คชานันมหาราช : นักบุญในคราบคนบ้า

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

“ก้อนกรวดอาจจมนิ่งแช่อยู่ในน้ำ ทว่า ไม่ปล่อยให้น้ำเข้าไปภายใน เช่นเดียวกับความประพฤติในโลกนี้ เราควรเป็นอิสระจากความคาดหวังและความยึดมั่นถือมั่น พึงจดจ่อต่อองค์พระผู้สูงสุด”

“ผู้คนมาหาเธอเฉพาะในวันที่เธออยู่ดีมีสุข แต่เฉพาะพระนารายณ์เป็นเจ้าเท่านั้นที่อยู่กับเธอในวันแย่ๆ ด้วย ดังนั้น จงสวดภาวนาเพื่อพระองค์เสมอ พระองค์จะไม่ทอดทิ้งเธอ”

คชานันมหาราช

 

บ่ายของวันที่ 23 เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1878 ข้างถนนของเมืองเล็กๆ นามเชคาวน์ (Shegaon) ซึ่งอยู่ห่างไกลจากมุมไบเกือบหกร้อยกิโลเมตร ชายไม่สวมเสื้อผ้า อายุราวสามสิบปีกำลังกินเศษอาหารจากจานใบไม้ที่เขาโยนทิ้งแล้ว พฤติกรรมนี้ดูไม่ต่างจากคนบ้าหรือคนจรจัดแต่อย่างใด

นักบุญบางท่านปรากฏตัวขึ้นอย่างสง่า บางท่านสำแดงตนอย่างปราชญ์หรือผู้ทรงภูมิ ทว่าใครจะคาดคิดว่าพฤติกรรมในข้างต้นคือการปรากฏตัวครั้งแรกของนักบุญคชานันมหาราช (Gajanan Maharaj) อันเป็นที่เคารพนับถืออย่างแพร่หลายในภายหลัง

คำว่า “มหาราช” มิได้มีความหมายอย่างในภาษาไทย ในบริบทอินเดียมีความหมายว่า “พระคุณท่าน” หรือ “พระคุณเจ้า” ซึ่งเป็นคำยกย่องอย่างลำลอง ใช้เรียกได้ทั้งนักบวชและคุรุอาจารย์ที่เป็นฆราวาส

ระหว่างที่ชายนิรนามคนนั้นคุ้ยเศษอาหารกินอย่างหิวโหย ศรีพังคัตลาล อครวาลและทาโมทระ กุลกรรณี ชายสองคนในหมู่บ้านนั้นต่างเฝ้ามองด้วยความสงสัยระคนสงสาร พังคัตลาลรีบกลับบ้านไปนำเอาอาหารร้อนๆ ใหม่ๆ มาให้ ทว่า ชายคนนั้นมิได้แสดงความดีใจหรือรู้สึกว่าเศษอาหารที่เขาเพิ่งกินเข้าไปจะแตกต่างกับอาหารใหม่ๆ ที่เพิ่งมาถึง

เขากลับเอาทั้งเศษอาหารและอาหารที่เพิ่งนำมาผสมเข้าด้วยกัน แล้วกินต่อไปด้วยสีหน้าเรียบเฉย

พังคัตลาลรู้สึกว่า ชายคนนี้จะต้องกระหายน้ำด้วยแน่ๆ จึงกลับบ้านอีกครั้งเพื่อไปนำหม้อบรรจุน้ำมาให้ ทว่า คชานันมหาราชเดินไปยังบ่อน้ำสำหรับพวกปศุสัตว์ แล้ววักน้ำนั้นดื่มกินโดยไม่สนใจความสกปรกของน้ำนั้น

“อาหารคือพรหมันอันสูงสุด!” ท่านเงยหน้าขึ้นพร้อมเอ่ยข้อความลึกซึ้งนี้จากอุปนิษัท สายตาท่านมองพังคัตลาลและทาโมทระด้วยเมตตา จนคนทั้งสองรู้สึกได้ว่าชายคนนี้น่าจะไม่ใช่คนบ้าเสียแล้ว

ท่านกล่าวต่อไปว่า “น้ำย่อมไม่มีความสกปรกมลทิน เหตุว่าทุกสิ่งในจักรวาลย่อมมาจากหลักแห่งพรหมัน ดังนั้น จงอย่าได้ทิ้งขว้างอาหารและน้ำเลย” แล้วจากไป

 

หลังการพบกันครั้งนั้น พังคัตลาลปรารถนาจะพบคชานันมหาราชอีก จนได้พบท่านในวัดพระศิวะแห่งหนึ่งอย่างบังเอิญ เขาจึงเชิญท่านไปอาศัยอยู่ที่บ้าน

เมื่อข่าวเรื่องนักบวชประหลาดแพร่หลายออกไป บ้านของพังคัตลาลก็คับคั่งไปด้วยฝูงชนที่พากันมาดูนักบวชคนนี้ด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆ กัน

คชานันมหาราชพำนักกับพังคัตลาลได้ระยะหนึ่งก็ออกไปอยู่ตามเทวสถานร้างหรือป่าเขาตามที่ชื่นชอบ และยังคงเปลือยกายไปยังสถานที่ต่างๆ โดยไม่สนใจสายตาของผู้คน บางครั้งท่านก็ทำสิ่งที่แปลกประหลาด เช่น นอนหลับยาวๆเป็นเวลาหลายวัน หรือนั่งนิ่งๆ ไม่ไหวติงตลอดทั้งวันโดยไม่พูดจา

ท่านมักชอบสูบกัญชาและยาเส้นจากกระบอกสูบที่นักบวชใช้ ดูเหมือนนี่จะเป็นภาพลักษณ์ประจำตัวของท่านเลยทีเดียว ภาพถ่ายและรูปเคารพที่ผู้คนกราบไว้ก็มักสร้างขึ้นในท่าทางนี้

บางครั้งคชานันมหาราชก็เข้าสู่สมาธิ ท่านอยู่ในสภาวะนิ่งเฉยต่อสิ่งต่างๆ ดูคล้ายกำลังเมาหรือตกภวังค์ แต่ยังสามารถทำนายทายทักหรือบอกเหตุล่วงหน้า ทั้งยังมีคำสอนที่ทะลุทะลวงไปยังหัวใจคนออกมาจากสภาพเช่นนั้น

ท่านมีวลีเป็นมนตร์ติดปากว่า “คณะ คณะ คณาต โบเต” (Gana Gana Ganat Bote) ซึ่งมิใช่ภาษาที่ใช้พูดกันปกติและยากที่จะเข้าใจ บางคนจึงตีความวลีนี้ว่า “พระเจ้าสถิตในทุกๆ สิ่ง” หรือเป็นคำสรรเสริญพระเจ้าจากสภาวะจิตของท่านซึ่งมิมีผู้ใดล่วงรู้ความหมายที่แท้จริง

 

ชาวบ้านลือกันว่านักบวชอวธูตรูปนี้ศักดิ์สิทธิ์นัก สามารถแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ช่วยเหลือผู้คนได้ กระนั้นหลายคนยังสงสัยในตัวตนของท่าน ว่าที่จริงแล้วคชานันมหาราชเป็นคนบ้าหรือนักบุญกันแน่

บางคนพยายามทดสอบด้วยความสงสัยหรือแม้แต่ด้วยอาการดูถูกก็มี เช่น บรรดาพี่น้องของภาสกร ปาเฏล หัวหน้าหมู่บ้านที่คชานันมหาราชไปอาศัยในเทวสถานประจำหมู่บ้านนั้น บรรดาวัยรุ่นเลือดร้อนผู้นิยมความรุนแรงและชอบใช้กำลัง ได้เข้ามาท้าทายนักบุญผู้ที่ตนเห็นเป็นแค่คนจรจัด ทั้งพยายามข่มขู่และไล่ท่านออกไปจากหมู่บ้านด้วยความหยาบคาย

คชานันมหาราชจึงท้าทายวัยรุ่นกลุ่มนั้นว่า หากพวกเขาเอาเชือกมาผูกลากท่านให้ขยับได้ ท่านก็จะยอมออกไป ทว่ากำลังของชายหนุ่มห้าคนก็ไม่สามารถผลักหรือลากท่านให้ขยับได้แม้แต่นิ้วเดียว

ด้วยความสงสัยต่อพละกำลังที่พิเศษ หนึ่งในนั้นกลับบ้านไปเอาท่อนอ้อยมาหลายท่อน แล้วท้าทายให้ท่านรีดน้ำอ้อยออกมา คชานันมหาราชจึงใช้เพียงมือเปล่าบิดท่อนอ้อยเหล่านั้นราวกับบิดผ้าอย่างง่ายดาย ทุกคนจึงกราบขมาลาโทษและรับรู้ว่าชายคนนี้มิใช่คนธรรมดา

เรื่องราวปาฏิหาริย์ที่คชานันมหาราชทำนั้นยังมีอีกมาก เช่น ทำให้บ่อน้ำที่แห่งเหือดกลับมีขึ้นมาใหม่ ทำให้ม้าและวัวพยศยอมสงบนิ่งอยู่กับท่าน แต่ปาฏิหาริย์ส่วนมากของคชานันมหาราชมีไว้เพื่อช่วยเหลือผู้คน เช่นรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วย และช่วยให้พวกเขาสมปรารถนา เพราะท่านมีความรักต่อสาวกดุจมารดารักบุตรของตน

 

คชานันมหาราชเคยได้พบกับพาล คงคาธร ติลัก นักเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชของอินเดียคนสำคัญในวันที่ 4 พฤษภาคม 1908 ท่านพยากรณ์ว่า ไม่นานนักติลักจะโดนข้อหาหนักและถูกลงโทษจากรัฐบาลอังกฤษ และก็เป็นเช่นนั้นจริง ทว่าท่านยังพยากรณ์ไว้ด้วยว่า ติลักจะได้สร้างผลงานที่สำคัญเมื่ออยู่ในคุก ซึ่งติลักได้ประพันธ์อรรถาธิบายภควัทคีตาเสร็จสิ้นขณะถูกจำคุกนั่นเอง

หลายครั้งหลายครา คชานันมหาราชทำให้ทุกคนประหลาดใจต่อความรู้ของท่าน วันหนึ่งมีพราหมณ์เตลังคนะเข้ามาในหมู่บ้าน พราหมณ์คนนี้ต้องการให้ทุกคนสนใจและอวดภูมิรู้ของตน จึงเริ่มสวดพระเวทด้วยเสียงอันดังและด้วยท่วงทำนองสูงลิ่ว คชานันมหาราชเข้าไปใกล้แล้วบอกว่าเขาสวดผิด พราหมณ์ไม่พอใจที่คนแปลกหน้ามาติเตียนตนเช่นนั้นแล้วดูถูกคชานันจากสภาพที่เขาเห็น

คชานันมหาราชจึงสวดพระเวทที่ถูกต้องให้ฟังท่ามกลางความตกตะลึงทั้งของพราหมณ์และผู้คนรอบๆ ไม่มีใครรู้ว่าท่านร่ำเรียนมาจากไหน หรือได้ความรู้เช่นนี้มาอย่างไร

ไม่มีใครรู้ประวัติที่แท้จริงของท่าน ไม่มีใครรู้ว่าท่านเกิดวันไหน มีชีวิตวัยเด็กอย่างไรหรือเป็นลูกเต้าเหล่าใคร ตัวคชานันมหาราชเองก็ไม่เคยเล่าถึงชีวิตของตัวเองเลย

นี่ดูจะเป็นประเพณีปฏิบัติอย่างหนึ่งของบรรดานักบวชในอินเดียที่ต้องการจะละทิ้งสถานภาพทางสังคมเดิมของตน ไปสู่ตัวตนใหม่ที่อาจกว้างขวางและทำประโยชน์ได้มากกว่า

 

ชีวิตของคชานันมหาราชถูกรวบรวมไว้ในหนังสือ “ศรี คชานัน วิชัย ครันถะ” ซึ่งประพันธ์โดยศรี ทาสคณุ มีความยาวถึง 21 บท เป็นร้อยกรองแบบโอวีในภาษามาราฐี สาวกเชื่อกันว่าหากใครท่องบ่นหนังสือนี้จะได้รับพรอย่างมากมาย

ที่จริงนอกจากปาฏิหาริย์ที่ผู้คนนิยมชมชอบ ปาฏิหาริย์ที่สำคัญสุดของคชานันมหาราชคือการที่ท่านท้าทายพวกหน้าไหว้หลังหลอกอยู่เสมอ จะด้วยการปรากฏดุจคนบ้าของท่าน ซึ่งทำให้คนพวกนั้นดูถูกแล้วแสดงสันดานแท้จริงของตนออกมา หรือการที่ท่านมักใช้ “ปาฏิหาริย์เล็กๆ” ล่อปลาใหญ่ให้ติดกับ เช่นเรื่องนักบวชชื่อพรหมคิริ

พรหมคิริพร้อมสาวกเข้ามาในเชคาวน์ เปิดการสอนภควัทคีตาทั้งที่ในใจต้องการแสดงภูมิเพื่อให้ชาวบ้านศรัทธาแล้วหาผลประโยชน์ ขณะเทศน์ไปถึงบทที่ว่าอาตมันไม่อาจถูกตัดหรือถูกทำลายได้

คชานันมหาราชซึ่งนั่งฟังอยู่บนกองฟาง ได้เอาไฟจากกล้องยาสูบของท่านเทลงบนกองฟางนั้น ไฟลุกโหมขึ้นอย่างรวดเร็ว บรรดาศิษย์จะรีบวิ่งไปเอาน้ำแต่ถูกห้ามไว้ ท่านพูดขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า ถ้าพรหมคิริเชื่ออย่างที่เทศน์ในภควัทตคีตาที่ว่าอาตมันไม่อาจถูกทำลายหรือตายได้จริง ก็จงลงมานั่งด้วยกันในกองเพลิงนี้เถิด

พรหมคิริพร้อมศิษย์ได้แต่ก้มลงมิกล้าสู้หน้าคชานันมหาราช จนกองเพลิงนั้นมอดลงโดยที่ท่านไม่ได้รับบาดเจ็บอะไรเลย

ในปี 1910 คชานันมหาราชเดินทางไปยังเมืองปัณฑรปุระ ท่านกล่าวกับพระวิโฐพาเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ด้วยน้ำตานองหน้าว่า “ข้าได้อยู่ในโลกนี้ตามประสงค์ของพระองค์เพื่อเติมเต็มความปรารถนาของสาวก บัดนี้ภารกิจของข้าได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ขอพระองค์ประทานอนุญาตให้ข้าจากโลกนี้ไป เพื่อจะได้พำนักอยู่แทบเบื้องบาทของพระองค์ด้วยเถิด”

วันที่ 8 เดือนกันยายน 1910 คชานันมหาราชก็ได้จากโลกนี้ไป

สู่พระบาทของพระเจ้าตามที่ท่านต้องการ •

 

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง