญาณ หรือ ไม่มีสัญญาณ” คำว่า digital กับ binary จึงมักนำมาใช้ในความหมายเดียวกัน

แล้วต่อมา digital ก็กลายเป็นคำประกอบคำอื่นๆ เพื่อแสดงว่าสิ่งนั้นเกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ หรืออยู่ในรูปแบบที่ใช้คอมพิวเตอร์ทำงานด้วยได้

เช่น digital camera, digital data, digital economy, digital library, digital media, digital painting, digital radio, digital signature, digital society, digital television, digital wallet

ในภาษาไทยมีการนำคำว่า ดิจิทัล มาประกอบคำนามมากมาย โดยอาจจะแบ่งออกได้เป็น ๓ ลักษณะคือ

๑) ใช้คำว่า ดิจิทัล ขยายคำไทยข้างหน้า เช่น

กล้องดิจิทัล กล่องทีวีดิจิทัล การใช้งานดิจิทัล เกษตรกรดิจิทัล ข้อมูลดิจิทัล คลื่นดิจิทัล ช่องดิจิทัล ช่องทางดิจิทัล ตัวเลขดิจิทัล โทรคมนาคมดิจิทัล ป้ายดิจิทัล ปุ่มดิจิทัล แผนที่ดิจิทัล พื้นฐานดิจิทัล ศูนย์ดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัล สังคมดิจิทัล สื่อดิจิทัล เสาอากาศดิจิทัล ยุคดิจิทัล ระบบดิจิทัล รูปแบบดิจิทัล ลูกค้าดิจิทัล โลกดิจิทัล วงจรดิจิทัล วิศวกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมดิจิทัล

๒) ใช้คำว่า ดิจิทัล ขยายคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษที่วางไว้ข้างหน้า เช่น

ทีวีดิจิทัล เทคโนโลยีดิจิทัล เทรนด์ดิจิทัล เพ้นท์ดิจิทัล

๓) ใช้คำทับศัพท์โดยตรง เช่น

ดิจิทัลเซอร์วิส ดิจิทัลทีวี ดิจิทัลแบงก์ ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ดิจิทัลมีเดีย ดิจิทัลไลฟ์ ดิจิทัลไลฟ์สไตล์ ดิจิทัลอาร์ต

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ แบบที่ ๑ เป็นการสร้างคำไทยตามแบบไวยากรณ์ไทย นั่นคือ ส่วนขยายอยู่ข้างหลังคำนามภาษาไทย (รวมทั้งคำยืมจากบาลีสันสกฤต เขมร) เช่น กล้องดิจิทัล

แบบที่ ๒ นำคำยืมจากภาษาอังกฤษมาเป็นตัวตั้ง แล้วตามด้วยส่วนขยายตามแบบไวยากรณ์ไทย เช่น ทีวีดิจิทัล ส่วนแบบที่ ๓ เป็นคำทับศัพท์โดยตรงตามแบบไวยากรณ์อังกฤษ เช่น ดิจิทัลทีวี

แบบที่ ๓ นี้ยังมีชนิดที่นำคำภาษาอังกฤษมาใช้ผสมด้วย เช่น ดิจิทัล content

เมื่ออธิบายมาถึงตรงนี้ ก็คงจะพิจารณากันได้แล้วว่า “กระทรวงดิจิทัล” มีความหมายอย่างไร ตรงกับที่เจ้าของชื่อคิดหรือไม่