สวามีวิเวกานันทะ | เมื่อฮินดูไปสู่ตะวันตก (จบ)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

สวามีวิเวกานันทะ | เมื่อฮินดูไปสู่ตะวันตก (จบ)

 

ยามที่ศรีรามกฤษณะป่วยหนัก บางครั้งมะเร็งที่ลำคอก็ทำให้ท่านหายใจได้ลำบาก ศิษย์บางคนจึงเปรยกับท่านว่า ท่านน่าจะใช้พลังจิตตานุภาพของตนหรือร้องขอต่อพระเจ้าเพื่อเยียวยาอาการป่วยให้หายไป

แต่ท่านกลับตอบว่า พระเจ้าน่าจะทรงหัวเราะเยาะต่อความคิดนี้ เพราะร่างกายเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ ซึ่งไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของท่าน และไม่ควรรบกวนพระเจ้าด้วยเรื่องไม่เป็นสาระเช่นนี้

ก่อนที่ท่านจะจากไป ศรีรามกฤษณะได้มอบผ้าย้อมฝาดอันเป็นผ้านุ่งของสันยาสีให้ศิษย์จำนวนหนึ่ง เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการสละโลกและกำชับให้นเรนทร์เป็นหัวหน้าดูแลศิษย์คนอื่นต่อไป

ศรีรามกฤษณะ ปรมหงส์สิ้นใจอย่างสงบในวันที่ 16 เดือนสิงหาคม ปี 1886 ศิษย์จำนวนหนึ่งแยกย้ายกลับบ้านไปใช้ชีวิตฆราวาสตามเดิม บางส่วนก็พยายามใช้ชีวิตนักบวชต่อ

ในปลายปีเดียวกัน ศิษย์จำนวนไม่มากนักรวมทั้งนเรนทร์ได้รับทีกษาหรือคำปฏิญาณในการบวชสันยาสีอย่างเป็นทางการ เขาได้รับสมณฉายาและสมณศักดิ์เป็น “สวามีวิเวกานันทะ” ตั้งแต่บัดนั้น

 

ช่วงแรกๆ ของชีวิตนักบวช ภารกิจของสวามีวิเวกานันทะคือการประคับประคองให้ “มัฐ” หรืออารามที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ดำเนินการต่อไปได้ และต้องช่วยให้พี่น้องร่วมสำนักใช้ชีวิตพระต่อไปอย่างไม่ยากลำบาก

ต่อมาภารกิจนั้นได้ขยายไปสู่การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์โดยรวม ท่านจึงได้ก่อตั้ง “องค์กรพันธกิจรามกฤษณะ” (Ramakrishna Mission) ในปี 1897 เพื่อให้การช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้คนทั้งทางด้านจิตวิญญาณและสังคม องค์กรนี้ได้แผ่ขยายไปทั่วโลกและยังคงดำเนินการจนถึงทุกวันนี้

ตั้งแต่ปี 1888 จนถึงปี 1893 สวามีวิเวกานันทะออกจากอารามไปเร่ร่อนตามอย่างผู้ภิกขาจาร ชีวิตพเนจรเช่นนี้ทำให้ท่านได้พบปะกับครูบาอาจารย์ในหลายสำนักและศาสนา ซึ่งได้ช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์ทางจิตวิญญาณของท่านมากขึ้น

รวมทั้งยังทำให้เข้าใจถึงความทุกข์ยากของผู้คนในท้องที่ต่างๆ อีกด้วย

 

ท่านสวามีเดินทางไปต่างประเทศเป็นครั้งแรกในปี1893 ผ่านญี่ปุ่น จีน แคนาดา ไปสู่ที่หมายคือสหรัฐอเมริกา ท่านได้สร้างเกียรติยศทั้งต่อตนเองและประเทศชาติจากการปาฐกถาสั้นๆ ในสภาศาสนาโลกดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว

นอกจากนี้ ตลอดเวลาสี่ปีที่อยู่ในโลกตะวันตก สวามีวิเวกานันทะยังได้ไปบรรยายทั้งในสถาบันการศึกษา บ้านเรือน องค์กรต่างๆ อีกนับไม่ถ้วน ทั้งในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และประเทศอื่นๆ ท่ามกลางยุคสมัยที่ “คนขาว” เริ่ม “ตื่น” ต่อวัฒนธรรมและศาสนาจากตะวันออก โดยเฉพาะอินเดีย

ดูเหมือนว่างานของท่านจะไม่ได้เป็นเพียงแค่การแนะนำศาสนาฮินดูและประเทศอินเดียต่อต่างชาติต่างภาษาเท่านั้น แต่ยังต้องนำเอาประสบการณ์ทางจิตวิญญาณจากภูมิปัญญาเก่าแก่ไปสู่คนอีกซีกโลกหนึ่งด้วย

ท่านจึงสอนทั้งปรัชญาเวทานตะและการทำโยคะแก่พวกเขา จนได้ก่อตั้งสมาคมเวทานตะ (Vedanta Society) ขึ้นที่นิวยอร์กในปี 1894

ผลงานของสวามีวิเวกานันทะมีอยู่มากมายโดยเฉพาะเกี่ยวกับโยคะ ภายหลังได้มีการรวบรวมบทกวีนิพนธ์ จดหมายที่เขียนถึงบุคคลต่างๆ ปาฐกถา คำสอน และการบรรยายแต่ละโอกาส ตีพิมพ์เป็นหนังสือชุดใหญ่ในชื่อ “The Complete Works of Swami Vivekananda”

ที่สำคัญ ปัจจุบันได้มีการก่อตั้งสมาคมรามกฤษณะเวทานตะแห่งประเทศไทยขึ้นแล้ว โดยมีการแปลและตีพิมพ์คำสอนของสวามีวิเวกานันทะในรูปหนังสือเล่มเล็กๆ ชื่อ “ความคิดอันทรงพลัง” ซึ่งผู้เขียนได้นำมาประกอบบทความนี้ด้วย

 

ท่านสวามีกลับมาสู่อินเดียเพียงชั่วระยะสั้นๆ แล้วกลับไปตะวันตกอีกในปี 1899 เพียงไม่นานนักก็ได้ก่อตั้งสมาคมเวทานตะขึ้นอีกที่เมืองซานฟรานซิสโก และยังคงให้คำสอนในหลายวาระโอกาส แต่นี่คือการเดินทางมายังตะวันตกเป็นครั้งสุดท้ายของท่าน

เพราะในปี 1902 สุขภาพของสวามีวิเวกานันทะก็แย่ลง แม้ดูภายนอกอาจเห็นว่าปกติดี ราวสามทุ่มของคืนวันที่ 4 กรกฎาคมปีนั้นเอง ท่านก็จากโลกนี้ไปในขณะกำลังนั่งสมาธิ ณ ห้องพักในอารามที่ท่านก่อตั้งขึ้น ณ เมืองเพลูร์ ประเทศอินเดีย

ว่ากันว่า สวามีวิเวกานันทะเคยพยากรณ์ว่าตนเองจะมีอายุไม่เกินสี่สิบปี ความแม่นยำอันไม่ควรเกิดขึ้นนี้ทำให้ประเทศอินเดียได้สูญเสียคุรุและนักบุญผู้กำลังเจิดจรัสด้วยแสงแห่งปัญญา

ส่วนโลกก็ได้สูญเสียปราชญ์คนสำคัญขณะมีอายุได้เพียง 39 ปีเท่านั้น

 

เช่นเดียวกับครูของท่าน สวามีวิเวกานันทะเชื่อในความเป็นหนึ่งเดียวกันของศาสนาต่างๆ ท่านยืนยันว่าตนเองให้ความเคารพทุกศาสนา

“ข้าพเจ้ายอมรับในศาสนาทั้งหมดที่มีมา และเคารพบูชาทุกๆ ศาสนาด้วยเช่นกัน ข้าพเจ้าเคารพพระเจ้าในทุกสิ่งทุกอย่างของพระองค์ ในทุกสถานที่แห่งการบูชาพระองค์ ข้าพเจ้าไปยังมัสยิดของศาสดามูฮัมหมัด เข้าไปยังโบสถ์ของชาวคริสต์ และคุกเข่าต่อหน้าไม้กางเขน เข้าไปยังวัดของชาวพุทธที่ซึ่งข้าพเจ้าจะถึงซึ่งพระพุทธเจ้าและธรรมะของพระองค์เป็นสรณะ ข้าพเจ้าเข้าไปในป่าและนั่งสมาธิกับชาวฮินดู ผู้พยายามมองให้เห็นแสงสว่างในดวงใจทุกคน”

ท่านเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า ศาสนาเป็นหนทางที่มนุษย์จะบรรลุถึงสิ่งสูงสุดได้ โดยวิธีที่เรียกว่า “โยคะ” ซึ่งหมายถึงการ “รวมเป็นหนึ่ง” ไม่ว่าเป็นการรวมมนุษย์ชาติเข้าด้วยกัน (กรรมโยคะ) มนุษย์กับพระเจ้า (ภักติโยคะ) มนุษย์กับตัวตนที่แท้ (ราชโยคะ) และการรวมกันระหว่างมนุษย์กับสรรพสิ่ง (ชญาณโยคะ)

กระนั้น สวามีวิเวกานันทะเองก็วิจารณ์ศาสนาไว้ด้วยว่า ศาสนาควรมีหน้าที่ทำให้ศาสนิกคำนึงถึงความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์เป็นอันดับแรก และศาสนิกเองไม่ควรหลงงมงายอยู่กับการบูชาหรือพิธีกรรมภายนอก

ท่านกล่าวว่า

“ศาสนาต่างๆ ในโลกได้กลายเป็นสิ่งจอมปลอมที่จืดชืด สิ่งที่โลกต้องการคือแบบอย่างแห่งการปฏิบัติ โลกต้องการผู้ที่เปี่ยมด้วยความรักและไม่เห็นแก่ตัว”

“นี่คือสิ่งสำคัญของการเคารพบูชาทั้งมวล เพื่อความบริสุทธิ์และการพัฒนาด้วยการทำดีต่อผู้อื่น ผู้ที่เห็นพระศิวะในหมู่คนยากจน คนอ่อนแอและคนเจ็บป่วย เขาคือผู้บูชาพระศิวะอย่างแท้จริง และหากเห็นพระศิวะเฉพาะในรูปปั้น การบูชาของเขาก็เป็นเพียงขั้นเริ่มต้นเท่านั้น”

 

คําสอนของสวามีวิเวกานันทะถูกจัดอยู่ในหมวด “อไทฺวตเวทานตะ” (Advaita Vedanta) เช่นเดียวกับของท่านอาทิศังกราจารย์ (Adi Shankaracharya) เมื่อพันกว่าปีก่อน ปรัชญานี้เชื่อมั่นในความจริงแท้หรือสัจธรรมหนึ่งเดียว อันเรียกว่า “พรหมัน” (Brahman) ซึ่งสามารถเข้าใจได้ในสองแง่มุม

แง่มุมแรก เป็นนามธรรมสูงสุด อันปราศจากคุณสมบัติและไม่อาจบรรยายได้ด้วยภาษา เรียกว่า “นิรคุณพรหมัน”

กับแง่มุมที่สอง เป็นพระเจ้าอันทรงคุณานุคุณต่างๆ เรียกว่า “สคุณพรหมัน”

ด้วยเหตุว่าสรรพสิ่งที่ปรากฏนั้นไม่ใช่ความจริงแท้ มันจึงเป็นเพียงมายา ความแตกต่างทั้งหลายล้วนเป็นความลวง การบรรลุถึงความจริงหนึ่งเดียวทำให้เราข้ามพ้นความแตกต่างภายนอกได้

สวามีวิเวกานันทะถือว่าประสบการณ์ตรงของศรีรามกฤษณะเป็นเช่นนั้น ท่านมีนิมิตถึงพระเจ้าจากทุกลัทธินิกายจนไปถึงสภาวะไร้รูปแบบ ท่านเห็นว่าประสบการณ์เหล่านี้สะท้อนถึงสัจธรรมเดียวกัน แม้ศรีรามกฤษณะจะไม่ได้เรียนคำสอนจากสำนักอทฺไวตะโดยตรงเลยก็ตาม แต่นี่คือประสบการณ์ในชีวิตจริง นั่นทำให้คำสอนของท่านก้าวข้ามกำแพงศาสนาและความเชื่อ

ตัวสวามีวิเวกานันทะเองก็บรรลุถึงความจริงนี้ด้วยพลังจากคำสอนของครูและด้วยอำนาจแห่งสมาธิ ท่านย้ำว่า ปรัชญาอไทฺวตะจะต้องไม่เป็นเพียงความคิดเชิงเหตุผลเท่านั้น

“อไทฺวตะแบบนามธรรมอันแห้งแล้ง จักต้องกลายเป็นบทกวีอันมีชีวิตชีวาในชีวิตประจำวันโดยปราศจากความเป็นตำนานที่ซับซ้อนไร้ความหวัง ต้องกลายเป็นรูปแบบทางศีลธรรมอันมั่นคงปราศจากแนวคิดแบบโยคีนิยมที่สับสน ทว่า มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาเชิงปฏิบัติ และทั้งหมดนี้จะต้องอยู่ในรูปแบบที่แม้แต่เด็กๆ ก็สามารถจับต้องได้ นี่คือการงานแห่งชีวิตของข้าพเจ้า”

อันที่จริงมีผู้วิเคราะห์ว่า แนวคิดของท่านสวามีวิเวกานันทะมีทั้งส่วนที่เป็นปรัชญาเวทานตะ ตัวท่านเองได้ชื่อว่าเป็นนักเวทานตะใหม่ (neo vedanta) คือผู้ที่นำแนวคิดเวทานตะเดิมมาตีความให้สอดคล้องกับประสบการณ์และยุคสมัย

ทั้งยังมีแนวคิดแบบมนุษยนิยมผสมกับชาตินิยมด้วย ซึ่งเกิดขึ้นในบรรยากาศทางความคิดในยุคสมัยนั้น

เพราะเค้าลางแห่งการเรียกร้องเอกราชของอินเดียกำลังใกล้เข้ามาทุกขณะ

 

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ

ในปีที่ท่านสวามีสิ้นชีวิตนั้น เด็กชายประผุลละ กุมาร เสน ถือกำเนิดขึ้นในแคว้นพังคละ (เบงคอล) ภูมิลำเนาเดียวกับท่านสวามีวิเวกานันทะ

ท่านผู้นี้ในภายภาคหน้าจะเป็น “สวามีสัตยานันทะ ปุรี” ผู้ก่อตั้ง “อาศรมวัฒนธรรมไทย-ภารตะ”

และเป็นผู้นำความรู้ตลอดจนภูมิปัญญาอินเดียมาสู่สังคมไทยอย่างมากมาย

ที่สำคัญผู้เขียนสันนิษฐานว่า สวามีสัตยานันทะ ปุรีน่าจะเป็นศิษย์แห่งสำนักรามกฤษณะมัฐ และองค์กรพันธกิจรามกฤษณะ

ซึ่งท่านสวามีวิเวกานันทะได้ก่อตั้งขึ้นนั่นเอง •

 

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง