สวามีวิเวกานันทะ | เมื่อฮินดูไปสู่ตะวันตก (1)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

“คตินิยมด้านการแบ่งแยกความเชื่อ ความบ้าศาสนา ความหลงใหลคลั่งไคล้อันเป็นผลพวงที่น่ากลัวของมันได้เข้าครอบงำโลกอันสวยงามนี้ พวกมันปกคลุมพื้นพิภพด้วยความรุนแรง ทำให้ปฐพีชุ่มโชกไปด้วยโลหิตของมนุษย์ครั้งแล้วครั้งเล่า ทำลายอารยธรรมและส่งบรรดาประชาชาติทั้งหลายไปสู่ความสิ้นหวัง หากไม่มีปีศาจที่น่ากลัวเหล่านี้ สังคมมนุษย์จะเจริญยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ แต่บัดนี้เป็นเวลาของพวกมันแล้ว ข้าพเจ้าจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเสียงระฆังที่ดังขึ้นในเช้าวันนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่ที่ประชุม จะเป็นเสียงระฆังมรณะ สัญญาณของความบ้าคลั่งแห่งการกดขี่ทั้งหมด ไม่ว่าจะด้วยดาบหรือปากกาและความรู้สึกอันเป็นปฏิปักษ์ระหว่างบุคคล ซึ่งพาให้หลงไปจากจุดหมายปลายทางเดียวกัน”

ส่วนหนึ่งจากปาฐกถาของสวามีวิเวกานันทะ ในการประชุมสภาศาสนาโลก ณ เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา

เมื่อชาวตะวันเริ่มรู้จักศาสนาฮินดู บางคนคิดว่าศาสนานี้ดูแปลกประหลาด เต็มไปด้วยเทพเจ้าที่มีหลายหัวหลายมือ บ้างก็มีหน้าตาน่ากลัว ชาวบ้านก็ประกอบพิธีกรรมกราบไหว้รูปเคารพ ผิดกับคริสต์ศาสนาที่ดูสูงส่งและมีเหตุมีผลกว่า

ในช่วงแห่งการปกครองอินเดียของชาวยุโรป บรรดานักปฏิรูปศาสนาต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าศาสนาฮินดูนั้นมีเหตุมีผล มีความลึกซึ้งและสูงส่งไม่ต่างกับศาสนาของเหล่านักล่าอาณานิคมพวกนั้น และยังต้องเสนอคุณค่าของศาสนาเก่าแก่นี้ให้เป็นที่ประจักษ์แก่โลก ไม่ว่าจะด้วยเหตุทางการเมืองหรือความต้องการจะมอบภูมิปัญญานี้เป็นของขวัญแก่มนุษยชาติก็ตาม

สวามีวิเวกานันทะ (Swami Vivekananda) สันยาสีจากอนุทวีปอินเดียรูปแรก ผู้นำศาสนาฮินดูไปแนะนำถึงบ้านเมืองของฝรั่ง คือหนึ่งในนักปฏิรูปที่กระทำภารกิจนั้นด้วยความมุ่งมั่น

การปาฐกถาสั้นๆ ของท่านในการประชุมสภาศาสนาโลก ณ เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกาในวันที่ 11 กันยายน 1893 ได้สร้างความประทับใจต่อผู้ฟังเป็นอย่างมาก จนกระทั่งหนังสือพิมพ์ในประเทศนั้นต่างกล่าวถึงเรื่องนี้ ท่านสวามียังได้เดินทางไปบรรยายยังมหาวิทยาลัยต่างๆ อีกหลายประเทศ

คงไม่มีใครเหมาะที่จะเป็นฑูตแห่งภูมิปัญญาโบราณของอินเดียยิ่งไปกว่านี้ สันยาสีหนุ่มรูปงาม ท่วงทีสง่าน่าเคารพ เพียบพร้อมด้วยการศึกษาและทักษะภาษาอังกฤษที่ยอดเยี่ยม หูตากว้างไกล แม่นยำในหลักการเหตุผลและมีวาทศิลป์อันเป็นเลิศ

กระนั้น ยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดทั้งหมด คือประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่ลึกซึ้งของตัวท่านเอง

 

นเรนทรนาถ ทัตตะ (Nerandranath Dutta) หรือนเรนทร์ เกิดเมื่อวันที่ 13 มกราคม ปี 1863 เป็นบุตรชายของวิศนาถ ทัตตะ และภูพเนศวรีเทวี บิดาของท่านอยู่ในชาติกายัสถะ และมีตำแหน่งเป็นอัยการในศาลสูงของโกลกาต้า ด้วยเหตุนั้นนเรนทร์จึงได้รับการศึกษาแบบแผนตะวันตกเป็นอย่างดี

ความเป็นอัจฉริยะทางการเรียนทำให้นเรนทร์สามารถศึกษาในวิชาต่างๆ ได้กว้างขวาง เขาสนใจปรัชญาตะวันตก ปรัชญาตะวันออก ตรรกวิทยา ศิลปะ และจบปริญญาด้านมนุษย์ศาสตร์ในปี 1884

ช่วงเรียนอยู่วิทยาลัย นเรนทร์สนใจขบวนการเคลื่อนไหวทางศาสนาของอินเดียในเวลานั้น เขาเข้าร่วมขบวนการนววิธานของเกศัพ จันทรเสน ผู้พยายามจะตีความคริสศาสนาและศาสนาฮินดูให้ไปด้วยกันได้

นเรนทร์ยังเป็นสมาชิกของสมาคมลับพรีเมสัน (Freemasonry) และสมาชิกของสมาคม “พรหโม สมาช” (Brahmo Samaj) ซึ่งก่อตั้งโดยเทเพนทรนาถ ฐากูร บิดาของรพินทรนาถ ฐากูร มหากวีรางวัลโนเบลคนแรกของเอเชีย

พรหโม สมาช คือหนึ่งในขบวนการแสวงหาอัตลักษณ์ทางศาสนาของอินเดียในยุคอาณานิคมอังกฤษ และความพยายามจะสร้างศาสนาอันมีเหตุผลเพื่อต่อสู้กับแนวคิดตะวันตกไปด้วย

ดังนั้น ศาสนาฮินดูแบบพรหโม สมาช ในฐานะคำสอนปฏิรูปจึงละทิ้งการบูชารูปเคารพของบรรดาเทพเจ้ามากมาย ละทิ้งความเคร่งครัดในขนบประเพณีแห่งวรรณะ มุ่งศึกษาไปยังคัมภีร์พระเวทและอุปนิษัท เชื่อมั่นในสัจธรรมหนึ่งเดียวอัน (พรหมัน) เป็นนามธรรมตามแนวคิดแบบเวทานตะ

จากระบบการศึกษาตามแบบตะวันตกและการเข้าร่วมสมาคมเหล่านี้ ก่อรูปให้นเรนทร์เป็นนักเหตุผลนิยม เขาปฏิเสธความงมงายในทุกรูปแบบ

และแม้จะสนใจในศาสนาเพียงใด แต่เขาจะไม่ยอมรับนับถือบรรดานักบวชหรือคนศักดิ์สิทธิ์อย่างง่ายๆ

ยิ่งไปกว่านั้น เขาจะไม่ยอมรับการมีอยู่ของพระเจ้าจนกว่าจะมีคนพิสูจน์จนเขายอมรับได้

“หากมีพระเจ้าอยู่จริง พวกเราต้องเห็นพระองค์ หากแม้ว่ามีจิตวิญญาณ พวกเราก็ต้องรับรู้ ไม่เช่นนั้นแล้วมันจะดีเสียกว่าที่จะไม่เชื่อหรือศรัทธาใดๆ เลย การเปิดเผยตนเองว่าเป็นผู้ไม่เชื่อว่ามีพระเจ้าย่อมดีเสียกว่าการยอมเป็นคนเสแสร้ง”

นเรนทรนาถ ทัตตะ

การได้พบกับศรีรามกฤษณะ ปรมหงส์เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดในชีวิตของนเรนทร์ ชายผู้ตรงกันข้ามกับเขาทุกอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นภูมิหลังครอบครัว การศึกษา ฐานะ อายุ จะทำให้ชีวิตของนเรนทร์เปลี่ยนไปตลอดกาล

เพียงไม่กี่ครั้งที่ได้พบกัน ศรีรามกฤษณะ พราหมณ์ประจำเทวาลัยทักษิเณศวร คนที่ดูกึ่งบ้ากึ่งศักดิ์สิทธิ์ผู้นี้ ได้นำนเรนทร์ไปสู่ประสบการณ์มหัศจรรย์พันลึกของจิตใจ ชนิดที่ทำให้ความเป็นเหตุผลที่นเรนทร์ยึดถือนั้นใช้การไม่ได้

ก็เพียงท่านเอาเท้ามาสัมผัสหน้าอกของเขา โลกภายนอกที่นเรนทร์รับรู้หายไปสู่ความว่างเปล่า ไม่มีสิ่งใดปรากฏอยู่ นเรนทร์ถึงกับร้องออกมาด้วยความตกใจกลัว

คำถามที่เขามักจะโยนใส่บรรดาคนที่อ้างตัวเป็นคุรุ “พระเจ้ามีจริงหรือไม่?” ถูกตอบทั้งด้วยวาจาเฉียบคมและประสบการณ์แปลกประหลาดดังกล่าว

นเรนทร์โน้มเข้าหารามกฤษณะทีละนิด ทดสอบท่านครั้งแล้วครั้งเล่าจนแน่ใจว่าจะฝากชีวิตทางจิตวิญญาณไว้กับชายคนนี้ได้

นับแต่นั้นมา คำสอนของชายผู้ครอบครองความบ้าทิพย์ (divine madness) ได้ค่อยๆ ซึมซาบเข้าไปในจิตใจ แต่นอกเหนือคำสอนและประสบการณ์มหัศจรรย์แล้ว สิ่งที่ทำให้นเรนทร์ยอมรับศรีรามกฤษณะในฐานะคุรุ คือความบริสุทธิ์ของหัวใจและความรักเต็มเปี่ยมอันปราศจากความเห็นแก่ตัวที่ท่านมอบให้

ศรีรามกฤษณะรักนเรนทร์ดุจสาวกรักพระเจ้า ท่านเชื่อเสมอมาว่านเรนทร์คือพระนารายณ์ในร่างมนุษย์ สมตามนาม “นเรนทร์” เขาเป็นบุคคลที่ท่านรอคอยมาตลอดชีวิต รามกฤษณะเปรียบสานุศิษย์ว่าเป็นดอกบัว บ้างก็มีสิบกลีบ บ้างก็มีร้อยกลีบ แต่นเรนทร์คนเดียวที่เป็น “ดอกบัวพันกลีบ”

ส่วนนเรนทร์นั้นค่อยๆ รับรู้ถึงความรักของศรีรามกฤษณะอย่างช้าๆ จนกระทั่งได้เข้าใจว่า “ท่านรักข้าพเจ้าอย่างจริงจังอยู่ตลอด นั่นทำให้หลายคนรู้สึกอิจฉา”

และยกย่องศรีรามกฤษณะว่า

“เป็นอวตารแห่งปัญญา ความภักดี ความรักที่ไร้ขอบเขต การงานอันไร้ขอบเขต และความกรุณาอันไร้ขอบเขตต่อสรรพสัตว์”

 

การพบกับคุรุทำให้นเรนทร์เริ่มละทิ้งชีวิตทางโลกแม้จะยังหนุ่มแน่น เขาปฏิเสธการหมั้นหมาย พอถึงปี 1884 บิดาของเขาก็ตายลงกระทันหัน ครอบครัวประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก ชีวิตนเรนทร์ต้องพบกับความยากลำบาก ซึ่งทำให้เขายิ่งคิดหนักเรื่องชีวิตและการมีอยู่ของพระเจ้า ลองคิดดูว่าจากลูกอัยการผู้สูงส่งที่จู่ๆ ก็กลายเป็นคนยากจนที่สุดในชั้นรียนจะรู้สึกเช่นไร

เพราะอาจหมดสิ้นหนทางแล้ว ท้ายที่สุดเขาจึงขอให้ศรีรามกฤษณะอธิษฐานกับเจ้าแม่กาลี ผู้ที่ท่านอ้างว่าสามารถติดต่อสื่อสารได้ให้ทรงช่วยเหลือ แต่รามกฤษณะยืนยันให้นเรนทร์ขอพรนั้นด้วยตนเอง

เด็กหนุ่มผู้ไม่เคยกราบไหว้เทวรูปใดจึงไปยังเทวาลัยเจ้าแม่กาลี แต่เมื่อก้มลงกราบขอพรนั้น แทนที่จะเป็นคำอธิษฐานเพื่อความผาสุกและการเงินที่ดีขึ้นของครอบครัว นเรนทร์กลับขอให้เขามีปัญญาที่แท้จริงและมีความภักดีต่อพระเจ้าอย่างแท้จริงด้วย

นับตั้งแต่นั้น นเรนทร์หมดความอาลัยในสิ่งต่างๆ ทางโลก ปริญญาของเขาก็เป็นเพียงกระดาษ ชีวิตทางโลกก็เป็นแค่มายาภาพ เขาเข้ามาพบคุรุมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังคงตั้งคำถามอย่างคนมากปัญญาเช่นเคย รามกฤษณะเองก็ไม่มีความเหน็ดหน่ายที่จะสอนเขาเช่นเดียวกัน

นอกจากนเรนทร์ ชื่อเสียงของคุรุบ้าผู้นี้ยังได้ชักนำเอาคนหนุ่มในโกลกาต้ามาเรียนรู้หนทางจิตวิญญานอีกจำนวนหนึ่ง จนเกิดเป็นกลุ่มก้อนของศิษย์รุ่นแรก

แต่ชีวิตก็ไม่มีอะไรแน่นอน เพียงไม่นานนับตั้งแต่บิดาของนเรนทร์สิ้นขีวิต คุรุที่เขารักก็ป่วยหนักด้วยโรคมะเร็งที่ลำคอ

และจากโลกนี้ไปในอีกปีถัดมา •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง