ย้อนอดีต เหตุการณ์ดัง เมื่อ 40 ปี ก่อน “ก.ค.2517” จลาจลพลับพลาไชย

เป็นเหตุการณ์ใหญ่ในเดือนกรกฎาคม 2517 เริ่มเกิดขึ้นเมื่อช่วงหัวค่ำของวันที่ 3 กรกฎาคม 2517 เมื่อ นายพูน ล่ำลือประเสริฐ โชเฟอร์แท็กซี่ปฏิเสธการจับกุมของตำรวจจราจรฐานจอดรถในที่ห้ามจอด โดยนายพูนได้ตะโกนบอกประชาชนว่า ตำรวจซ้อม ทำให้ฝูงชนที่เพิ่งเลิกจากการดูภาพยนตร์กรูกันเข้ามาเพื่อขัดขวาง เหตุการณ์บานปลายเมื่อฝูงชนได้เข้าทำลายอาคารสถานีตำรวจพลับพลาไชย ตำรวจได้ยิงปืนเข้าใส่ผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์ได้ยืดเยื้อไปจนถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2517

หนังสือพิมพ์ประชาชาติ รายสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 กรกฎาคม 2517 บันทึกและรายงานเหตุการณ์ไว้ดังนี้

เวลาประมาณ 20.30 นาฬิกาของวันที่ 3 กรกฎาคม 2517

ส.ต.ท. บุญเชิด ชนิดสะ และ ส.ต.ต. มนัส เกิดสมบุญ ตำรวจรถจักรยานยนต์สถานีตำรวจพลับพลาไชย พบรถยนต์แท็กซี่ กท.ท. 4836 ที่นายพูน ล่ำลือประเสริฐ อายุ 50 ปี เป็นคนขับ จอดรับคนโดยสารในเขตป้ายจอดรถประจำทางหน้าบริษัทนครหลวงประกันชีวิต เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกให้นายพูนเคลื่อนรถออกไปเสีย นายพูนไม่ยอมปฏิบัติตามจึงขอจับกุมเพื่อส่งสถานีตำรวจ แต่นายพูนขัดขืนไม่ยอมลงจากรถ ตำรวจรถจักรยานยนต์จึงวิทยุเรียกรถจี๊ปสายตรวจมาช่วยจับกุม นายพูนไม่ยอมให้จับกุมและไม่ยอมลงจากรถ มีการฉุดกระชากกันขึ้น นายพูนตะโกนว่าตำรวจทำร้ายประชาชน ทำให้ประชาชนที่รอรถประจำทางอยู่เข้ามามุงดูเหตุการณ์ และวิ่งตามมาดูเหตุการณ์ที่สถานีตำรวจ

เวลาประมาณ 21.30 นาฬิกา

ที่สถานีตำรวจ นายพูนยังคงเอะอะว่า ตำรวจทำร้ายตน ผู้มามุงดูเหตุการณ์มีเพิ่มมากขึ้นเป็นพันคน ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นที่อยู่ในบริเวณนั้น และจับกลุ่มตะโกนว่าตำรวจทำร้ายประชาชน ทำให้ประชาชนที่ผ่านไปมาหยุดดูเหตุการณ์เพิ่มเป็นจำนวนมากขึ้นจนเต็มถนน ทำให้การจราจรติดขัดและเริ่มมีการตะโกนด่าทอตำรวจและเริ่มขว้างปาด้วยก้อนอิฐประปราย

เวลาประมาณ 22.00 นาฬิกา

มีนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง 3 คน และนิสิตจุฬาฯ 1 คน เข้ามาสอบถามเหตุการณ์และใช้เครื่องขยายเสียงขนาดเล็กอธิบายข้อเท็จจริงให้ประชาชนทราบ แต่ไม่ได้ผล คนขับรถแท็กซี่จำนวนหนึ่งไปตามนายเกรียงศักดิ์ เคราะห์ดี เลขาธิการศูนย์ประสานงานนักเรียน นักศึกษา ประชาชน (นน.ปช.) และพรรคพวกกลุ่มหนึ่งจากที่ทำการศูนย์มายังที่เกิดเหตุ นายเกรียงศักดิ์พูดเห็นใจประชาชนและเรียกร้องให้ประชาชนสลายตัว แต่กลับทำให้เกิดเหตุการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้น ประชาชนที่จับกลุ่มอยู่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนพันและผู้ประท้วงเริ่มขว้างปาก้อนอิฐมากยิ่งขึ้น ตำรวจได้นำตัวนายพูน ล่ำลือประเสริฐ คนขับแท็กซี่ต้นเรื่องออกมาปรากฏตัวต่อฝูงชนเพื่อยืนยันว่าไม่ได้ถูกตำรวจซ้อม แต่ไม่มีผู้ใดฟัง และเชื่อว่านายพูนถูกตำรวจบังคับมา มีการขว้างปาด้วยก้อนอิฐรุนแรงยิ่งขึ้น

