ว. วชิรเมธี : เราถาม – พระพุทธเจ้าตอบ เรื่อง ลัทธินอกพระพุทธศาสนา และ วิธีตัดกรรม

เราถาม

ลัทธิคำสอนที่สวนทางกับพระพุทธศาสนา รวมทั้งไม่สอดคล้องกับหลักแห่งความจริงตามธรรมชาติ

มีลัทธิอะไรบ้าง?

พระพุทธองค์ตอบ

๑. สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า สุข ทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข (เฉยๆ) ที่บุรุษบุคคลนี้เสวย ทั้งหมดล้วนแต่มีกรรมที่ทำไว้ในปางก่อนเป็นเหตุ (=ลัทธิกรรมเก่า)

๒. สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า สุข ทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข ที่บุรุษบุคคลนี้เสวย ทั้งหมดล้วนแต่มีการเนรมิตของพระเป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่เป็นเหตุ (=ลัทธิพระเจ้าบันดาล)

๓. สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า สุข ทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข ที่บุรุษบุคคลนี้เสวย ทั้งหมดล้วนแต่ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย

(=ลัทธิแล้วแต่โชคชะตาจะพาให้เป็นไป)

วิธี “ตัดกรรม” ตามแนวพุทธ

เราถาม

ปัจจุบันมีผู้ตั้งตนเป็นผู้รอบรู้เรื่องกรรมอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ละคนก็อ้างว่า ตนเป็นผู้รู้เรื่องกรรมของบุคคลอื่น รวมทั้งยังบัญญัติจัดวางวิธีตัดกรรมด้วยมรรควิธีแปลกๆ อีกด้วย อยากทราบว่า

(๑) กรรมหมายความว่าอย่างไร (๒) กรรมเกิดจากสาเหตุใด (๓) จะตัดกรรมตามแนวพุทธจะต้องทำอย่างไร?

พระพุทธองค์ตอบ

กรรม

“ภิกษุทั้งหลาย…เรากล่าวเจตนา (เจตจำนง) ว่าเป็น “ตัวกรรม” บุคคลคิดแล้วจึงกระทำกรรมด้วยกาย วาจา ใจ

เหตุเกิดแห่งกรรม เป็นอย่างไร

คือ ผัสสะ (การกระทบกันของตากับรูป หูกับเสียง ฯลฯ) เป็นเหตุแห่งกรรม

ความต่างกันแห่งกรรม

คือ กรรมที่พึงเสวยในนรกก็มี กรรมที่พึงเสวยในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานก็มี กรรมที่พึงเสวยในแดนเปรตก็มี กรรมที่พึงเสวยในมนุษยโลกก็มี กรรมที่พึงเสวยในเทวโลกก็มี นี้เรียกว่า ความต่างกันแห่งกรรม

วิบาก (ผล) แห่งกรรม เป็นอย่างไร

คือ เรากล่าววิบากแห่งกรรมว่ามี ๓ ประการ คือ

๑. กรรมที่พึงเสวย (รับผล) ในปัจจุบัน

๒. กรรมที่พึงเสวยในอัตภาพถัดไป

๓. กรรมที่พึงเสวยในอัตภาพถัดๆ ไป

นี้เรียกว่า วิบากแห่งกรรม

ความดับแห่งกรรม เป็นอย่างไร

คือ เพราะผัสสะดับ กรรมจึงดับ

ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับกรรมได้แก่

อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ

(องฺ.ฉกฺก.๒๒/๖๓/๕๗๗-๘)

*หมายเหตุผู้เรียบเรียง

๑. ลัทธิกรรมเก่า ขัดต่อหลักความจริง เพราะความเป็นไปในวิถีชีวิตของคนย่อมขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต (เช่น ก. อยากเป็นนักการทูตชั้นนำในอนาคต ปัจจุบันจึงทุ่มเทเรียนภาษาอังกฤษ และวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นต้น) ประกอบกัน ชีวิตเป็นผลผลิตของกรรมที่ประกอบกันขึ้นในกาลทั้งสาม ไม่ใช่กาลอดีตเพียงอย่างเดียว

๒. ลัทธิพระเจ้าบันดาล ขัดต่อหลักความจริง เพราะ “พระเจ้า” ที่เป็นตัวตนนั้นไม่มีอยู่จริง มีอยู่ก็แต่เพียงกฎของธรรมชาติอันเป็นธรรมดาเท่านั้นเอง เพราะหากมีพระเจ้าเป็นพระผู้สร้าง ก็ต้องมีคำถามว่า ใครคือผู้สร้างพระเจ้าตามมาอีก ความเป็นไปในวิถีชีวิตของคนเป็นไปตามหลักแห่งเหตุและผลที่ว่า “สิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี…” ไม่ใช่ทุกสิ่งมีขึ้น เพราะเป็นการเนรมิตของพระเจ้าแต่อย่างใด

๓. ลัทธิแล้วแต่โชคชะตาจะพาให้เป็นไป ขัดต่อหลักความจริง เพราะไม่มีปรากฏการณ์ใดๆ ในโลกนี้ ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีที่มา สิ่งต่างๆ รวมทั้งชีวิตของคนดำรงอยู่ในลักษณะอิงอาศัยซึ่งกันและกันเป็นห่วงโซ่แห่งความสัมพันธ์

ชีวิตไม่ใช่ก้อนวัตถุที่ลอยอยู่อย่างเอกเทศในจักรวาล แต่ชีวิตคือระบบความสัมพันธ์กันของเหตุปัจจัย สิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี สิ่งนี้ดับไป เพราะสิ่งนี้ดับไป