ฉัตรสุมาลย์ : กว่าจะเป็นสารนาถที่เราเห็น (2)

กําลังศึกษาประวัติความเป็นมาของสารนาถกันนะคะ

ผู้เขียนเองไปสารนาถหลายครั้งมากจนไม่ได้จำแล้วว่าครั้งที่เท่าไร ไม่ได้รู้ซึ้งถึงประวัติความเป็นมาที่ทับถมกันเป็นชั้นๆ ในดินแดนที่เรียกว่าสารนาถ

เมื่อเริ่มไปขุดค้นงานในส่วนนี้ ที่เรียกว่าขุดค้น ก็ขุดค้นจริงๆ เพราะเป็นงานโบราณคดีที่เขานำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจ ทำให้เกิดความประทับใจที่ต้องเอามาเผื่อแผ่ท่านผู้อ่าน

หลายท่านก็ได้ไปเยือนสารนาถแล้ว อย่างน้อยก็ไปกับทัวร์อินเดียนั่นแหละ

แต่ถ้ามีข้อมูลส่วนนี้เพิ่มเติมก็จะเกิดความซาบซึ้งในสิ่งที่เห็นที่สัมผัสมากขึ้น

คราวนี้เล่ามาถึงสมัยของพระเจ้าหรรษา ในราชวงศ์วัฒนา กษัตริย์ในราชวงศ์นี้มักมีสร้อยต่อท้ายว่า สุคต เป็นความหมายว่า นับถือพุทธศาสนา

พระเจ้าหรรษาที่กำลังพูดถึงนี้ เป็นพระโอรสของพระเจ้าประภากรวัฒนา และเป็นพระอนุชาของพระเจ้าราชยะวัฒนา

ในสมัยของพระองค์ท่านนอกจากจะได้สร้างพุทธวิหารแล้วก็ยังได้สร้างวัดที่นาลันทาเป็นเนื้อสัมริด เป็นผู้สร้างนาลันทามหาวิทยาลัยด้วย ทรงสร้างพระสถูปตามแนวฝั่งแม่น้ำคงคาจำนวนนับพัน

ดร.อัคครวัล นักวิชาการของอินเดีย ยืนยันว่า พระองค์เป็นผู้บูรณปฏิสังขรณ์สารนาถอย่างมาก หลวงจีนฉวนซัง หรือที่ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระถังซำจั๋งนั้น ได้มาเยือนสารนาถในรัชสมัยของพระเจ้าหรรษาองค์นี้ และได้บันทึกว่า เห็นสังฆารามถึง 30 แห่ง มีพระภิกษุสังกัดนิกายเถรวาทสมิติยะถึง 300 รูป

ได้เห็นพระสถูปที่สร้างในรัชสมัยขงอพระเจ้าอโศกมหาราชสูงตระหง่านถึง 100 ฟุต อยู่ทางด้านตะวันตกของแม่น้ำวรุณ ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองสารนาถ

นอกจากนั้น ก็ยังได้เห็นพระพุทธรูปโลหะขนาดใหญ่อยู่ในปางธรรมจักกัปวัตนะ อยู่ในพระวิหารมูลคันธกุฏี

สมัยต่อมาจากนั้น เป็นสมัยที่พระเจ้ายโสวรมันแห่งคันโนชขึ้นครองราชย์ แม้ว่าจะนับถือศาสนาพราหมณ์ แต่ก็ไม่ทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อพุทธศาสนาเหมือนกับพระเจ้าปุษยมิตรแห่งราชวงศ์สุงคะ ใน ค.ศ.731 ยังมีการส่งธรรมทูตไปติดต่อกับกษัตริย์ที่นับถือพุทธในประเทศจีน

ในสมัยต่อมา เป็นกษัตริย์สามพระองค์ ของราชวงศ์อยุธะ คือพระเจ้าวัชรยุทธ อินทรยุทธ และจักรยุทธ ทั้งสามพระองค์นับถือพุทธ สมัยนั้น สารนาถอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าธรรมปาละ

ต่อมาพระเจ้านาคภัตตะ กษัตริย์องค์ที่สองของราชวงศ์ปรติหาระมีชัยเหนือพระเจ้าธรรมปาละ ได้ปกครองสารนาถ หลวงจีนซีซุงได้มาเยือนสารนาถในสมัยนี้ แม้ว่าราชวงศ์ปรติหาระไม่ได้นับถือพุทธ แต่หลวงจีนก็ยังได้เห็นมีพระวิหาร และสถูปจำนวนมาก ทั้งพระภิกษุและภิกษุณีในเมืองสารนาถ

ต่อมาในสมัยราชวงศ์ปาละ ราชวงศ์นี้นับถือพุทธ กษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์คือพระเจ้าโคปาล ในช่วงนี้สารนาถกลายเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนา ปรากฏในจารึกว่ามีการบูรณะทั้งธรรมราชิกาสถูปและธรรมจักรสถูป มีการสร้างพระวิหาร ที่ระบุสถานที่สำคัญทั้ง 8 แห่งในพุทธประวัติ และมูลคันธกุฏีวิหารก็สร้างขึ้นในสมัยนี้

ค.ศ.1026 เป็นปีที่แม่ทัพ มามูด คอสนี่ เข้ามาโจมตีพาราณสี และทำลายวัดวาอารามในสารนาถลงอย่างกว้างขวาง

ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 11 พระเจ้ามหิปาล กษัตริย์ในราชวงศ์ปาละอีกพระองค์หนึ่งที่เข้ามาฟื้นฟูสารนาถ จารึกจากสมัยการนะที่พบที่สารนาถระบุว่า สารนาถรู้จักกันนามของ สัทธรรมจักกัปวัตนะวิหาร

นอกจากนี้ยังมีจารึกที่กล่าวถึงพระนางมัมกะ พระมเหสีของพระเจ้าทเทศวร ซึ่งนับถือพุทธมหายาน ได้จัดทำพระคัมภีร์อัษฏสหัสริกะปรัชญาปารมิตาถวายพระภิกษุสงฆ์ที่สัทธรรมจักกัปวัตนะวิหาร

ต่อมาเป็นสมัยของราชวงศ์คหัทวาล ซึ่งปกครองพาราณสีและคันโนช กษัตริยพระองค์แรกของราชวงศ์คือ จันทรเทพ แต่องค์ที่มีชื่อเสียงคือ พระเจ้าโควินทจัทร ครองราชย์ในช่วง ค.ศ.1114-1154 ที่น่าสนใจคือพระนางกุมารเทวี มเหสีของพระองค์เป็นชาวพุทธที่มีศรัทธายิ่ง ได้สร้างสังฆารามขนาดใหญ่ที่สานารถ รู้จักกันในนามของธรรมจักรชินะวิหาร พระเจ้าโควินทจันทรเองก็สร้างกุศลขนาดใหญ่ มีศิลาจารึกมากกว่า 42 แห่งที่กล่าวถึงการสร้างกุศลของพระองค์

สังฆารามที่พระนางกุมารเทวีสร้างนี้มีขนาดใหญ่มาก จากตะวันออกไปตะวันตกกินเนื้อที่ 760 ฟุต มีการขุดอุโมงค์ใต้พื้นดินเพื่อให้เป็นที่พระภิกษุลงไปปฏิบัติวิปัสสนา มีพระพุทธรูปที่เป็นพระประธานขนาดใหญ่ ตรงกลางสังฆารามมีบ่อน้ำ และห้องอาบน้ำเพื่ออำนวยความสะดวกแก่พระสงฆ์

สำหรับที่มูลคันธกุฏีที่สร้างตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น พระนางได้สร้างระพุทธรูปไปประดิษฐานที่นั่น

เรื่องราวทั้งหมดที่นำมาเล่าเป็นตุเป็นตะนี้ เพราะพระนางให้จารึกลงในศิลา น่าสนใจว่า จารึกของพระนางกุมารเทวีที่ปรากฏที่สารนาถนี้ มีความยาวถึง 26 โศลก ได้ค้นพบโดย ดร.มาร์แชล ตรงจุดใกล้ๆ กับธัมเมกขสถูปใน ค.ศ.1908

จารึกของพระนางกุมารเทวีนี้ ถือว่าเป็นจารึกสำคัญและมีความยาวเป็นพิเศษ บันทึกด้วยอักษรนาครีโบราณ เนื้อหาอธิบายถึงการสร้างพระวิหารที่สารนาถ ถ้าจะเปรียบกับจารึกของพระเจ้าโควินทจันทร พระสวามี จารึกนี้น่าจะอยู่ในสมัยต้นคริสต์ศตวรรษที่ 12

ในตอนแรกเริ่มขอองจารึก มีการถวายสักการะแก่บรรพบุรุษต้นสายของทั้งพระนางเอองและพระราชสวามี สำหรับพระราชสวามีนั้น ถือว่าเป็นอวตารของพระศิวะเพื่อลงมาปกป้องเมืองพาราณสีจากการรุกรานของพวกมุสลิม

พระนางกุมารเทวีและพระขนิษฐาคือพระนางศังกรเทวีเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าเทวรักษิต โดยย่อ คือเสด็จปู่ของพระนางคือ พระเจ้ามัทนะเทพ

พระนางได้สร้างพระวิหารที่สารนาถ และได้ถวายถาดทองแดงที่จารึกคำสอนจากศรีธรรมจักรชินะ

