ศรีลังกา ปัญหาชนชาติ บีบคั้นชาวทมิฬ ผ่านภาษาสิงหล จนต้องฆ่ากันตาย

ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 ต.ค. – 11 ต.ค. 2550 บทความพิเศษ โดย ภูมิ พิทยา ในเรื่อง ปัญหาชนชาติและศาสนา (11)

ศรีลังกาเป็นประเทศที่ประสบปัญหาความขัดแย้งทางชนชาติและศาสนาจนนำไปสู่การต่อสู้เพื่อแยกดินแดนที่รุนแรงที่สุดประเทศหนึ่ง สงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลศรีลังกากับกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬกินเวลานานกว่า 20 ปี ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 70,000 คน และทำให้เศรษฐกิจของประเทศพังยับเยินจนแทบตกอยู่ในสภาพล้มละลาย

ศรีลังกามีประชากรประกอบด้วยชาวสิงหล 74%, ชาวทมิฬ 18%, ชาวมัวร์ 7%, ชาวศรีลังกานับถือศาสนาพุทธหินยานประมาณ 70%, ศาสนาฮินดู 15%, ศาสนาอิสลาม 7% และศาสนาคริสต์ 7% ชาวสิงหลส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ บางส่วนนับถือศาสนาคริสต์ ชาวทมิฬส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู อีกส่วนหนึ่งนับถือศาสนาคริสต์ ส่วนชาวมัวร์ทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม

ชาวสิงหลเริ่มเข้ามาตั้งหลักแหล่งบนเกาะลังกาเมื่อประมาณ 1,000 ปีก่อนคริสตกาล พวกเขาได้ก่อตั้งอาณาจักรหลายแห่งขึ้นบนเกาะนี้ และรับเอาศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติตั้งแต่ศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล

ส่วนชาวทมิฬก็มีความเกี่ยวพันกับเกาะนี้มานานเช่นกัน ชาวทมิฬเรียกเกาะลังกาว่าอีแลม (Elam) อาณาจักรทางใต้ของอินเดียที่ก่อตั้งโดยชาวทมิฬได้แผ่อำนาจเข้ามายึดครองภาคเหนือของเกาะตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 4 จากนั้นมีการแย่งชิงอำนาจกับอาณาจักรของชาวสิงหลมาตลอด

จนเมื่อถึงต้นศตวรรษที่ 14 ชาวทมิฬได้ตั้งอาณาจักร เจฟน่า (Jeffna) ขึ้นทางภาคเหนือของเกาะลังกา อาณาจักรนี้ได้รบพุ่งขับเคี่ยวกับอาณาจักรของชาวสิงหลที่อยู่ทางใต้เกือบตลอดเวลา จนกระทั่งตกเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกส

ชาวมัวร์ที่เป็นพลเมืองกลุ่มใหญ่ที่สามของศรีลังกาเป็นพวกที่สืบเชื้อสายจากพ่อค้าอาหรับ พ่อค้าอาหรับเคยมีบทบาทสำคัญในด้านการค้าต่างประเทศและมีอิทธิพลในศรีลังกาเป็นเวลานาน พวกเขาจำนวนไม่น้อยได้แต่งงานกับสตรีชาวพื้นเมือง บุตรหลานของพวกเขาถูกเรียกว่าชาวมัวร์

ซึ่งได้กลายเป็นกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นและสามารถรักษาเอกลักษณ์ของตนมาถึงทุกวันนี้

ศรีลังกาเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ตกอยู่ใต้การยึดครองของชาวยุโรปเป็นเวลายาวนาน ชาวโปรตุเกสมาถึงเกาะนี้ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1505 หลังจากนั้นก็ค่อยๆ รุกคืบขยายอำนาจไปเรื่อยๆ จนในที่สุดพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะก็ตกเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกส ยกเว้นอาณาจักร แคนดี้ (Kandy) ที่ตั้งอยู่บนที่ราบสูงภาคกลางที่ยังรักษาเอกราชไว้ได้ ต่อมาเนเธอร์แลนด์ได้เข้ายึดดินแดนเมืองขึ้นทั้งหมดของโปรตุเกสบนเกาะนี้เมื่อปี 1658 แล้วตั้งตนเป็นเจ้าอาณานิคมรายใหม่ปกครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะแทนโปรตุเกส

อังกฤษเป็นนักล่าอาณานิคมรายที่สามที่เข้ามายึดครองเกาะลังกา อังกฤษได้เข้ายึดอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์บนเกาะนี้เมื่อปี 1796 ต่อมาในปี 1815 ก็ยึดอาณาจักรแคนดี้ได้ ดินแดนทั้งหมดของเกาะลังกาจึงตกอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษตั้งแต่บัดนั้น

ในช่วงที่อังกฤษปกครองเกาะลังกา สิ่งสำคัญที่อังกฤษทำไว้และส่งผลกระทบระยะยาวต่อศรีลังกามีอยู่สามเรื่อง เรื่องแรกคือการพัฒนาเศรษฐกิจที่ทำให้ศรีลังกากลายเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรสำคัญสามชนิดคือ ชา ยางพารา และมะพร้าวจนถึงทุกวันนี้

การผลิตชาและยางพารายังมีการนำเข้าแรงงานชาวทมิฬจากอินเดีย ทำให้ศรีลังกามีชาวทมิฬเพิ่มขึ้นมาอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่าทมิฬอินเดีย นอกเหนือจากชาวทมิฬดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ทางเหนือของเกาะที่เรียกว่าทมิฬลังกา

ปัญหาชนชาติของศรีลังกาจึงยิ่งเพิ่มความซับซ้อนขึ้นไปอีก

ส่วนเรื่องที่สองคือการพัฒนาทางการศึกษา อังกฤษส่งเสริมให้คณะมิชชันนารีต่างๆ ของศาสนาคริสต์ตั้งโรงเรียนสำหรับชาวพื้นเมืองขึ้นมาจำนวนมาก การรับเด็กชาวพื้นเมืองเข้าเรียนในโรงเรียนคริสต์ให้ประโยชน์สองทาง ทางหนึ่งคือโน้มน้าวให้ชาวพื้นเมืองหันมานับถือศาสนาคริสต์ อีกทางหนึ่งเป็นการสร้างกลุ่มชาวพื้นเมืองที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการติดต่อสื่อสาร เพื่อรับเข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่างในรัฐบาลอาณานิคม

อังกฤษมุ่งเน้นพัฒนาการศึกษาในเขตชาวทมิฬ เพราะชาวทมิฬมีความกระตือรือร้นในการเรียนภาษาอังกฤษมากกว่าชาวสิงหล ผลก็คือทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพระหว่างชาวทมิฬกับชาวสิงหล ชาวทมิฬสามารถสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยและทำงานที่มีรายได้สูงและมั่นคงมากกว่าสัดส่วนพลเมืองของตน นอกจากนี้ชาวทมิฬยังกระจายออกจากแหลมเจฟน่าที่เป็นถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมของตนไปหางานทำทั่วประเทศ

ตอนที่ศรีลังกาได้รับเอกราช มีชาวทมิฬเรียนในมหาวิทยาลัยคิดเป็น 30% ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด ในหน่วยงานรัฐบาลมีเจ้าหน้าที่ชาวทมิฬประมาณ 30% ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้สูง เช่น แพทย์ วิศวกร ทนายความ นักบัญชี ฯลฯ เป็นชาวทมิฬถึง 60% ในขณะที่ชาวทมิฬลังกามีสัดส่วนพลเมืองเพียง 10% เท่านั้น

ชาวสิงหลที่มีความคิดชาตินิยมจึงมองว่าชาวทมิฬแย่งโอกาสในการศึกษาและการทำงานของพวกเขาไป ความรู้สึกไม่พอใจต่อชาวทมิฬจึงค่อยๆ สะสมขึ้นในหมู่ชาวสิงหล

อีกเรื่องหนึ่งที่อังกฤษทำไว้คือการพัฒนาทางการเมืองที่ค่อยๆ เปิดโอกาสให้ชาวพื้นเมืองมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ ศรีลังกานับเป็นอาณานิคมอังกฤษที่ไม่ใช่อาณานิคมชาวผิวขาวแห่งแรกที่ให้โอกาสทางการเมืองแก่ชาวพื้นเมือง ผลจากการพัฒนาทางการเมืองอันยาวนาน ทำให้ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาหยั่งรากลึกลงในประเทศนี้ จนกลายเป็นสถาบันทางการเมืองที่ไม่มีบุคลใดหรือกลุ่มการเมืองใดสามารถล้มล้างได้

แต่ในขณะเดียวกัน นโยบายให้ชาวพื้นเมืองมีส่วนร่วมทางการเมืองของอังกฤษ กลับทำให้ชาวสิงหลกับชาวทมิฬที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดสองกลุ่มของเกาะนี้เกิดความบาดหมางกัน จนนำไปสู่ความขัดแย้งและกลายเป็นสงครามกลางเมืองในที่สุด

การพัฒนาทางการเมืองบนเกาะลังกาเริ่มเมื่อปี ค.ศ.1833 ซึ่งเป็นปีที่มีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติขึ้นเป็นครั้งแรก ในสภานี้มีชาวสิงหลกับชาวทมิฬได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกฝ่ายละหนึ่งคน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ชาวพื้นเมืองมีโอกาสเข้าร่วมในการบริหารอาณานิคม ต่อมาชาวพื้นเมืองก็ยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติมาตลอด โดยทุกครั้งจะมีสัดส่วนชาวสิงหลกับชาวทมิฬจำนวนเท่ากันหรือใกล้เคียงกัน

จนเมื่อถึงปี 1924 มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้น สมาชิกสภานิติบัญญัติส่วนใหญ่ถูกกำหนดให้มาจากการเลือกตั้งแทนการแต่งตั้ง ซึ่งทำให้ชาวสิงหลมีโอกาสครองเสียงส่วนใหญ่ในสภา จึงสร้างความไม่พอใจแก่ชาวทมิฬ

นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สองชนชาตินี้เกิดความบาดหมางกัน จนนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในเวลาต่อมา

การพัฒนาทางการเมืองที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งเกิดขึ้นในปี 1931 อังกฤษได้จัดให้การบริหารงานในอาณานิคมแบ่งเป็น 10 กระทรวง โดยให้ชาวพื้นเมืองที่มาจากการเลือกตั้งในสภานิติบัญญัติเป็นผู้บริหาร 7 กระทรวง ชาวสิงหลสามารถครองเสียงส่วนใหญ่ในสภานิติบัญญัติและเข้าบริหารกระทรวงต่างๆ หลายกระทรวง

เมื่อถึงการเลือกตั้งครั้งที่สองในปี 1936 ชาวสิงหลที่ได้รับเลือกเข้าสภานิติบัญญัติได้วางแผนกระจายไปอยู่ในคณะกรรมการชุดต่างๆ จนได้รับเลือกให้เป็นผู้บริหารทั้ง 7 กระทรวง โดยไม่เหลือให้ชาวทมิฬหรือกลุ่มชนอื่นแม้แต่กระทรวงเดียว

เรื่องนี้เป็นสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ชาวทมิฬเกิดความรู้สึกว่าชาวสิงหลต้องการยึดทุกสิ่งทุกอย่างบนเกาะนี้ โดยไม่ยอมให้โอกาสแก่กลุ่มชนอื่น

รอยร้าวระหว่างสองชนชาตินี้จึงขยายกว้างขึ้นไปอีก

ศรีลังกาได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 1948 ในช่วงแรกภายหลังเอกราช ความสัมพันธ์ระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬค่อนข้างราบรื่น ปัญหาความขัดแย้งรุนแรงยังไม่มี ทั้งนี้เพราะรัฐบาลพยายามไม่กระทำการใดที่กระทบจิตใจของชาวทมิฬ แม้จะถูกกดดันจากกลุ่มการเมืองและองค์กรศาสนาหัวรุนแรงชาวสิงหลก็ตาม

จุดเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬเกิดขึ้นในปี 1956 เมื่อกลุ่มแนวร่วมที่มีพรรคเสรีภาพศรีลังกา (Sri Lanka Free Party) เป็นแกนนำได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง โซโลมอน บันดาราไนเก ผู้นำของพรรคนี้ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

พรรคเสรีภาพศรีลังกาเป็นพรรคการเมืองชาวสิงหลที่มีแนวคิดชาตินิยมรุนแรง พรรคนี้ได้ชูประเด็นการให้ความสำคัญกับภาษาสิงหลและศาสนาพุทธในการหาเสียง จึงได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากชาวสิงหลและพระภิกษุที่สนใจการเมืองจนชนะการเลือกตั้ง

เมื่อได้จัดตั้งรัฐบาล พรรคนี้จึงได้ผลักดันให้ออกกฎระเบียบต่างๆ ที่เชิดชูภาษาสิงหลและศาสนาพุทธ พร้อมทั้งจำกัดและบีบคั้นชาวทมิฬต่างๆนานา

รัฐบาลพรรคเสรีภาพศรีลังกาได้ผ่านกฎหมายที่กำหนดให้ภาษาสิงหลเป็นภาษาราชการเพียงภาษาเดียวทันทีที่ได้เป็นรัฐบาล กฎหมายนี้ได้สร้างความไม่พอใจแก่ชาวทมิฬอย่างรุนแรง เพราะที่ผ่านมาภาษาทั้งสองนี้มีฐานะเท่าเทียมกัน การออกกฎหมายนี้จึงเท่ากับลดฐานะของชาวทมิฬให้เป็นพลเมืองชั้นสอง ชาวทมิฬได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านกฎหมายนี้อย่างล้นหลาม ต่อมาก็ได้เกิดการปะทะนองเลือดระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬที่มีมูลเหตุมาจากความขัดแย้งเรื่องภาษาในปี 1958

หลังจากนั้นรัฐบาลยอมผ่อนปรนให้ใช้ภาษาทมิฬเป็นภาษาราชการในกิจกรรมบางอย่างและในบางท้องที่ แต่มาตรการผ่อนปรนของรัฐบาลกลับถูกชาวสิงหลหัวรุนแรงบางกลุ่มมองว่าเป็นการทรยศ

พวกเขาจึงได้ลงมือสังหาร บันดาราไนเก ในปี 1959

พรรคเสรีภาพศรีลังกาภายใต้การนำของ นางศิริมาโว บันดาราไนเก ภรรยาหม้ายของ โซโลมอน บันดาราไนเก ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งในปี 1960 รัฐบาลของนางยังคงเดินหน้าบีบคั้นชาวทมิฬต่อไป สิ่งสำคัญที่สุดคือการจำกัดและปิดกั้นโอกาสในการศึกษาและการทำงานของชาวทมิฬ

รัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ ได้แก่ การกำหนดให้ชาวทมิฬต้องได้คะแนนสูงกว่าชาวสิงหลในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย การจำกัดจำนวนนักศึกษาชาวทมิฬในบางสาขาวิชา การแยกโรงเรียนที่สอนด้วยภาษาทมิฬกับภาษาสิงหลออกจากกัน เด็กชาวทมิฬจะต้องเข้าโรงเรียนที่สอนด้วยภาษาทมิฬ โรงเรียนเหล่านี้ไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาล และไม่มีการสอนภาษาสิงหล

เด็กที่จบจากโรงเรียนเหล่านี้จะเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาจะต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยและสาขาวิชาที่เปิดสอนด้วยภาษาทมิฬเท่านั้น ซึ่งมีที่นั่งจำกัดมาก เมื่อเรียนจบก็ไม่สามารถเข้าทำงานในหน่วยงานรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ เพราะไม่รู้ภาษาสิงหลที่เป็นภาษาราชการเพียงภาษาเดียว

หนุ่มสาวชาวทมิฬจำนวนมากที่ผิดหวังจากการศึกษาและไม่สามารถหางานทำในเมืองต้องหันไปประกอบอาชีพการเกษตรในเจฟน่า ซึ่งมีพื้นที่จำกัดและมีประชากรแออัดมาก พวกเขาต้องดำรงชีวิตอย่างยากลำบาก

ความไม่พอใจจึงเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นความรู้สึกเคียดแค้นชิงชังต่อรัฐบาลศรีลังกาและชาวสิงหล พวกเขาจึงไม่ลังเลที่จะเข้าร่วมในการต่อสู้กับรัฐบาล แม้กระทั่งสละชีวิตก็ยอม

การต้อนชาวทมิฬให้จนมุมกลับสร้างศัตรูขึ้นมามากมาย นโยบายด้านภาษาและการศึกษาของรัฐบาลนับเป็นความผิดพลาดร้ายแรงที่สุดที่นำความหายนะมาสู่ศรีลังกา

นอกจากนี้รัฐบาลศรีลังกายังกำหนดให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาสำคัญที่สุดของประเทศ และมีการอพยพชาวสิงหลจำนวนมากไปอยู่ทางภาคเหนือของเกาะ ซึ่งเป็นเขตที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของชาวทมิฬ

มาตรการเหล่านี้ล้วนสร้างความไม่พอใจแก่ชาวทมิฬ และมีส่วนทำให้ความสัมพันธ์ของสองชนชาตินี้เสื่อมลงเรื่อยๆ

ชาวทมิฬแม้จะมีความไม่พอใจต่อรัฐบาลศรีลังกาและมีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลมาตลอด แต่ก็ไม่มีองค์กรนำและเป้าหมายการต่อสู้ที่ชัดเจน จนกระทั่งถึงปี 1972 เมื่อพรรคการเมืองของชาวทมิฬสามพรรคได้รวมตัวกันเป็น “แนวร่วมทมิฬ” (Tamil United Front)

การต่อสู้ของชาวทมิฬจึงได้เข้าสู่ยุคใหม่ที่อยู่ภายใต้การนำของพรรคการเมืองที่เข้มแข็งและมีจุดมุ่งหมายในการต่อสู้ที่ชัดเจน

พรรคแนวร่วมทมิฬได้เปลี่ยนชื่อเป็น “แนวร่วมปลดปล่อยทมิฬ” (Tamil United Liberation Front) และผ่านมติต่อสู้เพื่อก่อตั้งประเทศทมิฬอีแลมเมื่อปี 1976 ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นในปีถัดมา พรรคนี้สามารถกวาดที่นั่งส่วนใหญ่ในเขตชาวทมิฬ จนกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดในรัฐสภาศรีลังกา ทำให้มองเห็นความหวังในการต่อสู้เพื่อให้ชาวทมิฬแยกตัวเป็นอิสระตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ

แต่แล้วไม่มีใครคาดคิด ชาวสิงหลหัวรุนแรงที่ไม่พอใจผลการเลือกตั้งได้ก่อเหตุจลาจลจนนำไปสู่การปะทะนองเลือดระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬครั้งใหญ่ทั่วประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 300 คน

การปะทะครั้งนี้ทำให้ชาวทมิฬส่วนใหญ่สิ้นหวังกับการต่อสู้ด้วยแนวทางสันติ พวกเขาจึงเลิกให้การสนับสนุนพรรคแนวร่วมปลดปล่อยทมิฬ แล้วหันไปให้การสนับสนุนกลุ่มพยัคฆ์ปลดปล่อยแห่งทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Elam) หรือพยัคฆ์ทมิฬที่ใช้วิธีต่อสู้ด้วยความรุนแรงแทน