นาฏกรรมเมืองหลวง คดีที่ควรค้น “กบฏพระยาสรรค์กับเมษาฮาวาย”

ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 – 30 ส.ค. 2550 โดย หลวงเมือง 

เรื่อง “กบฏพระยาสรรค์กับเมษาฮาวาย” พลตำรวจตรีสุชาติ เผือกสกนธ์ ผู้เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขเรียบเรียงโดยเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์จริงมิใช่เรื่องชนิด “เขาเล่าว่าจระเข้ขึ้นที่ท่าน้ำ” อ่านเรื่องจบแล้วแต่ใจไม่ยอมจบ ยังนึกคิดต่อไปอีกถึงคำสอนเรื่องกรรมของพระพุทธเจ้าและทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ เชื่อว่าท่านผู้อ่านที่ได้อ่านเรื่องนี้คงมีความคิดกันไปต่างๆ นานา เพราะเป็นเรื่องชวนให้ขบคิด แต่แม้จะไม่คิดเลยก็ไม่เป็นไร

คำ “เมษาฮาวาย” นี้ เมื่อราวๆ ปี 2502 ข้าพเจ้าทำงานเป็นผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายรายการสถานีวิทยุเสียงสามยอด ท่านพลตำรวจตรีสำราญ กรัดศิริ เป็นผู้อำนวย ได้รู้จักกับ คุณเกษม บุรินทรามาตย์ ผู้จัดการสโมสรสลากกินแบ่งรัฐบาล ข้าพเจ้ากับพวกได้เสพสุราอาหารกับท่านเสมอหลังสโมสรปิดแล้วมีความสุขตามอัตภาพ วันหนึ่งโดยไม่มีปี่ขลุ่ยท่านบอกว่าจะจัดงานรื่นเริงในเวลากลางคืน ที่สวนลุมพินี ขอร้องให้ทุกคนที่ไปในงานสวมเสื้อฮาวาย

มีการประกวดนางงามเมษาฮาวายด้วย ปรากฏว่าผู้ได้รองนางงามกลับเป็นดาราภาพยนตร์ไทยซึ่งไม่อับแสงมาจนทุกวันนี้ คงเป็นด้วยตากรรมการจัดงานกับตาของแมวมองของผู้สร้างภาพยนตร์ไม่เหมือนกัน

ครั้น 1 เมษายน 2524 เกิดรัฐประหาร หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งขนานนามว่า “เมษาฮาวาย” ข้าพเจ้าไม่สะดุ้งและคิดว่าท่านประธานจัดงานคือคุณเกษมก็ไม่สะดุ้งเพราะงานเลิกจัดมา 20 ปีแล้ว แต่ที่ข้าพเจ้าไม่ทราบก็คือทำไมเขาจึงเรียกการปฏิวัติอันน่าหวาดเสียวว่า “เมษาฮาวาย” หลังจากล้มเหลวแล้ว

ในสารคดีเชิงประสบการณ์ของ พล.ต.ต.สุชาติ มีข้อความตอนหนึ่งว่า “เมื่อเวลา 02:00 น. ของวันที่ 1 เมษายน 2524 คณะทหารบกกลุ่มหนึ่งนำโดย พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลในขณะนั้นซึ่งมี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี คณะปฏิวัติได้ตั้งกองบัญชาการที่หอประชุมกองทัพบก แล้วส่งกำลังทหารเข้ายึดควบคุมสถานที่สำคัญในกรุงเทพมหานครหลายแห่ง รวมทั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กับได้ทยอยออกแถลงการณ์และคำสั่งคณะปฏิวัติ ผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีโทรทัศน์ต่างๆ เป็นระยะๆ โดยมีสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเป็นแม่ข่าย”

ขณะนั้นท่านยังดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขได้ข่าวนี้จากข้าราชการในสังกัดผู้หนึ่ง เมื่อได้เปิดวิทยุรับฟังแถลงการณ์แล้วก็หลงเชื่อว่า “การปฏิวัติครั้งนี้ได้ประสบความสำเร็จลงแล้วอย่างแน่นอน”

เมื่อได้ข่าวสารพอจะประเมินสถานการณ์ได้ด้วยตนเองแล้ว เช้ามืดวันรุ่งขึ้น ท่านได้เดินทางไปกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้แปรสภาพเป็นกองอำนวยการร่วมรักษาความสงบแห่งชาติ

ท่านได้รับคำสั่งให้ถ่ายทอดเสียงตอบโต้ฝ่ายปฏิวัติ และด้วยความร่วมมือขององค์การโทรศัพท์นครราชสีมาและผู้ใต้บังคับบัญชาจำนวนหนึ่งที่เตรียมพร้อมรับคำสั่งจากท่านอยู่ในกรุงเทพมหานคร จึงสามารถถ่ายทอดจากสถานีวิทยุกระจายเสียงของกองทัพภาคที่ 2 ออกอากาศทางสถานีวิทยุ 1 ป.ณ. สถานีวิทยุกระจายเสียงต่างๆ ที่หมุนหาคลื่นอื่นๆ ตลอดเวลาก็ได้รับฟังและเปลี่ยนท่าทีหันมาถ่ายทอดสถานี 1 ป.ณ.

เมื่อ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก นำทหารของรัฐบาลจากนครราชสีมาทางอากาศถึงกรุงเทพฯ เช้าตรู่วันที่ 4 เมษายน จึงยึดกรุงเทพฯ คืนได้โดยไม่มีต่อสู้สูญเสียเลือดเนื้อ การปฏิวัติล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

เหตุการณ์ครั้งนั้นเทียบวันเดือนปีทางจันทรคติแล้วเป็นวันแรม 12 ค่ำ เดือน 4 ส่วนวันที่พระยาสรรค์ก่อการกบฏตรงกับแรม 14 ค่ำเดือน 4 ห่างกัน 200 ปีพอดี ผู้ก่อการกบฏเมษายนฮาวายคือพลเอกสัณห์ กบฏพระยาสรรค์ หัวหน้าก็คือพระยาสรรค์

ผู้ที่ปราบกบฏ พล.อ.สัณห์ คือ พลตรี (ยศขณะนั้น) อาทิตย์ กำลังเอก ยกมาจากนครราชสีมา ส่วนผู้ยกกำลังมาปราบกบฏพระยาสรรค์คือพระยาสุริยอภัย ก็ยกมาจากนครราชสีมาเช่นกัน (สุริยะแปลว่าอาทิตย์)

พล.ต.ต.สุชาติ ฝากเรื่องนี้แก่ผู้มีความรู้วิชาการสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องช่วยอนุเคราะห์ค้นคว้าหาคำตอบให้ความกระจ่างแก่ท่านเองและผู้อ่านอื่นๆ ด้วย

เรื่องนี้ทำให้นึกถึงกรณีทหารหัวเมืองบางส่วนยกมาพระนครเพื่อขับไล่รัฐมนตรีบางท่าน เมื่อตุลาคม พ.ศ.2476 ถูกรัฐบาลปราบปราม ทหารกับตำรวจที่เสียชีวิตได้ฌาปนกิจที่ท้องสนามหลวง นับเป็นครั้งแรกที่ศพสามัญชนได้รับเกียรตินี้ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นิสิตนักศึกษาประชาชนที่เสียชีวิตเพราะลุกขึ้นขับไล่รัฐบาลจอมพลถนอม, จอมพลประภาส ก็ได้รับพระราชทานเพลิง ณ เมรุท้องสนามหลวง โดย ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นประธานและกล่าวไว้อาลัย ซึ่งประชาชนนับหมื่นอยู่ในความสงบเรียบร้อยอย่างน่าพิศวง ส่วนครั้งแรกปลายเดือนพฤศจิกายน 2476 มีหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร (กรมหมื่น) ทรงอ่านคำไว้อาลัย โดยมีท่านพันโทหลวงพิบูลสงคราม ยืนเป็นกียรติ

เหตุการณ์กลับกลายตรงกันข้ามเหมือนมีอะไรเป็นสิ่งกำหนด

ข้อความต่อไปนี้ได้มาจากข้อเขียนไว้อาลัยคุณหญิงภักดีนฤเบศร์ (เทียม ศาลิคุปต) ในงานพระราชทานเพลิง ณ เมรุวัดธาตุทอง เมื่อ 23 พฤศจิกายน 2524 โดย คุณเกื้อ ศาลิคุปต คัดมาย่อๆ จากหนังสือ “บ้านปากคลองภาษีเจริญ” ดังนี้

“เช้าวันศุกร์ 18 กันยายน (2524) ผู้เขียน (คุณเกื้อ) ลงมาข้างล่าง นาฬิกาไซโกติดไว้ข้างฝาหยุดเดินเมื่อ 1 นาฬิกากว่าๆ เลยนึกถึงวันที่คุณพ่อจากเราไป ท่านหอบเข้าขั้นโคม่า นาฬิกาก็เดินอยู่เป็นปกติ พอหมดลมเวลา 12:20 น. นาฬิกาปารีสเรือนนั้นก็หยุดลงด้วย วันนั้นตั้งใจแล้วว่าจะไปเยี่ยมุคณแม่ให้ได้ แท็กซี่ที่รู้จักกันเคยจอดที่ตลาดก็ออกไปหมด คันอื่นก็โก่งราคา เลยตัดสินใจไปรถประจำทางถึงโรงพยาบาลห้องคุณแม่เกือบ 10:00 น. พยาบาล 3 คนกำลังทำแผลให้ท่านจวนเสร็จ เขาบอกว่าเข้ามาตั้งแต่ 08:00 น. ป้อนอาหารหลอดไม่ลง” ฯลฯ

“03:00 น. 19 กันยายน อุไรโทรศัพท์บอกมาว่าคุณแม่สิ้นใจแล้วมือเท้าเย็นตั้งแต่ตี 2 เด็กถือนาฬิกาที่บ้านมาให้ดู 01:00 น. กว่าเพราะนาฬิกาหยุด ศรีอัมพร ศาลิคุปต มาจากสุราษฎร์ฯ เล่าว่าเขานอนมาในรถไฟสะดุ้งตื่นเมื่อ 1 นาฬิกาเศษ

เรื่องความตายและนาฬิกานี้จะเกี่ยวกันอย่างไรไม่ทราบ แต่ต่อไปภายหน้านักวิทยาศาสตร์คงอธิบายได้”