ประเด็นสำคัญที่ปรากฏในจารึกของพระนางสรุปได้ 4 หัวข้อใหญ่ คือ

1.บรรพบุรุษของพระนางและของพระสวามี

2.ยืนยันว่าที่สารนาถนั้นมีพระพุทธรูปสำคัญที่เรียกว่า ธรรมจักรชินะ

3.พระพุทธรูปดังกล่าวประดิษฐานไว้ในพระวิหารตามพระนามนั้น เข้าใจว่าหมายถึงมูลคันธกุฏี

๔.ถาดทองแดงที่จารึกคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงที่พาราณสี

ถาดทองแดงที่ว่านี้ ยังหาไม่พบจนบัดนี้

บทบาทของพระนางกุมารเทวีในการสร้างสารนาถในสมัยของพระนางนี้

เราชาวไทยที่เดินทางไปสารนาถไม่เคยรับทราบเลย

เราอาจจะสรุป ว่า ถ้าพูดถึง ศิลปะที่สืบเนื่องกับสารนาถ ก็จะเป็นพระพุทธเจ้าปางแสดงปฐมเทศนา พระพุทธรูปที่งามที่สุดเวลานี้เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ที่สารนาถนั่นเอง

ถ้าพูดถึงสถานที่ที่พระพุทธองค์ประทับในพรรษาแรกก็คือที่มูลคันธกุฏีที่สารนาถ เวลานี้เหลือแต่เสามีความสูงประมาณ 18 ฟุต ที่คนไทยปิดทองกันเสียเปรอะไปหมด

ถ้าพูดถึงเสาพระเจ้าอโศกที่ว่ามีถึง 84,000 ต้นนั้น ต้นที่มีหัวเสาสมบูรณ์ที่สุด กล่าวคือ มีสิงห์หันหน้าออกทั้งสี่ทิศ ก็พบที่สารนาถ ใกล้กับพระสถูปนั้นเอง แม้ว่าตัวเสาจะหักเป็นท่อนๆ แต่ก็ยังเก็บเสานั้นไว้ในบริเวณใกล้เคียงให้เราได้ชมจนทุกวันนี้

เสาพระเจ้าอโศกนี้ ค้นพบ ค.ศ.1904 เสาพระเจ้าอโศกปัจจุบันเหลือเพียง 2 เมตร แต่เดิมควรจะสูง 12.25 เมตร ธัมมจักรที่เทินอยู่บนสิงห์ทั้งสี่นั้น หักเป็นชิ้นๆ แต่นักโบราณคดีได้รวบรวมมาประกอบแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ที่สารนาถ

สิงห์ทั้งสี่ตัวที่อยู่บนหัวเสานั้น แกะสลักจากหินก้อนเดียว ได้สัดส่วนงดงาม เฉพาะหัวเสานี้ เดิมมี สี่ส่วน ส่วนล่างสุดเป็นดอกบัวคว่ำ สูงขึ้นมาเป็นธัมมจักรสลับกับสัตว์ สี่ตัว มีช้าง วัว ม้า และสิงห์ ถัดขึ้นมาจึงเป็นสิงห์ 4 ตัว หันหน้าออกสี่ทิศ และเหนือสุดเป็นธรรมจักร มี 32 ซี่

เสาพระเจ้าอโศกที่ปรากฏให้เราเห็นในปัจจุบัน มีจารึก เก่าที่สุด คือ จารึกของพระเจ้าอโศก เป็นอักษรพราหมี มีข้อความที่พระเจ้าอโศกเตือนภิกษุและภิกษุณีไม่ให้สร้างความแตกแยกในสงฆ์ ผู้ที่ฝ่าฝืนให้ลงโทษโดยการนุ่งขาวและขับออกจากสังฆะ

จารึกที่สองเป็นสมัยกุษาณ จารึกในปีที่ 40 ของการครองราชย์ของพระเจ้าอัศวโฆษ ผู้ครองโกสัมพี และรวมพาราณสีและสารนาถ

จารึกที่สามเป็นสมัยต้นของราชวงค์คุปตะ กล่าวถึงพระภิกษุอาจารย์ในนิกายสัมมิติยะและวัตสีปุตรกะ

พระคาถา “เยธัมมา เหตุปปภวา เหตุเตสัง ตถาคโต อหะ.

เยสัญจโย นิโรโธ, เอวัง วาที มหาสมโณ”

จารึกที่ฐานพระพุทธรูปปางภูมิผัสสะ ก็พบที่สารนาถนี้ ในคาถานี้ ดูเหมือนจะต่างจากที่เราคุ้นในภาษาบาลีเล็กน้อย ตรงที่ทำตัวเอนไว้ เราจะคุ้นว่า เตสังเหตุง และไม่มีคำว่า อหะ ผิดถูกอย่างไรเดี๋ยวท่านที่รู้บาลีท่านคงช่วยเราได้

ข้อมูลเหล่านี้ คงจะช่วยให้เราได้ชื่นชมเมืองสารนาถได้ลึกซึ้งกว่าเดิมนะคะ