“พระแม่ลักษมี” เทวีแห่งโชคลาภ-การเงิน-ความรัก ที่บางตำนานว่าเป็น “อสูร”

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

บทความฉบับเต็ม ฉลองทีปาวลี : ทำความเข้าใจ “พระแม่ลักษมี” กันเถิด

“พระแม่ลักษมี” เป็นหนึ่งในเทวีที่สำคัญที่สุดและเก่าแก่มากองค์หนึ่ง เพราะพระองค์เป็นเทวีที่มีมาตั้งแต่สมัยพระเวท และยังนับถือบูชาแพร่หลายไปยังพุทธศาสนาและศาสนาไชนะด้วย

แต่เดิมคงมีเทวีลักษมีและเทวี “ศรี” แยกออกจากกัน ภายหลังจึงนำมารวมเป็นองค์เดียว ซึ่งน่าจะหมายสภาวะของสิริมงคล ความอุดมสมบูรณ์ ฯลฯ ศรีจึงหมายถึงพระลักษมีก็ได้

มีบทสวดที่สำคัญ คือ “ศรีสูกตะ” เป็นบทสรรเสริญพระศรี ปรากฏในคัมภีร์ฤคเวท และยังใช้สวดท่องกันจนถึงทุกวันนี้

ผมเข้าใจว่า ความเชื่อเรื่องพระลักษมีแม้ว่าจะมีมาในพระเวท แต่ก็คงแพร่ไปในหมู่คนพื้นเมืองด้วย ทั้งฝั่งทั้งตะวันตกและตะวันออกของอินเดีย มีการนับถือพระแม่ลักษมีในกลุ่มคนพื้นเมืองหลากหลายลักษณะ เช่น ทางมหาราษฏร์มีพระแม่ท้องถิ่นหลายองค์ ที่ชาวบ้านบอกว่าเป็นภาคหนึ่งของพระลักษมี เช่น เจ้าแม่ปัลยังคภวานี หรือในงานทุรคาบูชาของคนพังคลีก็บูชาพระแม่ลักษมีคู่ไปด้วย

ในยุคปุราณะ มีตำนานว่าพระลักษมีเกิดจากการกวนเกษียรสมุทร (เธอจึงเหมือนกับเทวีอโฟรไดท์หรือวีนัสในอารยธรรมกรีก – โรมัน ซึ่งโบราณ) และสุดท้ายพระลักษมีได้กลายเป็นชายาของพระวิษณุ

ผมเก็บความคิดที่น่าสนใจบางอย่างมาจากบทความเรื่อง On Diwali, understanding the nature of wealth through the mythology connected with goddess Lakshmi และ Decoding Lakshmi ของ เทวทัตต์ Devdutt Pattanaik ดังนี้

ดร.เทวทัตต์ กล่าวว่า สำหรับโลกธรรมชาติ “อาหาร” คือความอุดมสมบูรณ์ สำหรับโลกของวัฒนธรรม “เงิน” คือความอุดมสมบูรณ์ และไม่ว่าอาหารหรือเงิน ก็สะท้อนความเป็นพระแม่ลักษมีในต่างยุคต่างสมัย

ในบางตำนาน พระลักษมีกำเนิดในพวกอสูร คือว่าเป็นธิดาของอสุรวรุณ (วรุณในฤคเวทเป็นอสูร) หรือ อสูรปุโลมัน หรือฤษีภฤคุ (ที่บางครั้งเป็นคุรุของพวกอสูร)

แต่อสูรในที่นี้ยังมิได้มีความหมายลบทางศีลธรรมดังที่ปรากฏในภายหลัง คือจัดเป็นเพียงอมนุษย์จำพวกหนึ่งเท่านั้น อีกทั้ง “เทวะ” และ “อสูร” ต่างมีกำเนิดเดียวกัน (คือเป็นลูกพระประชาบดีจากนางทิติและอทิติ) เทวะอยู่บนฟ้า ส่วนพวกอสูรนั้นอยู่บนแผ่นดินหรือใต้พิภพ

ใน “ศาสนาไชนะ” จึงเรียกพระปัทมาวตี หรือพระลักษมีในเวอชั่นของศาสนาไชนะว่าเป็น “ยักษิณี” องค์หนึ่ง เพราะยักษิณีเกี่ยวพันกับความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน

แผ่นดินนั้นย่อมเป็นบ่อเกิดของทรัพย์สินความอุดมสมบูรณ์ ทั้งพืชพรรณธัญญาหารและรัตนชาติต่างๆ (นั่นแหละคือพระลักษมี) แต่อสูรย่อมหวงทรัพย์ของตนในแผ่นดินนั้น เหมือนท้าวกุเวรที่หวงกุญแจไขขุมทรัพย์ หรือเหมือนที่ตำนานเล่าว่า อสูรปุโลมันบิดาของพระลักษมีไม่ยอมให้พระองค์เสด็จไปไหนง่ายๆ

ทรัพย์จะหลุดออกจากแผ่นดินได้ก็ต้องอาศัยพลังของเทวะทั้งหลาย คือ สุริยะ (พระอาทิตย์) วายุ(ลม) อัคนิ (ไฟ) อินทร์ (ฝน) ช่วยกันนำทรัพย์นั้นขึ้นมาจากการครอบครองอสูรเพื่อโปรยหว่านให้มนุษย์ (คือช่วยทั้งกร่อนทำลายและเสริมหนุนกสิกรรมของคน) อสูรและเทวะจึงรณรงค์สงครามกันด้วยอาการเช่นนี้ในโลกแห่งธรรมชาติ

การต่อสู้กันระหว่างเทวะและอสูรจึงเป็นวงจร หมุนเวียนไปไม่สิ้นสุดแม้ในปัจจุบันกาลนี้

แม้แต่ตัวมนุษย์เองก็ต้องออกแรงหว่านไถ คือยุดยื้อฉุดเอาพระลักษมีออกมาจากใต้พิภพ (ธัญชาติ ผลาหาร รัตนมณีสินแร่ ฯลฯ) และอาศัยความช่วยเหลือของเทวะทั้งหลาย เราถึงได้มีอาหารสมบูรณ์ตลอดจนทรัพย์สินอันขุดรื้อได้มาครอบครอง

ทรัพย์ที่มนุษย์ขุดรื้อเอาจากธรรมชาติจึงสะท้อนออกมาในสัญลักษณ์ “หม้อน้ำ” ที่พระลักษมีถืออยู่ เพราะหม้อน้ำ คือ อุปกรณ์ที่เราขนถ่ายเอาทรัพย์จากโลกธรรมชาติ (ไม่ว่าน้ำ อาหาร หรือรัตนชาติ) มาไว้กับตัวมนุษย์เอง

ในเมื่อพระแม่ลักษมีเป็นทรัพย์ จึงตีความได้ว่า พระองค์คือ “อรรถ” ในเป้าหมายของชีวิตสี่ประการตามคติฮินดู (ปุรุษารถะ 4) พระวิษณุสวามีของพระองค์คือ “ธรรม” เพราะพระองค์ย่อมถนอมโลกด้วยธรรม และโอรสของทั้งคู่ คือ “กามเทพ” ซึ่งคือ “กามะ” นั่นเอง

ดังนั้น เงินทองหรือ “อรรถ” กับ “กาม” ก็ต้องเดินตาม “ธรรม” คนอินเดียถึงมีคำกล่าวว่า “พระลักษมีย่อมไม่อยู่ที่ใดนาน หากที่นั่นไม่มีพระวิษณุประทับอยู่”

ความร่ำรวยโดยปราศจากศีลธรรมกำกับ จึงอาจปลาสนาการไปโดยง่าย