คาฑเคบาบา : นักบุญถือไม้กวาด ผู้พยายามเปลี่ยนแปลงสังคม

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

“พี่ชาย เธอเป็นพราหมณ์หรือ?” “ใช่ครับ”, “เธอมีฟันกี่ซี่ ” “สามสิบสองครับ”, “ทำไมเธอถึงไม่มีสามสิบสี่ซี่ล่ะ” “นั่นเป็นไปไม่ได้”, “คนนั้นที่เป็นจัณฑาลมีฟันกี่ซี่” “สามสิบสองเหมือนกันครับ”, “ทำไมไม่เป็นสามสิบเจ็ดหรือแปดล่ะ” “นั่นก็เป็นไปไม่ได้”

“อย่างที่เธอเห็น ธรรมชาติได้สรรค์สร้างให้มนุษย์เหมือนกัน แล้วโรคระบาดแห่งประเพณีไม่แตะต้องกัน (untouchability) นั้นมาจากแห่งหนใด? พระเจ้าของมหาร์ (วรรณะต่ำ) ก็เหมือนกันกับพระเจ้าของพวกพราหมณ์และมาราฐา ท้องฟ้าก็เป็นอย่างเดียวกันทั้งกับพวกมังคะ คุชราตีและมรรวาที (คนกลุ่มต่างๆ) พระอาทิตย์ก็อุทัยแก่พวกฉามพา เกสถะและเศนวิส หรือท่านเห็นว่ามีพระเจ้า ท้องฟ้า และพระอาทิตย์ที่แตกต่างกันแก่คนแต่ละกลุ่มหรือ?”

คาฑเคบาบากล่าวกับพราหมณ์

 

สังคมชนบทในแคว้นมหาราษฏร์เมื่อเกือบร้อยห้าสิบปีที่แล้ว ชาวนาต่างเซ่นสรวงบูชาเทพเทวีพื้นเมืองด้วยการฆ่าสัตว์ โดยหวังใจว่าเจ้าพ่อเจ้าแม่เหล่านั้นจะบันดาลให้โรคระบาดหายไป ทั้งพืชผลก็จะบริบูรณ์ดี แม้ในหมู่บ้านชนบทแบบนี้ การแบ่งชนชั้นวรรณะก็ยังคงมี ท่ามกลางความอดอยากยากจนและขาดสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน

เทพูชี ชโนร์กร (Debuji Janokar) เกิดเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ1876 ในสภาพสังคมข้างต้น เขาเป็นลูกชายของคนซักผ้าซึ่งเป็นวรรณะต่ำในหมู่บ้านเศนท์คาว (Shendgaon) เมืองอมราวตี รัฐมหาราษฏร์

ตามประเพณีชาวนาชาวไร่ เมื่อมีบ้านใดให้กำเนิดลูกสาวหรือลูกชาย เจ้าบ้านจะต้องฆ่าสัตว์บูชายัญเซ่นสรวงแล้วนำเนื้อสัตว์นั้นมาปรุงอาหารเลี้ยงเพื่อนบ้าน ทั้งยังต้องดื่มสุรากันอย่างเต็มที่ ซิงคราชี (Zingraji) บิดาของเทพูชีก็ทำเช่นนั้นเมื่อภรรยาของเขา สขุพาอี (Sakhubai) ให้กำเนิดลูกสาวคนแรก

ทว่า ไม่นานนัก ลูกสาวคนแรกของครอบครัวได้ตายลงยังความเศร้าโศกแก่บิดาเป็นอันมาก ซิงคราชีเอาแต่ดื่มสุราซึ่งเขาพึ่งเคยได้ลิ้มลองเป็นครั้งแรกจากงานฉลองลูกสาวเมื่อไม่นาน แม้ต่อมาเมื่อมีลูกชายคือเทพูชีแล้ว การดื่มสุราของเขาก็ไม่ได้เบาลงเลย

ดูเหมือนการดื่มสุราจะเป็นทางเดียวที่เขาจะหนีจากความทุกข์ในชีวิต ซิงคราไม่มีเรี่ยวแรงทำงาน ได้เงินมาก็เอาไปซื้อเหล้าหมด ทรัพย์สินก็ค่อยๆ ร่อยหรอจนต้องพาภรรยาและลูกไปอยู่กับมารดาของตน

สุดท้ายเขาก็ตายลงโดยสั่งเสียไว้ว่า ขอให้บุตรชายอย่าได้ข้องเกี่ยวกับการฆ่าสัตว์บูชายัญอันไร้สาระและการดื่มสุราที่นำความวิบัติมาสู่ครอบครัวเช่นเขาเอง

 

สขุพาอีพาลูกๆ ไปอยู่กับพี่ชาย เทพูชีเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรงและเฉลียวฉลาด เขาไม่ได้รับการศึกษาตามประสาลูกชาวนาที่ยากจน วันทั้งวันหมดไปกับการทำงานในไร่นา ต้อนสัตว์หากิน ตักน้ำ ผ่าฟืน กระนั้นเขาก็ยังมีเวลาพอที่จะไปร่วมฟังและขับร้อง “กีรตัน” หรือเพลงสรรเสริญที่เทวาลัยของหมู่บ้าน เสียงใสกังวานของเขาเป็นที่จับใจผู้ฟัง ดูเหมือนเด็กชาวนาคนนี้จะมีแววทีเดียว

ในวัยสิบห้าปี มารดาของเขาคิดว่าเทพูชีสมควรที่จะแต่งงานได้แล้ว เขาแต่งงานกับกุนตาโดยมีบุตรสาวสองคน สขุ, กาลวตี และบุตรชาย มุทคล

เทพูชีปฏิเสธที่จะทำตามประเพณีของชุมชน เขาไม่ยอมฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญและเลี้ยงแขก รวมทั้งไม่ยอมให้มีการดื่มสุราในงาน นั่นสร้างความโกรธเคืองให้ชาวบ้านเป็นอันมาก และมีเพียงมารดาที่สนับสนุนเรื่องนี้

แต่ละวันผ่านไปอย่างหนักหน่วง งานในไร่นาดูเหมือนจะไม่มีวันจบสิ้น การกดขี่และเอารัดเอาเปรียบมีอยู่โดยทั่วไป กระนั้นความศรัทธา ความรักในชีวิตสัตว์ และคุณลักษณะที่ดีอื่นๆ ของเขาก็มิได้ลดน้อยถอยลงเลย

วันที่เป็นจุดหักเหในชีวิตเทพูชีเกิดขึ้นเมื่อมีชายแปลกหน้าเข้ามาในหมู่บ้าน เขาดูเหมือนนักบวช แม้จะภิกขาจารแต่กลับพูดว่า “ฉันมีทุกอย่างที่ต้องการ” เทพูชีตามชายคนนั้นไปที่ชายป่าแล้วกลับมาที่บ้านในอีกสองวันถัดมา ไม่มีใครรู้ว่ามีบทสนทนาอะไรเกิดขึ้นบ้าง

สุดท้ายเขาตัดสินใจออกจากบ้าน ละทิ้งครอบครัวไว้เบื้องหลัง เร่ร่อนไร้ถิ่นพำนัก ช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ ของผู้คนที่พบเพื่อแลกกับโรตีสักแผ่น หรือภิกขาจากบ้านหนึ่งไปสู่บ้านหนึ่ง

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเทพูชีอายุได้สามสิบปี

 

เขามีเพียงผ้าที่ปะชุนจนดูไม่เป็นทรงหุ้มกาย มีหม้อแตกๆ ใบหนึ่งใช้เป็นภาชนะใส่อาหาร ซึ่งดูราวกับถ้วยกปาลหรือถ้วยกระโหลกของพวกนักบวชที่นับถือพระศิวะ ยามไม่ใช้ก็จะเอาหม้อนี้ครอบศีรษะ ผู้คนจึงเรียกเขา “คาฑเคบาบา” (Gadge baba) หมายความว่า “หลวงพ่อหม้อดิน”

คาฑเคเป็นภาษามาราฐีหมายถึงหม้อ ซึ่งแผลงมาจาก ขฏะ ในภาษาสันสกฤต บ้างก็เรียกเขาว่า คาฑเคมหาราช

เมื่อถูกถามถึงชื่อสกุลและวรรณะ คาฑเคบาบามักจะไม่ตอบ เพราะถือว่าตนเองได้พ้นจากวรรณะและชื่อสกุลเดิมแล้ว

บางคนเลยคิดว่าท่านน่าจะเป็นพวกนอกวรรณะที่แอบอ้างเป็นนักบวช จึงไล่ไปอยู่ในชุมชนของคนนอกวรรณะหลายครั้ง

นั่นกลับทำให้คาฑเคบาบาได้เรียนรู้ว่า ชีวิตของคนนอกวรรณะต้องประสบพบเจอความโหดร้ายและการกดขี่เพียงใด

ท่านจึงมีความมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งที่จะปฏิรูปสังคมให้มีความเท่าเทียมเสมอภาค

เมื่ออยู่ที่เมืองมูรติจาปูระ มีญาติที่เผอิญผ่านมาและจดจำท่านได้ จึงรีบส่งข่าวไปยังมารดาของท่าน

สขุพาอีได้ขอร้องให้คาฑเคบาบากลับบ้านไปดูแลครอบครัว

แต่ท่านตอบว่า

“แม่อยากให้ลูกกลับบ้าน แต่ลูกไม่มีบ้านอีกแล้ว บ้านหลังเดียวที่เรามีคือบ้านของพ่อซึ่งถูกเจ้าที่ดินยึดไป อีกหลังหนึ่งก็เป็นของลุง ไหนล่ะบ้านของลูก? แต่บัดนี้ลูกมีบ้านหลังหนึ่ง บ้านหลังนี้มีท้องฟ้าเป็นหลังคา กำแพงคือทิศทั้งสี่ มีผืนปฐพีเป็นแผ่นพื้น ลูกไม่เปล่าเปลี่ยวเลย เพราะลูกมีแม่ มีพี่สาวและน้องชายจำนวนมากมายเหลือคณาในหมู่คนยากจนเข็ญใจ ผู้ที่ลูกอาศัยอยู่กับพวกเขา อย่ากลัวเลยที่จะอยู่โดยปราศจากลูก ขอให้พระเจ้าทรงคุ้มครองแม่และเมียเสมอนะ แต่หากต้องการลูกจริง ก็ขอให้มาใช้ชีวิตด้วยกันในสภาพเช่นนี้”

 

คาฑเคบาบาต่างจากนักบุญองค์อื่น ท่านมิได้มีผลงานเขียนอันซับซ้อน มิได้มีบทกวีมากมายให้ขับร้อง ตัวท่านนิยมชมชอบกวีของนักบุญกพีระและนักบุญตุการาม เรื่องราวและบทสนทนาของท่านถูกบันทึกโดยคนร่วมสมัยและอนุชน

ท่านมิใช่นักปรัชญาหรือคุรุผู้มีสำนักและศิษย์มากมาย ท่านเพียงเดินจากหมู่บ้านหนึ่งไปยังหมู่บ้านหนึ่ง ช่วยเหลือคนยากจน พยายามกระตุ้นความคิดเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม สอนให้มีศรัทธาในพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ แม้ไร้การศึกษาแต่ก็ได้ช่วยตั้งโรงเรียน ที่พักแรมคนจรและโรงทานแก่ชาวบ้านนับไม่ถ้วน

เครื่องมือสำคัญของคาฑเคบาบา คือ “กีรตัน” หรือการขับร้องสรรเสริญและบทเทศนาอันดุเดือด ท่านมักกระตุ้นถามผู้ฟังให้พวกเขาคิดได้เองว่า ควรละทิ้งพิธีกรรมอันไร้เหตุผลและการยึดมั่นในระบบวรรณะ ท่านสั่งสอนให้เลิกการบูชายัญด้วยสัตว์ ละทิ้งความเชื่อที่มืดบอด ปลุกเร้าให้เชื่อเรื่องความเท่าเทียมและเปลี่ยนแปลงจากพลังจากผู้ถูกกดขี่เอง รวมทั้งการสนับสนุนความสะอาดและสุขอนามัย เพื่อยกระดับชีวิตผู้คนให้อยู่ดีมีสุขและปลอดภัยมากขึ้น

ไม่มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับปาฏิหาริย์ของคาฑเคบาบา ท่านเห็นว่าปาฏิหาริย์เป็นเรื่องตลกโดยกล่าวว่าหากปาฏิหาริย์และอำนาจเวทมนตร์มีจริง คนเราคงไม่ต้องใช้อาวุธสงครามในการประหัตประหารกันไปแล้ว

คาฑเคบาบาเห็นว่าการมีชีวิตอยู่คือปาฏิหาริย์ที่แท้

 

บางครั้งท่านก็มีอารมณ์ขันในการงานของตน เช่น หากเข้าไปยังหมู่บ้านที่ไม่มีใครรู้จักท่าน คาฑเคบาบาก็จะเริ่มปัดกวาดท้องถนนและที่สาธารณะ

เมื่อมีผู้มาถามเหตุผล ท่านก็จะตอบว่าเพราะคืนนี้จะมีบุคคลศักดิ์สิทธิ์มาขับกีรตันและเทศน์สอน ชาวบ้านก็จะแพร่ข่าวลือนี้ไปอย่างรวดเร็ว

เมื่อชาวบ้านมาชุมนุมกันในเวลาค่ำแล้ว ชายกวาดถนนคนนั้นก็จะขึ้นมาขับกีรตันและเริ่มเทศน์ท่ามกลางความประหลาดใจของทุกคน

เมื่อสอนเสร็จ ท่านจะจากไปอย่างรวดเร็วโดยที่ผู้คนไม่ทันสังเกต เพื่อมิให้ใครมาก้มกราบเท้าของท่าน ซึ่งคาฑเคบาบาเห็นว่า การกระทำเช่นนั้นเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีของมนุษย์

ต่อเมื่อท่านมีชื่อเสียงขจรขจายแล้ว ท่านยังคงใช้วิธีปัดกวาดท้องถนนเพื่อกระตุ้นผู้คนที่เห็น ซึ่งตกใจว่านักบุญสำคัญมากวาดถนนในหมู่บ้านของตน ให้ออกมาร่วมทำความสะอาดด้วยกัน

คาฑเคบาบามีความสัมพันธ์อันดีกับ ดร.อัมเพฑกร (B. R. Ambedkar) ทั้งสองได้พบกันและแลกเปลี่ยนทัศนะในการเปลี่ยนแปลงสังคมอยู่บ่อยๆ กล่าวกันว่าอัมเพฑกรนับถือคาฑเคบาบาเป็นคุรุท่านหนึ่งนอกเหนือจากพระพุทธเจ้าและนักบุญกพีรทาส ส่วนคาฑเคบาบาก็ยกย่องอัมเพฑกรในการพูดสาธารณะเสมอ

เมื่อ ดร.อัมเพฑกรเสียชีวิตในเดือนธันวาคมปี 1956 คาฑเคบาบาเสียใจมาก ท่านได้จากโลกนี้ไปในเดือนเดียวกัน ห่างเพียงไม่กี่วันเท่านั้น

ท่านเสียชีวิตในขณะกำลังจาริกเร่ร่อน ระหว่างทางไปเมืองอมราวตี

ท่ามกลางคนยากคนจนที่ท่านรัก •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง