ประพีร์ อภิชาติสกล : ฮิลลารี คลินตัน ในสังคมการเมืองอเมริกันที่ชายเป็นใหญ่

Justin Sullivan/Getty Images/AFP

โดย ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ในเดือนหน้านี้เราก็คงจะได้ทราบกันแล้วว่านางฮิลลารี คลินตัน จะถูกเรียกว่า Madam President หรือ Mrs.President หรือไม่

นางฮิลลารี คลินตัน ถือได้ว่าเป็นผู้หญิงคนแรกที่สร้างประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันที่ผ่านเข้ามาเป็นผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในภาษาอังกฤษมีสำนวนหนึ่งที่เรียกว่า “break the glass ceiling” คำว่า “Glass Ceiling” คือ เพดานกระจก เปรียบเหมือนอุปสรรคที่มองไม่เห็นซึ่งคอยกีดกันไม่ให้ผู้หญิงเข้าไปรับตำแหน่งที่สูงในสถานที่ทำงาน ดังนั้นนางฮิลลารี คลินตัน จึงเปรียบเสมือนผู้หญิงที่สามารถมาทุบเพดานแก้วใสที่มองไม่เห็นนี้ได้ แม้ว่าจะไม่มีกฎหมายห้ามผู้หญิงไม่ให้เป็นประธานาธิบดีแต่การที่จะมาถึงจุดนี้ได้ก็ไม่ง่ายเลย

เมื่อดูเผินๆแล้วสังคมอเมริกันเหมือนเป็นสังคมที่ตระหนักถึงความสำคัญของความเสมอภาคชายและหญิงได้ดีกว่าสังคมในแถบเอเชีย หรือแอฟริกา รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้าไปมีบทบาทในการบริหารประเทศมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส.ส. ส.ว. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น

แต่ในความเป็นจริง การเมืองสหรัฐฯนั้นยังอยู่บนทางที่ห่างไกลจากความเท่าเทียมทางเพศ คลินตันเป็นผู้หญิงคนแรกที่ขึ้นมาสู่จุดสูงสุดของโครงสร้างอำนาจทางการเมืองก็จริง

แต่เมื่อมองย้อนไปในอดีตก่อนในปี ค.ศ.1920 ในสหรัฐอเมริกายังไม่อนุญาตให้ผู้หญิงลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้เลย ซึ่งกว่าจะได้รับสิทธิในการลงคะแนนเสียงนี้ก็ได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิสตรีอเมริกันและผ่านการต่อสู้ที่ยาวนานมาพอสมควร

สำหรับตำแหน่งวุฒิสมาชิกนั้นนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1922 เป็นต้นมานางฮิลลารี คลินตันเป็นเพียงหนึ่งในจำนวนผู้หญิง 46 คนที่ได้รับเลือกมาเป็นวุฒิสมาชิก และในปัจจุบันมีวุฒิสมาชิกหญิงเพียง 20 คนในสภาคองเกรสจากสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด 100 คน นั่นหมายถึงมีตัวแทนที่เป็นผู้หญิงในสภานี้ยังไม่ถึงร้อยละ 50 ในสภาผู้แทนราษฎรก็เช่นเดียวกันมีจำนวน ส.ส.หญิง อยู่ประมาณแค่ร้อยละ 20 จากจำนวนส.ส.ทั้งหมด 435 คน

ดังนั้นนาง ฮิลลารี คลินตันกำลังเผชิญหน้าอยู่กับความไม่เชื่อมั่นในสังคมการเมืองอเมริกันต่อการให้เป็นสตรีขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศอยู่หรือไม่

เมื่อมีผู้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสองคนที่อีกคนเป็นหญิงและอีกคนเป็นชาย เชื่อว่าคนอเมริกันผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงจำนวนหนึ่งพิจารณาดูบุคลิกลักษณะจากเพศของทั้งสองฝ่ายแล้วจะตั้งข้อสมมติฐานว่าผู้หญิงน่าจะดูอ่อนโยน เอื้ออาทร และจริงใจ ส่วนผู้ชายก็มักจะต้องมีความเข้มแข็งและมีอำนาจ

ดังนั้นการที่นางฮิลลารี คลินตัน จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีหญิงคนแรกจึงอาจถูกหลายคน โดยเฉพาะนักสตรีนิยม (Feminist) มองว่าการมีผู้นำหญิงในทางการเมืองน่าจะมีแนวโน้มส่งผลกระทบให้มีการลดลงของความขัดแย้ง และความรุนแรงในสังคมโลกและจะมุ่งส่งเสริมในประเด็นที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยในสังคมและส่งเสริมคนจนและสตรี แต่มันจะเป็นเช่นนั้นได้จริงหรือไม่ ในสภาพสังคมที่มีกรอบการมองโลกแบบชายเป็นใหญ่?

ในความเป็นจริงประเทศมหาอำนาจสูงสุดอย่างสหรัฐอเมริกานั้นความเข้มแข็งทางการทหารเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก อำนาจและความเข้มแข็งถูกมองว่าเป็นความคิดอย่างชาย กลยุทธ์สายเหยี่ยว (Hawkish) การทูตอย่างชาย และความสามารถในการใช้อำนาจเชิงแข็ง (Hard Power) และเชิงอ่อน (Soft Power) เพื่อสร้างสิ่งที่่นักวิชาการอย่าง โจเซฟ นาย (Joseph Nye) เรียกว่า “Smart Power” จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้สหรัฐอเมริกายังคงความเป็นประเทศมหาอำนาจอยู่ได้

ดังนั้นในโครงสร้างทางสังคมการเมืองภายในและการเมืองระหว่างประเทศที่มีลักษณะความเป็นชายครอบงำ ผู้นำสตรีอาจถูกมองว่าอ่อนแอเกินไปหากใช้กลยุทธ์ในการรักษาสันติภาพ โดยเน้นการเจรจาต่อรองทางการทูตในยามที่เกิดสงครามหรือความขัดแย้งขึ้น

สำหรับนางฮิลลารี คลินตันเองนั้น จากประวัติและผลงานการทำงานที่ผ่านมาในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา เธอถูกมองว่าเป็นสายเหยี่ยวในทางนโยบายต่างประเทศ ผู้กระหายสงครามที่มีนโยบายไฟเขียวต่อการทำเข้าไปทำลายล้างในอัฟกานิสถาน อิรัก ซีเรีย และลิเบีย นางฮิลลารี ให้การสนับสนุนอิสราเอลเป็นสิ่งที่ทำให้มุสลิมในตะวันออกกลางวิตกกังวลและรวมถึงมุสลิมในประเทศอื่นด้วย รวมถึงการที่เธอสนับสนุนซาอุดิอาระเบียก็เช่นกัน

หากนางฮิลลารี คลินตัน ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดยในกฎหมายรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริการะบุให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพด้วยแล้ว เธอมีแนวโน้มที่จะต้องทำตัวเป็น Big Boy ให้เข้มแข็งขึ้นโดยจะแสดงออกมาให้เห็นผ่านนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายต่างประเทศที่อาจจะแข็งกร้าว อาจจะมีสไตล์ที่แตกต่างจากประธานาธิบดีโอบามาที่ถูกมองว่าอ่อนเกินไป และอาจมีนโยบายการต่างประเทศที่ก้าวร้าวว่า นายโดนัล ทรัมป์ ก็เป็นได้

ขึ้นอยู่กับว่าเธอต้องการเล่นบทบาทที่ยังคงรับใช้โครงสร้างสถาบันที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ หรือเธอจะกล้าเลือกที่จะสร้างประวัติศาสตร์ในการกำหนดผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกาใหม่ในทางสันติภาพ ความมั่นคงปลอดภัยต่อโลกและสนับสนุนสิทธิสตรีบนโลกนี้ให้มากขึ้น