E-DUAN : ​มหกรรมหนังสือ กระบวนการอ่าน

การดำรงอยู่ของงาน “มหกรรมหนังสือ” คือรูปธรรมยืนยันสถานะแห่ง “หนังสือ”อันทรงความหมาย

ความหมายต่อ 1 คนเขียนหนังสือ

ความหมายต่อ 1 คนอ่านหนังสือ

กระนั้น หากมอง”มหกรรมหนังสือ”ตามสภาพความเป็นจริงในทางสังคม

คล้ายกับนี่ คือ เรื่องในทาง”วัฒนธรรม”

แต่เมื่อมองอย่างหยั่งลึกไปถึง “ความสัมพันธ์” อันยึดโยงอย่างต่อเนื่อง

นี่คือ “วัฒนธรรม”อันเป็นเรื่องในทาง”ธุรกิจ”

“มหกรรมหนังสือ” จึงเป็นการเคลื่อนไหวในทางวัฒนธรรมซึ่งมีเป้าหมายในทาง “เศรษฐกิจ”

ดำเนินไปเหมือนกับเป็น “ตลาด” กลาง

เป็นตลาดในการเชื่อประสานระหว่างนักเขียน ผู้ประกอบการในการผลิตหนังสือเข้ากับคนอ่าน

ในที่สุดแล้วก็คือ ธุรกิจ

 

ถามว่าในยุคกรุงศรีอยุธยามี “ตลาดกลาง” ในลักษณะอย่าง”มหกรรมหนังสือ” เช่นนี้หรือไม่

ตอบได้เลยว่า “ไม่มี”

การซื้อขายในทาง “วรรณกรรม” เริ่มมีขึ้นก็ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์

เด่นชัดยิ่งก็ในกรณีของ “สุนทรภู่”

การแต่งบทละคร “นอก” ก็ดี การแต่งนิทานคำกลอนเรื่อง”พระอภัยมณี” ตลอดจน”เพลงยาว”

ดำเนินไปอย่างมีการว่าจ้าง ซื้อขาย

และเมื่อหมอบรัดเลย์นำแท่นพิมพ์เข้ามาก็เริ่มมีการพิมพ์หนังสือ รวมถึงโรงพิมพ์ของหมอสมิธ

งาน”วรรณกรรม”จึงเริ่มเข้าสู่วงจร”ตลาด”

 

ตลาดและการซื้อขายนั้นเองที่ไม่เพียงแต่ทำให้กระบวนการผลิตในทางวรรณกรรมเริ่มแปรเปลี่ยน

หากการทำงานของ”คนเขียนหนังสือ”ก็เปลี่ยน

งานวรรณกรรมได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการในทางเศรษฐกิจลึกซึ้งยิ่งขึ้น

กระทั่งเริ่มมี นักหนังสือพิมพ์ เริ่มมีนักเขียน

แรกๆอาจดำเนินไปในลักษณะ “อนามิส” แต่ในที่สุดก็กลายเป็น “อาชีพ”

ตรงนี้แหละเริ่มมีคำว่านักประพันธ์”ไส้แห้ง”

วัฒนธรรมหนังสือจึงยืนยันวัฒนธรรมในการอ่านแม้”เทคโนโลยี”จะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม

ที่ระบุว่า คนอ่านหนังสือ”น้อยลง”อาจไม่จริง

เพราะการอ่านของคนมิได้อยู่กับ”หนังสือ”หากแต่ยังมีช่องทางอื่นเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นช่องทางไหนก็ยังอ่านผ่าน”ตัวหนังสือ”