E-DUANG : รักยาวให้ห้าม โจชัว หว่อง เข้ามา

กรณีของ โจชัว หว่อง ได้ก่อให้เกิด”วิวาทะ”ไม่เพียงแต่ในทางการ เมือง หากแต่ยังไหลลึกไปในทางวัฒนธรรม

​ตกลง”เป้าหมาย”คืออะไร

​การไม่ยอมให้ โจชัว หว่อง เข้าประเทศเท่ากับเป็น”การตัดไฟแต่ต้นลม”

​เหมือนอย่างที่ พ.อ.วินธัย สุวารี ระบุ

​”เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง คสช.จึงจำเป็นต้องให้ส่งกลับคืนประเทศต้นทาง”

​นั่นก็คือ มาจากไหน กลับไปนั่น

​”การอนุญาตให้เดินทางเข้า-ออกประเทศต้องเป็นไปตามระเบียบและขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่”

​ชอบด้วยหลักการ ชอบด้วยเหตุผล

​แต่หากประเมินจากกรณี โจชัว หว่อง ที่กลายเป็นข่าวอึกทึกไปทั่วโลก

​ก็ไม่แน่เหมือนกันว่าเป็น”การตัดไฟแต่ต้นลม”

หากถือว่า โจชัว หว่อง เปรียบเหมือน”ไฟ” การกำจัด โจชัว หว่อง ออกไปทำให้เรื่องเงียบหายไปจริงหรือ

​ความรับรู้”ร่วม”ก็คือ

​การเดินทางมาประเทศไทยก็เพื่อร่วมเป็นองค์ปาฐกในงานรำลึก 6 ตุลาคม ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

​เห็นได้จาก”แถลงการณ์”ของสภานิสิต

​ผลก็คือ งานรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อ 40 ปีก่อนแทนที่จะดำเนินไปอย่างเงียบเชียบ

​เหมือนกับที่เคยจัดกันเป็นประจำทุกปี

​แต่พอมาถึงปี 2559 คสช.กลับมีส่วนช่วยให้การรำลึกถึงวันที่ 6 ตุลาคม กลายเป็นข่าวอึกทึกครึกโครม

​มิใช่ระดับชาติ หากแต่เป็นระดับโลก

ยิ่งกว่านั้นทำให้หลายคนเกิดความรำลึกไปถึงสถานการณ์การจัดส่งผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์กลับคืนประเทศจีน

​อันนำมาสู่”วินาศกรรม”ที่ศาลท้าวมหาพรหม

​เกิดคำถามตามมาถึงสายสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

​ตกลงเราทำกันเอง หรือว่าเป็นไปตามความต้องการของจีน

​ตกลงสถานะและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับจีนดำเนินไปอย่างเสมอภาค สร้างสรรค์

​หรือว่าประเทศ 1 เป็น”พี่” ประเทศ 1 เป็น”น้อง”

​หรือว่าประเทศ 1 เป็นเหมือน “ลูกพี่” หรือว่าประเทศ 1 เป้นเหมือน”ลูกน้อง”

​แทนที่จะ”ตัดไฟแต่ต้นลม”กลับไม่ใช่

​แทนที่จะทำให้ปัญหาอันเนื่องแต่”6 ตุลาคม”ยุติ กลับกลายเป็นการสร้างปัญหาใหม่ ประเด็นใหม่ขึ้นมา

​เท่ากับเป็นเรื่องประเภท”รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ”

​มากกว่าจะเป็น “การตัดไฟแต่ต้นลม” ต่อกรณี โจชัว หว่องอย่างที่หวังตั้งใจไว้