มุมมองของความศักดิ์สิทธิ์ในมณฑลแห่งปัญญา : บทเรียนจากเทศกาล Sacred Mountain Festival

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

สมัยที่ผมเขียนบทความในมติชนสุดสัปดาห์ใหม่ๆ เมื่อหลายปีก่อน จำได้ว่า ตอนนั้นไอเดียต่างๆ พรั่งพรูมาก ถึงกับต้องจดไว้ว่ามีหัวข้อล่วงหน้าของแต่ละสัปดาห์อย่างไรบ้าง

เพื่อนนักอ่านบางคนถึงกับบอกว่า สงสัยผมคงจะ “ฟิน” ไม่น้อยที่ได้ “ปล่อยของ” ขนาดนั้น

แม้ว่าปีหลังๆ จะมีบ้างที่นึกไม่ออกว่าจะเขียนอะไร แต่ก็รอดมาได้แบบถูลู่ถูกังทุกครั้ง ต้องขอบพระคุณมติชนสุดสัปดาห์ที่ยังกรุณาให้ผมเขียนอยู่ และท่านผู้อ่านที่ยังคงสนับสนุนพื้นที่ให้ผมบ่นบ้ามาจนบัดนี้

แต่ที่จะบอกคือ หลังจากที่ผมไปเข้าร่วมงาน Sacred Mountain Festival ครั้งที่ 4 ที่ดอยหลวงเชียงดาว สิ่งที่เกิดขึ้นคือผมอยู่ในสภาวะที่เขียนไม่ได้บรรยายไม่ถูก

สภาวะเช่นนี้คงอยู่หลายวัน นิ่งๆ อึ้งๆ ไม่รู้จะเล่าเรื่องที่เชียงดาวได้ยังไง

ขนาดนักเขียนใหญ่อย่าง “นิ้วกลม” ผู้ที่ผมมักแซวกับเจ้าตัวว่าแค่เห็นขี้หมาแห้งกองหนึ่งก็สามารถเขียนอะไรจริงจังออกมาได้เป็นหน้าๆ ก็ยังอยู่ในอาการที่เขียนถึงงานที่เชียงดาวได้น้อยมาก เพราะโดยปกติแล้ว เขาไปเห็นอะไรก็มักรีบบันทึกลงเป็นสเตตัสขนาดยาวในเฟซบุ๊กทันที แต่นี่ก็ไม่

อะไรเกิดขึ้นที่นั่น ถึงขนาดหลายคนที่ไปงานก็อยู่ในสภาพเดียวกัน เล่าไม่ได้บอกไม่ถูก ผมคิดว่าน่าสนใจ เลยจะลองพยายามเขียนเท่าที่จะเขียนได้นะครับ ถ้าเขียนแล้วงงๆ วนๆ อ่านไม่รู้เรื่องก็ขออภัยท่านผู้อ่านไว้ล่วงหน้าด้วย

 

งานที่ดอยหลวงผมไปทำหน้าที่อยู่สองส่วน คือส่วนของพิธีกรรมกับส่วนของเวิร์กช็อปแค่นิดหน่อย นอกนั้นผมใช้เวลาพักผ่อนเป็นส่วนใหญ่ ตื่นแต่เช้า ออกมากินข้าว คุยกับหลายๆ คน เดินเล่น นั่งดูดอยหลวง ชมดนตรี นอน เวิร์กช็อปของวิทยากร (ซึ่งในงานเรียกว่า Magicain – ผู้ใช้เวทมนตร์) ท่านอื่นๆ ก็แทบจะไม่ได้เข้า

ผมรู้สึกได้เลยว่า เป็นการพักผ่อนอย่างเต็มที่ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นมานานแล้ว

อากาศเชียงดาวในตอนนั้นกลางคืนหนาวมาก กลางวันแดดร้อน แม้จะมีฝุ่นควัน แต่ก็ไม่เท่าที่ในตัวเวียงเชียงใหม่

อาหารในงานมีทีมนักกิจกรรมด้านอาหารจากหลายที่มาร่วมปรุง ซึ่งส่วนมากเป็นอาหารออแกนิกส์ รูปแบบใกล้เคียงคำว่ามังสวิรัติและเต็มไปด้วยความสร้างสรรค์

ตอนที่อยู่ที่นั่น บางครั้งผมพูดกับตัวเองว่าขอให้มีอาหารธรรมดาๆ บ้างเถิด กลัวภรรยาที่ไปด้วยจะกินไม่ได้ แต่ปรากฏว่า แม้เราจะกินอาหารที่นั่นด้วยความชอบบ้างไม่ชอบบ้าง แต่เมื่อลงมาที่ตัวเมืองแล้ว ผมกับภรรยาพุ่งตรงไปยังร้านอาหารตามสั่ง ขอเมนูที่คุ้นเคยอย่างกะเพราหมูกรอบ แต่ปรากฏว่าจานที่คุ้นเคยนั้นไม่ทำให้รู้สึก “อิ่ม” อย่างอาหารในงาน

ผมไม่รู้จะเรียกสิ่งที่รับรู้ได้ว่าอะไรดีนอกจาก “ความหยาบคาย” รวมทั้งความตายด้านเย็นชาของพืชและสัตว์ที่ปรากฏอยู่ในอาหารเหล่านั้นด้วย ซึ่งแม้จะเป็นรสชาติและเมนูที่คุ้นเคยก็ตาม

คิดดูสิ แค่เรื่องอาหารผมก็ “วื้อ” หรือหลุดไปขนาดนี้แล้วครับ

 

ในงานของเรามีคนอยู่ร่วมร้อยกว่าคน เป็นคนรุ่นหนุ่มสาวทั้งจากอายุและหัวใจ เกินกว่าครึ่งเพิ่งมาครั้งแรก ส่วนมากมีแววตาของนักแสวงหาผสมแววตาคนเหนื่อยล้า มีแม่มด พระ นักใช้เวท ผู้ประกอบพิธีกรรม ฮิปปี้ นักสิ่งแวดล้อม นักสารพัดนัก มาจากคนละที่คนละทาง แต่คนมากขนาดนี้กลับมีปัญหาน้อยกว่าที่คิด

แม้จะมาจากคนละที่และไม่ได้รู้จักกันมาก่อน แต่งานนี้ผู้คนแปลกหน้าจะกอดกันอย่างอบอุ่นได้ทุกที่ทุกเวลา ทุกครั้งที่เรามองไปทางไหนก็มักจะเจอภาพคนกอดกันเสมอ ผมเองได้รับการกอดจากใครต่อใครหลายครั้ง ทั้งจากผู้มาใหม่และมิตรสหายเก่า

ในทุกๆ จังหวะของกิจกรรม เราพร้อมจะแสดงความเปราะบางได้เต็มที่ ผู้คนร้องไห้และแบ่งปันความทุกข์โดยไม่ต้องอายกัน

เสียงหัวเราะและน้ำตากลายเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในงาน เราทุกคนกลายเป็นเด็กอีกครั้ง วิ่งเล่น ทำกิจกรรมที่อยากทำแล้วชวนเพื่อนใหม่ทำด้วย ใครให้ลองอะไรก็ลอง

คุยกันจริงจังถึงสิ่งที่คนข้างนอกอาจหัวเราะเยาะ เช่น มารดาธรรมชาติ พลังงาน ครูบาอาจารย์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ

บางคนถึงกับพูดว่า งานนี้ดีเกินกว่าที่เป็นโลกจริงๆ บางคนอาจคิดว่ามันเป็นแค่เพียงช่วงจังหวะที่ผู้คนยังไม่ได้ปล่อยความร้ายใส่กัน มันก็แค่งานที่พาผู้คนหลุดไปชั่วครั้งชั่วคราว แค่พวกฮิปปี้หลงยุค ฯลฯ

 

ผมคิดว่ามันมีอะไรมากกว่านั้น แน่นอนว่างานนี้เป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผู้คนมาอยู่ร่วมกัน ทว่าไม่ใช่เพราะทุกคนพยายามจะน่ารักหรือเก็บงำความไม่ดีของตัวเองไว้ แต่เพราะทุกคนได้ร่วมตั้งเจตจำนงทั้งแรงกล้าหรืออ่อนๆ ไว้ต่างหาก

เจตจำนงที่ว่า คือเจตจำนงที่จะอ่อนน้อมต่อธรรมชาติและสิ่งที่ตนเองไม่รู้ (Unknown) ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเรียกว่า พระเจ้า เทพ ครูบาอาจารย์ มารดาธรรมชาติหรืออะไรก็ตาม เจตจำนงที่จะเปิดกว้าง เรียนรู้ รับฟัง เจตจำนงที่จะไม่ปิดกั้นตนเองต่อสภาวะต่างๆ และผู้คนที่ปรากฏตรงหน้า

ด้วยเจตจำนงเช่นนี้เอง การสรรค์สร้างร่วมกัน (Co-Creation) จากผู้คน ธรรมชาติและสิ่งที่มองไม่เห็นได้ก่อร่าง “มณฑล” (Mandala) หรือโลกศักดิ์สิทธิ์อันมีระเบียบและเหลี่ยมมุมอันน่าสนใจขึ้นมา

เป็นโลกเดิมของเรานี่แหละ ทว่า เรามองเห็นเป็นโลกที่ศักดิ์สิทธิ์ เปี่ยมไปด้วยความงามและศักยภาพอันมหาศาล

พื้นที่ค่ายเยาวชนเชียงดาวจึงแปรเปลี่ยนเป็นมณฑลแห่งปัญญา (Wisdom Mandala) ที่ไม่ว่าอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้น ทั้งสถานการณ์ต่างๆ ความสุข ความเศร้า ปัญหา สิ่งรบกวนใจ ฯลฯ ก็ล้วนเป็นการแสดงออกของปัญญาทั้งสิ้น

ยิ่งใจเปิดกว้างและศิโรราบเท่าไหร่ ปัญญายิ่งจะปรากฏแจ่มชัด และแม้จะไม่ได้ตระหนักว่ามันคือปัญญามันก็เป็นปัญญาอยู่นั่นเอง

 

ปัญญาดังกล่าวมิได้แยกจาก “มหาสุข” หรือความรื่นรมย์ ความรื่นรมย์เช่นที่ว่านี้มิใช่เพียงเพราะการได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่งดงาม มีผู้คนที่ใจดี หรืออาหารที่ดี

ทว่า เกิดจากประสบการณ์ของความเปิดกว้างอย่างเต็มที่ การได้ผ่อนพักในความสงบ ไม่มีสิ่งใดที่เป็นภาระของใจ รวมทั้งการไม่ตัดสิน ซึ่งนำไปสู่การชื่นชมสิ่งต่างๆ อย่างที่เป็น

ดอยหลวงเชียงดาวจึงศักดิ์สิทธิ์อย่างน่ามหัศจรรย์ แค่เพียงได้นั่งเงียบๆ มองดอยหลวง ความสงบและรื่นรมณ์ก็เกิดขึ้นตามธรรมชาติ

ที่นอนง่ายๆ ในบ้านพักอันเต็มไปด้วยแมลงและฝุ่นกลับทำให้ผมและภรรยานอนหลับอย่างเต็มที่ยิ่งกว่าโรงแรมที่เรานอนในเมือง อาหารพื้นๆ จากพืชผักทำให้เราอิ่มหนำ เราพร้อมจะเต้นรำและตะโกนเหมือนเด็กๆ อ้อมกอดของใครต่อใครก็อบอุ่นเป็นพิเศษ

ยามธงมนต์โบกพลิ้วไปเพราะลม หัวใจเราก็สั่นไหว ลำธารเล็กๆ ช่างเย็นฉ่ำชื่นใจ กองหินที่เรียงกันเป็นเขาวงกต แค่เพียงเราเดินเข้าไปก็พร้อมจะมีสารหรือคำสอนส่งมา

ธาตุต่างๆ บรรสานสำแดงความกลมกลืนและสอดคล้อง ครูบาอาจารย์อวยพรอยู่ทุกๆ ขณะ ช่วงเวลาห้าวันนั้นงดงามจนไม่รู้จะบรรยายออกมาง่ายๆ ได้อย่างไร

แน่นอนว่า โจทย์สำหรับนักแสวงหาและผู้ปฏิบัติ คือจะทำให้มุมมองต่อโลกศักดิ์สิทธิ์ (sacred outlook) หรือการมองโลกด้วยจิตตื่นรู้ (enlighten mind) เช่นที่ว่านี้แผ่ขยายออกไปสู่โลกในชีวิตประจำวันของเราได้อย่างไร

ที่สำคัญ เราจะดำรงความรู้สึกสำนึกขอบคุณอย่างลึกซึ้ง (gratitude) ต่อทุกสิ่งที่ปรากฏได้มากน้อยแค่ไหน

 

แม้พวกเราจะอยู่ใน “โลก” ที่งดงามขนาดนั้น ผมคิดว่า เราก็ไม่ได้ลืมความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ เรามาเติมเมล็ดพันธุ์แห่งความรักและความหวังในใจ เพื่อที่จะมีแรงในการทำกิจเหล่านี้ต่อ

ในท้ายที่สุด แม้มณฑลแห่งปัญญานี้จะรื่นรมณ์เพียงไรก็ตาม ทุกสิ่งจะถูกสลายลงไปสู่ความว่าง พิธีปิดงาน Sacred Mountain Festival จึงเป็นพิธีสลายมณฑล เราจะไม่ยึดติดกับประสบการณ์แห่งความสุขและความรื่นรมณ์นี้ตลอดไป เช่นเดียวกับที่เรารู้ว่าสุดท้ายแล้วความทรงจำที่มีก็จะค่อยๆ เลือนราง ทุกสิ่งกลับไปสู่สภาวะ “ธรรมดา” อันเป็นสภาวะที่ลึกซึ้งละเอียดอ่อนเช่นกัน

ถึงมณฑลจะสลายไป ความทรงจำจะค่อยๆ ซีดจาง แต่เมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามได้ถูกหย่อนไว้ในใจผู้คนแล้ว

และมันจะค่อยๆ เติบโตงอกงาม

อย่างช้าๆ •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง