ชุติมา นุ่นมัน : ชีวิตเริ่มต้นที่ก้าวสุดท้าย ชายผู้ทรนง ที่ชื่อ “ทนง โคตรชมภู”

ชายหนุ่ม มาพร้อมกับรอยยิ้มอบอุ่น พยักหน้าน้อยๆ ต้อนรับผู้ไปเยือน

เขาไม่ได้ยะโส หรือถือตัว เกินกว่าที่จะยกมือขึ้นมารับไหว้ เพียงแต่ว่า 2 มือคู่นั้นปราศจากเรี่ยวแรงเกินกว่าที่จะยกขึ้นมาทำอะไรได้ ไม่ต่างกับเท้าเล็กลีบทั้ง 2 ข้าง ที่ไม่ถูกใช้งานมานานเกือบ 30 ปี แล้วเช่นกัน
น่าแปลกใจว่า ดวงตาของเขายังเปล่งประกาย ไม่มีวี่แววถดถอย หรือท้อแท้ใดๆ ปรากฏออกมาให้เห็นเลย

“ขอโทษที่มาช้า” เขาบอกเสียงแผ่วเบา

“ไม่ค่อยชินกับอากาศในกรุงเทพฯเป็นหวัดนิดหน่อย คนบ้านนอกก็ยังงี้แหละ” พูดจบก็หัวเราะ คนฟังหัวเราะตาม

คุณทนง โครชมภู
คุณทนง โครชมภู

เราเริ่มหัวข้อสนทนากับทนง โคตรชมภู ศิลปินผู้พิการทั้งมือและเท้า ซึ่งต้องนั่งอยู่บนรถเข็นตลอดเวลา ว่าด้วยเรื่องของดินฟ้าอากาศ และตามมาด้วยเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย น่าแปลกใจว่าน้ำเสียงเขาแจ่มใส และคุยสนุก ชายผู้นี้ยังเป็นเจ้าของผลงานทางศิลปะที่ทรงคุณค่า เป็นที่ยอมรับของทุกผู้คนที่พบเห็น ยิ่งผู้คนเหล่านั้นได้รู้ถึงที่มาที่ไปว่าภาพทุกภาพบนผืนผ้าใบของเขาเป็นการวาดโดยใช้ปากคาบดินสอและพู่กัน แทนการใช้มือแบบคนปกติทั่วไป ยิ่งเพิ่มความประทับใจในรูปภาพนั้นมากยิ่งขึ้น

“อาจารย์ใช้ชีวิตให้เป็นปกติและมีความสุขได้ยังไงเนี่ย” เธอถามแบบทึ่งๆ

เขายิ้มกลับมาเป็นปฐมคำตอบ ก่อนจะบอกว่า หลายๆ คนคิดว่ เขาเอาศิลปะมาย้อมใจเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ภายใต้ร่างกายอันพิการนี้ แต่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย

“ผมชอบและผูกพันกับศิลปะมาตั้งแต่ร่างกายแขนขายังเป็นปกติ ตั้งแต่เรียน ป.1 ครั้งที่เริ่มเรียนวิชาวาดรูป ได้รับคำชมจากครูว่าวาดรูปดี แม้เป็นเพียงคำชมเล็กๆ แต่คำคำนั้นมันยิ่งใหญ่สำหรับเด็กบ้านนอกอย่างผมมาก”

จากคำชมของครูที่เหมือนน้ำทิพย์กระตุ้นความกระตือรือร้นให้ไฝ่รู้เรื่องศิลปะมากขึ้น เป็นเหตุให้เด็กชายทนงในขณะนั้นมีฝีมือการวาดรูปก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และครูก็จะคอยส่งเสริมโดยให้เขาเป็นลูกมือในการทำสื่อการสอนที่ต้องใช้รูปภาพเป็นส่วนประกอบเสมอ

วิบากกรรมวาระแรกเกิดขึ้นกับเขาตอนอายุ 12 ขวบ กำลังจะเรียนจบชั้น ป.6 เขาเล่าว่า ตอนนั้นรู้สึกขาไม่มีแรงเอาเสียเลย จะก้าวไปไหนแต่ละย่างรู้สึกทรมานมาก ไปหาหมอ หมอบอกว่าขาดสารอาหาร และแนะนำว่าต้องออกกำลังกายมากๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง แต่ตอนหลังเพิ่งจะรู้ว่าคนป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อสลายตัวแบบเขาต้องพักผ่อนเยอะๆ และห้ามออกแรง

อาจารย์ทนงบอกว่า ครั้งหนึ่งไม่มีใครอยู่บ้าน เขาพยายามเดินเพื่อจะออกกำลังตามที่หมอแนะนำ แต่ก็ไม่ได้ผลเดินแล้วล้ม เดินแล้วก็ล้ม

“รู้เลยว่าก้าวย่างที่หลังบ้านในตอนนั้นเป็นการก้าวย่างสุดท้ายของผมเอง” เขาบอกเสียงแผ่วเบาลง

เมื่อเดินไม่ได้ เด็กชายทนงก็ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ เหมือนเด็กทั่วไป แต่แม้จะหยุดอยู่บ้านเขาก็ไม่เคยละเลยที่จะฝึกฝนเรื่องการวาดภาพ และเรียนหนังสือด้วยตัวเองที่บ้าน ซึ่งถือเป็นโชคดีของเขาเป็นที่สุดที่ทั้งพ่อแม่ น้องชายและน้องสาวของเขา ตลอดจนครูศิลปะที่โรงเรียนชุมชนบ้านถ่อน ช่วยเป็นกำลังใจ และสนับสนุนให้การเรียนรู้ และเรื่องการวาดรูปอย่างเต็มที่

“ตอนนั้นครูที่โรงเรียนก็ยังมาขอให้ช่วยวาดรูปเพื่อเป็นสื่อการเรียนการสอนให้เด็กรุ่นน้อง มีค่าตอบแทนให้ด้วย เป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่สำหรับผม รายได้จากตรงนี้สามารถช่วยจุนเจือครอบครัวยากจนของเราด้วย”

เขามองออกไปนอกอาคาร แล้วบอกว่า เหนือกำลังใจอื่นใดที่มีกับชีวิตเล็กๆ ในช่วงเวลานั้น ไม่อาจเทียบเท่าสิ่งที่ผู้เป็นแม่ของเขามีให้ได้ เพราะแม่เป็นผู้หญิงคนเดียวที่สนับสนุนเขาไม่เคยขาดในเรื่องการเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะ

“ครอบครัวเรายากจนก็จริง แต่เรื่องกำลังใจเราไม่เคยขาดแคลนที่จะมีให้กันและกัน วันหนึ่งแม่ผมออกไปหาเห็ดในป่าเขาเห็นเห็ดดอกหนึ่งขึ้นบนโคนไม้ แทนที่จะเก็บมาเฉพาะเห็ด กลับแบกไม้นั้นมาทั้งท่อนซึ่งหนักมาก กลับมาถึงบ้านเอามาให้ผมแล้วบอกว่า มันสวยอยากให้ผมวาดรูปดอกเห็ดที่ขึ้นบนโคนไม้โคนนี้ ผมฟังแล้วอึ้งมาก ตั้งใจวาดภาพนั้นมากที่สุดในชีวิต ขณะที่วาดคิดอยู่เสมมอว่ามีสายตาของแม่มองอยู่ด้วยความชื่นชมและให้กำลังใจ” เขาบอกน้ำรื้นดวงตา

เหมือนเคราะห์ซ้ำ เพราะอีกไม่นานหลังจากนั้น แขนที่เคยมีแรงวาดรูปเริ่มมีอาการเดียวกับขา คือไม่มีเรี่ยวแรง จะหยิบจะจับอะไรแต่ละครั้งต้องใช้กำลังมหาศาล และเหนื่อยแทบขาดใจ ไปหาหมอ หมอบอกว่าเป็นโรคเดิม นั่นหมายความว่าเขาจะกลายเป็นคนพิการเต็มรูปแบบทั้งแขนและขาใช้การไม่ได้ ช่วยเหลืออะไรตัวเองไม่ได้เลย

แล้วรู้สึกว่าต้องสู้อีกครั้งได้ยังไงตอนนั้น คู่สนทนา กลั้นใจถามเบาๆ

“ผมก็ซึมอยู่หลายวัน รู้สึกว่าประตูชีวิตถูกปิดตาย ทั้งๆ ที่ผมยังมีชีวิตอยู่” เขาสารภาพ

“แต่เหมือนชะตาลิขิต เพราะค่ำวันหนึ่งผมเผอิญนึกได้ว่าเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือที่รวบรวมเอาความมหัศจรรย์ของโลกเอาไว้ มีเรื่องสั้นๆ เกี่ยวกับผู้ชายคนหนึ่งที่พิการเหมือนผม แต่เขาพยายามวาดรูปโดยใช้ปาก”

