วิวาทะ ‘มาราปาตานี’ กับ “กองทัพภาคที่ 4” หลังพื้นที่การเมืองเปิด ที่จังหวัดชายแดนใต้

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

หลังจากตัวแทนกลุ่ม “มาราปาตานี หรือ MARA” แถลง 4 ข้อเรียกร้องถึงรัฐไทย โดยนักวิเคราะห์มองว่าเป็นการดิสเครดิตบทบาทกองทัพภาคที่ 4

จึงทำให้กองทัพภาคที่ 4 ต้องออกมาโต้อย่างรุนแรง

รายละเอียดวิวาทะดังกล่าวมีดังนี้

1.แถลงการณ์ของมาราปาตานี

นายสุกรี ฮารี หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข/สันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากฝ่ายมาราปาตานี อ่านแถลงการณ์เป็นภาษามลายู โดยมีนายอาบูฮาฟิส อัลฮากิม โฆษกกลุ่ม ทำหน้าที่ล่ามแปลเป็นภาษาอังกฤษ โดยเรียกร้องให้รัฐไทยหยุดสร้างความสับสนและความเข้าใจผิด มีสาระสำคัญ 4 ข้อคือ

1. การพูดคุยที่ดำเนินไปอยู่ในขณะนี้ ระหว่างมาราปาตานี และรัฐบาลไทย ยังคงเป็นระดับทางเทคนิค ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะทำงานร่วมการพูดคุยสันติสุข (JWG-PDP) ดังนั้น ข้อตกลงที่บรรลุก่อนหน้านี้จึงไม่ใช่ผลลัพธ์สุดท้าย

2. มาราปาตานีนั้นเปิดกว้างต่อความคิดเห็นและข้อแนะนำจากประชาชนภายใต้สิทธิกำหนดการปกครองด้วยตนเอง

3. เรามีความเชื่อมั่นในทีมพูดคุยสันติสุขของไทย ซึ่งได้รับมอบอำนาจมาจากนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเราก็เชื่อด้วยว่ามันเป็นกระบวนการทางการที่ถูกพัฒนาให้เป็นวาระแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม เราเป็นกังวลต่อคำแถลงการณ์และการกระทำบางประการของแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งขัดแย้งกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข

4. มาราปาตานีให้คำมั่นที่จะแก้ไขข้อขัดแย้งโดยการพูดุคยสันติสุขในปัจจุบัน (JWG-PDP) และเราต้องการที่จะเน้นย้ำว่า : 4.1 โครงการ “พาคนกลับบ้าน” 4.2 พื้นที่ปลอดภัย 14 แห่ง ซึ่งทางแม่ทัพภาคที่ 4 ได้ประกาศออกมาแล้ว โครงการทั้ง 2 ที่กล่าวมาข้างต้นไม่มีส่วนสัมพันธ์กับกระบวนการพูดคุยสันติสุขระหว่างมาราปาตานีและรัฐบาลไทยแต่อย่างใด

(โปรดดู http://www.bbc.com/thai/thailand-43506026)

2.การตอบโต้ของกองทัพภาคที่ 4

แม่ทัพภาคที่ 4 ตอบโต้กรณีที่กลุ่มมาราปาตานีตั้งข้อสังเกตว่าโครงการพาคนกลับบ้าน และการประกาศเขตพื้นที่ปลอดภัย 14 เขต เป็นเพียงการจัดฉาก โดยระบุว่า เป็นการสะท้อนความเห็นของผู้เสียผลประโยชน์ที่กำลังสูญเสียมวลชน

พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 เปิดเผยว่า ไม่กังวลต่อการแถลงข่าวของมาราปาตานี เพราะการดำเนินงานในโครงการพาคนกลับบ้าน เดินมาถูกทางเเล้ว แต่อาจทำให้ผู้เสียผลประโยชน์ที่เริ่มสูญเสียมวลชนอาจเกิดความไม่พอใจ

เช่นเดียวกับการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย 14 เขต ก็เป็นหน้าที่ของกองทัพภาคที่ 4 ที่ต้องดูแลพื้นที่อยู่เเล้ว พร้อมเน้นย้ำว่าการดำเนินโครงการของรัฐไม่ใช่การจัดฉาก เพราะไม่ใช่การแสดงละคร แต่เป็นความพยายามแก้ปัญหาของพื้นที่ และย้ำว่าไม่เคยมีความขัดแย้งกับคณะพูดคุยสันติสุข เนื่องจากทราบดีว่าเป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งในฐานะผู้ปฏิบัติงานก็ต้องทำตามอยู่แล้ว

ส่วนการตั้ง safety house หรือศูนย์ปฏิบัติงานร่วมระหว่างรัฐไทยกับมาราปาตานีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากมีตัวแทนของมาราปาตานีมาร่วมปฏิบัติงานในพื้นที่ก็พร้อมจะดูแลเหมือนคนอื่นๆ แต่ผู้ที่กระทำความผิด ก็ต้องดำเนินการไปตามกระบวนการยุติธรรม

(โปรดดู http://news.thaipbs.or.th/content/271205)

ข้อสังเกตวิวาทะทั้งสองมีดังนี้

จากวิวาทะทั้งสองนั้นเป็นการช่วงชิงมวลชนหรือพื้นที่ทางการเมืองที่เริ่มเปิดพื้นที่มากขึ้นหลังมีการจดทะเบียนพรรคการเมืองในการเมืองระดับชาติ

ในวันที่ 23 มีนาคม 2561 นั้นเป็นวันศุกร์ ซึ่งวันสำคัญทางศาสนาของมุสลิมซึ่งมาราปาตานีเลือกออกแถลงการณ์สื่อสารกับมวลชนในขณะที่แถลงการณ์ครั้งนี้มีการนำโองการในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานวางไว้ข้างบนข้อเรียกร้องสี่ข้อซึ่งแตกต่างจากทุกแถลงการณ์

กล่าวคือ โองการที่ 60-61 ซูเราะห์อัลอันฟาล นั้นเป็นโองการเรื่องการทำญีฮาด (สงครามศาสนาในสมัยศาสนทูตมุฮัมมัด) ซึ่งมีใจความว่า

“และพวกเจ้าจงเตรียมไว้สำหรับ (ป้องกัน) พวกเขาสิ่งที่พวกเจ้าสามารถ อันได้แก่ กำลังอย่างหนึ่งอย่างใด และการผูกม้าไว้ โดยที่พวกเจ้าจะทำให้ศัตรูของอัลลอฮฺ และศัตรูของพวกเจ้าหวั่นเกรงด้วยสิ่งนั้น และพวกอื่นๆ อีก อื่นจากพวกเขา ซึ่งพวกเจ้ายังไม่รู้จักพวกเขา อัลลอฮฺทรงรู้จักพวกเขาดี และสิ่งที่พวกเขาบริจาคในทางของอัลลอฮฺนั้นไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดก็ตาม สิ่งนั้นจะถูกตอบแทนแก่พวกเจ้าโดยครบถ้วนโดยที่พวกเจ้าจะไม่ถูกอธรรม และหากพวกเขาโอนอ่อนมาเพื่อการประนีประนอมแล้ว เจ้าก็จงโอนอ่อนตามเพื่อการนั้นด้วย และจงมอบหมายแต่อัลลอฮฺเถิด แท้จริงนั้นพระองค์คือผู้ทรงได้ยินทรงรอบรู้”

ในโองการนี้ตามทัศนะนักอรรถาธิบายอัลกุรอานคือโองการญีฮาดหนึ่งในหลายๆ โองการในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานซึ่งหมายถึงพร้อมสู้ทุกวิถีทางไม่ว่าเจรจาพูดคุยจะประสบความสำเร็จหรือไม่

คำสำคัญในโองการนี้คือ พวกเจ้าจงเตรียมไว้สำหรับ (ป้องกัน) พวกเขาสิ่งที่พวกเจ้าสามารถ อันได้แก่ กำลังอย่างหนึ่งอย่างใด และการผูกม้าไว้ กับคำว่า และหากพวกเขาโอนอ่อนมาเพื่อการประนีประนอมแล้ว เจ้าก็จงโอนอ่อนตามเพื่อการนั้นด้วย และจงมอบหมายแต่อัลลอฮฺเถิด แท้จริงนั้นพระองค์คือผู้ทรงได้ยินทรงรอบรู้” คำว่าพวกเจ้า เขาหมายถึงมาราปาตานี ในขณะที่ศัตรูเขาหมายถึงรัฐไทย

นักอรรถาธิบายร่วมสมัยอย่างชัยค์ ดร.Yusuf al-Quradhawi ได้อธิบายว่าโองการนี้พูดถึงภาวะสงครามการต่อสู้ในอดีต สมัยศาสนทูตมุฮัมมัด กับศัตรูผู้รุกรานท่าน ได้ใช้ม้าอย่างดีในการทำสงคราม ในขณะปัจจุบัน การต่อสู้ที่ต้องใช้อาวุธทันสมัยต่างๆ ไม่ว่าเครื่องบินรบ รถถัง จรวด เช่นกันหากจำเป็นต้องทำสงคราม หรืออื่นๆ มุสลิมก็ต้องเตรียมความพร้อมทุกๆ ด้านไม่ว่าด้านกายภาพ วิชาการและจิตวิญญาณที่เหมาะสมกับทุกยุคสมัยและสถานการณ์ ในขณะเดียวกันหากมีการที่พูดคุยเจรจาประนีประนอมอย่างปัจจุบันก็สามารถทำได้

(โปรดดูสรุปใจความอรรถาธิบายอัลกุรอานhttp://www.aljazeera.net/programs/religionandlife/2004/6/3/%D8%A7%D9%84%D9%82%D9%88%D8%A9-%D9%81%D9%8A-%D8%A7%D9%84%D8%A5%D8%B3%D9%84%D8%A7%D9%85)

แถลงการณ์ของมาราปาตานี สอดรับอย่างมากกับการออกมาเคลื่อนไหวในวันเดียวกันที่มัสยิดกลางปัตตานี ของเครือข่ายผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (อันเป็นมวลชนหลักในจังหวัดชายแดนภาคใต้) ร้อง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้กองทัพภาคที่ 4 หยุดคุกคามโรงเรียนเอกชนที่ชายแดนใต้พร้อมทั้งขู่ที่จะนำมวลชนหันหลังกับรัฐ (โปรดดู https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1719199468174598&id=824606444300576)

ก่อนหน้านี้ 2 มีนาคม เครือข่ายเฉพาะกิจประชาสังคม จชต. ซึ่งเป็นที่รวมของเครือภาคประชาชนและนักวิชาการ จชต. ได้ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับกองทัพภาคที่สี่ปัจจุบันในการดำเนินนโยบายที่ไม่เอื้อต่อบรรยากาศสร้างภาวะแวดล้อมกระบวนพูดคุยสันติสุขหรือสันติภาพเช่กัน (โปรดดู https://www.citizenthaipbs.net/node/22648)

ด้าน ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์จังหวัดชายเเดนภาคใต้ กล่าวว่า แนวโนบายของกองทัพภาคที่ 4 ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคในการพูดคุยสันติสุข แต่ในระดับพื้นที่ เจ้าหน้าที่บางคนอาจไม่ปฏิบัติตามนโยบายที่วางไว้ จึงอาจส่งผลต่อบรรยากาศการพูดคุยอยู่บ้าง

และมองว่าการออกมาเปิดเผยตัวของกลุ่มบีอาร์เอ็นในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายมาราปาตานีครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าบีอาร์เอ็นต้องการแสดงบทบาทในฐานะองค์กรหลักในการพูดคุย ซึ่งถือเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้เกิดความชัดเจน และบีอาร์เอ็นอาจต้องการใช้โอกาสนี้สื่อสารไปยังสมาชิกของบีอาร์เอ็นในพื้นที่ รวมถึงกลุ่มอื่นๆ ที่ยังไม่เข้าร่วม

(โปรดดู http://news.thaipbs.or.th/content/271205)

หลังเปิดการจดทะเบียนพรรคการเมือง พื้นที่ทางการเมืองในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ (จชต.) เริ่มเปิด

มีอย่างน้อยสองพรรคใหม่ที่เริ่มเปิดพื้นที่ทางการเมืองในการแก้ปัญหา จชต. คือ พรรคประชาชาติและอนาคตใหม่

พรรคประชาชาติ หรือภาษาอาหรับคือพรรค “อุมมะห์” นั้น เป็นการรวมกันของกลุ่มวาดะห์ ซึ่งมีอดีต ส.ส. ผู้สมัคร ส.ส. และอดีตผู้บริหาร ศอ.บต. บางคน (ทวี สอดส่อง) กำลังเปิดพื้นที่ทางการเมือง มีเป้าหมายหลักไว้ 15 คน จากผู้สมัคร ส.ส. ใน 6 จังหวัด คือ จ.สตูล 2 คน จ.นราธิวาส 4 คน จ.ปัตตานี 4 คน และ จ.ยะลา 3 คน และเขต 8 จ.สงขลา 1 คน และเขต 3 จ.พัทลุง 1 คน

ในขณะที่นักการเมืองรุ่นใหม่อย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็ได้อาสาแก้ปัญหาใต้ด้วยการเสนอนโยบายที่จะไม่อุดหนุนศาสนา ซึ่งมีประชาสังคม จชต. นักกิจกรรมสังคมและนักวิชาการรุ่นใหม่ที่ทำงานในพื้นที่ เริ่มติดตามพรรคนี้ (โปรดดู https://prachatai.com/journal/2018/03/75905) แต่ก็ถูกวิจารณ์อย่างรุนแรง

จนต้องรีบชี้แจงผ่านเฟซส่วนตัวว่า “ความเห็นของผมเรื่องศาสนาที่ได้รับการพูดถึงอยู่ตอนนี้ ผมขอชี้แจงว่าสิ่งที่ผมแสดงความคิดเห็นไว้ถูกตัดออกมาจากบริบทของมัน การแสดงความคิดเห็นของผมในเรื่องนี้ กระทำไว้นานแล้ว และก่อนการเกิดขึ้นของพรรคเสียอีก ดังนั้น มันจึงเป็นการแสดงความคิดเห็นในฐานะส่วนตัว ไม่ใช่เพิ่งแสดงความคิดเห็นเร็วๆ นี้ ซึ่งอาจทำให้เข้าใจว่าเป็นนโยบายพรรคได้

1. อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวผมเห็นว่า สังคมไทยควรเป็นสังคมที่ไม่นำเรื่องศาสนาซึ่งเป็นสิทธิและความเชื่อส่วนบุคคล มาสร้างความเกลียดชังซึ่งกันและกัน ผมเข้าใจความคับข้องใจของทั้งชาวพุทธและชาวมุสลิมที่ต่างตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้ง

2. ดังนั้น จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดในกรณีปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ กระบวนการพูดคุยสันติภาพที่มีความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมทุกภาคส่วน เพื่อยุติความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง

3. การกระจายอำนาจให้ประชาชนมีสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองมากขึ้นในทุกภูมิภาค ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง จะเป็นกุญแจสำคัญในการลดปัญหาความขัดแย้งและเพิ่มศักยภาพของสังคมไทยเพื่อสร้างประเทศไทยที่มีอนาคต

4. หลังจากนี้ ทันทีที่กฎหมายเปิดโอกาส เราจะลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับผู้ได้รับผลกระทบจริง และจะรับฟังว่าพวกเขามีความเห็นในการจัดการความขัดแย้งอย่างไร

5. อันดับสุดท้าย ผมขอโทษแทนสมาชิกพรรคของเราบางท่านที่ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอบางประการเกี่ยวกับการแก้ปัญหานี้ ซึ่งหลายท่านไม่เห็นด้วย เราน้อมรับข้อวิจารณ์ทั้งหมด และจะทำงานอย่างหนักในประเด็นนี้ต่อไป

ในภาพรวมแล้วพื้นที่ทางการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มเปิดซึ่งผู้เขียนอยากให้คนในสังคมไทยโดยเฉพาะรัฐและกองทัพควรช่วยกันหนุนเสริมให้ทุกภาคส่วนมีพื้นที่ทางการเมือง (Political Space) ไม่ว่าประชาชน ประชาสังคม คนเห็นต่างจากรัฐ พรรคการเมือง นักการเมืองรุ่นใหม่รุ่นเก่า นักวิชาการ นักการศาสนา สตรีและเยาวชน

การสร้างภาวะแวดล้อมในการให้พื้นที่ทางการเมือง (Political Space) ได้ขยับขยายนำเสนอ ถกแถลง หรือแข่งขันกันภายใต้นโยบายที่สร้างสรรค์ไม่เพียงนำพาสังคมไทยหลุดพ้นจากปากเหว ก้าวมาสู่เวทีประชาธิปไตยที่มั่นคงและสง่างามในเวทีนานาชาติเท่านั้นแต่จะช่วยแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืนมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน