นักบุญแห่งอินเดีย : อธิบายขยายความ (1)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

“พระวิโฐพาของฉันมีลูกๆ มากมาย บรรดาเด็กๆ ต่างห้อมล้อมพระองค์ นิวฤตินั่งบนไหล่ โสปานถูกอุ้มอยู่ในมือ ชญาเนศวรเดินนำหน้า มุกตาพาอีเดินตามหลัง โคระ กุมภารอยู่ที่ตัก ยังมีโจขาเมฬาและชีวะด้วย พังคาขี่หลัง นามเทพจูงนิ้วพระองค์ไว้”

อภังคะของนักบุญชนาพาอี

 

ราวเดือนเมษายนปีที่แล้ว (2565) ผมเริ่มต้นเขียนบทความเรื่อง “‘วารกรี’ นิกายสำคัญของฮินดูที่เรายังไม่รู้จัก” แล้วต่อด้วยบทความที่เขียนถึง “พระวิโฐพา” เทพเจ้าอันเป็นที่รักยิ่งของขบวนการภักติในแคว้นมหาราษฏร์

บทความถัดไปจึงเริ่มเขียนถึงชญาเนศวร ผู้ที่ได้รับการนับถือว่าเป็นบรมครูคนแรกๆ แห่งเหล่านักบุญของแคว้นมหาราษฏร์และชาววารกรี

นับตั้งแต่นั้นมา ทุกสัปดาห์ผมได้เขียนถึงนักบุญต่างๆ เริ่มต้นจากแคว้นมหาราษฏร์แล้วขยายไปยังขบวนการภักติในยุคกลาง โดยเฉพาะในอินเดียเหนือ จากนั้นย้อนเวลาสู่อดีต เดินทางไปยังอินเดียภาคใต้เพื่อกลับคืนสู่ต้นกำเนิดของขบวนการภักติแห่งคณะนักบุญอาฬวาร์และนายันนาร์ เรื่อยมาจนถึงบรรดาปราชญ์ต่างๆ ไม่ว่าจะสังกัดไวษณวะนิกายหรือไม่ก็ตาม

จนได้มาถึงนักบุญร่วมสมัยทั้งหลาย ผู้พยายามจะเปลี่ยนแปลงสังคมในยุคที่อินเดียเผชิญความท้าทายใหม่ๆ หรือผู้ทำให้ต่างชาติรู้จักศาสนาฮินดูในมิติที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ผ่านไปหนึ่งปี ผมเขียนถึงนักบุญไปราวสามสิบสามท่านกับอีกสองคณะ แต่นักบุญในอินเดียมีมากมายนับร้อยนับพันคนซึ่งมิอาจนำมาเขียนได้ทั้งหมด ผมจึงเลือกเฉพาะท่านที่สำคัญ ท่านที่ผมสนใจเป็นพิเศษหรือท่านที่ผมพอจะค้นหาข้อมูลได้ ซึ่งมิได้มีเกณฑ์การเลือกที่ชัดเจนนัก

ปกติแล้วคอลัมน์นี้ หากไม่ได้เขียนสิ่งที่ตั้งใจไว้แต่แรกก็มักจะเป็นการพูดถึงสถานการณ์บ้านเมืองหรือปรากฏการณ์ที่เชื่อมโยงมายังประเด็นปรัชญา ศาสนาและวัฒนธรรมได้ หาไม่ก็เป็นเกร็ดความรู้ต่างๆ ที่พาดเฉี่ยวไปยังประวัติศาสตร์และโบราณคดีอยู่บ้าง

ทว่า ในปีที่ผ่านมา ผมมีเนื้อหาอื่นแทรกเรื่องชีวิตนักบุญนี้น้อยมาก ที่จริงก็รู้สึกเกรงใจท่านผู้อ่านและมติชนสุดสัปดาห์ที่อาจรอผมกล่าวถึงบางประเด็นที่ร้อนแรงในตอนนั้น ก็ต้องขออภัยเป็นอย่างยิ่งครับและกราบขอบพระคุณที่ทุกท่านอดทนต่อความเอาแต่ใจของผม

 

อันที่จริงเมื่อเริ่มเขียนบทความซีรีส์ “นักบุญแห่งอินเดีย” ในหัวคิดแค่เพียงว่าอยากจะแนะนำนักบุญต่างๆ โดยเน้นที่ศาสนาฮินดูให้ผู้อ่านชาวไทยรู้จัก เพราะได้เคยเขียนไว้ในบทความเมื่อปี 2563 เรื่อง “สิ่งที่ขาดหายไปในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูของไทย 2 : เรื่องราวและบทกวีนักบุญ” ว่าชีวิตและการงานของนักบุญเหล่านี้ทำให้ศาสนาฮินดูในอินเดียเปลี่ยนแปลง ทั้งท้าทายตนเองไม่ว่าจะเรื่องความเชื่อหรือชนชั้นวรรณะ ทำให้มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น และสร้างแรงดลใจต่ออนุชนรุ่นหลัง แต่คล้ายๆ สิ่งเหล่านี้หายไปในมิติทางศาสนาของบ้านเราทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ขบวนการนักบุญเป็นตัวอย่างของการปฏิรูปศาสนาจากภายใน ซึ่งนักวิชาการโดยเฉพาะสายพุทธศาสนาในเมืองไทย เมื่อกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบวรรณะ มักจะใช้ข้อมูลเดิมซ้ำๆ คือให้เครดิตกับอิทธิพลของพุทธศาสนาเท่านั้น โดยไม่ทราบหรืออาจไม่มีข้อมูลว่า ศาสนาฮินดูเองก็มีความพยายามเช่นนี้อยู่เช่นกัน

กระนั้น ประพิมพ์ประพายของนักบุญเหล่านี้ยังเหลือรอดเข้ามาในศาสนาพราหมณ์แบบสยามอยู่บ้าง เพราะพราหมณ์สยามผู้มีต้นกำเนิดจากอินเดียใต้ ได้สวดขับบทประพันธ์ของนักบุญทมิฬในพระราชพิธีต่างๆ ไม่ว่าจะตรีปวายหรือตรียัมปวาย หรือแม้แต่บทเปิดประตูศิวาลัยไกรลาสในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทว่าแต่เดิมก็นับถือกันเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น โดยไม่ทราบความหมายหรือที่มา และเมื่อแม้ทราบแล้วก็ยังมิได้เน้นความสำคัญของผู้ประพันธ์สักเท่าไร

ทั้งนี้เพราะเราเน้นเน้นความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ของเทพเจ้าละตัวพิธีกรรมมากกว่าอย่างอื่น

ส่วนองค์กรทางศาสนาฮินดูใหม่จากอินเดียที่เพิ่งเข้ามาในระยะเวลาร้อยปีเศษ ไม่ว่าจะเป็นวัดแขกสีลม ฮินดูสมาชหรือฮินดูธรรมสภา แม้จะเป็นองค์กรศาสนาที่ได้อิทธิพลของเหล่านักบุญและขบวนการภักติในยุคกลางโดยตรง แต่ก็ด้วยปัญหาด้านภาษาและการสื่อสาร รวมทั้งกิจกรรมที่มากมายขององค์กรเหล่านั้น ทำให้เรื่องนี้ก็ไม่ได้ถูกเผยแผ่แก่ผู้สนใจชาวไทยเท่าที่ควร

ที่จริงจะโทษองค์กรทางศาสนาก็ไม่ถูกทั้งหมด เพราะชาวไทยที่เข้ามาสนใจศาสนาฮินดูมักให้ความสำคัญกับเทพเจ้า และตัวพิธีกรรมมากกว่าเรื่องอื่น โดยเฉพาะในท่ามกล่างกระแส “สายมู” ที่แพร่หลายในทุกวันนี้

ผมจึงตัดสินใจว่า ในเมื่อตนเองเป็นคนเห็นประเด็นก็ควรจะเขียนเองเสีย อย่ารอให้เป็นภาระของคนอื่น และถือว่ารับใช้ครูบาอาจารย์ไปในตัว ทั้งยังได้ตอบสนองต่อความสงสัยของตนเองด้วย เช่น เมื่อไปท่องเที่ยวในประเทศอินเดีย ได้พบรูปภาพนักบุญที่ผู้คนเคารพกราบไหว้ ไม่ว่าจะตามถนนหนทางหรือในอาคารบ้านเรือน ชวนให้นึกสงสัยเสมอว่าท่านเหล่านี้เป็นใคร มาจากไหน และทำไมเขาจึงให้ความเคารพนัก

อีกทั้งเมื่อได้ค้นคว้า ก็ได้พบวิธีคิดอีกแบบที่น่าสนใจเกี่ยวกับศาสนาฮินดู เช่น มุมมองที่มีต่อพระเจ้าอันต่างไปจากกระแสหลัก ตัวอย่างจากบทกวีของท่านตุการาม ดังนี้

“พระองค์กินดื่มร่วมกับวิทูระบุตรของนางบำเรอ ย้อมหนังสัตว์กับโรหิทาส

ทอผ้าไหมกับกพีร์ ขายเนื้อสัตว์กับสาชนะ (สาธนะ)

ไถพรวนไร่สวนกับสัมวัตตะ พระองค์แบกซากสัตว์กับโจขา

ไปเก็บขี้วัวกับชนาพาอี ดื่มพิษให้มีรา

เป็นพวกมหาร์ (วรรณะต่ำ) ให้ทามาชี แบกหม้อดินให้โคระ

ยืนรอทั้งวันเพื่อปุณฑริกะ อยู่บนก้อนอิฐ ณ เมืองปัณฑรปุระ”

จากบทกวีข้างต้น พระเจ้าสูงสุดไปอยู่ร่วมกับคนที่สังคมเห็นว่า “ชั้นต่ำ” หรือมีชีวิตที่ต้องแปดเปื้อนในทุกๆ แบบ ทั้งยังทรงกระทำสิ่งที่มีมลทินโทษทุกประการอันน่ารังเกียจจากพวกวรรณะสูงร่วมกับคนเหล่านั้น

เหตุผลเดียวที่พระเจ้าทรงทำคือความรักหรือภักดีที่คนเหล่านั้นมีให้ โดยปกติเรามักจะถูกสอนว่าสาวกต้องรับใช้พระเจ้า ทว่า ในตำนานธรรมของเหล่านักบุญ พระเจ้าทรงต้องมารับใช้สาวกของพระองค์ด้วยความอ่อนน้อมและเต็มใจ เพราะพระเจ้ามิได้ดำรงอยู่เพื่อสิ่งอื่นใดนอกจากสาวก และสาวกก็มีชีวิตอยู่เพื่อพระองค์เท่านั้น

นี่คือความรักที่ทำลายกำแพงสูงตระหง่านระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ลง ทั้งยังลอกหน้ากากของความหลอกลวงในนามแห่งความดีหรือความบริสุทธิ์สะอาด ความทระนงในชาติเชื้อโคตรวงศ์และวรรณะ การยึดมั่วในขนบประเพณีอย่างมืดบอด ท้าทายต่อสามัญสำนึกของผู้คนในสังคมซึ่งบรรทัดฐานที่ใช้ตัดสินคนอื่นกำลังถูกสั่นคลอน

จึงมิสำคัญเลยว่าเรื่องเหล่านี้จะจริงหรือไม่ เพราะมันได้ทำหน้าที่ต่อสังคมฮินดูอย่างที่มันควรทำแล้ว ทั้งนี้ แม้เรามิอาจหาหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยืนยันถึงรายละเอียดชีวิตของนักบุญเหล่านี้ในทุกแง่มุมได้ ทว่า เราต้องตระหนักว่านี่คือความทรงจำสาธารณะของชุมชน อันก่อร่างสร้างเป็นความภาคภูมิในฐานะมนุษย์ ผู้ดำรงอยู่ในสายสัมพันธ์อันศักดิ์สิทธิ์ทั้งต่อนักบุญ พระเจ้า และตัวเขาเอง

 

ผมขอสารภาพว่า เมื่อได้ทำงานชิ้นนี้ เป็นการเขียนที่เหนื่อยหนักในแง่การค้นคว้าและการแปลบทกวี แต่ไม่มีครั้งใดเลยที่ผมรู้สึกเหน็ดหน่าย ยิ่งไปกว่านั้น นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เขียนบทความแล้วรู้สึกว่ามีพรหลั่งไหลมาสู่ตัวผมอยู่ตลอดเวลา มีความรู้สึกปีติ บางครั้งก็ร้องไห้ บางครั้งเมื่อย้อนกลับไปอ่านก็รู้สึกว่าตนเองมิได้เขียนสิ่งเหล่านี้ขึ้น ทว่าเป็นเพียงภาชนะที่ถ้อยคำจากความศักดิ์สิทธิ์ไหลหลั่งมาเอง

แม้จะดูเหมือนเป็นการยกยอตนเองมากเกินไป แต่ผมก็รู้สึกเช่นนั้นจริงๆ และมิได้รู้สึกว่าคุณค่าของเรื่องนี้มาจากการเขียนของผม ทว่า มาจากตัวเรื่องราวและผลงานของนักบุญเหล่านั้นเองต่างหาก ทั้งยังมีความรู้สึกขอบคุณท่านผู้อ่านและมติชนที่ได้ให้โอกาสอันประเสริฐนี้แก่ผมเป็นอย่างยิ่ง

สุดท้าย เรื่องราวของนักบุญเป็นมหาสาครใหญ่กว้าง สติปัญญาของผมเป็นเพียงกะลาเล็กๆ ที่มีรูรั่วเต็มไปหมด ผมจึงสำนึกว่ากะลาใบนี้จะตักจ้วงน้ำอมฤตอันชุ่มฉ่ำได้ก็เพียงน้อยนิด ซึ่งอาจพอนำมาดื่มดับกระหายของตนเอง แต่หากมีผู้กระหายจะมาขอร่วมดื่มด้วยบ้าง

ผมก็ยินดีอย่างยิ่งที่จะได้แบ่งปัน •

 

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง