พระปิดตาเนื้อผง-คลุกรัก หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ พระเกจิดังรุ่นเก่า จ.ชลบุรี

“พระปิดตา” เป็นพระเครื่องประเภทหนึ่ง ซึ่งมีพุทธศิลปะเป็นเอกลักษณ์ แตกต่างจากพระเครื่องประเภทอื่นๆ จนกลายเป็นความโดดเด่นและได้รับความนิยมอย่างสูง

ลักษณะของพระปิดตา เป็นรูปทรงองค์พระที่ค่อนข้างอวบอ้วน ยกพระหัตถ์ขึ้นปิดพระพักตร์ บางสำนักจะทำเป็นรูปมือ เพิ่มอีก 2 ข้าง เอื้อมไปปิดทวารด้านล่าง (วงการเรียก “โยงก้น”) อีกด้วย

ลักษณะเด่นนับเป็นพระเครื่องที่แสดงถึง “นัย” หรือ “ปริศนาธรรม” แห่งงานพุทธศิลปะอย่างโดดเด่น ยากจะหาพระเครื่องประเภทใดเทียบเทียมได้

ความหมายเบื้องต้นแห่งการปิดตา คือ การปิด “ทวาร” หรือทางเข้าทางออกแห่งอาสวะกิเลสทั้งหลาย ซึ่งเราเชื่อกันว่าร่างกายของมนุษย์ (หรือสัตว์) มี “ทวาร” หมายถึงประตูแห่งการเข้าออก 9 ทาง ได้แก่ ตา 2 จมูก 2 หู 2 ปาก 1 รวมทั้งช่องทางขับถ่ายด้านหน้าและด้านหลังอีก 2

“การปิดกั้นทวารทั้ง 9” เป็นปริศนาธรรมที่กั้นกิเลสจากภายนอกไม่ให้เข้ามาสู่ภายใน เพื่อจุดหมายแห่งการปฏิบัติกรรมฐาน ซึ่งโบราณาจารย์ที่สร้าง “พระปิดตา” (หรือปิดทวาร) ในอดีตจะเป็นพระภิกษุที่ขึ้นชื่อลือเลื่องทางวิปัสสนาธุระทั้งสิ้น

 

ในกระบวนพระปิดตาแต่โบราณนั้น มีที่ขึ้นชื่อลือเลื่องหลายสำนักด้วยกัน วัสดุมวลสารที่นำมาประกอบเป็นองค์พระ มีทั้งเนื้อชินตะกั่ว เนื้อผงคลุกรัก เนื้อผงใบลาน เนื้อผงมวลสาร เนื้อสัมฤทธิ์ เนื้อเมฆพัด เนื้อเมฆสิทธิ์ เป็นต้น

ที่อยู่ในความนิยมสูงสุด เช่น พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ จ.ชลบุรี, พระปิดตาหลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน พระปิดตาแร่บางไผ่ พระปิดตาหลวงปู่ทับ วัดทอง, พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง, พระปิดตาหลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้, พระปิดตาหลวงปู่ทับ วัดอนงคาราม, พระปิดตาหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท และอื่นๆ อีกหลายคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงในอดีต

กล่าวได้ว่า พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว เป็นพระที่หายากที่สุด และจะเป็นพระปิดตาเนื้อผงคลุกรักที่มีราคาแพงที่สุด เนื่องมาจากประสบการณ์และคำร่ำลือถึงเรื่องเมตตามหานิยม โชคลาภ ค้าขาย และจำนวนพระที่มีจำนวนน้อยมาก ใครมีต่างก็หวงแหน

พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ พิมพ์กลาง

หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ ประวัติไม่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร มีเพียงคำบอกเล่าสืบต่อกันมา ซึ่งก็จะเหมือนกับพระสงฆ์ในอดีตอีกหลายรูปที่ไม่มีการบันทึกไว้ เนื่องจากการคมนาคมในพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นไปด้วยความยากลำบาก จะมีการบันทึกไว้เพียงพระสงฆ์ที่อยู่ใกล้กับเมืองกรุงหรือพระเถระที่มีสมณศักดิ์สูงเพียงเท่านั้น

มีเพียงคำบอกกล่าวกันต่อๆ มาว่า ท่านเป็นชาวเพชรบุรี และออกธุดงค์มาเรื่อยๆ ผ่านมาหลายจังหวัด จนกระทั่งมาถึงเมืองชลบุรี และปักกลดอยู่ตรงบริเวณที่เป็นวัดเครือวัลย์ ชาวบ้านต่างเลื่อมใสในตัวหลวงพ่อแก้ว จึงนิมนต์ขอให้อยู่จำพรรษาและสร้างวัดเครือวัลย์ ก็เมตตาอยู่จำพรรษาและสร้างวัดเครือวัลย์ขึ้นมา

มีการบอกเล่าถึงการสร้างศาลาการเปรียญว่า ชาวบ้านก็ช่วยกันหาไม้ในป่าและช่วยกันสร้างศาลาการเปรียญขึ้นจนสำเร็จ หลวงพ่อแก้วสร้างพระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก เป็นการตอบแทน

ใช้มวลสารจากว่านมงคล 108 ชนิด อาทิ ไม้ไก่กุก กาฝากรัก กาฝากมะยม กาฝากมะขาม ฯลฯ ผสมกับผงอิทธิเจ ผงปถมัง ผงพุทธคุณ นำมาบดเป็นผงแล้วกรอง จากนั้นใช้น้ำรักเป็นตัวประสาน และเม็ดรักซึ่งได้จากต้นรักที่เป็นมงคลนามตำผสมลงไป แล้วกดพิมพ์ออกมาเป็นองค์พระ

ดังนั้น เนื้อองค์พระจะละเอียด นอกจากนี้ มักปรากฏเม็ดสีน้ำตาล สีแดง ซึ่งเกิดจากว่านขึ้นประปราย และหากองค์พระสึกจะเห็นเนื้อในละเอียดเป็นสีน้ำตาลอมดำ

ลักษณะพิมพ์ทรง เป็นรูปสามเหลี่ยมมุมโค้งคล้ายเล็บมือ องค์พระประธานประทับนั่ง ขัดสมาธิราบ พระวรกายอวบอ้วน ยกพระหัตถ์ขึ้นปิดพระเนตร ในลักษณะป้องทั้งพระพักตร์

พระปิดตาเนื้อผงคลุกรักที่ด้านหลังจะมีทั้งหลังแบบและหลังเรียบ แต่ทุกพิมพ์จะหายากมาก

ซึ่งพิมพ์มาตรฐาน อาทิ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก

รูปหล่อเหมือน หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์

มีเรื่องเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่เล่าขานกันหลากหลายเรื่อง เช่น มีลูกศิษย์วัดบางรายไปหลงรักสาว แต่สาวเจ้าไม่เล่นด้วย จึงนำผงของพระปิดตาไปแอบใส่น้ำให้สาวกิน แล้วก็ได้แต่งงานอยู่กินด้วยกัน

ความทราบถึงหลวงพ่อแก้ว จึงประกาศว่าถ้าใครนำพระไปขูดเอาผงใส่น้ำให้ผู้หญิงกิน แล้วไม่รับเลี้ยงดู จะเป็นบ้าแล้วก็สั่งห้ามไว้ เรื่องเมตตามหานิยมนั้นมีมากมาย

จำพรรษาอยู่ที่วัดเครือวัลย์จวบจนมรณภาพ จากปากคำของผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งได้รับฟังมาจากบิดามารดาอีกทีหนึ่งว่ามรณภาพขณะอายุประมาณ 80 ปี

 

จากการสืบค้นข้อมูลการสำรวจคณะสงฆ์มณฑลปราจีนบุรี (คณะสงฆ์ฝ่ายภาคตะวันออก) มีการทำบัญชีภิกษุสามเณรศิษย์วัดในเมืองแล แขวงเมืองชลบุรี รัตนโกสินทร์ศก 118 แนบท้ายรายงานจัดการศึกษา การศาสนามณฑลปราจีนบุรี ของพระอมราภิรักขิต (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์-เจริญ ญาณวรเถร) ระบุว่า “วัดเครือวัลย์ ตำบลหนองต้นโพธิ์ อำเภอเมือง นามเจ้าอธิการ แจ่ม พรรษา 20 อายุ 40 พระ 3 เณร 4”

ความนี้จึงทำให้ทราบว่า ในปี พ.ศ.2442 หลวงพ่อแก้วมรณภาพแล้ว หลวงพ่อแจ่มเป็นเจ้าอาวาสวัดเครือวัลย์อยู่ในปีนั้น •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]