เขาบวชภิกษุณีกันอย่างไร ในออสเตรเลีย

#บทความเก่า #ที่เราอยากให้อ่านอีกครั้ง

….การแสวงหาทางให้มีการอุปสมบทภิกษุณีในนิกายมูลสรวาสติวาท คือนิกายที่ฝ่ายทิเบต เรียกความสนใจจากกลุ่มชาวพุทธในยุโรปและอเมริกาซึ่งเป็นประชากรพุทธได้สูง

แม้ว่า คณะสงฆ์ทิเบตยังไม่ได้จัดการอุปสมบทให้แก่ภิกษุณีในนิกายของตน แต่องค์ทะไลลามะสนับสนุนให้สตรีชาวตะวันตกที่บวชสามเณรีในสายทิเบตไปรับการอุปสมบทจากสายจีนที่ยังรักษาภิกษุณีสงฆ์ไว้ได้ ในที่ประชุมครั้งนี้ จึงมีภิกษุณีและสามเณรีชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมากเข้าร่วม

เฉพาะในบทความนี้จะขอนำเสนอเรื่องความพยายามของฝ่ายเวียดนามที่จะจัดการอุปสมบทภิกษุณีในสายเวียดนาม โดยผู้นำเสนอเป็นพระลามะชาวทิเบตที่ไปทำงานในออสเตรเลีย ชื่อ ลามะโชดัก ริมโปเช

คำว่า ริมโปเช แปลว่า ท่านอาจารย์ผู้ประเสริฐ เวลาเขียนจะเขียนว่า รินโปเช แต่อ่านว่า ริมโปเช แปลว่า ท่านอาจารย์ผู้นี้ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการว่าเป็นการกลับชาติมาเกิดของพระอาจารย์ในอดีต

เราจะเรียกท่านว่า โชดักริมโปเช ท่านเกิดที่ทิเบต หนีออกมาที่เนปาล ได้เรียนหนังสือจนจบชั้นเตรียมอุดมศึกษา และได้ฝึกสมาธิอยู่กับอาจารย์สำคัญถึง 3 ปีครึ่ง ในช่วงที่ท่านเติบโตในวัดนั้น ได้เรียนรู้ในหลักธรรมที่จะเอาชนะความทุกข์ที่เกิดจากการยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ที่นำไปสู่ความอยุติธรรม และความไม่เสมอภาค ท่านได้ออกมาอยู่ในโลกตะวันตกกว่า 20 ปี เวลานี้ท่านเป็นพระอาจารย์ฆราวาส เริ่มสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมทั้งในประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

ในฐานะที่เป็นอาจารย์ ศิษย์ของท่านหลายคนออกบวชเป็นสามเณรีในออสเตรเลีย เริ่มต้นในช่วง พ.ศ.2540, 2544 และ 2549

เมื่อเริ่มสหัสสวรรษใหม่ (ค.ศ.2000) ลูกศิษย์ของท่านเริ่มมีปัญหา กล่าวคือ ลูกศิษย์ที่เป็นผู้ชาย เมื่อบวชเณรแล้วก็สามารถอุปสมบทเป็นพระภิกษุได้ แต่ลูกศิษย์ฝ่ายหญิงบวชได้เพียงระดับสามเณรี แล้วต้องชะงักอยู่เพียงนั้น

ไม่มีพระภิกษุที่จะให้การอุปสมบทให้เป็นภิกษุณีต่อ

ที่ธรัมศาลา ในประเทศอินเดีย ที่เป็นศูนย์กลางการทำงานของรัฐบาลชาวทิเบตพลัดถิ่นนั้น มีหน่วยงานเรียกว่า แผนกศาสนาและวัฒนธรรม เนื่องจากองค์ทะไลลามะทรงให้ความสนใจที่จะสืบสานการบวชภิกษุณีสงฆ์ในสายทิเบต โดยเห็นว่าจะเรียกว่าเป็นมัชฌิมประเทศที่สมบูรณ์ในความหมายของพุทธศาสนานั้นจะต้องถึงพร้อมด้วยพุทธบริษัทสี่ กล่าวคือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา

ทิเบต เช่นเดียวกับประเทศไทย ยังไม่มีภิกษุณีบริษัท ทำให้ขาดองค์ประกอบที่จะเป็นมัชฌิมประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยนั้น แม้จะอ้างว่าเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีประชากรชาวพุทธสูงที่สุดในโลก กล่าวคือ ในจำนวนประชากร 62 ล้านคนนั้น เป็นชาวพุทธถึง ร้อยละ 94-95 แต่ก็ยังเป็นมัชฌิมประเทศไม่ได้ ถ้าถือตามมาตรฐานดังกล่าว

องค์ทะไลลามะทรงมอบหมายให้หน่วยงานนี้ คือ แผนกศาสนาและวัฒนธรรมดูแล ติดตามงานในเรื่องความเป็นไปได้ที่จะให้มีการบวชภิกษุณี มีพระทิเบตรูปหนึ่งที่ได้รับการมอบหมายให้ศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้อย่างละเอียดก็ได้มาร่วมประชุมด้วย

โชดักริมโปเช รอผลงานของแผนกศาสนาและวัฒนธรรมนานหลายปีมาก ในที่สุด ท่านรอไม่ไหว ท่านจึงรวมกลุ่มพระอาจารย์คณะสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ที่ท่านติดต่อได้ในออสเตรเลีย พระภิกษุหลักคือ ท่านทิคกวางบา พระชาวเวียดนาม เป็นเจ้าอาวาสวัดศากยะมุนี อยู่ที่เมืองแคนเบอร่า ได้จัดนิมนต์พระผู้ใหญ่ทั้งภิกษุและภิกษุณีที่อยู่ในออสเตรเลียสายต่างๆ แล้วจัดตั้งกรรมการพระอุปัชฌาย์เพื่ออุปสมบทภิกษุณีในนิกายธรรมคุปต์

พอดีเป็นช่วงที่องค์ทะไลลามะจะเสด็จเยือนออสเตรเลีย คณะผู้จัดงานจึงพยายามจัดการอุปสมบทให้ตรงกันใน ค.ศ.2002 (พ.ศ.2545) คณะกรรมการใช้เวลา 18 เดือนในการเตรียมงาน

แม้ว่าจะได้ติดต่อนิมนต์พระผู้ใหญ่ของทิเบตให้มาร่วมในคณะกรรมการดังกล่าว ปรากฏว่าไม่มีใครมาร่วมเลย

ตกลงได้พระเถระของเวียดนาม 19 รูป พระภิกษุณีจากออสเตรเลียและต่างประเทศ 7 รูปที่รับปากว่าจะมาร่วมในพิธีอุปสมบทภิกษุณีเป็นครั้งแรกในออสเตรเลีย กรรมการพระอุปัชฌาย์นั้นมาจากเวียดนาม เยอรมนี อเมริกา และออสเตรเลีย

สังฆกรรมเป็นภาษาเวียดนาม แปลเป็นภาษาอังกฤษ พิธีการบวชได้รับความสนใจจากสื่อในออสเตรเลีย มีการถ่ายทอดข่าวการอุปสมบททั้งทางโทรทัศน์ และสื่ออื่นๆ ได้มีการจัดตั้งสภาอานนท์เพื่อการอุปสมบทภิกษุณี และในเดือนตุลาคม พ.ศ.2546 โดยมีกรรมการเป็นภิกษุณี 4 รูปจากออสเตรเลีย 1 รูปจากนิวซีแลนด์ และอีก 2 รูป เป็นเวียดนาม

แม้ว่า ออสเตรเลียจะเริ่มต้นการอุปสมบทภิกษุณีมาแล้วถึง 4 ปี ท่านโชดักริมโปเช บ่นว่า ยังไม่เห็นแผนกศาสนาและวัฒนธรรมที่ธรัมศาลามีงานอะไรที่คืบหน้าไปกว่าเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมาแล้วเลย

ท่านโชดัก ริมโปเช ยอมรับว่า แม้จะมีนิกายในพระพุทธศาสนาต่างๆ ถึง 18 นิกาย ท่านก็ไม่เห็นความแตกต่างที่เป็นสาระสำคัญในพระวินัย

ผู้เขียนเองเคยพูดกับพระผู้ใหญ่ของศรีลังกาที่เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมหัวชนฝา (เจ้าอาวาสวัดเบลันเวล่า) เฉพาะในประเด็นเรื่องวินัยนี้ โดยได้เรียนท่านว่า นิกายธรรมคุปต์ที่ฝ่ายจีนถืออยู่นั้น มีสิกขาบทในพระปาฏิโมกข์ ถึง 348 สิกขาบท นั่นคือ มีทั้ง 311 ข้อของฝ่ายเถรวาท บวกเพิ่มในส่วนที่นิกายธรรมคุปต์เคารพพระสถูปเจดีย์ เช่นนี้ การสืบสายการบวชจากนิกายธรรมคุปต์ไม่น่าจะมีปัญหา และน่าจะยอมรับกันได้ ท่านยืนกรานกระต่ายขาเดียว ว่า 348 ข้อ ย่อมต่างจาก 311 ข้อ นั่นแหละคือต่างกันละ

โชคดีที่ยังไม่เคยเจอพระไทยแบบนี้

ท่านโชดัคให้ความเห็นว่า จากประสบการณ์ท่านบอกได้เลยว่า เรา (หมายถึงพระภิกษุและภิกษุณี) มีหน้าที่ที่จะสร้างเหตุปัจจัยให้เกิดโดยการจัดการอุปสมบทภิกษุณีแล้วก็ลงมือทำเลย (just do it)

ท่านโชดักริมโปเชชี้ว่า ปัญหาของพระภิกษุฝ่ายทิเบตนั้นมีอะไรที่คล้ายคลึงกับพระภิกษุฝ่ายเถรวาท กล่าวคือ มีความยึดมั่นว่า พระธรรมวินัยที่ตนรักษานั้นดีกว่าบริสุทธิ์กว่าคนอื่น มักตั้งคำถามกับนิกายอื่นเสมอว่าบริสุทธิ์มากน้อยแค่ไหน สายการบวชนั้นรักษามาโดยไม่ขาดสายนับตั้งแต่รับมาจากพระพุทธเจ้าหรือไม่

ท่านโชดักกลับชี้ว่า ทำไมชาวพุทธไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียตนาม เกาหลี หรือญี่ปุ่น เมื่อมีศรัทธาเข้ามาปฏิบัติตามคำสอนของพระและอาจารย์ในสายทิเบตไม่เคยตั้งคำถามเหล่านี้ ในทางตรงกันข้ามกลับตั้งใจรับฟังธรรมะและน้อมนำไปสู่การปฏิบัติแล้วทำไมพระทิเบตเองถึงไปติดกับอยู่กับการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบนิกายอื่นว่าสืบทอดกันมาบริสุทธิ์หรือไม่ คณะสงฆ์ทิเบตเองควรจะมีความอ่อนน้อมถ่อมตน เพราะในสายของทิเบตเองไม่สามารถรักษาภิกษุณีสงฆ์ไว้ได้ คณะสงฆ์ทิเบตก็ควรรับสืบทอดสายการบวชจากจีนหรือเวียดนามที่เขาสามารถรักษาไว้ได้

ท่านโชดักเตือนสติพระทิเบตว่า เราต้องไม่ลืมว่า อคติและความหยิ่งทะนงตนนั้นเองที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางจิต ทั้งนี้ ไม่มีข้อยกเว้นแม้ในประเด็นของความพยายามที่จะสืบสายการอุปสมบทภิกษุณี

โดยเตือนให้ระลึกว่าในสมัยพุทธกาลนั้น เมื่อพระพุทธองค์จะบวชเจ้าชายแห่งศากยะทั้ง 6 พระองค์ อันมี พระอานนท์ พระอนิรุทธ เป็นอาทิ ทรงให้บรรดาเจ้าชายได้กราบพระอุบาลิ ซึ่งเป็นช่างกัลบก วรรณะต่ำกว่า แต่บวชก่อน ทั้งนี้ เพื่อเป็นอุบายให้พวกศากยะได้ลดคลายทิฏฐิในตนนั่นเอง

และยิ่งไปกว่านั้น องค์ทะไลลามะเองรับสั่งเตือนสติคณะสงฆ์ทิเบตอยู่เสมอว่า ในแง่ของประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นของบรรดานิกายต่างๆ นิกายมูลสรวาสติวาทที่ทิเบตถืออยู่นั้น เป็นนิกายน้องใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากนิกายอื่นๆ พุทธศาสนาเผยแผ่ไปสู่ประเทศจีนในคริสต์ศตวรรษที่ 1 ในขณะที่ไปถึงทิเบตในคริสต์ศตวรรษที่ 7 แม้ขนาดนั้น พระสงฆ์ทิเบตก็ยังสะสมทิฏฐิมานะไว้ได้มากถึงเพียงนี้

ท่านโชดัคชี้ว่า การที่ไม่มีภิกษุณีสงฆ์ในนิกายมูลสรวาสติวาทมิได้หมายความว่าทิเบตจะมีภิกษุณีไม่ได้ การไม่มีภิกษุณีสงฆ์อย่าไปถือว่าเป็นจุดแข็ง ในทางตรงกันข้ามกลายเป็นจุดอ่อนไป เคยถามตัวเองไหมว่า ทำไมพระพุทธองค์จึงทรงประดิษฐานภิกษุณีสงฆ์ เพื่อให้พุทธบริษัททั้งสี่ครบสมบูรณ์ เมื่อ 1300 ปีก่อน ทิเบตก็ไม่มีพุทธศาสนา อีกทั้งยังไม่มีภิกษุสงฆ์ด้วย แต่ชาวทิเบตนั้นเองที่นำพุทธศาสนาเข้ามาจากอินเดีย ไม่เห็นจะต้องมีการประชุมนานาชาติและให้คนอื่นสวดประกาศรับแต่อย่างใด

มิหนำซ้ำเวลาพระภิกษุสงฆ์สวดทำพิธีมอนลัมในเทศกาลปีใหม่ที่ถือว่าเป็นเทศกาลสำคัญนั้น มีการสวดเพื่อขอให้มีความสงบสุขในโลกและขอให้พุทธศาสนาได้เผยแพร่ออกไปนั้น การเผยแผ่ศาสนาโดยมีพุทธบริษัท 4 อย่างสมบูรณ์ไม่ดีกว่าหรือ การที่พุทธบริษัทไม่สมบูรณ์แล้วจะไปเผยแผ่ศาสนาอย่างไร จะไปสวดทำไมด้วยปากเปล่าว่าขอให้พระศาสนาได้เผยแผ่ออกไป ในเมื่อในการกระทำนั้นตรงกันข้าม

มิใช่ไม่เผยแผ่ศาสนาเท่านั้น ยังทำการที่เป็นอุปสรรคต่อการเผยแผ่ศาสนาอีกด้วย

ในตอนท้ายท่านโชดัก มองปัญหาในวงกว้าง และชี้ว่า โลกที่เราอยู่ก็แบ่งแยกด้วยอคติแบบต่างๆ มากพออยู่แล้ว เราชาวพุทธไม่ควรจะสร้างอคติทางเพศในศาสนาเข้าไปอีก และย้ำว่า ประเทศที่นับถือพุทธใดๆ ก็ตาม จะถือว่า เป็นมัชฌิมประเทศไม่ได้ ถ้าไม่มีพุทธบริษัทครบทั้งสี่ส่วน

แม้ท่านจะยอมรับว่ายังมีพวก fundamentalists คือพวกหัวเก่ายึดถือตามอักษรโดยไม่มีความเข้าใจนัยยะที่แท้จริงของพระคัมภีร์อยู่ในคณะสงฆ์ของทิเบต แต่ท่านก็มีความดีใจยิ่งที่อย่างน้อย ก็เริ่มมีการอุปสมบทภิกษุณีแล้วในออสเตรเลีย ทั้งๆ ที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นชาวคริสต์ แต่ก็ต้องถือว่า ออสเตรเลียเป็นมัชฌิมประเทศแล้ว…