สวามีสมรรถะ รามทาส : เพื่อบ้านเมือง เพื่อพระเจ้า

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

“โอ้ ใจเอย บอกหน่อยเถิด อะไรเกิดขึ้นกับราวัณ (ทศกัณฐ์) ก็ทั้งราชัยและทุกสิ่งพลันสูญสิ้น ดังนั้นแล พึงสละความนึกคิด (วาสนา) อันบาปร้าย มิฉะนั้นความตายย่อมติดตามไปไม่หยุดยั้ง

โอ้ ใจเอย อย่ามุ่งหวังสิ่งใดนอกเสียจากการพึ่งพิงในองค์ราม ใจเอ๋ยใจ อย่ากระหายใคร่ต่อเกียรติยศในชีวิตอันรู้ตายนี้ นี่คือสิ่งอันบอกไว้ในพระเวท ศาสตร์ และปุราณะอันพึงยกย่อง เพราะหลังจากได้สาธยายเรื่องราวขององค์รามแล้ว ก็มิมีสิ่งใดจักต้องพรรณนาอีก”

มนาเชโศลกของสวามีรามทาส

 

นักบวชบางรูปสละโลกโดยไม่เคยเหลียวกลับมามอง แต่มีบางรูปกลับมาประกอบกรณียะต่างๆ เพื่อสงเคราะห์โลก หลายครั้งก็หลุดเข้าไปสู่แวดวงแห่งอำนาจ สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับว่าอำนาจนั้นได้กัดกินสภาวะแห่งสมณะจนหมดสิ้นไปหรือไม่

ความรักชาติบ้านเมืองก็เช่นเดียวกัน มีทั้งด้านที่ดูเหมือนจะขัดกับจิตวิญญาณของนักบวช แต่อีกด้านก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้นักบวชบางคนค้นพบประโยชน์แห่งชีวิตตน ที่มากไปกว่าการบำเพ็ญภาวนาปลีกวิเวกลำพัง

นารายณ์เกิดในเมืองชัมพะ (Jamba) แคว้นมหาราษฏร์ ในปี ค.ศ.1608 เผอิญอย่างยิ่งที่เขาเกิดตรงกับวันรามนวมี หรือวันประสูติของพระราม ซึ่งอาจเป็นนิมิตหมายว่าเด็กชายคนนี้จะกลายเป็นผู้รับใช้ของพระรามในอนาคต

บิดาของเขาเป็นพราหมณ์ผู้นับถือพระสุริยเทพและมีความรู้ทางโหราศาสตร์ดี นั่นทำให้นารายณ์ได้ศึกษาเล่าเรียนพระเวทและศาสตร์ต่างๆ อย่างครบถ้วน

กระนั้น แม้แต่ในวัยเยาว์เขาก็เริ่มสนใจการภาวนาถึงพระเป็นเจ้า โดยเฉพาะองค์พระรามเป็นเจ้า เมื่อเสร็จกิจการงาน เขาก็มักจะปลีกไปสวดภาวนาเงียบๆ เสมอ

จุดเปลี่ยนของชีวิตนารายณ์มาถึงเมื่ออายุได้สิบสองปี ทางบ้านตัดสินใจจับเขาแต่งงานกับหญิงสาวในวัยเดียวกัน ขณะที่พิธีแต่งงานกำลังดำเนินไป เช้าวันหนึ่งพราหมณ์ก็สวดด้วยเสียงอันดังขึ้นว่า “ศุภมํคลํ สาวธานํ” อันมีความหมายว่า จงตั้งใจให้ดี ศุภมงคล (กำลังจะเกิดมีขึ้น) เป็นการบอกบ่าวสาวให้เตรียมตัวที่จะรับสถานภาพใหม่ในชีวิตแต่งงาน

เมื่อนารายณ์ได้ยินคำว่า “สาวธานมฺ” ซึ่งอาจแปลว่า จงตั้งใจ หรือ จงระวัง เขาเกิดรู้สึกอะไรบางอย่างขึ้นมาในใจ นี่อาจไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการในชีวิตนี้ก็เป็นได้

นารายณ์ตัดสินใจหนีออกจากงานแต่งงานของตนเองทันที

สมรรถะ รามทาส

เขาออกบวชเป็นสันยาสี เร่ร่อนถึงเมืองตักลี (บางตำนานว่าเป็นเมืองนาสิก) ที่อยู่ห่างออกไป นอกจากภิกขาจารในยามเช้า นารายณ์ใช้เวลากว่าค่อนวันยืนไม่ไหวติงอยู่ในแม่น้ำโคทาวารี ขณะที่สวดภาวนามนต์ถึงพระราม “ศรี ราม ชัย ราม ชัย ชัย ราม” วนไปมานับหมื่นนับแสนจบทุกวัน

เวลาผ่านไปถึงสิบสองปี บัดนี้นารายณ์พบว่าตนเองได้บรรลุสิทธิอำนาจแห่งมนตราและเข้าถึงความรู้สูงสุดเกี่ยวกับพระเจ้าหรือสัจธรรมแล้ว เขากลายเป็น “รามทาส” (Ramdas) หรือ สมรรถะ รามทาส (Smarth Ramdas) ทาสแห่งองค์รามผู้สามารถนับตั้งแต่นั้น

เมื่อบรรลุธรรม สวามีรามทาสออกเดินทางจาริกไปทั่วอินเดีย ว่ากันว่าท่านเคยได้พบกับคุรุหรโคพินท์ พระศาสดาพระองค์ที่หกแห่งศาสนาซิกข์

รามทาสใช้เวลาอีกสิบสองปีในการยาตรา สิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากนักบุญแห่งแคว้นมหาราษฏร์ในเดียวกัน คือท่านเป็นสันยาสีที่มีใจร้อนรนในการต่อสู้เพื่อบ้านเกิดเมืองนอน และรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อจะต่อต้านผู้รุกรานจากต่างชาติ-มุสลิม ในขณะที่นักบุญร่วมสมัยมักพยายามประสานความขัดแย้งแตกต่างระหว่างฮินดูและมุสลิมเข้าด้วยกัน

แม้รูปลักษณ์ภายนอกจะดูเหมือนผู้สละโลกทั่วๆ ไป ผมยาวรุงรัง ร่างกายมีเพียงผ้าเตี่ยวสีส้มหรือ “เกาปิน” พันตัว แต่ภายในใจกลับแตกต่างจากบรรดาสันยาสีอื่นๆ มากมายนัก

การเดินทางไปทั่วอินเดียของสวามีรามทาสจึงไม่เพียงเป็นการจาริกเยี่ยงนักบวชโดยทั่วๆ ไป ทว่า เป็นการเผยแผ่ความคิดเพื่อปลุกเร้าให้ผู้คนกลับมาตระหนักถึงพลังของตนในการต่อต้านต่างชาติ

รามทาสสั่งสอนให้ผู้คนฝึกฝนร่างกายและจิตใจให้แข็งแรงเพื่อพร้อมจะต่อสู้อยู่เสมอและให้ประกอบกิจการงานด้วยความแข็งขัน

“การงานไว้ในมือ พระรามไว้ในใจ”

พระราม

นอกจากจะสั่งสอนและเขียนหนังสือ รามทาสใช้ยุทธวิธีสร้างเทวาลัยของพระราม พระเป็นเจ้าผู้ห้าวหาญชาญณรงค์ ไว้ในหลากหลายที่ รวมทั้งเทวาลัยของพระหนุมานทหารเอกของพระรามตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อเป็นตัวอย่างของ “สาวก” ผู้ภักดี ผู้พร้อมจะพลีชีพตนเพื่อพระเจ้าที่เขารัก

สวามีศิวานันทะ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง ” ชีวิตแห่งนักบุญ” (LIVES OF SAINTS) กล่าวไว้ว่า อันที่จริงรามทาสไม่เคยเกลียดชังชาติหรือศาสนาใด ท่านเพียงแต่ต้องการเผยแผ่ศาสนาฮินดูไปทั่วทั้งอินเดียเท่านั้น

คำกล่าวนี้จะจริงหรือไม่คงตอบได้ยาก ทว่า ผลงานชิ้นสำคัญของรามทาสกลับไม่ค่อยพบข้อความในเชิงการปลุกเร้าทางการเมือง แต่มีเนื้อความบรรยายถึงสัจธรรมชั้นสูงหรือหลักในการปฏิบัติโยคะและศีลธรรม เช่น “ทาสโพธะ” (Dasbodha) และ โศลกว่าด้วยใจหรือ “มนาเชโศลก” (Manajeshlok) อันมีชื่อเสียง

“ผู้ใดละทิ้งความทระนงตัว ความริษยาและความเห็นแก่ตนได้ ปัญหาในโลกทั้งหลายย่อมไม่แผ้วพาน ผู้ใดเอ่ยวาจาอ่อนหวานด้วยเมตตา เขาย่อมประเสริฐเลิศกว่าสาวกใด และเป็นผู้ได้รับการอวยชัยในโลกา” มนาเชโศลกบทที่ 51

“ในยามเช้าก่อนทำสิ่งใดพึงตั้งจิตถึงพระราม ก่อนเอ่ยวาจาพึงรับรู้ถึงพระองค์ ระลึกถึงพระองค์ก่อนเสมอ แล้วทุกสิ่งที่กระทำย่อมถูกต้องดีงาม อย่าได้ละทิ้ง ‘ความยิ่งใหญ่’ นี้เลย แล้วเธอจักเป็นที่นับถือในท่ามกลางคนทั้งหลาย” มนาเชโศลกบทที่ 3

ศิวาจีมหาราช

ว่ากันว่า สวามีรามทาสมีชีวิตร่วมสมัยกับนักบุญตุการามและเคยได้พบกัน แต่เหตุการณ์สำคัญที่สุดในชีวิตรามทาสคือการที่ศิวาจีมหาราช (Shivaji Maharaj) ผู้ดำรงตำแหน่ง “ฉัตรปติ” (Chatrapati) หรือผู้ครองแคว้นมหาราษฏร์ ได้ยอมรับนับถือสวามีรามทาสเป็นคุรุของตน

สำหรับชาวมาราฐีหรือชาวอินเดียฮินดูโดยทั่วไป ศิวาจีฉัตรปติคือตัวอย่างกษัตริย์ฮินดูผู้กล้าหาญยิ่งใหญ่ ผู้สามารถปลดแอกรัฐมาราฐาจากสุลต่านแห่งพีชะปุระและยืดหยัดต้านจักรพรรดิมุสลิมแห่งมุฆัลหรือโมกุลอย่างเข้มแข็ง อาจกล่าวได้ว่า ศิวาจีเป็นตัวแทนของกษัตริย์ฮินดูในอุดมคติ ผู้สามารถต่อกรกับศัตรูต่างชาติต่างศาสนา และได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งชาตินิยมอันหนึ่งของอินเดียในที่สุด

ตำนานกล่าวว่า ศิวาจีได้ขอให้นักบุญตุการามรับตนเองเป็นศิษย์ แต่ท่านตุการามกลับบอกว่าคุรุที่แท้จริงของศิวาจีคือสวามีสมรรถะ รามทาส จงหาคุรุผู้เร่ร่อนนี้ให้พบ

ศิวาจีเดินทางออกค้นหารามทาสอยู่นาน จนในที่สุดก็ได้พบกัน ราชาหนุ่มยอมมอบกายถวายทุกสิ่งแด่คุรุของเขา เขานำปาทุกาหรือรองเท้าของครูประดิษฐานไว้เหนือราชบังลังก์ และยกแผ่นดินมาราฐาให้รามทาสครอบครอง แต่สันยาสีที่ไหนจะสนใจราชัยของกษัตริย์ ท่านสั่งสอนให้ศิวาจีปฏิบัติตาม “ราชธรรม” ให้เลิกคิดที่จะออกบวช และกระทำหน้าที่อย่างกษัตริย์ให้สุดความสามารถ

ศิวาจีจึงใช้ธงแห่งนักบวชฮินดูของรามทาส ธงสีส้มรูปหางนกแซงแซวมาเป็นธงชัยของชาวมาราฐา ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของคุรุและศิษย์ผู้นี้ทำให้ศิลปินในยุคหลังมักวาดภาพทั้งสองอยู่คู่กันเสมอ และเชื่อว่าแนวคิดในการปกครองอย่างฮินดูที่ศิวาจีมีนั้น ก็ได้มาจากจากคุรุรามทาสนี้เอง

ธงสีส้มรูปหางนกแซงแซว ธงชัยของชาวมาราฐา

ทว่า ในทางตรงกันข้าม นักประวัติศาสตร์อย่างสจวร์ต กอร์ดอน (Stewart Gordon) สรุปไว้ในงานเขียนเรื่อง New cambridge history of india : the marathas 1600-1818 ว่า นักประวัติศาสตร์มาราฐารุ่นเก่าๆ มักเขียนถึงศิวาจีและรามทาสในแง่ความสัมพันธ์อันใกล้ชิด ทว่า ในงานวิจัยยุคหลังๆ มานี้พบว่า ศิวาจีอาจไม่เคยพบหรือรู้จักรามทาสเลยจนถึงช่วงท้ายของชีวิต นอกจากนี้ แนวคิดทางการปกครองของศิวาจีก็มาจากตนเอง มาได้มาจากผู้ใด

ดังนั้น ความนิยมชมชอบทั้งศิวาจีและสวามีรามทาสที่แพร่หลายออกไปนั้น เป็นความพยายามของคนในยุคหลัง นับตั้งแต่ช่วงแห่งการเรียกร้องเอกราชของอินเดียที่ต้องการสร้างตัวแบบสำหรับแนวคิดชาตินิยมและฮินดูนิยมขึ้นมา และยังคงถูกประชาสัมพันธ์อย่างมากในทุกวันนี้ ท่ามกลางกระแสแห่งชาตินิยมและศาสนนิยมที่ถูกปลุกขึ้นอีกครั้ง

แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้สวามีรามทาสจะมีภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นอย่างไร แต่มรดกที่ท่านทิ้งไว้ ไม่ว่าจะวัดวาอารามและบรรดาคัมภีร์ต่างๆ ก็ได้ยังประโยชน์แก่ผู้คนไม่น้อย

ที่สำคัญคือบทเพลงอารตีแห่งพระพิฆเนศวร์ “สุขกรตา ทุขหรตา” ซึ่งนิยมขับร้องในเทศกาลคเณศจตุรถีจนทุกวันนี้ ก็เชื่อกันว่าสวามีรามทาสเป็นผู้ประพันธ์ขึ้น

สวามีสมรรถะ รามทาส สิ้นใจในปี ค.ศ.1681 ในขณะกำลังสวดมนตราที่ท่านรัก

“ศรีราม ชัย ราม ชัย ชัย ราม!” •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง