พระ-เหรียญกสิณรุ่น 1 หลวงพ่อพัฒน์ วัดใหม่ พระเกจิดังสุราษฎร์ธานี

“หลวงพ่อพัฒน์ นารโท” อดีตเจ้าอาวาสวัดพัฒนาราม (วัดใหม่) อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี พระเกจิอาจารย์เรืองวิทยาคมที่มีชื่อเสียงโด่งดัง

จัดสร้างวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังที่ล้วนแต่ได้รับความนิยม

วัตถุมงคลที่สร้างขึ้น คือ พระกสิณ มีทั้งเนื้อดินเผา เนื้อผงผสมว่าน และที่เป็นเหรียญ คือ เหรียญกสิณ ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง

พระกสิณ ทำมาจากผงกสิณ ผงที่เกิดจากพระเกจิอาจารย์เขียนอักขระกสิณลงไปบนกระดานชนวนหลายครั้ง แล้วนำมาผสมกับดินเพื่อเป็นพระเครื่องราง

สร้างพระกสิณ จากนิมิตสมาธิ เมื่อสร้างออกมา มีรูปแบบที่ไม่เหมือนใคร รุ่นแรก ปลุกเสกโดยหลวงพ่อพัฒน์ สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ.2467-2472

ลักษณะรูปทรงคล้ายหยดน้ำ ด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธนั่งสมาธิขัดราบประทับนั่งบนดอกบัว ใต้ดอกบัวเป็นอักขระพระกสิณ รอบองค์พระพุทธมีเส้นรัศมีที่เกิดจากการเข้าพระกสิณ

ด้านหลัง ตรงกลางเป็นอักขระพระกสิณ คล้ายตัว “อ” ล้อมรอบด้วยสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด 3 เส้น ด้านบนมีอักขระยันต์ขอมอุณาโลม ตรงด้านล่าง เขียนคำว่า “วัดใหม่”

ส่งผลให้มีสนนราคาสูงมาก

พระกสิณเนื้อดิน หลวงพ่อพัฒน์ นารโท

เกิดในสกุล พัฒนพงศ์ เมื่อวันพุธ เดือน 6 ปีจอ พ.ศ.2405 ที่ตลาดบ้านดอน อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี

เมื่อเยาว์วัยได้ศึกษาอยู่กับพระอาจารย์ผ่อง แห่งวัดพระโยค ศึกษาเล่าเรียนตามเนื้อหาวิชาตามควรแก่วัยและตามภูมิพื้นความรู้ของผู้เป็นอาจารย์

ย่างเข้าวัยหนุ่ม สมรสกับนางละม่อม ต่อมา ภรรยาซึ่งตั้งครรภ์อยู่ได้คลอดบุตรออกมาเป็นผู้หญิง แต่ถึงแก่กรรมภายหลังคลอดได้ไม่นานนัก ให้โทมนัสเสียใจเป็นอันมาก จึงตัดสินใจหันหน้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์

เข้าพิธีอุปสมบทเมื่ออายุ 25 ปี ใน พ.ศ.2430 ที่อุโบสถวัดพระโยค มีพระครูสุวรรณรังษี (มี) เจ้าคณะอำเภอกาญจนดิษฐ์ และเจ้าอธิการ วัดโพธิ์ ต.บ้านตลาดบน (ยึดถือตามรายงานมณฑลชุมพร ร.ศ.119) เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อกล่อม วัดโพธิ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อขำ วัดบางใบไม้ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับฉายาว่า “นารโท” จากนั้น อยู่จำพรรษาที่วัดพระโยค เป็นเวลาหลายพรรษา

ชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์ สงบเย็นเกื้อกูลความในพระธรรมวินัย พร้อมสร้างคุณูปการหลายประการให้แก่พระศาสนา เอาธุระจัดการ เอาใจใส่ในความประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ลูกวัด ตลอดจนกิจวัตรทางศาสนาต่างๆ

หลวงพ่อพัฒน์ นารโท

สําหรับวัดพัฒนาราม เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ.2439 โดยหลวงพ่อพัฒน์ชักชวนชาวบ้านหักร้างถางพงที่บริเวณวัดเดิมซึ่งเป็นป่าทึบ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด อาทิ เสือ หมี ค่าง และงูพิษ จนไม่มีใครกล้าเข้าไปอยู่อาศัย แต่สามารถก่อสร้างกุฏิที่พักสงฆ์ อุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอฉัน ในเนื้อที่ 29 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา สำเร็จขึ้นได้ และได้ผูกพัทธสีมาในปี พ.ศ.2444

วัดแห่งนี้ ตั้งอยู่ใน ต.ตลาด อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ชาวบ้านเรียกชื่อวัดนี้ 2 ชื่อ คือ “วัดใหม่” เนื่องจากเป็นวัดที่สร้างขึ้นหลังวัดอื่นๆ ในย่านตลาดเมืองสุราษฎร์ธานี และคำว่า “วัดใหม่” หลวงพ่อพัฒน์ได้จารึกหลังพระกสิณ ซึ่งท่านได้สร้างขึ้น

อีกชื่อหนึ่งเรียกว่า “วัดพัฒนาราม” ตั้งขึ้นหลังจากหลวงพ่อพัฒน์มรณภาพแล้ว เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่เป็นผู้สร้างวัดนี้ขึ้นมา

นอกจากกิจการศาสนาแล้ว ยังได้ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาด้วย โดยจัดตั้งโรงเรียนขึ้นเป็นแห่งแรกอำเภอกาญจนดิษฐ์ เมื่อประมาณ ร.ศ.116 (พ.ศ.2440)

เป็นพระอุปัชฌาย์ และเจ้าคณะแขวงอำเภอบ้านดอนอยู่ประมาณ 4-5 ปี แต่ด้วยความเป็นผู้ไม่ยึดติด จึงได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะแขวงอำเภอเมือง (อำเภอบ้านดอน-เดิม) เมืองไชยา และตำแหน่งอุปัชฌาย์ เพื่อออกไปธุดงค์

ด้านวิทยาคม ได้รับการถ่ายทอดวิชาจากพระเกจิ อาจารย์มากมาย อาทิ พระครูสุวรรณรังษี ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อกล่อม พระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อขำ พระอนุสาวนาจารย์ ยังมีพระธุดงค์รูปหนึ่งซึ่งเดินทางมาจากวัดเขาหัวลำภู แห่งเขาพระบาท อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช พระธุดงค์รูปนี้ เรียกขานกันว่า พระอาจารย์สุข

ทั้งนี้ พระอาจารย์สุข ได้เมตตาถ่ายทอดสรรพวิชา ทั้งด้านการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานและวิทยาคม เช่น การลงอักขระอาคมบนแผ่นเงิน แผ่นทอง ตะกรุด ผ้ายันต์ เป็นต้น

 

ในช่วงบั้นปลายชีวิต มอบภารกิจหน้าที่ของทางวัดไว้กับหลวงพ่อเจียว สิริสุวัณโณ พระภิกษุผู้เป็นน้องชายให้เป็นผู้ดูแล โดยใช้เวลานี้ไปหลบปลีกวิเวก โดยใช้ศาลาที่พักศพในป่าช้าเป็นที่พำนัก ทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ไปกับการ มุ่งมั่นปฏิบัติธรรม บำเพ็ญเพียรภาวนาในพระสัทธรรม

กระทั่งเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2485 หลวงพ่อพัฒน์ บำเพ็ญสมาธิภาวนา ตั้งแต่หัวค่ำ ด้วยความสงบเย็น จนเวลาประมาณ 08.43 น. จึงละสังขารจากไปอย่างสงบ สร้างความเศร้าสลดและความอาลัยแก่ศิษยานุศิษย์ ญาติมิตร และพุทธบริษัทของวัดอย่างสุดซึ้ง

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ด้วยมรณภาพในอิริยาบถนั่งสมาธิ และกาลเวลาผ่านไป 6-7 ปี แต่ปรากฏว่าสรีรสังขารไม่เน่าเปื่อย •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]