นิสรคะทัตตะมหาราช : นิพพานในร้านชำ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

“ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าการหลุดพ้นหรอก การชื่นชมข้อเท็จจริงที่ว่านี้โดยตัวมันเองนั่นแหละ คือการหลุดพ้น”

นิสรคะทัตตะมหาราช

 

เรามักจะคิดว่าผู้บรรลุธรรมหรือเป็นนักบุญต้องมีบุคลิกลักษณะพิเศษ ท่วงท่าวาจาสงบสุขุม เยื้องยาตรอย่างเชื่องช้าสง่างาม นั่งยิ้มเยือกเย็นภายใต้จีวรสีส้มหรือเครื่องแบบที่ดูน่าเกรงขาม

แต่นั่นเป็นเพียงมายาคติของเราเอง เพราะการบรรลุธรรมอาจไม่เกี่ยวข้องอะไรกับสิ่งเหล่านี้แม้แต่น้อย

ณ ร้านชำข้างทางเล็กๆ ท่ามกลางความจอแจในเมืองมุมไบ เมืองเอกของแคว้นมหาราษฏร์ ร้านที่รุงรังไปด้วยข้าวของ ทั้งเสื้อผ้าเด็ก สิ่งของจิปาถะ ไปจนถึงยาสูบ ลุงเจ้าของร้านหยิบซองบุหรี่มวนใบจากส่งให้ลูกค้า เพราะด้วยความขยันและจริงใจ กิจการที่เขาเพียรสร้างขึ้นมาหลายปีมานี้ทำให้สามารถขยายสาขาไปได้อีกมาก และมีรายได้พอเพียงเลี้ยงดูครอบครัวอย่างไม่ลำบาก

ใครจะทราบว่า คุณลุงเจ้าของร้านชำที่ดูไม่มีอะไรน่าสนใจ เว้นแต่แววตาดุดันจริงจังและน้ำเสียงกระโชกโฮกฮากคนนี้ จะเป็นผู้บรรลุถึงสัจธรรมสูงสุดที่นักแสวงหาทุกคนใฝ่ฝันถึง

 

ศรี นิสรคะทัตตะ มหาราช (Sri Nisargadatta Maharaj) เป็นชื่อที่ผู้คนทั่วไปรู้จัก ชื่อเดิมคือ มารุตี ศิวรามปัณฑ์ กัมพลี (Maruti Shivarampant Kambli) เกิดในวันที่ 17 เมษายน 1897 ตรงกับวันหนุมานชยันตีหรือวันประสูติของเทพหนุมาน

ด้วยเหตุนั้นจึงได้รับการตั้งชื่อว่า “มารุตี” อันเป็นอีกพระนามหนึ่งของหนุมาน

มารุตีเกิดในย่านแออัดของมหานครมุมไบ ที่ขณะนั้นยังเรียกว่าบอมเบย์ภายใต้การปกครองของอังกฤษ บิดาของเขาเป็นคนงานรับจ้างตามบ้าน แต่ทั้งครอบครัวก็ย้ายไปยังเมืองทุรคาสินธุ (Sindhudurga) เพื่อทำไร่

เมื่อบิดาเสียชีวิตลงแล้ว มารุตีและพี่น้องจำต้องย้ายกลับมายังมุมไบอีกครั้งเพื่อหางานทำในเมืองใหญ่ เฉกเช่นผู้คนที่มุ่งมาแสวงโชคในเวลานั้น

เขาช่วยงานของพี่ชายจนกระทั่งได้เปิดร้านชำของตนเอง แม้จะเกิดในครอบครัวที่นับถือนิกาย “วารกรี” (Varkari) ซึ่งนับถือพระวิโฐพาเจ้าอันแพร่หลายในรัฐที่ตนเกิด แต่มารุตีก็ไม่ได้มีประสบการณ์ทางศาสนาหรือได้รับคำสอนอะไรเป็นพิเศษเลย

อาจกล่าวได้ว่า ชีวิตของมารุตีดำเนินไปอย่างคนปกติที่พอจะสนใจทางศาสนาบ้าง ซึ่งเรื่องปากท้องและครอบครัวต้องมาก่อน เขาแต่งงานกับสุมตีพาอีในปี 1924 มีบุตรหนึ่งคนและบุตรีอีกสามคน

 

ตกราวปี 1933 ยัศวันเตา พาคการ์ เพื่อนคนหนึ่งของมารุตีชักชวนให้เขาไปพบ “ศรีสิทธราเมศวร มหาราช” (Sri Siddharameshvara) นักบวชผู้สืบสายปฏิบัติแห่งอินชคิริ สัมประทายะ สาขาหนึ่งของนิกายนวนาถ ซึ่งสืบมาแต่ท่านเรวะนาถ หนึ่งในนาถเก้าองค์ในคริสต์ศตวรรษที่เจ็ด ผู้นำคำสอนสายนาถมาเผยแพร่ในดินแดนมหาราษฏร์

สิ่งที่คุรุบอกแก่มารุตีเป็นอย่างแรกคือ “เธอไม่ใช่สิ่งที่เธอคิดว่าตัวเองเป็น” คำกล่าวนี้ทำให้มารุตีรู้สึกสะดุดใจเป็นอย่างมาก

ถ้าฉันไม่ใช่สิ่งที่ฉันคิดว่าฉันเป็น ฉันเป็นใครกันแน่?

ศรีสิทธราเมศวรได้มอบอุบายง่ายๆในการฝึกจิต ซึ่งท่านได้เล่าไว้ในภายหลัง เมื่อมีศิษย์ชาวตะวันตกถามถึงวิธีที่จะทำให้จิตสงบไว้ว่า

“จงไว้วางใจในคุรุ ดูในกรณีของฉัน คุรุของฉันสั่งให้จดจ่อไปยังความรู้สึกที่ว่า ‘ฉันเป็น’ (I am) และอย่าใส่ใจต่อสิ่งอื่น ฉันก็แค่เพียงเชื่อฟัง ฉันไม่ได้ฝึกฝนการหายใจหรือการทำสมาธิแบบใด หรือศึกษาคัมภีร์ สิ่งที่เกิดขึ้นก็เพียงฉันได้หันเหความสนใจไปสุ่ความรู้สึกแห่ง ‘ฉันเป็น’ เท่านั้น มันอาจดูเรียบง่ายไปหน่อยถึงขั้นออกจะดิบๆ เหตุผลทั้งหมดที่ทำไปก็เพราะคุรุสั่งให้ฉันทำ แต่มันก็ได้ผล”

เมื่อได้รับคำสอนจากคุรุ มารุตีมักนั่งอยู่ในความสงบ เพ่งพิศความหมายอันลึกซึ้งของ “ฉันเป็น” อยู่วันแล้ววันเล่า สิ่งนี้มิอาจเข้าใจได้ด้วยการคิดเชิงเหตุผล แต่เป็นการละทิ้งความคิดที่มีเกี่ยวกับตนเองไป จนสามารถเข้าถึงสภาวะบริสุทธิ์ดั้งเดิมแห่งตัวตนแท้ได้

“ความเงียบสงัดเป็นปัจจัยสำคัญ เธอจะก้าวหน้าขึ้นในสันติภาวะแลความเงียบสงัด”

สองปีครึ่งผ่านไปอย่างช้าๆ มารุตีฝึกฝนตนเองกับครูอย่างใกล้ชิด แต่ครูก็มาจากไปในวัยเพียง 48 ปี แม้จะใช้เวลาร่วมกันไม่นาน แต่ก็มีประสบการณ์ทางจิตวิญญาณเกิดขึ้นหลายครั้ง ยิ่งไปกว่านั้นคือความรักความผูกพันที่เขามีต่อครูอย่างลึกซึ้ง

ดังนั้น จะด้วยความรู้สึกเช่นใดก็ยากที่จะรู้ หลังคุรุจากไปแล้ว เขาจึงตัดสินใจออกจากบ้านเยี่ยงสันยาสี เดินทางเร่ร่อนไปทั่วอินเดียด้วยเท้าเปล่า

ศรี นิสรคะทัตตะ มหาราช

จากปัณธรปุระเมืองแห่งพระวิโฐพา มารุตีเดินทางเรื่อยไปถึงอินเดียภาคใต้ แล้ววกกลับขึ้นไปทางเหนือสู่พฤนทาวัน บัดนี้ท่านคือนิสคระทัตตะ มิใช่มารุตีคนเดิมอีกแล้ว และใช้เวลาเดินทางอยู่ทั้งสิ้นแปดเดือนจึงกลับบ้าน

ท่านกลับมาอยู่กับลูกเมียในห้องบนอพาร์ตเมนต์เล็กๆ ห้องเดิมนั้น เช้าก็ออกไปนั่งขายของตามปกติ เย็นกลับเข้าบ้าน ทำงานหาเงินเหมือนอย่างแต่ก่อนราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น

แต่ใครจะรู้ว่าประสบการณ์ตลอดเกือบสามปีได้มอบสิ่งใดแก่นิสรคะทัตตะบ้าง ภายใต้บุคคลิกดุดันไม่เกรงใจใคร กับน้ำเสียงกระโชกโฮกฮากนั้น มีสิ่งใดซ่อนอยู่

ไม่กี่ปีถัดมา ท่านก็สูญเสียภรรยาและลูกสาวคนหนึ่งในเวลาไม่ห่างกันนัก นั่นทำให้นิสรคะทัตตะโศกเศร้าไม่น้อย

ผู้คนมักคิดว่าผู้บรรลุหลุดพ้นต้องไร้ซึ่งอารมณ์ความรู้สึก แต่ที่จริงไม่ใช่เลย ท่านเหล่านี้ดูเหมือนจะมีความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ อารมณ์ความรู้สึกทั้งหลายจะปรากฏขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติตามแต่สถานการณ์ แต่ในขณะเดียวกันท่านก็รู้ว่า ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นแล้วก็สลายหายไป ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องยึดกอดเอาไว้

ใครจะซ่อนการรู้แจ้งของตนไว้ได้ ประกายแห่งปัญญาของคุณลุงธรรมดาๆ ฉายฉานออกมาเอง บทสนทนาที่ดูมีอะไรพิเศษชักชวนให้ผู้คนเริ่มเข้ามาใกล้ นิสรคทัตตะจึงต้องเริ่มสนทนาธรรมกับผู้คน นานวันเข้าก็กลายเป็นการชุมนุม (สัตสังค์) เพื่อสนทนาและให้คำสอนอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

แต่ท่านมิใช่นักบวช ท่านเป็นเพียงฆราวาสที่ทำอาชีพค้าขาย นิสรคะทัตตะจึงไม่มีวิหาร ไม่มีวัดที่ท่านจะเทศนาสั่งสอน ท่านใช้ส่วนหนึ่งในห้องบนอพาร์ตเมนต์เล็กๆ นั่นเองเป็นที่ชุมนุมเกือบทุกวัน

นิสรคะทัตตะไม่มีบทประพันธ์ ตำราหรือหนังสือ ท่านเรียนหนังสือในระบบมาน้อย ท่านใช้วิธีสนทนากับผู้คนที่เข้ามาหา ตอบคำถามของเขาอย่างจริงจัง ชี้ตรงไปยังหัวใจแบบไม่เกรงกลัวใดๆ ถกเถียงด้วยลีลาดุดันเผ็ดร้อน ทว่าไม่มีสิ่งใดเป็นการทำร้ายอีกฝ่ายหรือเป็นแค่การตีฝีปาก

เพราะทุกสิ่งที่ท่านพูดล้วนเป็นสิ่งที่มีความหมาย

 

ต่อมา Maurice Frydman ผู้ใช้ชีวิตในอินเดียมานาน ได้แปลบทสนทนาของท่านที่บันทึกเทปไว้ออกตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในชื่อ “I am That” หนังสือเล่มนี้เองทำให้ชาวตะวันตกรู้จักนิสรคะทัตตะมหาราช นับแต่นั้นมา ท่านจึงมีฝรั่งมาเยี่ยมเยือนมากมายถึงบ้าน จนต้องมีล่ามประจำในการสนทนา

คำสอนของนิสรคะทัตตะ มหาราชเทียบเคียงได้กับปรัชญาเวทานตะของศังกราจารย์ ท่านเห็นว่าความจริงสูงสุดกับเนื้อแท้แห่งตัวเรามิใช่สิ่งที่แยกจากกัน แต่การที่เรายึดมั่นว่ากายกับจิตนี้คือตัวเราทำให้เราไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้ การทำสมาธิภาวนาและการปฏิบัติมนตรา เป็นสิ่งที่ช่วยทำให้เราค่อยๆ เข้าไปสู่การเข้าใจความจริง

สิ่งที่มีเสน่ห์ในการสอนของนิสรคะทัตตะอีกอย่างคือ ท่านมักไม่ใช่ศัพท์แสงทางศาสนามากนัก แต่บอกเล่าผ่านประสบการณ์ตรง ทั้งยังเน้นให้ทำความเข้าใจเรื่องพวกนี้ผ่านการฝึกฝน มิใช่แค่การคิดหรือใช้เหตุผลแต่เพียงอย่างเดียว

มีคนเปรียบเทียบประสบการณ์ของรามนะมหาฤษีและนิสรคะทัตตะมหาราชว่ามีความเหมือนกัน ท่านทั้งสองเคยได้พบกันและยังรับรองสภาวะของอีกฝ่ายด้วย ผู้คนมักพูดกันว่า นิสรคะทัตตะคืออีกด้านที่ตรงกันข้ามกันกับรามนะมหาฤษีในเชิงบุคคลิกภาพและวิถีชีวิต ทั้งที่เป็นผู้บรรลุหลุดพ้นทั้งคู่

นิสรคะทัตตามหาราชให้คำสอนในบ้านของท่านจนจากไปในปี 1981 ด้วยโรคมะเร็งลำคอ สิริอายุ 84 ปี

ท่านเป็นตัวอย่างของคนธรรมดาๆ ที่สามารถบรรลุความจริงสูงสุด

เป็นคุรุในร้านชำ •

 

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง