รามนะมหาฤษี : เปลวเพลิงแห่งอรุณาจเลศวร

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

“โดยปราศจากการเห็นตัวตนแท้ (อาตมัน) การเห็นพระเจ้าเป็นเพียงภาพลวงทางจิต การเห็นตัวตนแท้คือการเห็นพระเจ้า เขาย่อมกล่าวว่า โดยสละอหังการ (ความยึดมั่นในตน) เสียสิ้น และเห็นตัวตนแท้ นั่นแลคือการพบพานพระเจ้า ตัวตนแท้มิใช่อื่นใดนอกจากพระเจ้า”

รามนะมหาฤๅษี

 

ในราวเดือนพฤศจิกายนของทุกปี บนยอดภูเขาอรุณาจล (Arunachala) ในเมืองติรุวันนมาไล (Tiruvannamalai) ทางตอนใต้ของอินเดีย จะลุกโชนด้วยแสงสว่างจากดวงเพลิงขนาดใหญ่ที่ถูกจุดขึ้น จนสามารถมองเห็นได้จากเบื้องล่าง

เทศกาลกรรติไกทีปัมหรือดวงประทีปในเดือนกรรติกมาสนี้ นำพาผู้คนเรือนหมื่นเรือนแสนมารับพรจากพระศิวแห่งเทวาลัยอรุณาจเลศวรเชิงเขานั่นเอง

ทว่า มีประทีปอีกดวงหนึ่งแห่งอรุณาจเลศวร ซึ่งได้ถูกจุดขึ้นเกือบร้อยปีที่แล้วและยังคงส่องสว่างอยู่ตราบจนบัดนี้ นำพาให้ผู้คนมากมายเข้าถึงปัญญาญานที่แท้อันมีอยู่แล้วในตน

30 ธันวาคม 1879 เวงกฏรามัน ไอยาร์ (Venkataraman Iyer) หรือรามนะลืมตาขึ้นมาดูโลกในครอบครัวพราหมณ์ ณ เมืองวิรุธุนคร รัฐทมิฬนาฑุ

ชีวิตในวัยเด็กของเขาไม่มีอะไรพิเศษ ไม่มีประสบการณ์ทางจิตวิญญาณแปลกๆ ว่ากันว่าเวงกฏรามันเป็นเด็กที่หลับลึกมากแค่นั้น

แทนที่จะเรียนวิชาของพราหมณ์ บิดากลับส่งเขาเข้าเรียนในโรงเรียนแบบแผนตะวันตก เวงกฏรามันจึงมีความรู้ทางภาษาอังกฤษดี ทั้งนี้ก็ด้วยความคาดหวังที่จะให้บุตรชายรับราชการตามค่านิยมในสมัยนั้น ซึ่งอังกฤษยังคงปกครองและมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตอยู่มาก

ใครจะคิดว่าชีวิตธรรมดาๆ ของลูกพราหมณ์คนหนึ่งจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง จากประสบการณ์ที่ไร้คำอธิบายในช่วงวัยรุ่นของเขา

รามนะมหาฤษี ในช่วงอายุ 21-22 ปี

ประสบการณ์ทางจิตวิญญานที่สำคัญเกิดขึ้นในปี 1896 ช่วงนั้นเวงกฏรามันได้อ่านเรื่องราวของคณะนักบุญนายันมาร์และเกิดความรู้สึกประทับใจมาก จึงมักไปนั่งเงียบๆ ที่เทวาลัยมีนากษีซึ่งมีรูปเคารพของนักบุญเหล่านี้อยู่บ่อยๆ เวลานั้นเวงกฏรามันมีอายุได้สิบหกปี

จู่ๆ วันหนึ่งขณะที่เขานั่งอยู่ในบ้านของลุงโดยไร้วี่แววของความเจ็บป่วยหรืออาการใด รามนะรู้สึกว่าตัวเอง “กำลังจะตาย” เขาเล่าไว้เองว่า

“ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้เกิดขึ้นในชีวิตของฉัน ฉันนั่งอยู่อย่างโดดเดี่ยวในห้องชั้นล่างของบ้านลุง ฉันแทบไม่มีอาการเจ็บป่วย และวันนั้นก็ไม่มีสิ่งใดเกี่ยวกับสุขภาพของฉันที่ผิดปกติ ทว่า ทันใดนั้นความกลัวตายอย่างรุนแรงได้เข้าจู่โจมอย่างท่วมท้น ไม่มีภาวะทางสุขภาพใดที่ทำให้ประเมินถึงสิ่งนั้นได้ ไม่มีสิ่งกระตุ้นเร้าใดที่ทำให้ต้องนำไปสู่ความกลัวนั้นเลย ฉันเพียงแค่รู้สึกว่าตนเองกำลังจะตายและเริ่มคิดว่าจะทำอย่างไรกับความตายนั้นดี”

“การตกใจกลัวตายอย่างรุนแรงนั้น ได้ทำให้จิตฉันกลับสู่ด้านใน ฉันเฝ้าถามตัวเองว่าตอนนี้ความตายกำลังมาถีง นี่หมายความว่าอย่างไร? อะไรกำลังจะตาย? ร่างกายนี้หรือ?”

“แต่การตายแห่งร่างกายนี้ ฉันเองได้ตายด้วยหรือ? ทว่า ฉันรู้สึกถึงพลังของ ‘ตัวฉัน’ และตระหนักในทันทีว่า ฉันคือวิญญาณที่มิอาจตายได้ ฉันคือบางอย่างที่จริงแท้ ประสบการณ์แห่งตัวตนแท้นี้เกิดขึ้นโดยไม่ผ่านกระบวนการคิด แต่ฉับพลันทันที”

เราคงเคยได้ยินได้ฟังว่าฮินดูมีคำสอนถึง “อาตมัน” หรือตัวตนแท้ (True self) ซึ่งมิได้หมายถึงความยึดมั่นในตัวตน (อหังการ) แต่เป็นธรรมชาติแท้ของตัวเรา สิ่งนี้ไม่อาจเข้าใจได้ด้วยความคิดทว่าเป็นรากฐานของการดำรงอยู่ ในแง่นี้ รามนะได้เข้าถึงประสบการณ์นี้โดยตรงจากสภาวะใกล้ตายของเขาเอง และจากการวิตกวิจารณ์ถึงสภาวะที่เกิดขึ้นนี้

นี่คือประสบการณ์เดียวกันกับที่สอนไว้ในปรัชญาเวทานตะของศังกราจารย์ ในขณะเดียวกันก็อาจเรียกว่าประสบการณ์เข้าถึงพระผู้เป็นเจ้าก็ได้ หากจะใช้นิยามและภาษาแบบสายภักติ

“การบรรลุสัจการแห่งตน (Self- realization) หมายถึงการบรรลุธรรมชาติของบุคคลเพียงเท่านั้น”

 

นับตั้งแต่เกิดประสบการณ์ดังกล่าว เวงกฏรามันเลิกสนใจที่จะไปเรียน เลิกสนใจความบันเทิงต่างๆ เขามักจะไปนั่งนิ่งๆ ดื่มด่ำกำซาบในสภาวะที่ได้บรรลุถึง ณ เทวาลัยมีนากษีแทบทุกวัน

เวลาผ่านไปหกสัปดาห์ เวงกฏรามันหวนระลึกสถานที่หนึ่งซึ่งเขาเคยได้ยินเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ “อรุณาจล” ที่ห่างออกไปหลายร้อยกิโลเมตร เขาตัดสินใจหนีออกจากบ้าน นั่งรถไฟและเดินต่อไปจนถึงเทวาลัยอรุณาจเลศวร

เมื่อถึงที่นั่น รามนะผู้ได้กลายเป็นสันยาสีที่แท้จริง ปราศจากคุรุครูบาอาจารย์ ปราศจากสำนักนิกาย ปราศจากที่พักอาศัย ผ้านุ่งที่ติดตัวมากลายเป็น “เกาปิน” หรือผ้าเตี่ยวอันเป็นสัญลักษณ์ของการสละโลก ได้พำนักอยู่ในส่วนที่ปราศจากผู้คนรบกวนในเทวาลัยแห่งนั้น ไม่นำพาต่อร่างกาย ทั้งวันเอาแต่ทำสมาธิ

สันยาสีท้องถิ่นได้เข้ามาช่วยดูแลหนุ่มน้อยคนนี้ ให้ได้กินอาหารหรือน้ำบ้าง ปีถัดมาท่านย้ายไปสู่อีกที่หนึ่ง จนในที่สุดได้เลือกถ้ำวิรูปักในภูเขาอรุณาจลเป็นที่พำนัก

รามนะพำนักอย่างโดดเดี่ยวอยู่ในถ้ำเล็กๆ บนภูเขานั้นถึงสิบเจ็ดปี อรุณาจลได้กลายมาเป็นครูของท่าน ได้กลายมาเป็นเพื่อนสนิท เป็นอาตมันที่ปรากฏแก่โลก เป็นพระศิวะที่ส่องประกายอยู่เบื้องหน้า เป็น “อรุณาจลศิวะ” อันศักดิ์สิทธิ์

รามนะมหาฤษีรักอรุณาจลอย่างลึกซึ้ง ท่านจะเดินจงกรมรอบภูเขานี้ในช่วงเย็นของทุกๆ วัน อันเป็นกิจวัตรที่ทำตราบจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ทั้งยังได้แต่งบทสวดสรรเสริญอรุณาจลในพากย์สันสกฤตไว้หลายบท เช่น อรุณาจลาษฏกัม อรุณาจลปัญจรัตนัม

“ข้าแต่อรุณาจล มหาสมุทรอมฤตอันเปี่ยมคุณานุคุณ ผู้กลืนกินสกลจักรวาลด้วยรัศมีแห่งปัญญาอันเรืองรองของท่าน ผู้เป็นปรมาตมันเองนั่นเทียว ขอท่านจงเป็นดวงสุรีย์ส่องฉายฉาน ให้ดอกบัวแห่งดวงใจของข้าเบ่งบานรื่นรมย์”

รามนะมหาฤษี

แม้รามนะมหาฤษีปรารถนาจะดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว ละทิ้งครอบครัวและมิตรสหายไว้เบื้องหลัง แต่มารดาก็ใช้ความรักตามหาท่านจนเจอ ทว่า จะร่ำไห้ร้องขอให้ลูกกลับไปเพียงใด รามนะก็ได้แต่นิ่งเงียบตอบ

สุดท้ายมารดาเองเป็นฝ่ายย้ายมาพำนักใกล้ลูกชาย จากแม่จึงกลายเป็นศิษย์ ศึกษาเรียนรู้กับลูกชายจนสิ้นชีวิตในอ้อมกอดของรามนะมหาฤษีนั่นเอง

ไม้สูงย่อมโผล่พ้นป่า คุรุมีปรีชาย่อมมีคนแลเห็น มีผู้มาขอรับคำสอนจากท่านมากขึ้นเรื่อยๆ รามนะจึงยอมลงจากถ้ำ มาพำนักที่อาศรมเชิงเขา และให้คำสอนแก่ผู้คน

เนื่องด้วยคำสอนของรามนะมหาฤษีมาจากประสบการณ์ตรง ทะลุทะลวงกรอบเกณฑ์ของศาสนาและวัฒนธรรม เกียรติคุณของท่านจึงแผ่ไปถึงตะวันตก นำพาฝรั่งจำนวนหนึ่งมาเป็นศิษย์

แม้จะมีชื่อเสียงขจรขจายออกไป รามนะมหาฤษียังคงใช้ชีวิตแบบเดิม กินอาหารอย่างเดียวกับทุกคนในอาศรม ไม่มีของใช้หรูหราฟุ่มเฟือย ความเมตตาของท่านได้แผ่ออกไปถึงบรรดาสัตว์ทั้งหลายรอบๆ อาศรม วัว กระรอก ลิง หรือแม้แต่นกยูงต่างพากันเข้ามาอยู่ใกล้ๆ ท่านยังคงโกนหัวและนุ่งเพียงผ้าเตี่ยวผืนเดียวอยู่จนตลอดชีวิต

คำสอนของรามนะมหาฤษีมุ่งเน้นให้ผู้คนบรรลุถึงความจริงแท้ ซึ่งมิใช่ความจริงภายนอก ทว่าเป็นธรรมชาติหรือตัวตนเนื้อแท้ของแต่ละคน ท่านเน้นย้ำว่าอัตตาหรือego เป็นสิ่งขัดขวางการเข้าถึงความจริงนี้

วิธีการที่รามนะมหาฤษีใช้เรียกว่า “วิจาระ” (self-enqury) คือการถามว่าเราคือใคร? โดยย้อนกลับไปภายในสู่ “หัวใจ” ใช้การทำสมาธิช่วยตัดทิ้งความคิดเกี่ยวกับ “ตัวเรา” (I – notion) จนกว่าความคิดเกี่ยวกับตนเองอันถูกกำกับโดยอัตตาจะหมดไป สภาพแท้แห่งตนก็จะปรากฏขึ้นตามธรรมชาติ

 

รามนะมหาฤษีจากโลกนี้ไปเมื่ออายุได้เจ็ดสิบเอ็ดปี ในวันที่ 14 เมษายน 1950 ขณะที่ท่านกำลังฟังบทสวดถึงอรุณจลที่ท่านรัก และเมื่อท่านสิ้นใจนั้น ว่ากันว่ามีดาวดวงหนึ่งได้ตกผ่านฟากฟ้าเหนืออรุณาจลท่ามกลางความอาลัยของบรรดาศิษย์

ปัจจุบัน รามนะมหาฤษีอาศรมยังคงดำเนินการอยู่ แม้กายของท่านจะไม่มีแล้ว แต่ผู้คนจำนวนมากยังคงเดินทางไปเพื่อสัมผัสพลังอันแผ่ซ่านของการดำรงอยู่ที่แท้ของท่าน

ซึ่งเป็นดุจเพลิงอันไม่มีวันดับ •

 

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง