ไจตันยะ มหาปรภู | ผู้เปลี่ยนท้องถนนให้เป็นวิหารแห่งเพลงสรรเสริญ (2)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คําร่ำลือที่ว่าเคารังคะกลายเป็นบ้าขยายไปทั่วนวทวีป ใครต่อใครพากันซุบซิบว่าบัณฑิตใหญ่ผู้นี้ไม่อาจกลับเป็นเหมือนเดิมได้แล้ว วันๆ เอาแต่ซึมเศร้าไม่ยอมทำอะไร แต่บางครั้งกลับลุกขึ้นเต้นรำร้องเพลงไปรอบๆ น่าเสียดายสติปัญญาที่เคยมี

กระนั้น มีบางคนที่ไม่คิดว่าเคารังคะจะกลายเป็นบ้าไปเฉยๆ เขาอาจค้นพบหรือเข้าถึงอะไรบางอย่างก็เป็นได้

ในกลุ่มคนเหล่านี้มีศรีวาสและมุกุนทะผู้เคยโดนเคารังคะแกล้งรวมอยู่ด้วย

วันหนึ่ง ศรีวาสกำลังกระทำบูชาพระวิษณุอยู่ที่บ้าน จู่ๆ เคารังคะก็มาเคาะประตู แล้วเดินตรงไปยังที่บูชา นั่งลงยังแท่นสำหรับประดิษฐานเทวรูป สั่งให้ศรีวาสอาบน้ำให้ตนเช่นเดียวกับที่กระทำต่อรูปเคารพ

ศรีวาสแม้จะงุนงงกับสิ่งที่เกิดขึ้นแต่ก็กระทำตามโดยไม่รู้ตัว

ขณะที่สายน้ำรินรดบนตัวของเคารังคะ ผู้คนที่ติดตามมาก็ได้เห็นประกายรัศมีอันงดงาม ส่องสว่างเรืองรองไปทั่วบริเวณนั้น เสียงขลุ่ยแว่วหวานดังมาจากที่ไหนไม่มีใครรู้ ปวงบุปผามาลัยโปรยปรายอยู่ทั่วบริเวณ

ฝูงชนรวมทั้งศรีวาสตระหนักว่า เคารังคะไม่ได้กลายเป็นคนบ้าอย่างที่เขาลือกัน ทว่า มีบางสิ่งที่พิเศษไปกว่าเดิม เขามีรัศมีของพระผู้เป็นเจ้าอยู่ภายในตัว หรือตัวเขาเองอาจเป็นองค์จำแลงพระกฤษณะเลยเทียว

ศรีวาสจึงให้ความเคารพอย่างจริงจังและติดตามเป็นสานุศิษย์ของเคารังคะนับแต่นั้น

 

อไทวตาจารย์ ครูผู้เป็นที่เคารพของเหล่าไวษณวชนในเมืองศานติปุระ ไม่ไกลจากนวทวีปนัก เมื่อมีเสียงเล่าลือว่า บัณฑิตเคารังคะกลายเป็นบ้าไปแล้ว สมาชิกชุมชนไวษณพต่างพากันมาขอความเห็นจากท่าน

อไทวตาจารย์กล่าวว่า ท่านได้ฝันเห็นพระกฤษณะเสด็จมาพบและตรัสอย่างชัดเจนว่า “จงอย่าโศกเศร้าไปเลย ตัวเราเองจะมาสั่งสอนผู้คนถึงหนทางที่จะช่วยพวกเขาให้รอด” เมื่อลืมตาตื่นขึ้นก็ได้เห็นนิมิตเคารังคะยืนอยู่เบื้องหน้า ฉะนั้น เคารังคะไม่ใช่คนบ้าแน่ๆ

จากข่าวลือว่าเคารังคะเป็นบ้า กลับมีอีกข่าวลือที่ดังขึ้นมาแทน คือเคารังคะเป็นผู้มีบุญญาธิการ และอาจเป็นพระกฤษณะอวตารมาเอง สาวกของท่านจึงค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้นทีละน้อย

สิ่งที่พวกเขากระทำอยู่เสมอคือการขับร้องเพลงแห่งพระนามไปตามท้องถนน เรียกว่า “หรินามสังกีรตัน” (Harinamsankirtan) หรืออาจเรียกย่อๆ ว่า “กีรตัน” อันแปลว่าการสดุดี

เคารังคะกล่าวถึงกีรตันใน “ศิกษาษฏกัม” ของท่านไว้ว่า

“ขอชัยจงมีแด่สังกีรตันแห่งองค์กฤษณะ อันอาจจะปัดเป่าฝุ่นธุลีแห่งดวงใจที่เคลือบคลุมไว้นานปี, ช่วยดับมหาอัคคีร้อนร้ายแห่งการเวียนว่ายตายเกิด, ขบวนแห่งสังกีรตันนี้มีคุณยิ่งแก่พหุชนทั้งหลาย เพราะคล้ายแสงสว่างแห่งจันทร์เพ็ญ อันเยือกเย็นแผ่ไปไม่มียกเว้น, เป็นมหาวิทยาอันพาข้ามพ้นสรรพทุกข์ เป็นมหาสมุทรแห่งบรมสุขนิรันดร์ เป็นอมฤตแห่งชีวันที่เราใฝ่ฝันถึง”

 

สังกีรตันกลายเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว เพราะง่ายแก่การเข้าถึง ไม่กีดกันผู้ใด ไม่เรียกร้องทรัพย์สินเงินทองหรือความรู้อันสูงส่ง ใครที่มีหู มีลิ้นและมีศรัทธาก็ย่อมกระทำได้โดยไม่ยากเย็น

เสียงเพลงที่ผู้คนจากทุกชนชั้นวรรณะขับขานดังกังวานไปทั่วท้องถนน “หเร กฤษณะ หเร กฤษณะ…” เป็นเครื่องมือที่พาให้เข้าถึงภวังคสมาธิอันลึกซึ้ง ดื่มด่ำอยู่ในความรักของพระกฤษณะ ราวกับได้หลอมละลายตนเองเข้ากับฉากรสลีลาในตำนาน

คณาจารย์บางท่านถึงกับถือว่า ในกลียุคอันเต็มไปด้วยความชั่วร้ายนี้ ไม่มีสิ่งใดจะดีไปกว่าการสรรเสริญพระนาม และไม่มีวิธีใดจะดีไปกว่าการขับร้อง

ดังนั้น สังกีรตันคือพิธีกรรมสูงสุดที่จะแผ่ความรักของพระเจ้าและพระนามอันทรงคุณให้เป็นที่รู้จัก แม้แต่กับผู้ไม่นับถือก็ย่อมได้รับประโยชน์จากพระนามอยู่นั่นเองขอเพียงแค่ได้ยินได้ฟัง เสมือนดวงอาทิตย์ที่แผ่ความอบอุ่นไปยังทุกชีวิตโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง

ขบวนการแห่งสังกีรตันได้ทำให้ท้องถนนกลายเป็นวิหารแห่งเพลงสรรเสริญ มิใช่เทวสถานอันเมลืองมลังด้วยทองคำและหินมีค่า

ทว่า เป็นรอยเท้ามากมายที่ย่ำไปบนอกของพระแม่ธรณี และหยาดเหงื่อหยดน้ำตาอันร่วงพราวลงไปประดับดวงหน้าของพระนางต่างหาก ที่ทำให้ถนนหนทางเหล่านั้นกลายเป็นบุณยสถานอันวิเศษ

 

ความสำเร็จมักเดินมาพร้อมมิตรคือความอิจฉาริษยา บรรดาพราหมณ์ในนวทวีปทนเห็นชื่อเสียงของบัณฑิตบ้าเคารังคะไม่ได้ จึงพากันไปฟ้องผู้ปกครองชาวมุสลิมแห่งเบงกอล ใส่ความว่าขบวนการสังกีรตันนี้ สร้างความเดือดร้อนรำคาญด้วยเสียงเอะอะไปทุกที่ แถมยังมิทราบว่าเจตนารมณ์ที่แท้จริงคืออะไร คงต้องการปลุกระดมหรือก่อกวนความสงบกระมัง

ฝ่ายคาซี (Kazi) หรือเจ้าเมืองมุสลิมจึงพาทหารจำนวนมากเพื่อไปจับตัวเคารังคะและสานุศิษย์ แม้จะรู้ว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นแน่ๆ แต่เคารังคะก็ไร้ซึ่งความกลัวโดยสิ้นเชิง ท่านยังคงร้องเพลงและเต้นรำไปตามท้องถนนเช่นเดิม

แม้ทหารจะมีจำนวนมากแต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงตัวเคารังคะได้ ด้วยเพราะฝูงชนกรูกันเข้ามาไม่หยุด แม้พวกเขาจะเห็นทหารมุสลิมมีอาวุธพร้อมมือแต่ก็มิได้กลัวเกรงแต่อย่างใด ยังคงทยอยกันเข้ามาในวงขับร้องและเต้นรำอยู่ตลอด

สุดท้ายเจ้าเมืองก็พลัดหลุดจากวงล้อมทหารของตน ถูกดันเบียดแทรกเข้าไปในฝูงชนจนพบกับเคารังคะ

หลังจากที่ได้พูดคุยกันแล้ว เจ้าเมืองยอมรับว่าเขาทำไปเพราะมีพราหมณ์มายุยง มิใช่ด้วยเจตนารมณ์ของตนเอง

และเห็นแล้วว่าเคารังคะเป็นผู้มีคุณธรรมที่แท้ ปราศจากเจตนารมณ์อันชั่วร้ายแต่อย่างใด

จึงอนุญาตให้ขับร้องสังกีรตันต่อ

 

เคารังคะมิเพียงมีศิษย์ฮินดูเท่านั้น แต่ยังมีศิษย์ชาวมุสลิมด้วย หริทาสเป็นนามใหม่ของศิษย์ชาวมุสลิมผู้หนึ่งซึ่งติดตามอาจารย์ไปทุกที่และมักขับร้องกีรตันด้วยเสียงอันดังเป็นพิเศษ ด้วยเหตุนี้เขาจึงโดนลงโทษจากเจ้าเมือง เหตุเพราะประพฤติสิ่งไม่สมควรและละทิ้งศาสนาเดิม

หริทาสโดนพิพากษาให้ถูกเฆี่ยนจนกว่าจะตาย ทุกครั้งที่หวายจรดหลังแทนที่จะร้องโอดโอยด้วยความเจ็บปวด หริทาสกลับยิ้มด้วยความสุขใจที่ได้สละตนเพื่อพระเจ้า เขาถูกเฆี่ยนมากเกินกว่าที่คนธรรมดาจะรับได้จนสลบแน่นิ่งไป ทหารนึกว่าเขาตายแล้วจึงโยนร่างทิ้งลงในแม่น้ำ ทว่า หริทาสยังรอดชีวิตกลับมาได้อีก ทำให้ทั้งตัวทหารผู้ลงโทษและเจ้าเมืองเกิดความเคารพในตัวเขา

ส่วนอไทวตาจารย์ผู้มีนิมิตถึงเคารังคะ ด้วยความเป็นปราชญ์ที่ยึดถือความรู้เป็นสิ่งสูงสุด ท่านจึงไม่เห็นด้วยกับคำสอนเรื่องภักติที่เคารังคะสอน ท่านเห็นว่าชญานะหรือปัญญาย่อมสูงส่งกว่าความภักดีอย่างแน่นอน

เคารังคะทราบความคิดดังกล่าว จึงถามอไทวตาจารย์ว่าเหตุใดจึงสอนสิ่งที่ผิดเช่นนั้น ครั้นอไทวตาจารย์ไม่ยอมตอบ เคารังคะก็ใช้ไม้ตีเข้าที่ศีรษะของอไทวตาจารย์ทันที ผู้ติดตามพากันร้องห้าม แต่อไทวตาจารย์ไม่เพียงไม่โกรธ ยังรู้สึกปีติยินดีที่เคารังคะพยายามสอนท่านด้วยความรัก

เคารังคะกล่าวว่า “หากท่านเห็นว่าชญานะสูงส่งกว่าภักติ มันก็ไม่ใช่ธุระกงการอะไรของท่านที่จะนับถือพระอวตารต่างๆ อีก!”

อไทวตาจารย์รู้ตัวทันทีว่าท่านสอนสิ่งที่ผิด และระลึกได้ว่าเคารังคะมาเพื่อทำให้ผู้คนเดินไปนทางที่ถูกต้อง ซึ่งรวมทั้งตัวท่านเองด้วย

 

แม้จะมีศิษย์มากมายล้อมรอบ ได้ขับเพลงเต้นรำอยู่ด้วยกันเสมอ แต่บางครั้งเคารังคะยังคงมีความรู้สึกเศร้าภายในใจ ท่านเปลี่ยนจิตวิญญานของตนเองไปเป็น “ราธา” หญิงคนรักของพระกฤษณะ ราธานั้นโหยไห้ถึงพระกฤษณะอยู่เสมอ เพราะมิได้ครองคู่กันแม้จะรักมากเพียงใด เคารังคะเองก็รู้สึกถึงความห่างไกล การเฝ้ารอคอยทางจิตวิญญานที่จะได้พบกับคนรัก คือพระเป็นเจ้าอีกสักครั้ง

ภักติในประสบการณ์ของเคารังคะจึงเป็นอารมณ์อันเร่าร้อนลึกซึ้ง เป็นความโหยหาคนรักซึ่งมิได้พบพานกันอย่างยาวนาน เป็นสภาวะทางอารมณ์อันเกิดจากการห่างเหินพลัดพราก ยิ่งนานวัน “สภาวะแห่งราธา” ดูเหมือนยิ่งทวีความเข้มข้นในตัวเคารังคะมากขึ้น

ด้วยเหตุนั้นเอง เคารังคะต้องการที่จะเดินทางออกจากนวทวีปเพื่อจาริกไปยัง “พฤนทาวัน” อันแสนไกลอีกฝากหนึ่งของอนุทวีป เมืองที่พระกฤษณะอาศัยอยู่ โดยหวังว่าจะได้พบคนรักแห่งดวงใจของท่านที่นั่น

แต่จะทำอย่างไรเล่า ในเมื่อฝั่งนี้ยังมีแม่ที่แก่เฒ่าลงทุกวัน กับภรรยาผู้มิได้กระทำผิดอะไรรอให้ท่านดูแลชีวิต เคารังคะเป็นคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน จะละทิ้งความรับผิดชอบต่อคนเหล่านี้อย่างไรได้

สุดท้ายท่านจึงต้องตัดสินใจครั้งใหญ่ในชีวิต

(โปรดติดตาม) •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง