เครื่องเคียงข้างจอ/กาลครั้งนั้นของฉันกับในหลวงรัชกาลที่ ๙

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

กาลครั้งนั้นของฉันกับในหลวงรัชกาลที่ ๙

ความรู้สึกในวันที่ 13 ตุลาคม เมื่อปีที่แล้ว ยังคงกรุ่นอยู่ในความรู้สึกของคนไทยทั้งหลาย เป็นวันที่เราคนไทยรู้สึกถึงความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ได้เสด็จสวรรคตในบ่ายวันนั้น ในเวลาประมาณ 15.52 นาฬิกา ก่อนหน้านั้นหนึ่งวันมีข่าวไม่สู้ดีแพร่สู่การรับรู้ของประชาชน และเมื่อเราผ่านวันที่ 12 ตุลาคมไปได้ เราก็หวังใจว่าพระองค์ท่านจะยังอยู่กับเราไปอีกนาน

เสียงสวดมนต์ถวายพระพรดังก้องเข้าไปในความรู้สึก ณ โรงพยาบาลศิริราชในวันนั้น พสกนิกรหลั่งไหลมาเพื่อถวายกำลังใจให้กับพระองค์ท่าน แต่ธรรมชาติคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่สุด ไม่มีใครหนีความเป็นธรรมชาติไปได้ ไม่ว่าจะสูงศักดิ์หรือต่ำต้อยแค่ไหน

เมื่อชาวไทยได้รับรู้อย่างเป็นทางการจากการประกาศของคณะรัฐบาล โดยท่านนายกรัฐมนตรี เราก็ตระหนักว่าพระองค์ท่านจากเราไปจริงๆ แล้ว

จากวันนั้นมาถึงวันนี้ 1 ปีกับความรู้สึกที่คลายตัวลงบ้าง ยอมรับได้มากขึ้น ทำใจได้แข็งแรงดี และทุกสิ่งยังต้องดำเนินต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่จะยังคงอยู่ในหัวใจของพวกเราคือพระองค์ท่าน และสิ่งอันสุดวิเศษที่พระองค์ท่านได้พระราชทานแก่ประเทศไทยตลอดการครองราชย์ 70 ปีของพระองค์ท่าน

เชื่อว่าคนไทยทุกคนจะต้องมีความรู้สึกผูกพันกับพระองค์ท่าน ในแง่มุมต่างๆ กัน มากน้อยเพียงไรเป็นไปตามประสบการณ์ร่วมและความรู้สึกที่มีต่อพระองค์ท่าน

ในโอกาสนี้ บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด จึงได้จัดทำรายการพิเศษเพื่อร่วมถวายความอาลัย และเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน ในชื่อรายการที่ว่า “กาลครั้งนั้นของฉันกับในหลวงรัชกาลที่ ๙” ซึ่งจะออกอากาศทางสถานีช่อง 7

รายการนี้มีทั้งหมด 6 ตอน ออกอากาศในเวลาแตกต่างกัน 3 เวลา ตอนแรกจะได้ชมในวันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม เวลา 15.45 น. ตอนที่ 2 จะได้ชมในวันจันทร์เวลา 23.10 น. ตอนที่ 3 จะได้ชมในวันอังคารเวลา 22.40 น. และจะเวียนเวลาไปอย่างนี้จนครอบ 6 ตอนในวันอังคารที่ 23 ตุลาคม

ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า “กาลครั้งนั้นของฉันกับในหลวงรัชกาลที่ ๙” ผู้มาร่วมรายการจึงจะมาบอกเล่าถึงเรื่องราวของตนเองที่เกี่ยวเนื่องกับพระองค์ท่าน รายการตอนหนึ่งจะมีผู้นำเรื่องราวมาเล่า 3-4 คน บางเนื้อหาเป็นการสัมภาษณ์ในรายการ

บางเรื่องเป็นภาพยนตร์สั้น รวมทั้งถ่ายทำกันนอกสถานที่

สําหรับรายการตอนแรก ออกอากาศวันเสาร์ที่ 14 เริ่มต้นด้วยภาพการรวมใจขับร้องหมู่ของนักแสดงนักร้องผู้ประกาศข่าวพิธีกรและแขกรับเชิญร่วม 100 คน ในบทเพลง “พลังแผ่นดิน” แต่งโดย คุณพิไลวรรณ บุญล้น ซึ่งได้แต่งไว้หลังการเสด็จสวรรคต วันนี้ในโอกาสครบ 1 ปีของการจากไปของพระองค์ท่าน เราจึงได้นำมานำเสนออีกครั้ง

ผู้ร่วมรายการที่มาถ่ายทอดเรื่องราวประทับใจ เริ่มด้วย มล.ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี ผู้ได้มีโอกาสถวายงานใกล้ชิด มาเล่าถึงความประทับใจที่ครั้งหนึ่งได้ถวายภาพประกอบเพลงที่นำพระบรมฉายาลักษณ์คู่ของทั้งสองพระองค์มาจัดทำโดยมีเพลง “เหมือนเคย” ประกอบภาพเหล่านั้น ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงประทับใจ คุณหญิงต้นเล่าว่า ได้เห็นถึงความรักของทั้งสองพระองค์ที่มีต่อกัน และขยายไปสู่ความรักอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ท่านมีต่อพสกนิกรชาวไทยทุกคน

ในรายการได้ คุณต้อย-เศรษฐา เจ้าของเสียงร้องมาร้องสดๆ ในรายการ คุณต้อยบอกว่าเพลงนี้ร้องยากเพราะเปลี่ยนคีย์ขึ้นเรื่อยๆ และตนค่อนข้างเจ็บคอ แต่ด้วยโอกาสพิเศษที่จะร่วมถวายความอาลัยครั้งนี้ คุณต้อยก็ยินดีมาร่วมรายการ

แขกคนที่ 2 ชื่อ คุณศรีวิชัย ทรงสุวรรณ ที่มาเล่าให้ฟังว่า ที่เขามีทุกวันนี้ได้เพราะ “ในหลวงมีรับสั่งให้เรียน” ชีวิตของคุณศรีวิชัยเป็นตัวอย่างที่วิเศษของคนที่พัฒนาตนเองจากการหาความรู้ ซึ่งเริ่มต้นจากการจบ ป.4 มีอาชีพขับรถ วันหนึ่งได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ตอนอายุ 27-28 พระองค์ท่านทรงเมตตารับสั่งว่าให้ไปเรียน และนั่นคือจุดเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่ของเขา เรื่องราวจะประทับใจเพียงใด ต้องชมครับ

แขกคนสุดท้ายของตอนแรก ชื่อ คุณดลนภา กลัดบุปผา เธอจะหาโอกาสเฝ้าฯ รับเสด็จการเสด็จพระราชดำเนินของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เมื่อครั้งยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่เสมอ ต่อเมื่อพระองค์ท่านสวรรคต คุณดลนภาเธอก็เพียรไปเฝ้าฯ โดยเข้ากราบพระบรมศพเกือบทุกวัน หากนับเวลาถึงวันที่บันทึกรายการ ก็มากกว่า 250 วัน บางวันมากกว่า 1 รอบก็มี

เราติดตามเส้นทางการเดินทางเพื่อมาเข้าเฝ้าฯ ของเธอ พร้อมการเล่าถึงเรื่องราวที่ผูกพันกับพระองค์ท่านโดยมีน้ำตาปริ่มอยู่ในดวงตาด้วยความจงรักภักดี

รายการตอนที่ 2 ออกอากาศในวันจันทร์ที่ 16 เริ่มประเดิมด้วย คุณเหมี่ยว-ปวันรัตน์ นาคสุริยะ ผู้ซึ่งตั้งใจวาดภาพสีน้ำ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ มาตลอด 3-4 ปี

“แรกๆ เราไม่กล้าวาด คนสมัยพี่ได้รับการบอกเล่าว่าพระองค์ท่านอยู่เบื้องสูง เลยไม่กล้าวาด กลัวบิดเบี้ยวไม่เหมือน เลยไม่วาด”

ต่อเมื่อวันที่พระองค์ท่านเสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในโอกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ได้เห็นความจงรักภักดีของประชาชนที่ใส่เสื้อเหลืองกันเต็มถนนราชดำเนินนอกพร้อมเปล่งเสียงทรงพระเจริญแล้ว เกิดปีติที่อยากจะวาดภาพพระองค์ท่านเสียเหลือเกิน

อะไรทำให้เกิดภาพแรกของการวาดในหลวงของคุณเหมี่ยวเกิดขึ้นได้ ต้องไปฟังในรายการ จากภาพแรกที่ว่านั้น ตอนนี้ก็มีมากร่วม 200 ภาพแล้ว และในรายการคุณเหมี่ยวได้วาดภาพพระองค์ท่านแบบสดๆ ประกอบบทเพลง “รูปที่มีทุกบ้าน” ให้เราชมด้วย

ต่อด้วยเรื่องราวของ คุณบัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ ผู้ใช้หลักการทำงานกับคนที่ได้จากพระองค์ท่านมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต และการทำงานของตนที่ต้องยุ่งเกี่ยวกับคนทั้งที่เป็นลูกค้า และลูกน้อง น่าฟังอย่างมาก

ปิดท้ายด้วยเรื่องราวของ นพ.บุญยงค์ วงศ์รักมิตร คุณหมอแห่งโรงพยาบาลที่อยู่ห่างไกลของ จ.น่าน คุณหมอได้มีโอกาสสร้างโรงพยาบาลเพื่อดูแลประชาชนที่เจ็บป่วยไข้ในพื้นที่แถบนั้น ก็จากทุนทรัพย์ที่พระองค์ท่านพระราชทานมาให้

ตอนที่ 3 ออกอากาศวันอังคารที่ 17 เป็นตอนที่มีความยาวมากกว่าตอนอื่นๆ เพราะมีเรื่องราวน่าประทับใจมาก เริ่มจากการนำเสนอภาพยนตร์สั้นจำลองชีวิตของนักชกโอลิมปิก สมรักษ์ คำสิงห์ เราคงจำภาพที่เขาชูพระบรมฉายาลักษณ์บนเวทีโอลิมปิกเมื่อได้รับการคล้องเหรียญทองได้

ในภาพยนตร์นั้นจะเล่าถึงความผูกพันของเขาที่มีต่อพระองค์ท่านมาตั้งแต่ยังเด็ก แม้แต่การได้พบพระพักตร์ในธนบัตรก็ถือว่าเป็นความโชคดีแล้ว

สำหรับแขกในรายการ ที่มีเรื่องราวความผูกพันกับพระองค์ท่าน มาจากการมองว่าในหลวงเป็นพระองค์เดียวที่จะช่วยพวกเขาได้ จึงลงมือเขียน “จดหมายถวายฎีกา” และพวกเขาก็ได้รับพระเมตตาจริงๆ และนั่นคือ แสงสว่างที่ทำให้พวกเขามีชีวิตมาถึงวันนี้ได้ พบกับเรื่องราวของ คุณนที บุญยสุขานนท์, คุณณัฐธิดา สมงาม และ คุณอัษฏิ์ฏิภัฏ ผ่องพักตร์ ได้

ปิดท้ายตอนนี้ด้วยเรื่องราวของ คุณวิจิตร ไชยวัณณ์ ช่างภาพไทยคนเดียวที่ได้ถ่ายภาพอย่างใกล้ชิดครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เสด็จเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เมื่อปี 2503 ในรายการเราจะได้เห็นภาพแปลกตาจากฝีมือการถ่ายภาพของคุณวิจิตรที่เราไม่เคยได้เห็นมาก่อน

นี่คือเรื่องราวกาลครั้งนั้นของฉัน ใน 3 ตอนแรก ที่ผูกพันกับในหลวงรัชกาลที่ ๙ ส่วนอีก 3 ตอนจะขอเล่าให้ฟังในฉบับหน้านะครับ

อยากให้ทุกท่านได้ชม และร่วมประทับใจไปกับเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิตของพวกเขาและเธอกัน และนั่นคือคำตอบว่า “ทำไมเราถึงรักพระองค์ท่าน”