เมื่อ “เชฟหมี” ไปเฝ้า พระนารายณ์ “แปลง” ที่ลพบุรี-สุพรรณบุรี ฟังเรื่องสนุกจากอาเจ็ก

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมเพิ่งได้มีโอกาสเดินทางไปจังหวัดลพบุรีและสุพรรณบุรีกับอาจารย์ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ คอลัมนิสต์ที่อยู่ข้างๆ กันในมติชนสุดสัปดาห์นี่แหละครับ เป็นทริปประวัติศาสตร์-โบราณคดีที่สนุกสนานมากสำหรับผม

อาจารย์พจน์พาเราไปดูสิ่งที่สำคัญมากๆ คือ “ความเชื่อมโยง” ของอะไรหลายอย่าง ทวารวดี-อยุธยา, ขอม-ละโว้, เขมร-อยุธยา, ละโว้-อยุธยา, เมืองพระนคร-อยุธยา, จีน-อยุธยา, ลพบุรี-สุพรรณ-อยุธยา, อยุธยา-กรุงเทพฯ ฯลฯ

ภาพอาณาจักรอยุธยาอันเมลืองมลังที่ติดต่อค้าขายกับโลกอื่นๆ และมีความ “สืบเนื่อง” หมุนเวียนมันช่างน่าตื่นตาตื่นใจกว่าที่เคยเรียนๆ มา

ผมไม่ได้เป็นนักโบราณคดีหรือนักประวัติศาสตร์ แต่การได้ฟังนักโบราณคดีสมัยใหม่ที่ “มีของ” และมีความรู้ที่แน่นมากๆ นี่ ทำให้ได้ประโยชน์แก่ตนเยอะ เพราะเชื่อมโยงมายังความรู้ที่พอมีของตัวเองได้หลายอย่าง

เรื่องนึงที่ถึงบางอ้อ คือเรื่อง “ทองแดง” ครับ

คืออาจารย์พจน์เล่าว่า ละโว้เป็นแหล่งส่งออกทองแดงที่สำคัญแหล่งหนึ่งของโลก ก่อนหน้านั้นในโลกทั้งตะวันตกและอินเดียยังไม่สามารถหล่อประติมากรรม “สำริด” งามๆ ได้ เพราะไม่มีทองแดงซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญ ต้องมาค้าขายกับสุวรรณภูมิเสียก่อน

ในอินเดียภาคใต้ เทวรูปสำคัญๆ ล้วนหล่อด้วยสำริด เพราะคงทนและสวยงาม แต่เทวรูปสำริดเหล่านั้นก็ไม่ใช่ “พระประธาน” ของเทวสถาน ซึ่งตามคัมภีร์ต้องสร้างด้วย “หิน” เท่านั้น

เพราะหินเป็นวัสดุคงทนที่สุด (ไม่กลัวน้ำ กลัวไฟ) และเก่าแก่มาพร้อมโลก ส่วนจะหินอะไรก็ขึ้นกับที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้น

ส่วนเทวรูปสำริด มีไว้สำหรับออกแห่และทำการฉลองต่างๆ เพราะขนย้ายได้ง่ายกว่า ทุกวันนี้แม้ไม่ค่อยนำออกแห่แต่มักหล่อให้มีรูไว้สอดไม้คานหามที่ฐานหรือไว้ยึดกับเสลี่ยงแห่

เทวรูปแบบนี้ เรียกว่า “อุสวมูรติ” อุสวะ แปลว่าเทศกาลหรือการเฉลิมฉลอง หรือบางครั้งเรียกว่า “โภคมูรติ” เพราะเป็นเทวรูปที่นำไปทำพิธีบูชาคือได้เสพเสวยโภคะความสุขนานาชนิดจากศาสนิกชน

พระประธานที่เป็นหินนั้นจะต้องอยู่ “จำสถาน” ห้ามเคลื่อนย้าย คือฝังฐานเข้ากับพื้นในเทวาลัย (ศัพท์ในโศลกเรียก “ปราสาท”)

ในปัจจุบันกฎข้อนี้ยังคงปฏิบัติกันอยู่ ในหนังสือนิตยกรรมปธติบอกว่า ในปราสาทเทวรูปต้อง “ตรึงอยู่กับที่” แต่บ้านคฤหัสถ์ฆราวาสจะทำเช่นนั้นไม่ได้ ต้องเป็น “จลมูรติ” คือเทวรูปที่เคลื่อนย้ายได้เท่านั้น มิฉะนั้นจะเดือดร้อนรำคาญ

ด้วยเพราะทองแดงเป็นสินค้ามีค่าหายากจากละโว้-สุวรรณภูมินี่เอง ผมจึงถึงบางอ้อว่า ในคัมภีร์ฝ่ายฮินดู ถึงได้บอกว่า “หม้อกลัศ” หรือหม้อทำพิธี หากใช้วัสดุเป็นทองแดง (สันสกฤตเรียก ตามระ) จะดีที่สุด และพวกภาชนะใส่น้ำต่างๆ ในพิธีกรรมที่เรียกว่า ชลปาตร (บาตร) ก็ถือว่าทองแดงเป็นวัสดุที่ดีเช่นกัน ดีกว่าทองคำหรือเงินเสียอีก

ทุกวันนี้ชาวฮินดูก็ยังนิยมใช้ภาชนะทองแดงในการทำพิธีกรรมอยู่ครับ

อีกเรื่องที่ผมสนใจในทริปนี้ คืออาจารย์ศิริพจน์แกเล่าว่า โบราณสถานมักสร้างทับๆ กันหลายยุคสมัย เช่น ศาสนสถานสมัยอยุธยาสร้างทับของทวารวดี ซึ่งสร้างทับที่ศักดิ์สิทธิ์ก่อนประวัติศาสตร์ไว้อีกชั้นหนึ่ง

น่าทึ่งว่า ความทรงจำต่อสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นสืบทอดมาโดยวิธีใดจึงสามารถส่งผ่านมาได้อย่างยาวนาน

ผมคิดว่า เรื่องเล่าของชาวบ้านอาจเป็นส่วนผสมหลักที่ทำให้ความทรงจำต่อสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ส่งต่อมาได้จนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะดัดแปลงแก้ไขจนบางครั้งไม่เหลือเค้าเดิมก็ตาม

ในการเดินทางครานี้ผมไปพบสักการะสถานของพระนารายณ์ “แปลง” ที่ผมชอบใจมากๆ อยู่สองที่ คือที่ศาลพระกาฬ จังหวัดลพบุรี และที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี (ตรงนี้มีสององค์)

ที่ศาลพระกาฬนั้น ข้อพิเคราะห์ทางโบราณคดีเป็นเทวรูปพระนารายณ์แน่ๆ แต่ชาวบ้านนับถือกันว่าเป็น “เจ้าพ่อพระกาฬ” แม้แต่ในบทบูชาภาษาบาลีในศาลก็ยังเรียกว่า ยมเทวตา (พยายามลากเข้าไปบาลี)

คือเป็นเทพ (ผี) แห่งความตายตามคติชาวบ้านและเกี่ยวกับเรื่องโชคลาง เช่น เรื่องอุบาทว์ต่างๆ ไม่เหมือนกับพระยมของแขกที่เกี่ยวกับความตายโดยเฉพาะ

วันที่ผมไป ชาวบ้านมาแก้บนกันเยอะ ทั้งเป็ดไก่หัวหมูเหล้ายา

พราหมณ์อินเดียมาเห็นคงลมจับ เพราะในคติแบบอินเดียนั้น ในบรรดาเทพทั้งหลาย พระวิษณุหรือพระนารายณ์นั้นเคร่งครัดเรื่อง “ความสะอาด” เป็นที่สุด

ของบูชาพระนารายณ์ตามประเพณีนั้น ไม่เคยมีของสดคาว แม้เทพฮินดูส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะเป็นมังสวิรัติ แต่หลายต่อหลายองค์เคยโปรดเนื้อสัตว์และการบูชายัญมาก่อน แต่พระนารายณ์กลับไม่ค่อยมี

การบูชาพระนารายณ์นั้น ทางฮินดูเรียกว่า เป็นชนิด “สัตวิกปูชา” คือบูชาด้วยของที่มีคุณสมบัติ “สัตวิก” ได้แก่ ความบริสุทธิ์สะอาดสว่างต่างๆ เช่น ดอกไม้ ผลไม้ นมโค ฯลฯ

ส่วนที่สุพรรณฯ นั้น อลังการพันลึกไปอีก เพราะพระนารายณ์ที่นั่นถูกยกให้เป็นเจ้าพ่อหลักเมือง แต่ได้รับความเคารพมากจากชาวจีน

ศาลและเครื่องบูชาของท่านจึงเป็นแบบจีนทั้งหมด และแม้แต่งานบูชายังกำหนดตามเทศกาลของคนจีนเป็นสำคัญ

ภายในศาลยังมีแท่นบูชาของเจ้าที่แบบจีนตั้งอยู่ด้วย คือถูตี้กงหรือปุนเถ่ากง และอีกแท่นน่าสนใจมาก เป็นแท่น “รวมเจ้าพ่อทั้งหมดของเมืองสุพรรณ”

แม้จะสร้างรูปเคารพแบบจีนเป็นชายชราจีนถือคฑายู่อี่ขึ้นมาใหม่ (ไม่มีในสารบบเทพจีน) เพื่อเป็นตัวแทนของ “เจ้าพ่อทั้งสุพรรณบุรี” ก็ตาม แต่ด้านในเขายังรักษา “เจว็ด” ของพระภูมิเจ้าที่ของเดิมไว้หลายอันและรูปเคารพ “ผี” ต่างๆ

ในศาลเจ้าพ่อหลักเมือง แท่นบูชาทั้งสามจึงล้วนแต่เป็นเทพเจ้าระดับ “เจ้าที่” สามแบบ คือ เทพปุนเถ่ากง ผีเจ้าที่แบบไทยๆ และพระนารายณ์อินเดียที่ชาวบ้านนับถือว่าเป็นพระหลักเมืองแบบไทย คือถูกทำให้กลายเป็นรูปเคารพของเจ้าที่ ซึ่งท้ายสุดชาวจีนได้สร้างวัฒนธรรมจีนมาครอบไว้อีกชั้น

พระนารายณ์สองที่นี้จึงเป็นตัวอย่างอิทธิพลของ “ศาสนาผี” อันเข้มแข็งจริงๆ ในเมืองไทย ที่สามารถทำให้วัตถุเคารพของศาสนาอื่นๆ ไม่ว่าจะพุทธหรือพราหมณ์กลับกลายมาเป็นรูปเคารพของศาสนาผีได้

อีกทีหนึ่งที่ผมนึกถึง คือศาลหลักเมืองพระประแดง ซึ่งเป็นเทวรูปพระพิฆเนศวร์

เรื่องสนุกที่อาเจ็กผู้ดูแลท่านเล่าให้ฟัง คือ ใต้คอเทวรูปพระพิฆเนศวร์จะดำเพราะมีการเอาฝิ่นมาป้ายไว้ ซึ่งพวกคนจีนที่สูบฝิ่นจากโรงฝิ่นสมัยนั้นเอามาแก้บน

ดำแบบปากเซี่ยวกางที่ประตูวัดบวรนิเวศวิหาร เพราะโดนป้ายฝิ่นเหมือนกัน

ท่านเล่าว่า ในปัจจุบันรอยดำนั้นหายไปเยอะ เพราะพวกวัยรุ่นขี้ยา แอบมาขูดออกไปเวลาไม่มีเงินซื้อยา

พุทธและพราหมณ์จึงไม่ได้มีอิทธิพลเหนือผีหรือมีชัยชนะต่อผี หนำซ้ำกลับถูกผีครอบไว้แบบเนียนๆ โดยไม่รู้ตัว

กระนั้นผมก็ไม่คิดว่า ใครที่ไหนควรจะไปบอกชาวบ้านที่ลพบุรีกับสุพรรณฯ ว่า เฮ้ย นั่นเทวรูปพระนารายณ์ คุณควรจะเรียกให้ถูกต้องแล้วสักการบูชาให้ถูกแบบแผนของพราหมณ์

สังเวยท่านด้วยนมเนยบุปผาลาชะ แล้วโยนหัวหมูเป็ดไก่ลงถังขยะ

แต่แน่นอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือท้องถิ่นควรให้ความรู้ว่า ในทางโบราณคดีนั้น เทวรูปนี้ คืออะไร เป็นศิลปะแบบไหน สมัยใด แต่ชาวบ้านจะมีเรื่องเล่าตำนานอย่างไรก็บอกไว้ด้วย

เมื่อทราบแล้ว จะทำอย่างไรต่อก็ขึ้นอยู่กับผู้ศรัทธาเอง

ใครยังคงอยากสักการบูชาด้วยหมูเห็ดเป็ดไก่ตามวิถีที่ปู่ย่าตายายทำมาก็ไม่ว่ากัน

เพราะรู้แล้วจะเชื่ออย่างไรนั้นย่อมเป็นสิทธิ ตราบใดที่ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น

ส่วนใครจะสวดพระเวท ขับโศลกและบูชาในแบบพราหมณ์ก็ตามสบาย

พระนารายณ์เป็นเจ้าท่านใจใหญ่ ท่านคงไม่รังเกียจใครๆ ทั้งนั้น ในคัมภีร์ภควัทคีตากล่าวว่า

“แม้นมีเพียงน้ำหยด ใบไม้ใบ หากมาด้วยใจศรัทธา เราก็รับ”