ศิรทิ ไสบาบา : จงมองมายังฉัน แล้วฉันจะเฝ้ามองเธอ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

“หากเธอร่ำรวยจงอ่อนน้อม ต้นไม้เมื่อมีผลก็โน้มลง, จงใช้เงินเพื่อกิจกุศล จงมีน้ำใจและเอื้อเฟื้อกว้างขวางแต่อย่าฟุ่มเฟือย, หากมีสิ่งสร้างใดของพระเจ้ามาสู่เธอไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสิ่งอื่น ให้ปฏิบัติอย่างอาทร จงมองให้เห็นทิพยภาวะในมนุษย์ทั้งปวง”

ศิรทิ ไสบาบา

 

ชายชราคนหนึ่งพำนักอย่างยากจน ณ มุมเล็กๆ ของมัสยิดในหมู่บ้านศิรทิ (Shirdi) เมืองอหเมดนคร (Ahamednagar) แคว้นมหาราษฏร์

ไม่มีใครรู้หัวนอนปลายเท้าของชายคนนี้ ไม่มีใครทราบแม้แต่ชื่อของเขา ไม่มีใครรู้ว่าเขาเป็นมุสลิมหรือฮินดูกันแน่

แต่แรกชาวบ้านคิดว่าเขาเป็นคนบ้า คนบ้าผู้แต่งตัวด้วยชุดคลุมยาวและใช้ผ้าหุ้มศีรษะเหมือนมุสลิม ริมฝีปากของเขามักจะเอ่ยพระนาม “อัลเลาะห์” อยู่บ่อยๆ แต่กลับตั้งชื่อมัสยิดร้างที่ตนเองอาศัยว่า “ทวารกาไม” (Dvarakamai)

ทวารกาคือเมืองแห่งพระกฤษณะ ส่วน “ไม” หมายถึงแม่ในภาษามาราฐี ดังนั้น มัสยิดอิสลามจึงมีชื่ออย่างฮินดูว่านิวาสสถานของพระกฤษณะที่รักสาวกดั่งแม่

ราวปี ค.ศ.1855 ถึง 1858 สามปีแรกที่ปรากฏตัวในศิรทิ ไม่มีใครสนใจนักบวชบ้าคนนี้ แต่ภายหลังเมื่อเริ่มแสดงปาฏิหาริย์และเป็นที่รู้จัก ชาวบ้านจึงเรียกเขาว่า “ไสบาบา” (Sai Baba) ด้วยความเคารพ

ไสหรือสาอี (Sai) แผลงมาจากคำสันสกฤตว่า “สวามี” อันหมายถึงนายหรือผู้ควรเคารพ ส่วนบาบาเป็นการเขียนตามเสียง (พาพา) แปลว่า พ่อหรือปู่

ชาวอินเดียมักเรียกผู้ศักดิ์สิทธิ์อย่างลำลองด้วยคำว่าบาบา ทำนองเดียวกับคนไทยมีคำเรียกว่า พ่อปู่ หลวงปู่ หรือพ่อท่านอะไรทำนองนั้น

ทั้งนี้ ไม่พึงสับสนกับผู้ใช้นามว่าไสบาบาอีกท่านหนึ่ง (สัตยไสบาบา) อันเป็นที่รู้จักแพร่หลายอยู่ในเมืองไทย ดังเราจะเห็นภาพชายผิวคล้ำสวมชุดคลุมยาวสีส้ม ผมหยิกฟูทรงกลม ผู้โด่งดังจากการแสดงปาฏิหาริย์แห่งเมืองปุตตปรติ ซึ่งท่านผู้นี้อ้างว่าเป็นอวตารของไสบาบาแห่งศิรทินี่เอง

 

เรื่องราวชีวิตของไสบาบามีบันทึกไว้ในหนังสือชื่อ “ศรี ไส สัตจริต” (Shri Sai Satcharit) หรือเรื่องราวอันจริงแท้แห่งไสบาบา ประพันธ์โดย โควินทะ รฆุนาถ ทโภลกร หรือ เหมัทปันต์ (Hemadpant) ผู้มีชีวิตร่วมสมัยกับไสบาบา

มีบางข้อสันนิษฐานว่าไสบาบา เกิดใกล้ศิรทิในราวปี 1838 บ้างก็ว่าท่านเกิดในตระกูลพราหมณ์แต่ถูกเลี้ยงดูโดยฟากีร์ (Fakir) หรือนักบวชมุสลิมซูฟี ซึ่งเร่ร่อนละทิ้งทรัพย์สมบัติเพื่อแสวงหาพระเจ้า นั่นทำให้ไสบาบาเติบโตมาเป็นฟากีร์เช่นเดียวกัน

