ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 มีนาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
ผู้เขียน | ฉมณ์คิด แผนสมบูรณ์ |
เผยแพร่ |
อันธรรมดาสรรพสัตว์ในสากลโลกทั้งหลายทั้งปวง
เกิดวันใด วันเกิดนั้นย่อมขยับเลื่อนไม่ได้
ตายวันใด วันตายนั้นย่อมขยับเลื่อนไม่ได้
การนับวัน เดือน ปี ในอดีตกาลนั้นกำหนดนับตามปฏิทินที่เป็นจันทรคติ คือยึดหลักการโคจรของดวงจันทร์ซึ่งมีปรากฏข้างขึ้น ข้างแรม ที่ชัดเจนตามธรรมชาติ
ซึ่งพระพุทธศาสนาก็ได้ยึดปฏิทินทางจันทรคติมากำหนดวันสำคัญต่างๆ เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันตักบาตรเทโวโรหณะ หรือแม้แต่การกำหนดฤดูกาลทอดกฐิน ซึ่งล้วนแต่ยึดปฏิทินทางจันทรคติ ซึ่งเป็นของเก่ามาตั้งแต่ดั้งเดิม
การนับกาลเวลาตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งนักปราชญ์โบราณได้แบ่งฤดูกาลของโลกเอาไว้ 3 ฤดู ได้แก่ คิมหันตฤดู วัสสานฤดู หรือวสันตฤดูก็เรียก และเหมันตฤดู
คิมหันตฤดู กำหนดนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 4 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8
วัสสานฤดู กำหนดนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
เหมันตฤดู กำหนดนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4
เมื่อรู้ระยะเวลาการแบ่งฤดูกาลทางธรรมชาติให้มนุษย์ได้จดจำวัน เดือน ปี ได้ถูกต้องอย่างไม่มีการคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงนี้
การกำหนดเดือนของไทยในอดีตกาลถือเอาหลักปฏิทินทางจันทรคติ ตามแบบชนชาวชมพูทวีป เพราะอิทธิพลพระพุทธศาสนาที่นำวัฒนธรรมจากชมพูทวีปมาเผยแผ่ตั้งแต่พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงส่งพระสาวกมาประกาศพระพุทธศาสนา ณ แผ่นดินสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ พ.ศ.234 เมื่อชาวสุวรรณภูมิยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา จึงปฏิบัติตนตามวัฒนธรรมอินเดียโบราณเป็นส่วนใหญ่
ชาวชมพูทวีปได้เรียกวัน เดือน ปี โดยยึดหลักภาษามคธหรือภาษาบาลี เช่น
เดือนอ้าย เรียกว่า มิคสิรมาส
เดือนยี่ เรียกว่า ปุสสมาส
เดือน 3 เรียกว่า มาฆมาส
เดือน 4 เรียกว่า ผัคคุณมาส
เดือน 5 เรียกว่า จิตตมาส
เดือน 6 เรียกว่า วิสาขมาส
เดือน 7 เรียกว่า เชฏฐมาส
เดือน 8 เรียกว่า อาสาฬหมาส
เดือน 9 เรียกว่า สาวนมาส
เดือน 10 เรียกว่า ภัททปทมาส
เดือน 11 เรียกว่า อัสสยุชมาส
เดือน 12 เรียกว่า กัตติกมาส
เมื่อได้รู้จักชื่อเดือนตามปฏิทินทางจันทรคติแล้ว ตอนนี้มาดูการกำหนดฤดูกาลของปีในแต่ละปีว่ากำหนดตั้งแต่ช่วงไหนถึงช่วงไหนบ้าง
คิมหันตฤดู กำหนดนับตั้งแต่พระจันทร์เสวยฤกษ์วันเพ็ญเดือนผัคคุณมาสผ่านล่วงแล้ว 1 วัน ไปจนถึงพระจันทร์เสวยฤกษ์วันเพ็ญเดือนอาสาฬหมาส รวมเวลา 4 เดือน
วัสสานฤดู กำหนดนับตั้งแต่พระจันทร์เสวยฤกษ์วันเพ็ญเดือนอาสาฬหมาสผ่านล่วงแล้ว 1 วัน ไปจนถึงพระจันทร์เสวยฤกษ์วันเพ็ญเดือนกัตติกมาส รวมเวลา 4 เดือน
เหมันตฤดู กำหนดนับตั้งแต่พระจันทร์เสวยฤกษ์วันเพ็ญเดือนกัตติกมาสผ่านล่วงแล้ว 1 วัน
ไปจนถึงพระจันทร์เสวยฤกษ์วันเพ็ญเดือนผัคคุณมาส รวมเวลา 4 เดือน
ถ้าปีใดมีแปด 2 หน วัสสานฤดูจะขยายฤดูกาลไปอีก 1 เดือน รวมเป็น 5 เดือน
เรียกว่าเดือน 8 ต้น และเดือน 8 หลัง ขยายเฉพาะเดือน 8 เท่านั้น
ส่วนคิมหันตฤดู กับเหมันตฤดู ยังคงเป็นฤดูกาลละ 4 เดือน เท่าเดิม
วันเพ็ญเดือน 3 หรือที่เรียกว่า มาฆมาส ซึ่งเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า วันมาฆบูชา เป็นวันที่ปรากฏอยู่ในเหมันตฤดู หาใช่อยู่ในขอบเขตวัสสานฤดูไม่
วันเพ็ญเดือน 6 หรือที่เรียกว่า วิสาขมาส ซึ่งเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า วันวิสาขบูชา เป็นวันที่ปรากฏอยู่ในคิมหันตฤดู หาใช่อยู่ในขอบเขตวัสสานฤดูไม่
เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 6 คือพระจันทร์เสวยวิสาขฤกษ์ มิใช่เชฏฐฤกษ์
เพราะฉะนั้น วิสาขฤกษ์ที่พระองค์ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ก็ไม่สามารถจะเคลื่อนย้ายไปประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ในเดือนอื่นได้
เมื่อปีใดมีแปด 2 หน ฤดูกาลขยายเวลาเฉพาะวัสสานฤดูเท่านั้น มิได้ขยายในคิมหันตฤดู หรือเหมันตฤดูแม้แต่น้อย
เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 3 คือพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ มิใช่ผัคคุณฤกษ์แต่ประการใดไม่
เพราะฉะนั้น การที่มีการกำหนดวันมาฆบูชาและวันวิสาขบูชา ในปีที่มีแปด 2 หน ให้เลื่อนไปเป็นกลางเดือน 4 ที่เรียกว่า ผัคคุณมาส และกลางเดือน 7 ที่เรียกว่า เชฏฐมาส
ถือว่าเป็นการกำหนดวันสำคัญให้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง อันที่จริงแล้วใครผู้ใดก็ไม่สามารถจะไปเลื่อนพระจันทร์และพระอาทิตย์ให้คลาดเคลื่อนจากวงโคจรของธรรมชาติได้ ย่อมไม่มี
จึงอยากเห็นวันมาฆบูชาและวันวิสาขบูชา เป็นวันที่ชาวพุทธได้กระทำการสักการะบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรงวันจริง วันที่เป็นความจริงที่เป็นวันสำคัญของพระพุทธองค์ผู้เป็นศาสดาเอกของโลก เหตุไฉนจึงมาทำวันสำคัญของบุคคลสำคัญของโลก ศาสดาเอกของโลก ผู้เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ ผู้ค้นพบหลักความจริง แล้วใครมาทำความจริงของพระพุทธองค์ที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วกว่า 2561 ปี ให้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
แค่วันสำคัญของพระพุทธองค์ผู้เป็นเจ้าของพุทธศาสนา คนไทยยังรักษาให้ตรงความเป็นจริงไม่ได้ แล้วเราจะรักษาคำสอนของพระพุทธองค์ให้คงอยู่คู่ความเป็นจริงได้อย่างไร?