เวลาประมาณ 23.00 นาฬิกา

เหตุการณ์ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นจนควบคุมไว้ไม่ได้ ผู้ประท้วงขึ้นไปบนรถจี๊ปของตำรวจที่อยู่หน้าสถานีเข็นเข้าชนตึกโรงพัก ทำลายรถมอเตอร์ไซค์ และจุดไฟเผารถยนต์ของตำรวจที่จอดอยู่หน้าสถานี ระดมขว้างปาด้วยก้อนอิฐ ตำรวจไม่ได้ปฏิบัติการตอบโต้ พล.ต.ท. ณรงค์ มหานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้ระดมกำลังตำรวจทุกสถานีในเขตนครบาล, ตำรวจกองปราบ และรถวิทยุ มาที่สถานีตำรวจพลับพลาไชยเพื่อตรึงฝูงชน

เวลาประมาณ 23.30 นาฬิกา

ฝูงชนพยายามที่จะจุดไฟเผาสถานีตำรวจด้วยการจุดไฟเผารถยนต์แล้วเข็นเข้าชน สถานีตำรวจเกิดไฟฟ้าดับ ฝูงชนกรูขึ้นไปบนโรงพักใช้ก้อนอิฐและท่อนไม้ขว้างตำรวจได้รับบาดเจ็บและพยายามปล่อยตัวผู้ต้องหาในห้องขัง ตำรวจใช้ปืนยิงสกัดกั้น มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ตำรวจใช้เครื่องขยายเสียงประกาศให้ประชาชนออกจากโรงพัก เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่อาคารสถานีตำรวจพลับพลาไชย รถดับเพลิงไม่สามารถที่จะเข้าไปดับไฟเพราะถูกฝูงชนสกัดไว้ ตำรวจต้องยิงขู่และยิงต้านประชาชนที่พยายามบุกเข้ามาบนโรงพัก รถดับเพลิงได้เข้าไปดับเพลิงที่กำลังลุกไหม้กว้างขวางขึ้นได้สำเร็จ การยิงสกัดของตำรวจทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ เหตุการณ์ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น การจลาจลได้ขยายตัวออกทั่วบริเวณ รถจักรยานยนต์ที่จอดอยู่บริเวณใกล้เคียงถูกทำลายและรถยนต์ตำรวจหลายคันถูกขโมยเอาไปใช้ มีการใช้น้ำมันเบนซินราดเผาถนนและรถ 10 ล้อคันหนึ่งถูกพลิกขวางถนน ผู้ประท้วงได้ยึดรถประจำทางสายต่างๆ 4 คัน ปิดกั้นขวางถนนและขนเบาะรถมาเผา ตำรวจแถลงว่า ผู้ก่อเหตุร้ายมีอยู่ไม่กี่คน เป็นพวกอันธพาลที่เพิ่งถูกปล่อยออกมาจากลาดยาว พยายามที่จะชักชวนให้ประชาชนเข้าใจผิดในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

เวลาประมาณ 02.00 นาฬิกาของวันที่ 4 กรกฎาคม 2517

นายเกรียงศักดิ์ เคราะห์ดี เลขาธิการ นน.ปช. ถูกยิงที่ขาบาดเจ็บในระหว่างที่มีการยิงต่อสู้กัน กลุ่ม นน.ปช. ย้อนกลับมาพบ พล.ต.ท. ณรงค์ มหานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้อำนวยการปราบปราม โดยขอให้พล.ต.ท. ณรงค์ จัดการกับนายตำรวจชั้นนายพันและนายร้อยสองคนของสถานีตำรวจพลับพลาไชย โดยให้ทำการปลดต่อหน้าประชาชน นน.ปช. กล่าวว่านายตำรวจทั้งสองเป็นผู้จุดชนวนนองเลือดขึ้น โดยมีประชาชนยืนยันว่า นายตำรวจทั้งสองนายยิงประชาชนก่อน พล.ต.ท. ณรงค์รับเรื่องไว้พิจารณาและรับว่าจะดำเนินการสอบสวน แต่ประชาชนต้องการให้ปลดออกตอนนั้นเลย

เวลาประมาณ 05.00 นาฬิกา

เหตุการณ์เริ่มคลี่คลาย ตำรวจตรวจความเสียหาย มีประชาชนถูกกระสุนปืนเสียชีวิต 8 คน ผู้บาดเจ็บเท่าที่ทราบจำนวนมีอยู่ 18 คน ไม่มีตำรวจเสียชีวิต มีแต่ได้รับบาดเจ็บถูกยิงที่ขา และถูกก้อนอิฐ ผู้ประท้วงที่ถูกจับกุมตัวในคืนวันที่ 3 กรกฎาคม มีทั้งหมด 15 คน เจ้าหน้าที่จัดการแยกขังเพื่อความปลอดภัย ตั้งข้อหาก่อความวุ่นวาย วางเพลิง และทำร้ายเจ้าพนักงาน พล.ต.ท. วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจมาประชุมนายตำรวจที่สถานีตำรวจพลับพลาไชย ตำรวจรายงานว่า ผู้ที่ก่อความวุ่นวายส่วนใหญ่เป็นอันธพาลที่เพิ่งได้รับการปลดปล่อยและเกลียดชังตำรวจ

เวลาประมาณ 06.00 นาฬิกา

ตัวแทนกลุ่ม นน.ปช. ซึ่งระบุว่ามีบางคนที่พูดจาเป็นทำนองยุยงกลุ่มชนผู้ประท้วงเข้าพบผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ แสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และกล่าวว่า นน.ปช. ได้พยายามพูดให้ทั้งประชาชนและตำรวจเข้าใจกันแต่ไม่ได้ผล

เวลาประมาณ 08.00 นาฬิกา

นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีโทรศัพท์สอบถามเหตุการณ์และได้รับรายงานว่าเหตุการณ์ทุกอย่างเรียบร้อย

เวลาประมาณ 09.00 นาฬิกา

พล.ต.อ.ประจวบ สุนทรางกูร อธิบดีกรมตำรวจมาสอบสวนเหตุการณ์ที่สถานีตำรวจพลับพลาไชยและตำหนิตำรวจท้องที่ที่ปล่อยให้เหตุการณ์บานปลายจนไม่สามารถระงับเหตุได้ และให้เปิดการจราจรถนนทุกสายที่ถูกสั่งปิดตั้งแต่ 03.00 นาฬิกา

เวลาประมาณ 10.00 นาฬิกา

อธิบดีกรมตำรวจและผู้ช่วยไปเยี่ยมนายเกรียงศักดิ์ เคราะห์ดี เลขาธิการ นน.ปช.ที่ถูกยิงบาดเจ็บนายเกรียงศักดิ์ยืนยันว่าตนเองถูกตำรวจในเครื่องแบบยิงบาดเจ็บ ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจให้เงินทำขวัญนายเกรียงศักดิ์ 2 หมื่นบาท และกำชับให้โรงพยาบาลดูแลเป็นพิเศษ ต่อมา นน.ปช. ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นความเข้าใจผิดซึ่งกันและกัน และเรียกร้องให้ประชาชนอยู่ในความสงบ อย่ากระทำการใดที่ผิดกฎหมาย ในแถลงการณ์กล่าวว่าบุคคลใดที่ฝ่าฝืนกฎหมาย นนาฬิกาปช. ถือว่าเป็นบุคคลที่บ่อนทำลายชาติ ทำลายสันติสุขของประชาชนคนไทย

เวลาประมาณ 11.00 นาฬิกา

ครอบครัวตำรวจที่อาศัยอยู่ในบริเวณสถานีตำรวจพลับพลาไชยอพยพออกไปเป็นการชั่วคราว กรมตำรวจตั้งคณะกรรมการสอบสวนสาเหตุและผู้ต้องหาที่ก่อการจลาจล โดยมี พล.ต.ต. จำรัส จันทรขจร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเหนือ เป็นผู้อำนวยการสอบสวน เวลาประมาณ 14.00 นาฬิกา นายวีระ ถนอมเลี้ยง ประธานศูนย์กรรมกรแห่งประเทศไทยไปพบผู้บัญชาการตำรวจนครบาลแจ้งว่ามีคนขับรถแท็กซี่หลายสิบคนไปร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมกับตนและบอกด้วยว่าจะรวมกำลังประท้วงอีก เจ้าหน้าที่ตำรวจเตรียมพร้อมเต็มอัตรา เพราะสืบทราบว่ามีกลุ่มผู้ก่อการร้ายรวมตัวกันที่จะก่อเหตุอีก เวลา 16.00 นาฬิกา เหตุการณ์บริเวณหน้าสถานีตำรวจพลับพลาไชยทวีความตึงเครียดขึ้น ฝูงชนเข้ามาดูเหตุการณ์มากยิ่งขึ้นมีประชาชนรวมกลุ่มกันเพื่อเฝ้าดูเหตุการณ์ตามถนนเจริญกรุง วงเวียน 22 กรกฎา และบริเวณใกล้เคียง

เวลาประมาณ 19.00 นาฬิกา

เหตุการณ์ได้ทวีความรุนแรงถึงขั้นต่อสู้กันอีกครั้ง เมื่อเริ่มมืดลงผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งพยายามที่จะใช้กำลังเข้ายึดและทำลายสถานีตำรวจพลับพลาไชยอีก โดยใช้อาวุธปืนยิงสู้กับตำรวจและบริเวณใกล้เคียงด้านถนนสันติภาพ ถนนพลับพลาไชย เจ้าหน้าที่ยิงตอบโต้เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ผู้ประท้วงยึดรถยนต์โดยสารประจำทางแล้วเผาทำลาย เวลา 20.00 นาฬิกา ผู้ประท้วงดำเนินการรุนแรงขึ้น มีการยึดรถยนต์ประจำทาง รถยนต์บรรทุก ยึดรถพยาบาลจากโรงพยาบาลกลางและบังคับเอาน้ำมันจากปั๊มน้ำมันต่างๆ เวลา 21.30 นาฬิกา ผู้ประท้วงได้ยึดรถ ร.ส.พ. ที่ถนนเจริญกรุงมุ่งหน้ามาทางสถานีตำรวจพลับพลาไชย เมื่อถึงถนนแปลงนาม ตำรวจได้เข้ายึดรถคืน มีการยิงต่อสู้กันขึ้น ในเวลา 22.00 นาฬิกา กองบัญชาการตำรวจมีคำสั่งให้รถเมล์ทุกสายหยุดวิ่ง เพราะมีการยึดรถกันมากขึ้น

เวลาประมาณ 23.00 นาฬิกา

ผู้ประท้วงได้ยึดรถโดยสาร ร.ส.พ. 2 คัน และรถนายเลิศ 1 คัน และเผารถ ร.ส.พ. ที่ห้าแยกพลับพลาไชย และถนนสันติภาพ ตำรวจได้ขัดขวางและมีการยิงต่อสู้กันทั้งสองจุด ผู้ประท้วงถูกยิงตาย 3 คน ตำรวจถูกยิงตาย 1 คน ชื่อ พลฯ พิทักษ์ เมฆมาน และถูกยิงบาดเจ็บสาหัส 2 คน การต่อสู้รุนแรงขึ้น โดยผู้ประท้วงใช้อาวุธปืนและขว้างด้วยลูกระเบิดใช้น้ำมันราดถนนและจุดไฟเมื่อตำรวจเดินตรวจผ่าน ผู้ประท้วงได้แบกศพผู้เสียชีวิตเดินไปตามถนนเพื่อชักชวนให้ประชาชนร่วมต่อสู้ โดยประกาศว่า ตำรวจทำร้ายประชาชน ผู้ประท้วงรวมกลุ่มกันเพื่อปล้นร้านค้าปืนย่านหลังวังบูรพา แต่ไม่สำเร็จเพราะถูกตำรวจยิงสกัดกั้นไว้ ผู้ประท้วงซึ่งเป็นวัยรุ่นยึดรถโดยสารประจำทางตระเวนไปตามที่ต่างๆ โดยมีรถจักรยานยนต์คุ้มกัน ตระเวนชักชวนหาสมัครพรรคพวก

เวลาประมาณ 23.30 นาฬิกา

นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีออกแถลงการณ์ว่า มีบุคคลบางจำพวกซึ่งประกอบด้วยบุคคลอันธพาลเป็นส่วนใหญ่ก่อความไม่สงบ รัฐบาลได้พยายามป้องกันอย่างละมุนละม่อมแล้ว แต่เหตุการณ์กลับทวีความรุนแรงขึ้น จึงจำเป็นจะต้องประกาศภาวะฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานครและประกาศเตือนให้ประชาชน นิสิต นักศึกษาเข้าใจว่ามิใช่เป็นการปฏิวัติรัฐประหาร

เวลาประมาณ 00.30 นาฬิกา

ขบวนทหารมีรถเกราะและรถสายพานลำเลียงออกจากที่ตั้งเข้าไปประจำที่บริเวณพระบรมมหาราชวัง ปั๊มน้ำมันสามทหาร โรงไฟฟ้า พระที่นั่งอนันต์ หัวลำโพง รอบนอกบริเวณที่มีการต่อสู้ การปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามผู้ก่อเหตุร้ายเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลหน่วยต่างๆ และมีตำรวจตระเวนชายแดนหน่วยหนึ่งร่วมสมทบจำนวน 30 คน

เวลาประมาณ 01.00 นาฬิกา

ผู้ประท้วงซึ่งมีอาวุธและมีระเบิดมือบุกเข้าโรงพยาบาลจุฬาฯ เพื่อยึดรถพยาบาลนำมาใช้ ตำรวจปทุมวันไปยึดคืน มีการต่อสู้กันขึ้น ผู้ประท้วงเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคน ถูกจับกุมตัว 44 คน การต่อสู้ขยายไปบริเวณหน้าโรงพยาบาลจุฬาฯ ผู้ประท้วงมีรถจักรยานยนต์และรถยนต์ที่ยึดได้เป็นพาหนะทำลายตู้ยามและป้อมไฟตลอดถนนพระราม 4 ผู้ประท้วงมีรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะชุมนุมกันอยู่ที่บริเวณวงเวียน 22 กรกฎา เวลาประมาณ 02.30 นาฬิกา การต่อสู้เริ่มสงบลง แต่ผู้ประท้วงยังคงชุมนุมกันอยู่ในบางจุดและมีการแอบยิงเจ้าหน้าที่ประปราย ผู้ประท้วงชุมนุมกันอยู่ที่ถนนแปลงนามวงเวียน 22 กรกฎา สามแยก และถนนเจริญกรุง ราว 03.00 นาฬิกา ผู้ประท้วงได้ยึดรถ 10 ล้อที่หน้าสัญญาณไฟหัวลำโพง ยิงต่อสู้กับทหารที่รักษาการณ์ที่หัวลำโพง ทหารยิงโต้ ผู้ประท้วงตาย 1 คน บาดเจ็บหลายคน จนกระทั่งประมาณ 03.30 นาฬิกา เหตุการณ์จึงได้สงบลง

เวลาประมาณ 08.00 นาฬิกาของวันที่ 5 กรกฎาคม 2517

มีการยิงต่อสู้ที่ถนนอิสรานุภาพ หน้าสถานีตำรวจพลับพลาไชย มีผู้ถูกยิงเสียชีวิต 2 คน เป็นชายหนึ่งคนหญิงหนึ่งคน ประมาณ 19.00 นาฬิกา ผู้ประท้วงจำนวนร้อยกว่าคนถือเหล็กและไม้เป็นอาวุธเดินมุ่งหน้าไปที่สถานีตำรวจจักรวรรดิ และทำลายสัญญาณไฟตามสี่แยก ผู้ประท้วงมีเพิ่มมากขึ้นเป็น 300 กว่าคน เกิดการยิงต่อสู้กันที่ใกล้โรงพักจักรวรรดิมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ราวๆ 20.30 นาฬิกา ผู้ประท้วงชุมนุมกันที่หน้าธนาคารเอเชีย สามแยก และหัวลำโพง มีการต่อสู้กับตำรวจ ผู้ประท้วงถูกยิงตาย 1 คน ประมาณ 20.40 นาฬิกา ตำรวจได้เคลื่อนย้ายเข้าไปในบริเวณย่านการค้าเจริญกรุงและเยาวราชและเข้าคุมตรอกซอกซอยไว้ทั้งหมด ผู้ประท้วงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่อย่างประปราย โดยการซุ่มยิงและใช้ระเบิดขวด และใช้วิธีการขี่จักรยานยนต์และรถยนต์ก่อกวนไปในที่ต่างๆ ทั่วทั้งพระนครธนบุรี ในเวลาประมาณ 22.15 นาฬิกา ผู้ประท้วงพยายามที่จะเข้าปล้นร้านปืนที่วังบูรพาแต่ได้รับการต่อต้านจากตำรวจและประชาชนอาสาสมัครที่รักษาการณ์อย่างเข้มงวด ผู้ประท้วงใช้จักรยานยนต์วนเวียนอยู่หลายครั้งตลอดทั้งคืน แต่ไม่สำเร็จ

ในตอนกลางวันของวันที่ 6 กรกฎาคม 2517

ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย, สหพันธ์นักศึกษาเสรี และ ปช.ปช. ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันฉบับหนึ่ง แสดงความไม่เห็นด้วยกับวิธีการปราบปรามอันรุนแรงของรัฐบาลและเร่งให้มีการสอบสวนอย่างรีบด่วน เวลาประมาณ 21.30 นาฬิกา มีวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งขว้างระเบิดที่ถนนนครราชสีมา ใกล้สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แต่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ ตำรวจได้ไปสอบสวน แต่กลุ่มวัยรุ่นได้พากันหลบหนีไปก่อนแล้ว ในเวลาประมาณ 21.55 นาฬิกาได้มีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดที่บริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพง ตำรวจได้เข้าเคลียร์พื้นที่ ได้เกิดปะทะยิงต่อสู้กับผู้ประท้วงขึ้น ตำรวจรถไฟถูกยิงบาดเจ็บ 1 นาย และมีประชาชนตาย 1 คน ขณะเดียวกันกำลังตำรวจอีกส่วนหนึ่งได้เข้าตรวจค้นภายในโรงแรมสเตชั่น เพราะเสียงปืนครั้งแรกได้ดังมาจากดาดฟ้าของโรงแรมนี้ แต่ผลการตรวจค้นยังไม่ได้รับรายงาน จากนั้นจนถึงเวลาประมาณ 03.00 นาฬิกา แม้จะยังคงมีการปะทะกัน แต่ก็ไม่มีอะไรรุนแรงนัก จนกระทั่งยุติลงในที่สุด

รวมผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์กว่า 20 คน บาดเจ็บ 120 คน

อ่านเพิ่มเติม

หนังสือ “กบฏจีนจน บนถนนพลับพลาไชย” แต่งโดยสิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ (สำนักพิมพ์มติชน 2555)

“สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์” ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ ประโยคหนึ่งว่า

“จลาจลพลับพลาไชยเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสังคมไทยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516”
และส่วนหนึ่งของบทสรุป ระบุว่า
“คำอธิบายกระแสหลักเกี่ยวกับจลาจลพลับพลาไชยนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธ์จีนในไทยที่รับรู้กันแต่เรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์จีนระดับนำหรือเจ้าสัวที่สามารถผสานตัวเข้ากับชนชั้นนำไทยและกลืนกลายเข้ากับสังคมไทยได้อย่างแนบเนียน ทว่าเรากลับไม่มีความรู้และไม่เข้าใจคลื่นมหาสามัญชนจีนจำนวนมากซึ่งเป็นเลือดเนื้อส่วนสำคัญของสังคมจีนในไทยอันเป็นเนื้อเยื่อที่แยกไม่ออกจากสังคมไทย ขณะเดียวกันสังคมไทยเองก็ไม่สามารถเข้าใจอะไรที่แตกต่างออกไปจากตนได้ อาทิ การจะทำความเข้าใจกลุ่มชาติพันธุ์จีนในสังคมไทยก็จะต้องทำผ่านโครงเรื่อง “คนจีนเสื่อผืนหมอนใบใต้พระบรมโพธิสมภาร” ที่อิงกับกระบวนทัศน์กลืนกลายว่า พวกเขากลายเป็นไทยกันหมดแล้ว เรื่องราวที่แตกหักขัดแย้งกับโครงเรื่องดังกล่าวจึงไม่มีที่ทางอยู่ในความทรงจำเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์จีนในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์จลาจลพลับพลาไชยซึ่งเป็นเรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์จีนระดับล่างที่เคลื่อนไหวทางการเมืองโดยใช้ความรุนแรงต่อต้านรัฐและสังคมไทยแล้วยิ่งกลายเป็นเรื่องต้องห้าม”