ไจตันยะ มหาปรภู : ผู้เปลี่ยนท้องถนนให้เป็นวิหารแห่งเพลงสรรเสริญ (จบ)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

เคารังคะตัดสินใจออกบวชเป็นสันยาสี ละทิ้งทุกสิ่ง มุ่งตรงไปในวิถีแห่งความภักดีอย่างหมดจด ชีวิตนี้จะมีเพียงองค์กฤษณะเท่านั้น โดยประสงค์จะบวชกับเกศวะภารตีผู้มีชื่อเสียง ทว่า ท่านสันยาสีไม่เห็นด้วยเพราะเหตุผลสองประการ

หนึ่ง แม้ว่าเคารังคะจะมีความสง่างาม กอปรด้วยคุณต่างๆ หากได้บวชก็จะเป็นที่ชื่นชมยินดีแก่มหาชน แต่เขายังหนุ่มแน่นนัก มีภรรยาและแม่แก่เฒ่ารออยู่ที่บ้าน ควรจะใช้ชีวิตคฤหัสถ์ต่อไปจะดีกว่า

สอง ท่านเกศวะนั้นเห็นว่าตนเองมีความต่ำต้อยกว่าเคารังคะในทุกทาง ไม่ว่าจะความรู้หรือคุณวิเศษอันเป็นทิพยสภาวะที่พระเจ้าทรงประทานให้ ท่านจึงเห็นว่าตนเองไม่เหมาะที่จะให้การบวชสันยาสีแก่เคารังคะแต่อย่างใด

ทว่า เคารังคะยังคงยืนยันหนักแน่น ยิ่งเวลาผ่านไปเนิ่นนานเท่าใด ราธาในตัวของท่านก็โหยหาที่จะได้พบกับกฤษณะยอดรัก ณ พฤนทาวันอันแสนไกล

เพราะด้วยใจอันมั่นคงเด็ดเดี่ยวนั่นเอง สุดท้ายเกศวะภารตีจึงยอมบวชให้และมอบสมณนามใหม่แก่เคารังคะว่า “กฤษณะ ไจตันยะ” อันหมายถึง สัมปชัญญะอันรับรู้กฤษณะ หรือจิตวิญญาณแห่งกฤษณะ

พระกฤษณะ

สันยาสีหนุ่มออกเดินทางไปยังพฤนทาวันทันที แต่การเดินทางเต็มไปด้วยความยากลำบาก ตลอดห้าวันที่ไจตันยะเดินเท้าอย่างเร่งร้อน ท่านไม่ได้กินอาหารเลย และต้องนอนกลางดินกินกลางทราย ความเหนื่อยอ่อนทำให้ไจตันยะหลงทาง

นิตยานันทะสาวกผู้มีศรัทธาได้ออกตามหาจนเจออาจารย์ของตน และช่วยนำทางไปจนถึงเมืองศานติปุระ ที่ซึ่งอไทวตาจารย์อาศัยอยู่

รัศมีและชื่อเสียงของไจตันยะนำผู้คนในศานติปุระมารวมกัน ดุจสายน้ำหลั่งไหลสู่คงคาสาคร เมื่อท่านเริ่มขับเพลงสรรเสริญ คนทั้งหมดก็ตกอยู่ในภวังค์ ทุกคนร้องเพลงและเต้นรำไปรอบๆ เป็นวงกลม ราวกับภาพฉากแห่งรสลีลาที่องค์กฤษณะร่ายรำยั่วเย้าในวงล้อมนางโคปีได้มาปรากฏขึ้นในสถานที่นั้น

สภาวะเช่นนี้ดำเนินต่อไปหลายวัน ท้ายที่สุดแล้วมารดาของไจตันยะผู้กำลังโศกเศร้าเพราะจู่ๆ ลูกชายสุดที่รักหายตัวไป ได้รีบเดินทางมาพบทันทีเมื่อทราบข่าว

พอได้พบหน้ากัน เธอก็พรั่งพรูแต่ความห่วงหาอาทร ทั้งยังบอกว่า ตลอดหลายวันที่ไจตันยะหายไป เธอได้ทำอาหารที่ลูกโปรดปรานเตรียมไว้อย่างมากมายในทุกๆ วัน

บรรยากาศรายรอบเริ่มอึงอลสับสน ผู้คนกังวลว่าสันยาสีบวชใหม่คนนี้อาจจะต้องกลับไปใช้ชีวิตฆราวาสต่อ เพราะสายใยผูกพันที่มารดามีนั้น กำลังจะมัดลากเขากลับไปบ้าน

ไจตันยะจึงถามศจีแม่ของท่านอย่างตรงไปตรงมาว่า หากแม่ประสงค์จะให้ท่านกลับบ้าน ไปใช้ชีวิตฆราวาส ขอเพียงเอ่ยเพียงคำเดียวท่านก็จะทิ้งชีวิตสันยาสีทันที

มารดาผู้ใจสูงประกอบด้วยขันติธรรมและประสงค์จะเป็นแม่ที่มีลูกมากมายนับไม่ถ้วนในผืนแผ่นดิน จำต้องยอมมอบลูกจากอ้อมอกของตนแก่โลกใบนี้ เพราะความรักของแม่ลูกโดยสายเลือดก็จำกัดอยู่เพียงสองคน แต่หากลูกเป็นสมบัติของผองชนด้วยการสละละอัตตา เขาย่อมนำพาความรักของแม่แผ่ออกไปได้อย่างไพศาล

แม้จะโศกเศร้าเพียงใด แต่ศจีได้พูดอย่างหนักแน่นท่ามกลางที่ประชุมนั้นว่า เธออนุญาตให้ไจตันยะเป็นสันยาสีตามที่เขาประสงค์ และอนุญาตให้เดินทางไกลเร่ร่อนตามวิถีนักบวชได้ ทันใดนั้น เสียงไชโยโห่ร้องก็ดังกึกก้องขึ้นในที่นั้นทันที

 

ไม่นานต่อมา ไจตันยะออกเดินทางจนถึงพฤนทาวัน ท่านซึมซาบกับความรักขององค์กฤษณะอยู่ชั่วระยะหนึ่ง แล้วประสงค์จะเดินทางไปยังเมืองปุรี สถานที่อีกแห่งที่พระกฤษณะเคยได้สำแดงลีลาและยังเป็นที่สถิตเทวาลัยชคันนาถ รูปมหัศจรรย์ของพระกฤษณะอันมีชื่อเสียง

ชีวิตต่อจากนี้ของไจตันยะเต็มไปด้วยการเดินทาง สถานที่ใดถูกกล่าวไว้ในเทวตำนานของพระกฤษณะ ท่านก็อยากไปเยี่ยมเยือนหรือพำนักชั่วระยะหนึ่งทั้งสิ้น ไจตันยะเดินทางตลอดเวลาราวกับหญิงสาวผู้ตามหาคนรักที่หายตัวไป หรืออาจกล่าวว่าเป็นการเดินทางของราธาที่ตามหากฤษณะก็ได้

จากพฤนทาวันสู่วิหารพระชคันนาถแห่งเมืองปุรี จากปุรีก็ลงมาทางภาคใต้ไปจนถึงแหลมกันยากุมารี แล้ววกกลับขึ้นไปถึงปุรีอีกครั้ง การเดินทางนี้กินเวลาถึงหนึ่งปีเต็มๆ

ตลอดการเดินทางไจตันยะได้พบศิษย์ใหม่ๆ เช่น สรวเภามะ ซึ่งที่จริงเคยเป็นครูของท่านตั้งแต่สมัยอยู่ที่นวทวีปและรามานันทะ รอย ผู้ปกครองวิทยานครซึ่งไจตันยะได้เผยสภาวะที่แท้จริงให้รามานันทะเห็น

 

เล่ากันว่า หลังจากได้เทศนา ขับร้องและเต้นรำอยู่ในวิทยานครได้สิบวัน รามานันทะได้เห็นนิมิตว่าไจตันยะเป็นทั้งพระกฤษณะและราธาหลอมรวมกันในคนเดียว

ด้วยเหตุนี้ ในภายหลังนิกายที่สืบมาแต่ไจตันยะ หรือเคาฑิยะไวษณวะ มักถือว่าท่านเป็นพระกฤษณะอวตารลงมา พร้อมๆ กับสาวกทั้งสี่ที่สะท้อนพระคุณลักษณะของพระเจ้า เรียกว่า “ปัญจตัตวะ” หรือความจริง (ธาตุ) ทั้งห้า ได้แก่ ไจตันยะ มหาปรภู-องค์พระกฤษณะเอง, อไทวตาจารย์-พระหริหระ, นิตยานันทะ-พระพลราม, คฑาธารบัณฑิต-ศักติ (พลังของพระกฤษณะ) และศรีวาส-พลังแห่งภักติ

ดังนั้น อันที่จริงแล้ว จากมุมมองของสาวกในนิกาย ไจตันยะจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ “นักบุญ” อย่างนักบุญคนอื่นๆ แต่เป็นเสมือนพระเป็นเจ้าที่มาปรากฏบนโลกเพื่อช่วยสั่งสอน ด้วยเหตุนี้จึงมีคำสร้อยต่อท้ายชื่อท่านว่า “มหาปรภู” อันเป็นคำยกย่องอย่างสูงและบางครั้งก็ยังหมายถึงพระเจ้าด้วย นั่นทำให้เคาฑิยไวษณวะ มีเอกลักษณ์แตกต่างจากพวกไวษณพนิกายด้วยกันเอง บางครั้งก็ถึงขั้นไม่ยอมรับกันและกันก็มี

ไจตันยะใช้ชีวิตเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างพฤนทาวันและเมืองปุรี แม้จะมีศิษยานุศิษย์เพิ่มขึ้นทุกวัน วงแห่งการขับร้องกีรตันก็แผ่ขยายออกไปดุจไฟที่ไหม้ลามทุ่ง แต่บางครั้งไจตันยะก็มักปลีกตัวออกจากผู้คน หายไปโดยไม่มีใครรู้ บางครั้งก็หายเข้าไปในป่า บางครั้งก็ริมทะเล

ท่านยังคงดูคล้าย “คนบ้า” ตามนิยามทั่วไปในบางครั้ง นั่นก็เพราะสภาวะแห่งราธาที่โหยหากฤษณะยังคงผุดพลุ่งขึ้นมาในหัวใจเสมอ

 

เมืองปุรีเป็นเมืองชายทะเล ครั้งหนึ่งไจตันยะหายออกไปจากที่พัก ท่านจ้องมองไปยังท้องทะเลสีครามแล้วทำให้ระลึกถึงแม่น้ำยมุนา แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับพระกฤษณะ จู่ๆ ก็กระโจนลงน้ำทันทีแล้วหายตัวไปหลายวัน บรรดาศิษย์คิดว่าท่านคงต้องตายไปแล้วแน่ๆ

ไม่นาน ชาวประมงเหวี่ยงแหได้ศพของไจตันยะ ร่างของท่านซีดขาวแล้ว แต่เมื่อมีศิษย์คนหนึ่งเริ่มขับร้องกีรตันใกล้ๆ หู ร่างกายนั้นก็กลับมีสีผุดผาดขึ้นมา แล้วลืมตาตื่นขึ้นก่อนที่จะบ่นว่า ท่านกำลังเพลิดเพลินในสรวงสรรค์กับพระกฤษณะ แต่กีรตันเรียกร้องให้ต้องกลับมายังโลก เพราะท่านก็รักกีรตันไม่น้อยไปกว่าพระเจ้า!

บั้นปลายชีวิตของไจตันยะไม่มีบันทึกไว้ท่านเสียชีวิตเมื่อไหร่และที่ใด คัมภีร์รุ่นหลังมักกล่าวไปในลักษณะตำนานมากกว่า เช่น หายตัวไปเฉยๆ หรือหลอมรวมกับพระชคันนาถแห่งปุรี

มีเพียงประวัติฉบับ “ไจตันยะมงคล” ของชยานันทะที่กล่าวว่า ไจตันยะล้มลงขณะขับร้องกีรตันบนท้องถนนในพิธีรถยาตรา จากนั้นท่านก็เจ็บหนักและสิ้นชีวิตโดยมีราชรถและครุฑจากไวกุณฑ์มารับในเก้าคืนถัดมา

 

ปรัชญาของไจตันยะเรียกว่า “อจินตยะ เภทาเภทะ” (Acintya Bhedabeda) หรือ “ความเป็นหนึ่งเดียวในความหลากหลายอันมิอาจครุ่นคิดคำนึงได้” กล่าวคือ ท่านถือว่าพระเจ้าสูงสุดนั้นไม่ได้แยกขาดกับสิ่งสร้างของพระองค์ พระเจ้าซึ่งคือพระกฤษณะดำรงอยู่เป็นเอกภาวะในขณะที่จักรวาลและพลังของพระองค์นั้น ก็ไม่ได้แยกออกเป็นอีกอย่างโดยสิ้นเชิง อุปมาดังขนบนร่างกาย พระอาทิตย์กับแสงอาทิตย์ แม้ว่าอีกสิ่งหนึ่งจะทรงความยิ่งใหญ่กว่าอีกสิ่งก็ตาม

แม้ปรัชญาของไจตันยะจะยากที่จะเข้าใจและมิได้เป็นระบบระเบียบอย่างคณาจารย์เวทานตะรุ่นก่อนหน้า แต่สิ่งที่สำคัญสุดที่ท่านทิ้งไว้เป็นมรดก คือประเพณีการขับร้องกีรตันไปตามท้องถนน และการเน้นความภักติในฐานะหนทางสูงสุดในการเข้าถึงพระเจ้า

ยิ่งไปกว่านั้น โชคชะตาแห่งนิกายของไจตันยะถูกนำพาไปสู่โลกตะวันตกโดยอาจารย์รุ่นหลัง หลายร้อยปีต่อมา ในยุคบุปผาชนเบ่งบาน ชาวตะวันตกนับไม่ถ้วนรู้จักศาสนาฮินดูและยอมตนเป็นสาวกของพระกฤษณะผ่านนิกายของท่านนี่เอง

ขอทิ้งท้ายเรื่องราวของไจตันยะด้วยกวีนิพนธ์ของท่าน ดังนี้

“บุคคลพึงขับร้องพระนามด้วยความอ่อนน้อมแห่งใจ เห็นตนต้อยต่ำไซร้ดั่งเศษหญ้าบนท้องถนน

อดและทนดังต้นไม้ ละทิ้งสิ่งชั่วร้ายทางผัสสะ และคารวะแด่ทุกผู้คน ด้วยดวงกมลเช่นนี้จึงพึงขับขานพระนาม”

“เมื่อไหร่กันเล่าที่ดวงตาของข้าจะถูกประดับด้วยน้ำตาแห่งรักอันไหลรินมิหยุดยั้ง

เมื่อไหร่กันเล่าที่เสียงร้องของข้าจะแหบพร่าล้าเลือน และเมื่อไหร่กันเล่าที่ขนทั่วสรรพางค์จะลุกชันขณะขับขานบทเพลงแห่งพระนาม” •

 

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง