พระพุทธรูปอินเดียปางทรมานช้างนาฬาคิรี กลายมาเป็น ‘พระศีลาวัดเชียงมั่น’ ได้อย่างไร? (4)/ ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

พระพุทธรูปอินเดียปางทรมานช้างนาฬาคิรี

กลายมาเป็น ‘พระศีลาวัดเชียงมั่น’ ได้อย่างไร? (4)

 

ตอนนี้จักได้กล่าวถึงตำนานพระศีลาเจ้าวัดเชียงมั่น ต่อในช่วงที่สอง ซึ่งตำนานมีทั้งหมดสามช่วง ช่วงแรกได้กล่าวถึงเมื่อสัปดาห์ก่อน ว่าด้วยการสร้างพระศีลาในอินเดีย

ตำนานอ้างว่าสร้างตั้งแต่ยุคพุทธกาล (หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียง 7 ปี 7 เดือน 7 วัน) ทว่า ในความเป็นจริง พบว่าเป็นงานพุทธศิลป์สมัยราชวงศ์ปาละ ราว พ.ศ.1400 เศษๆ

อันเป็นช่วงเวลาที่ร่วมสมัยกับอาณาจักรหริภุญไชยตอนต้น

 

พระภิกษุล้านนา 3 รูปไปอินเดีย ลังกา

ช่วงที่สองได้กล่าวว่า มีพระเถรเจ้า 3 รูป (ไม่ระบุว่ามาจากเมืองใด?) มีนามว่า “พระสีละวังโส” “พระเรวะโต” และ “พระญาณคัมภีระเถระ” เดินทางมานมัสการพระบรมธาตุและพระพุทธปฏิมากรตามสถานที่ต่างๆ หลายแห่งในอินเดียแล้ว ในที่สุดก็มากราบพระศีลาเจ้าที่กรุงราชคฤห์

ปัญหาคือ พระเจ้าอชาตศัตรูได้อัญเชิญพระศีลาเจ้าขึ้นไปประดิษฐานบนเงื้อมเขาสูง เพื่อมิให้ใครๆ เข้าถึงได้โดยง่าย ความที่พระภิกษุทั้ง 3 มีความประสงค์อยากได้พระศีลาเจ้า จึงปูผ้าสังฆาฏิซ้อน 3 ผืนแล้วก้มลงกราบเบญจางคประดิษฐ์ 3 รอบ ตั้งจิตอธิษฐานขอให้พระศีลาเจ้าได้ไปประดิษฐานยังบ้านเมืองของพวกตน

แล้วก็เกิดปาฏิหาริย์ พระศีลาเจ้าเสด็จลงมาสถิตยังผ้าสังฆาฏิของภิกษุทั้ง 3 เมื่อเป็นดั่งนี้ พระเจ้าอชาตศัตรูจำต้องยอมถวายพระศีลาเจ้าให้แก่พระภิกษุแปลกถิ่นทั้ง 3 ไป

พระเถระทั้ง 3 นำพระศีลาเจ้าที่ได้มาจากอินเดียลงเรือสำเภาไปเกาะลังกา เมื่อพระเจ้าอนุราชเห็นพระศีลาเจ้า ก็กระทำการสรงน้ำปรากฏว่าเกิดฝนตกห่าใหญ่ ทำให้พระเจ้าอนุราชมีพระราชประสงค์อยากได้พระศีลาเก็บไว้ จึงขอให้พระเถระทั้ง 3 พำนักอยู่ด้วยกันในกรุงลังกา กลับได้รับการปฏิเสธ ด้วยเหตุผลที่ว่า

“บัดนี้อาตมภาพทั้ง 3 จะนำเอาพระศีลาเจ้าไปสู่เมืองหริภุญไชย เพื่อหิตานุหิตประโยชน์แก่มหาชนผู้หวังบุญทั้งหลายแล”

ในตอนแรกไม่ได้ระบุว่าพระเถระทั้ง 3 รูปเป็นชาวอะไร มาจากเมืองไหน เพิ่งมาพบว่าจะนำพระศีลาเจ้าไปยังเมืองหริภุญไชย (ลำพูน)

หลังจากนั่งสำเภาพ้นลังกาแล้ว เมืองที่มาถึงลำดับที่สองก็คือเมือง “ละเขื่อง” เหตุการณ์ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันคือ หลังจากที่เจ้าเมืองละเขื่องสรงน้ำพระศีลาแล้ว เกิดฝนตกห่าใหญ่ ทำให้เจ้าเมืองละเขื่องมีความปรารถนาอยากได้พระศีลาเจ้ามาสถิตในเมืองของตน

พระเถระทั้ง 3 ขอให้พระเจ้าละเขื่องทำการเสี่ยงอธิษฐานจิตขอพระศีลาเจ้าเอาเองด้วยการปูผ้าสังฆาฏิ ปรากฏว่าพระศีลาเจ้าลอยขึ้นบนนภากาศแล้วมาตกลงในผ้าสังฆาฏิของพระเถระทั้ง 3 อีกเช่นเคย ไม่ยอมตกลงบนผ้าสังฆาฏิของพระเจ้าละเขื่อง

จากนั้นพระเถระเจ้าทั้ง 3 ก็เดินทางต่อไปยังเมืองศรีสัชนาลัย (เชลียง) ผู้ครองเมืองศรีสัชนาลัยก็มีความประสงค์จะครอบครองพระศีลาเจ้าเหมือนกษัตริย์เมืองต่างๆ

จนแล้วจนรอด คณะพระเถระก็เดินทางมาถึงเมืองนคร (ละคอร) ลำปาง น่าแปลกทีเดียวที่ตำนานช่วงนี้เขียนแบบรวดรัดตัดความว่า “แล้วก็เอาพระศีลาเจ้ามาประดิษฐานไว้ในเมืองนั้น เพื่อเป็นที่สักการบูชาของประชาชนชาวเมืองทั้งหลาย สืบๆ กันมาตราบเท่าถึงสมัยหมื่นด้งนคร”

อ้าว! ไหนว่าตั้งใจจะเอาไปไว้ยังนครหริภุญไชย (ลำพูน) ไง ไปๆ มาๆ พระเถระทั้ง 3 กลับนำพระศีลามาประดิษฐาน ณ นครลำปางแทน? แถมอยู่ที่ลำปางนานหลายปีอีกด้วย

ขอพักเนื้อหาในตำนานไว้เพียงเท่านี้ก่อน เพื่อจะได้ทำการวิเคราะห์นัยยะต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในตำนาน ไม่ว่าจะเป็นชื่อของบุคคล เหตุการณ์ สถานที่ที่ปรากฏในช่วงที่สองนี้ ว่าตำนานต้องการสื่อถึงอะไรกันแน่

 


พระศีลาจำลอง แกะด้วยไม้ อยู่ในกุฏิเจ้าอาวาสวัดเชียงมั่น

 

วิเคราะห์ตำนานช่วงที่สอง 7 ประเด็น

ประเด็นแรก นามของพระภิกษุทั้ง 3 รูป พบว่า 2 ใน 3 เป็นบุคคลที่มีนามเดียวกันกับพระภิกษุสายป่าแดงของล้านนา ได้แก่ สีลวํโส (สีละวังโส) ก็คือพระสีละวงศ์ เคยเป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงสมัยพระเจ้าติโลกราช กับพระญาณคัมภีร์ รูปนี้เป็นหัวหน้าคณะสงฆ์ล้านนาที่นำทีมพระหนุ่มเณรน้อยประมาณ 35 คนไปศึกษาต่อในลังกา แล้วกลับมากลายเป็นคณะผู้บุกเบิกนิกายลังกาวงศ์สายป่าแดง หรือนิกายสีหล

ส่วนอีกชื่อนั้น พระเรวัติ หรือเรวะโต ดิฉันพยายามสืบค้นและสอบถามผู้รู้หลายท่าน ยังไม่พบนามนี้ในทำเนียบพระภิกษุล้านนาเมื่อ 500 ปีก่อนจากเอกสารเล่มใด ไม่ว่านิกายสวนดอกหรือนิกายป่าแดง

ประเด็นที่สอง ว่าด้วยการส่งพระภิกษุล้านนาไปอินเดีย-ลังกา คนส่วนใหญ่ทราบว่ามีการส่งพระภิกษุล้านนาไปศึกษาวิชาความรู้และบวชใหม่ที่ลังกาจริง ส่วนการไปอินเดียนั้น พระภิกษุล้านนาจะไปด้วยล่ะหรือ

พบว่าในสมัยพระเจ้าติโลกราช ช่วงที่จะสร้างวัดมหาโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) ได้มีการส่งคณะนายช่างคือชุดของหมื่นด้ำพร้าคตไปศึกษาดูงานที่อินเดียจริง แถมเมืองที่ไปนั้นคือแคว้นพิหาร อันเป็นที่ตั้งของสังเวชนียสถานสำคัญคือ “พุทธคยา” เพื่อจำลองรูปแบบของเจดีย์ทรงสิขระมาสร้างบนหลังคาวิหารวัดเจ็ดยอด

นอกเหนือจากทีมวิศวกร นายช่างก่อสร้างแล้ว ย่อมมีกลุ่มของพระภิกษุล้านนาร่วมขบวนไปด้วยอย่างน้อย 3 รูป แล้วช่วงนั้นนั่นเอง ณ เมืองพุทธคยาที่นี่เอง คณะชาวล้านนาคงได้ขออาราธนาเอา “พระพุทธรูปปางทรมานช้างนาฬาคิรี” ศิลปะปาละมาด้วย 1 องค์ เมื่อมาถึงล้านนาได้เฉลิมนามว่า “พระศีลาเจ้า”

หมายความว่า ล้านนาคงได้พระศีลาเจ้ามาจากอินเดียโดยตรง ไม่ใช่ผ่านมาจากลังกาอีกต่อหนึ่ง

ประเด็นที่สาม ใครคือ “พระเจ้าอนุราช” แน่นอนย่อมไม่ใช่ “พระเจ้าอนิรุทธมหาราชแห่งพุกาม” คำว่า “อนุราช” เป็นคำเดียวกันกับ “อนุราธ” หมายถึงกษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งแห่งกรุงอนุราธปุระ ราชธานีโบราณของลังกา ซึ่งน่าสงสัยว่า คณะภิกษุและนายช่างล้านนากลุ่มนี้ แวะไปสถานที่ใดในลังกา?

ในเมื่อช่วง พ.ศ.2000 นั้น เมืองอนุราธปุระไม่ได้เป็นศูนย์กลางการปกครองและศาสนาอีกต่อไปแล้ว มีการย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองโปลนนารุละตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 และหลังจาก พ.ศ.2000 อีกไม่กี่ทศวรรษ ก็จะมีการย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองแคนดี้อีก ดังนั้น เราจึงไม่ทราบว่า พระเจ้าอนุราช ควรเป็นใคร

ประเด็นที่สี่กับประเด็นที่ห้า ขอวิเคราะห์ร่วมกัน ได้แก่ ประเด็นที่สี่ เมือง “ละเขื่อง” คือเมืองอะไร อยู่ที่ไหน และประเด็นที่ห้า เส้นทางกลับจากลังกามาสู่ล้านนาของคณะสงฆ์นั้น ใช้เส้นทางไหน ต้องผ่านเมืองอะไรบ้าง

ในตำนานนี้ คณะภิกษุไม่ได้แวะเมือง “นครศรีธรรมราช” แต่กลับแวะเมือง “ละเขื่อง” ชื่อค่อนข้างแปลก จะใช่เมืองมะริด หรือตะนาวศรี ได้หรือไม่? ควรเป็นเส้นทางที่สามารถตัดเข้าด่านแม่สอด เพราะหลังจากนั้นคณะก็แวะพักเมือง “ศรีสัชนาลัย”

ดิฉันพิจารณาถึงเส้นทางของคณะพระญาณคัมภีร์ สมัยยังเป็นพระหนุ่มเณรน้อยช่วงที่เดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่ลังกานั้น ขากลับได้มีการแวะพำนักที่กรุงศรีอยุธยาอยู่นานถึง 4 ปี ก่อนจะขึ้นมาจำพรรษาที่สุโขทัย แต่…คงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้เรียกขานกรุงศรีอยุธยาว่า “เมืองละเขื่อง”

ประเด็นที่หก ทำไมจึงหยุดแค่นครลำปาง ไม่เข้าลำพูน เชียงใหม่? แล้วไฉนตอนแรกบอกว่าเป้าหมายคือจะนำพระศีลาเจ้าไปประดิษฐานยังหริภุญไชย? เกิดอะไรขึ้นล่ะหรือ จู่ๆ เมื่อมาถึงนครลำปาง ตำนานก็อธิบายว่า มาถึงที่หมายเรียบร้อยแล้ว

ซ้ำยังมีชื่อบุคคลที่มีตัวมีตนจริงๆ ในประวัติศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอีก นั่นคือ “หมื่นด้งนคร” เจ้าเมืองลำปางในสมัยพระเจ้าติโลกราช

 

สัญลักษณ์ของคณะสงฆ์สายป่าแดงไปพุทธคยา

ประเด็นที่เจ็ด การจำลองเส้นทางกลับจากพุทธคยาของคณะสงฆ์ล้านนาสายป่าแดง ซึ่งน่าจะเป็นบทสรุปของตำนานช่วงที่สองนี้

หากเราตัดเรื่องความไม่สมเหตุสมผลออกไป เช่น การนำเอาบุคคลที่มีอยู่จริงคนละยุคสมัยไปพบกัน นั่นคือเอาคณะพระญาณคัมภีร์ไปพบกับพระเจ้าอชาตศัตรู เป็นต้น (ถ้าเป็นจริง พระญาณคัมภีร์ก็ต้องมีชีวิตอยู่ในช่วงหลังพุทธกาลหมาดๆ ด้วยเช่นกัน) รวมทั้งตัดปาฏิหาริย์ต่างๆ ออกไป

จะพบว่าหัวใจของตำนานช่วงที่สองนี้ ผู้รจนาตำนานต้องการตอกย้ำว่า พระภิกษุล้านนาทั้ง 3 รูปนี้ ไปได้พระพุทธรูปสมัยปาละจากดินแดนอินเดียเมืองพุทธคยาด้วยตนเองจริงๆ กับมือ ไม่ใช่ได้จากพระภิกษุลังกานำมาถวายให้พระเจ้าติโลกราช ณ ดินแดนล้านนา

สรุปเส้นทางการอัญเชิญพระศีลาเจ้ามาสู่ล้านนามีดังนี้ ราชคฤห์ (อันที่จริงคือพุทธคยา แต่ชาวอุษาคเนย์ทั่วไปในยุคที่เขียนตำนานอาจรู้จักเฉพาะชื่อกรุงราชคฤห์, พาราณสี, มิถิลา เพียงไม่กี่ชื่อ)-ลังกา-ละเขื่อง (มะริดหรือตะนาวศรี)-ศรีสัชนาลัย-นครลำปาง-เชียงใหม่

หมายเหตุ เมืองสุดท้ายคือเชียงใหม่นี้ จะกล่าวถึงและชวนวิเคราะห์อย่างละเอียดฉบับหน้า ว่าด้วยช่วงที่สามของตำนาน

ถ้าเป็นจริงตามที่ดิฉันสันนิษฐานนี้ กล่าวคือ พระเจ้าติโลกราชได้พระศีลาเจ้ามา ในห้วงเวลาที่มอบหมายให้พระภิกษุสายป่าแดงไปพุทธคยา เตรียมสร้างวัดเจ็ดยอดเพื่อรองรับการสังคายนาพระไตรปิฎกนั้น

โดยนัยยะแล้ว “พระศีลาเจ้า” ควรเป็นสัญลักษณ์ของการสังคายนาพระไตรปิฎก หรือควรเป็นเครื่องรำลึกถึงสังเวชนียสถาน “พุทธคยา” ในอินเดีย ดังนั้น จึงควรที่จะได้รับการประดิษฐาน ณ วัดเจ็ดยอด แต่เหตุไฉน พระศีลาเจ้ากลับประทับที่วัดอื่นๆ

ตำนานช่วงที่ 3 ระบุว่า หลังจากนครลำปางแล้ว หมื่นด้งนครถวายพระศีลาเจ้าแก่นครเชียงใหม่ วัดแรกที่ประดิษฐานคือวัดป่าแดงหลวง จากนั้นย้ายไปวัดหมื่นสาร วัดสวนดอก (ช่วงสั้น) กลับมาวัดหมื่นสารอีกครั้ง และจบลงที่หอพระแก้วขาว?

แสดงว่าคนเขียนตำนานรู้เหตุการณ์ล่าสุดเพียงเท่านั้นล่ะหรือ แล้วใคร ยุคไหนนำพระศีลาเจ้ามาประดิษฐาน ณ วัดเชียงมั่น?