เขาบอกว่า วินาทีนั้นเขาลองก้มลงคาบพู่กันแล้วพยายามขีดเส้นไปมาดู แต่รู้สึกว่าต้องเกร็งและใช้พลังที่กล้ามเนื้อปากอย่างมหาศาล คิดว่ายังไงก็ไม่มีทางทำได้เหมือนผู้ชายที่อยู่ในหนังสือเล่มนั้นแน่นอน

“รู้สึกท้ออย่างมาก แต่ก็นึกถึงแววตาของแม่แล้วทำให้ผมมีแรงอึดขึ้นมาทุกครั้ง คืนนั้นทั้งคืนพยายามหาวิธีอยู่ว่าทำอย่างไรให้เอาปากคาบพู่กันวาดรูปให้ได้ กระทั่งลองเอาลิ้นดุนด้ามพู่กันให้ไปอยู่ในตำแหน่งตรงกับฟันกรามแล้วลองพยักหน้าขึ้นลงเพื่อลากเส้น ปรากฏว่าใช้แรงน้อยลงมาก ไม่ต้องเกร็งปากและขากรรไกรมากด้วย ลองฝึกไปฝึกมา แล้วก็ดีใจว่า ถึงแขนและขาจะไม่มีแรง แต่ยังไงก็วาดรูปได้แน่นอน”

อาจารย์ทนงยิ้มอีกครั้งก่อนจะเล่าถึงวินาทีชีวิตที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคครั้งหนักหนาที่สุดในชีวิตให้ได้ด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนว่า รุ่งขึ้นจากวันนั้นได้บอกกับทุกคนในบ้านว่า ถึงแม้แขนขาจะใช้การไม่ได้อีกต่อไป แต่จะใช้ปากวาดรูปให้ได้ ตอนแรกทุกคนคิดว่าเขาผิดหวังท้อแท้กับชีวิตมากจนสติแตกไปแล้ว แต่เมื่อเขาพยายามคาบดินสอมาลากเส้นไปมาพอเป็นรูปเป็นร่างให้ดู ก็อึ้งไปตามๆ กัน

“แม่ร้องไห้ เพราะดีใจที่ผมตัดสินใจที่จะสู้ หลังจากนั้นเขาหายไปพักหนึ่งแล้วกลับมาพร้อมกับไม้ไผ่เหลามาเกลี้ยงเกลา แล้วเอาพู่กันผูก เป็นไม้ด้ามยาวๆ ให้ผมคาบเพื่อให้วาดรูปได้สะดวกขึ้น ผมลองเอาพู่กันที่แม่ประดิษฐ์ให้มาคาบไว้ในปาก แล้ววาด วาด วาด รสหวานจากไม้ไผ่สดๆ กำซาบสู่สิ้น เหมือนรสความเป็นห่วงความรักที่แม่มีต่อผม วินาทีนั้นผมคิดว่า ต่อให้อุปสรรคมากแค่ไหน เพื่อแม่ผมจะผ่านมันไปให้ได้”
แล้วทุกอย่างก็เป็นไปอย่างที่เขาตั้งใจ เพราะนับจากวันนั้น เด็กชายทนงผู้ง่อยเปลี้ยเสียมือและขา กลายเป็นจิตกรที่ใช้ปากวาดรูปที่ได้รับการยอมรับเพียงหนึ่งเดียวในประเทศไทย แต่นั่นไม่ใช่สิ่งสำคัญเท่ากับการอุทิศตัวเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกผู้คน โดยเฉพาะคนพิการ

“ชีวิตตอนนี้ของผม มีแม่ มีน้องและหลานๆ คอยดูแล พวกเราพยายามทำอะไรให้เป็นเวลา ทำพร้อมกัน เช่น กินข้าว ถ้าวันนี้ไปไหนกับหลาน หลานกินคำ ผมกินคำ สลับกัน พวกเราปรับตัวร่วมกันมานานพอสมควร แต่อะไรที่ทำได้ หรือพอจะอดทนได้ไม่รบกวนกันมากเกินไป ผมก็พยายามที่จะทนและทำเอง”

ชายหนุ่มบอกว่า คนพิการหลายคนที่เขาไปพบ ช่วยเหลือตัวเองได้มากกว่าเขามาก แต่คนเหล่านั้นขาดแรงใจ การพูดคุยของเขากับคนเหล่านั้นอาจจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่เรื่องการดูแลกันเองของคนในครอบครัวสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด

เขาเจอประสบการณ์นี้มากับตัวเอง เข้าใจมันดี

ก้าวสุดท้ายที่ขาย่างลงไปบนพื้นไม่ใช่จุดสิ้นสุดแห่งความก้าวหน้าของชีวิตเสมอไป

มันอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความก้าวหน้าในอนาคตก็ได้