ชาวบ้านศิรทิค้นพบบาบาครั้งแรกเมื่อท่านยังเป็นหนุ่มน้อย ทว่าหนุ่มน้อยคนนี้กลับบำเพ็ญตบะทั้งวันทั้งคืนอยู่ใต้ต้นนีมหรือสะเดาแขก ทนต่อความร้อนหนาวนิ่งอยู่ในท่าโยคะ วันหนึ่งเด็กหนุ่มคนนี้ก็หายตัวไป และกลับมาที่ศิรทิในงานแต่งงานของบ้านจันทะ ภาอี ผู้ที่ไสบาบาเคยช่วยทำนายการหายไปของม้าของเขา

ระหว่างนั้น มหัลษปติเจ้าของไร่ใกล้เคียง พบฟากีร์หนุ่มนั่งอยู่ใต้ต้นไทร เขาจึงเอ่ยเชื้อเชิญว่า “ยา ไส!” ซึ่งหมายความว่า “เชิญเถิดสวามี” จึงเป็นเหตุการณ์ครั้งแรกที่มีผู้เรียกท่านว่าไส

แม้จะดูเหมือนฟากีร์และพำนักอยู่ที่มัสยิด แต่ไสบาบาจะสอนชาวฮินดูให้ศึกษาคัมภีร์ของตน ท่านสามารถยกเอาเทวตำนานฮินดูมาเล่าประกอบการสอนได้ ส่วนศิษย์มุสลิมท่านจะยกคำสอนในอัลกุรอ่านมาสาธกได้เช่นเดียวกัน

ที่น่าตลกคือหากใครคิดว่าท่านเป็นฮินดู ท่านจะแสดงตนว่าเป็นมุสลิม หากใครคิดว่าท่านเป็นมุสลิม ท่านจะแสดงตนเป็นฮินดู

ศิรทิ ไสบาบา

แก่นคำสอนของไสบาบาอยู่ที่ให้มีความรักต่อพระเจ้าอย่างจริงใจและปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์อย่างเท่าเทียม ให้ช่วยเหลือผู้ยากไร้และดำรงตนอยู่ในศีลธรรม ท่านถือว่าทุกๆ ชีวิตล้วนมีสภาวะแห่งพระเจ้าอยู่ภายในจึงควรค่าแก่การเคารพ ดังนั้น ความแตกต่างที่ปรากฏไม่ว่าจะเรื่องชนชั้นวรรณะหรือศาสนา เป็นก็แต่เพียงมายาภาพเท่านั้น

ไสบาบากล่าวว่า “พระเจ้าทั้งหลายเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีความแตกต่างระหว่างฮินดูและมุสลิม เทวสถานหรือมัสยิดก็ล้วนเหมือนๆ กัน”

ความพยายามประสานความขัดแย้งระหว่างฮินดูและมุสลิมนี้ เป็นเสมือนเอกลักษณ์อันหนึ่งของนักบุญแห่งอินเดียตั้งแต่สมัยกลางมาเลยทีเดียว และยังคงมีต่อไปจนถึงยุคสมัยของไสบาบาอันใกล้กับยุคสมัยของเรา ที่ซึ่งความขัดแย้งเหล่านี้ดูจะไม่มีวันจบสิ้น

ไสบาบารวมเอาคุณลักษณะที่น่าสนใจของนักบุญมาไว้ที่ตัวท่าน ท่านไม่มีที่มาที่ไป ดูลึกลับ ท้าทายการแบ่งแยกไม่ว่าจะเรื่องศาสนาหรือวรรณะ มีชีวิตเรียบง่าย

ในขณะเดียวกันก็เปี่ยมไปด้วยเรื่องเล่าเกี่ยวกับปาฏิหาริย์และความศักดิ์สิทธิ์

 

ตํานานอันมีชื่อเสียงอันหนึ่งของท่านกล่าวว่า สมัยที่ท่านเริ่มมาอาศัยในมัสยิดทวารกาไมนั้น ไสบาบามีธรรมเนียมที่แตกต่างจากชาวมุสลิมทั่วไปอยู่อย่างหนึ่ง คือจะจุดประทีปและก่อกองไฟไว้ภายในมัสยิดอย่างที่นักบวชชาวฮินดูมักกระทำในเทวสถานหรืออาศรม แม้ในมัสยิดนั้นจะปราศจากรูปเคารพใดก็ตาม

ดังนั้น ไสบาบาผู้ไร้ทรัพย์ จึงต้องภิกขาจารไปขอรับน้ำมันจากร้านค้าในศิรทิ แรกๆ เจ้าของร้านผู้ตระหนี่ก็ยอมแบ่งน้ำมันให้ฟากีร์บ้าคนนี้อยู่บ้าง แต่ด้วยความตระหนี่ คราหนึ่งเขาจึงปฏิเสธพลางโกหกว่าไม่มีน้ำมันเหลืออยู่ในคลังแล้ว

ไสบาบาจากไปอย่างเงียบๆ แม้ไม่มีน้ำมันเลย แต่ด้วยความศรัทธาท่านเอาน้ำเปล่าเติมตะเกียงดินเผาแล้วจุดที่ไส้ ปรากฏว่าประทีปทุกดวงส่องสว่างไปตลอดคืน!

รุ่งเช้า หลังเจ้าของร้านทราบข่าวที่เกิดขึ้นก็รีบรุดไปกราบขอขมาบาบา ท่านได้แต่บอกเพียงว่าต่อไปอย่าโกหกและให้ช่วยเหลือผู้คนเท่าที่จะทำได้

อีกตำนานหนึ่งเล่าว่า ไสบาบาสามารถห้ามฟ้าห้ามฝนและรักษาโรคให้ผู้คน ครั้งหนึ่งราโอ พาหาฑูร โมเรศวร ฟราธันผู้พิพากษาศาลสูงในมุมไบได้ถามมิตรสหายว่า นับตั้งแต่สวามีสมรรถะแห่งอักกลโกฏจากไป เรายังมีนักบุญที่แท้จริงอีกหรือไม่ สหายคนนั้นตอบว่ายังมีไสบาบาแห่งศิรทิ ได้ยินเช่นนั้นนั้นราโอจึงเดินทางไปยังศิรทิ ขณะนั้นเขาเองก็เจ็บป่วยด้วยอาการหอบหืด

แม้ไม่ได้บอก แต่ไสบาบาได้ยื่นกล้องยาสูบของท่านให้เขาสูบ ปรากฏว่าอาการหอบหืดของราโอก็ดีขึ้นและหายไปเอง

เมื่อราโอและภรรยาจะเดินทางกลับ ฝนได้ตกลงมาอย่างหนักทำให้ทั้งคู่กระวนกระวาย บาบาได้แหงนมองขึ้นฟ้าแล้วกล่าวว่า “โอ้ อัลเลาะห์ ขอให้ฝนหยุดตกด้วยเถิด เพื่อลูกๆ ของข้าพเจ้าจะได้กลับบ้าน” ฝนได้หยุดตกทันที

ท่านช่วยแก้ไขทุกข์ภัยแก่ผู้ที่มาหาโดยไม่แบ่งแยก ให้คำสอนง่ายๆ แต่ลึกซึ้ง ท่านมักจะบอกให้ผู้คนระลึกถึงท่านโดยกล่าวว่า “จงมองมายังฉัน แล้วฉันจะเฝ้ามองเธอ” ท่านให้สัญญาว่าท่านจะดูแลสาวกเสมอแม้ไม่มีกายอยู่ในโลกนี้แล้ว

 

ศิรทิ ไสบาบา สิ้นใจในวันที่ 15 ตุลาคม ปี 1918 “สมาธิสถาน” ของท่านได้กลายเป็นที่แสวงบุญสำคัญในแคว้นมหาราษฏร์ ผู้คนนับหมื่นนับแสนเดินทางไปสักการะและขอพรอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

รูปของบาบาจะพบเห็นได้ทั่วไปในอินเดียคู่กับนักบุญคนอื่นๆ ภาพชายชรามีหนวด โพกศีรษะ ใส่ชุดคลุมยาวและนั่งไขว้ห้างอย่างสบายๆ ติดอยู่ตามร้านค้า บนรถเมล์และแม้แต่บนรถมอเตอร์ไซค์ ชาวฮินดูบางคนถือว่าท่านเป็นอวตารของพระทัตตาเตรยะคุรุเช่นเดียวกับสวามีอักกลโกฏ และท่านได้เข้าถึงพรมันอันเป็นสัจธรรมสูงสุดตามคติฮินดูแล้ว

ว่ากันว่า ไสบาบาได้เคยพบศิษย์บางคนของสวามีอักกลโกฏ และเรียกท่านเหล่านั้นว่า “พี่น้อง”

ไม่เพียงเพราะปาฏิหาริย์และความศักดิ์สิทธิ์ที่เล่าลือกันที่ทำให้ผู้คนเคารพไสบาบา อันที่จริงเรื่องเล่าของบาบามีจุดร่วมอย่างหนึ่ง คือมักแสดงให้เห็นความรักความเมตตาที่มีให้ทุกคนรวมไปถึงสัตว์ต่างๆ ท่านเอาใจใส่ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น มักจะทำอาหารเลี้ยงผู้คนหิวโหยที่มาพบด้วยตนเอง ท่านจะมอบคำปลอบโยนและเยียวยาคนเจ็บไข้ มอบพรแก่ผู้ที่ต้องการไม่ว่างเว้น ราวกับมารดาที่รักบุตร

“มีกำแพงหนึ่งซึ่งกั้นขวางระหว่างตนเองกับผู้อื่น และระหว่างเธอและฉัน จงทำลายกำแพงนั้นเสีย!”

“ฉันมิได้มีความโกรธต่อผู้ใดเลย แม่จะโกรธบุตรของตนได้หรือไฉน”

“มหาสมุทรจะผลักน้ำให้ย้อนคืนกลับไปแม่น้ำกระนั้นหรือ” •

 

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง