ผี พราหมณ์ พุทธ : ลาทีปีเก่าและอานุภาพของการลืม / คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

 

ลาทีปีเก่าและอานุภาพของการลืม

 

ผมชอบประโยคหนึ่งในโยคะสูตรของท่านมหามุนีปตัญชลิ ท่านกล่าวถึงการทำงานของ “จิต” ไว้หลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ “การจำ”

นิยามความหมายของการจำมีอยู่ว่า “การจำ คือการไม่ปล่อยให้ประสบการณ์ลบเลือนหายไป”

เรามีประสบการณ์ต่างๆ มากมายในโลกนี้ แต่มีไม่กี่ประสบการณ์ที่เราไม่ยอมปล่อยให้มันลบเลือนหายไป ให้มันค้างคาอยู่ในมโนความคิด และแม้มันจะเป็นเพียงความทรงจำแต่ก็ก่อให้เกิดสภาวะทางอารมณ์ความรู้สึกได้มากมายแม้เพียงระลึกถึง

ที่น่าสนใจคือโยคะสูตรไม่ได้พูดถึง “การลืม” ในฐานะการทำงานของจิต ผมเดาเอาเองว่า เพราะการลืมเป็นธรรมชาติของสรรพสิ่งซึ่งอยู่ในฟากของความเสื่อมถอยหรือสูญสลาย พูดแบบสำนวนเดียวกันกับโยคะสูตรก็ต้องบอกว่า การลืมคือการที่ประสบการณ์ลบเลือนหายไป (ตามธรรมชาติ)

ดังนั้น เมื่ออายุขัยมากขึ้น ความเสื่อมสลายมาเยือน เราก็ลืมมากและง่ายขึ้นไปเอง

ขนาดปณิธานปีใหม่ที่หลายคนมักจะตั้งเอาไว้ เช่น จะลดความอ้วน หรือจะกินให้น้อยลง บางคนผ่านไปสองอาทิตย์ก็ลืมเสียแล้ว (ฮา)

 

นักวิทยาศาสตร์บอกว่า กลไกของการลืมเป็นธรรมชาติที่สำคัญทางจิตวิทยา เพราะช่วยให้เราไม่ต้องเจ็บปวดกับสิ่งต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ช่วยให้เราใช้ชีวิตต่อไปได้ กระนั้นอาจมีผู้กล่าวว่า เราแค่กลบฝังมันไว้ ในจิตใต้สำนึกหรือจิตไร้สำนึกเท่านั้น มันอาจไม่ได้หายไปไหน

การทำงานกับบาดแผลทางใจบางครั้งจึงจำเป็นที่จะต้องขุดเอาสิ่งที่ถูกฝังกลบหรือถูกลืมขึ้นมาเพื่อพิเคราะห์มันอีกครั้ง

การทำงานกับบาดแผลจึงไม่ง่าย หลายคนจึงอยากกลบฝังมันเอาไว้ชั่วกาลนาน ทว่า อย่างที่ผมได้เล่าให้ฟังในอาทิตย์ที่แล้วครับว่า จิตใจของเราทำงานอยู่ห้าเปอร์เซ็นต์ อีกเก้าสิบห้าเปอร์เซ็นต์มันซ่อนอยู่ และมันจะออกมาทำงานเมื่อเราใกล้จะตาย เราจึงเห็นผู้ใกล้ตายมีภาวะหลายอย่างช่วงใกล้สิ้นใจ เช่น นึกถึงเรื่องเก่าๆ ขึ้นมาได้ ร้องเรียกหาพ่อแม่ หรือมีอาการทางกายต่างๆ

ครูบาอาจารย์จึงมักแนะนำให้เราทำงานเยียวยากับความทรงจำของบาดแผลเหล่านั้น ไม่ว่าจะทางจิตวิทยาหรือการภาวนา (ที่ไม่ใช่การหนี) เพื่อค่อยๆ โอบรับและเยียวยาบาดแผลเหล่านั้น

 

ในทางศาสนา การลืมนอกจากจะเป็นสิ่งที่เกิดตามธรรมชาติแล้ว ยังมีความเกี่ยวพันกับคติความเชื่อหลายอย่างด้วย เพราะหากเราไม่ลืมเสียแล้ว ความสัมพันธ์ของผู้คนจะยุ่งเหยิงวุ่นวายน่าดู

การลืมจึงไม่ใช่แค่กลไกของร่างกาย แต่เป็นกลไกของจักรวาลด้วย

ศาสนาที่เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด เช่น ฮินดู พุทธ ฯลฯ มีมโนคติว่า เราทั้งหายได้เกิดมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าในภพชาติต่างๆ มากมายนับไม่ถ้วน นั่นแปลว่าเราได้พบปะและสัมพันธ์กับผู้คนและสรรพสัตว์มากมายเหลือคณา

ท่านว่า ภพชาติเหล่านี้ย้อนไปไม่สิ้นสุด ไม่รู้ว่าเริ่มต้นที่ได้ รู้แต่ว่ามันหมุนวนไปเรื่อย หาต้นไม่ได้ หาปลายไม่เจอ

เราจึงเคยเกิดเป็นคนรักและศัตรูของใครต่อใคร เราทั้งเคยทำร้ายและถูกทำร้ายมามากมาย ทั้งเบียดเบียนและถูกเบียดเบียนมาสารพัดรูปแบบ

ด้วยเหตุนี้ หากเราจำได้เสียแล้วว่า ในภพชาติก่อนๆ เราเป็นใคร ใครมาทำร้ายเรา หรือเราไปทำร้ายใคร คงจะเกิดการแก้แค้นกันวุ่นไปหมด

ในระบบความเชื่อแบบนี้ เราจึง “ต้อง” ลืมสิ่งที่เกิดขึ้นในภพชาติต่างๆ

 

ชาวจีนมีนิทานเกี่ยวกับปรโลก คือเรื่อง “ศาลาคุณยายเมิ่ง” ว่ากันว่า ดวงวิญญาณของผู้ตายที่กำลังจะไปเกิดใหม่ จะต้องผ่านศาลาของคุณยายท่านนี้ ท่านไร้ชื่อ มีเพียงแซ่ “เมิ่ง” เท่านั้น ชาติก่อนท่านเป็นผู้ปฏิบัติธรรมจึงลืมทั้งความรักและความแค้น ลืมทุกสิ่งแม้แต่ชื่อตัว เลยได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่แจกน้ำแกงสำหรับดวงวิญญาณ

เหล่าดวงวิญญาณจะถูกบังคับให้ดื่ม “น้ำแกงห้ารส” (ผมคิดว่าเป็นอุปมาถึงรสชาติต่างๆ ของชีวิต) เมื่อดื่มแล้วจะลืมอดีตชาติ และจะไปเกิดตามแรงกรรมต่อไป เราจึงไม่สามารถจดจำอดีตชาติได้

ในทางกลับกัน ก็เพราะเราจำอดีตชาติไม่ได้ เราจึงไม่ทราบว่าเราผ่านความทุกข์มามากมายมหาศาลเพียงใด นั่นทำให้เราประมาทต่อการใช้ชีวิต คิดเสียว่าเดี๋ยวมันก็จบๆ ในสายธารสังสารวัฏอันยาวไกลเราจึงท่องเที่ยวต่อไปเรื่อยๆ ไม่รู้ตัวว่าเหน็ดเหนื่อย

ด้วยเหตุนี้ ในการบรรยายถึงการตรัสรู้ของพุทธะ ยามแรกก่อนตรัสรู้ พระพุทธะได้บรรลุญาณแรกคือการระลึกชาติย้อนไปอย่างมหาศาลที่เรียกว่า “ปุพเพนิวาสานุติญาณ”

หากให้ผมพิเคราะห์ การระลึกชาตินี้คงมิได้หมายถึงคุณวิเศษอย่างที่เราคิดกันแต่เพียงอย่างเดียว แต่น่าจะมีความหมายที่เกี่ยวกับความเหน็ดหน่ายต่อ “สังสารวัฏ” คือย้อนไประลึกรู้สึกถึงการเดินทางอันยาวนานวกวนไม่รู้จบของตนและสัตว์อื่นๆ จนเกิดการตระหนักถึงทุกข์

ซึ่งเป็นความจริงแรกในอริยสัจสี่ อันนำไปสู่การตรัสรู้ในที่สุด

 

ในทิเบตมีนิทานธรรมเกี่ยวกับความไร้สาระแห่งสังสารวัฏ เพราะเหตุที่เราลืมภพชาติก่อนๆ นี่แหละครับ ผมเลือนๆ แต่จำได้ประมาณนี้ว่า หญิงสาวคนหนึ่งอุ้มและให้นมลูก ขณะเดียวกันกินเนื้อแกะย่างไปด้วย มีตัวหนึ่งสุนัขเข้ามาป้วนเปี้ยน เธอจึงเอาไม้ขว้างสุนัขตัวนั้นจนมันบาดเจ็บ

พระโพธิสัตว์องค์หนึ่งผ่านมาเห็น จึงบังเกิดธรรมสังเวชว่า ที่จริงแล้ว ลูกของเธอที่เธอกำลังฟูมฟักคือศัตรูของเธอในอดีตชาติ ส่วนแกะที่เธอกำลังกินอยู่คือพ่อในอดีตชาติ และสุนัขตัวนั้นคือแม่ในอดีตชาติของเธอเอง

พระท่านถึงสอนให้เราเร่งทำความเพียรให้หลุดพ้นจากสังสารวัฏนี้ให้ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าได้สร้างกรรมหรือกระทำต่อใครมา และเขาจะให้เราชดใช้อย่างไร

 

ที่ผมเล่ามา ที่จริงอยากโยงมาสู่ชีวิตสามัญมากกว่า การเวียนว่ายตายเกิดจะมีจริงหรือไม่ผมก็ไม่ทราบ แต่พระท่านก็ให้อุบายวิธีคิดที่น่าสนใจโดยเฉพาะกับคนที่เชื่อเรื่องพวกนี้ หากเอาไปใช้ได้ก็คงเกิดประโยชน์ ผมจึงนำมาเล่าสู่กันฟัง

กระนั้น ยิ่งไปกว่าการลืมภพชาติที่แล้ว ผมคิดว่าเรื่องการจำกับลืมในชีวิตนี้ก็สำคัญเพราะมีประเด็นทางศีลธรรมด้วย เนื่องจากเราสามารถ “เลือก” ที่จะจำหรือลืมอะไรบางอย่างได้โดยเฉพาะเรื่องทางสังคม

หลายครั้งที่รัฐอยากให้เราจำบางสิ่งและลืมบางสิ่ง โดยเฉพาะในสังคมลอยนวลพ้นผิด เมื่อเราลืมเหตุการณ์หรือความผิดของใครที่กระทำกับสังคมโดยรวม บาดแผลนั้นจะคงอยู่ตลอดไป เราจึงไม่ควรลืม ไม่ใช่เพื่อแก้แค้น แต่เพื่อจะทำให้ความยุติธรรมปรากฏ

ยิ่งในสถานการณ์ที่มีความพยายามจะให้เราลืมนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือนักโทษทางความคิด การลืมเป็นกลไกของอำนาจที่รัฐใช้อย่างได้ผล จับเขาขังไว้ ไม่ให้ประกันตัว โหมประโคมเรื่องอื่นๆ เพื่อให้คนเหล่านั้นหายไปจากความรับรู้ของผู้คน

ผมจึงอยากขอให้เราต่อสู้กับการลืม ให้เราไม่ลืมว่าปีที่ผ่านมาหรือที่ผ่านๆ มาเกิดอะไรขึ้น ใครกำลังอยู่ในเรือนจำ ใครต่อใครเป็นอย่างไร ให้การลืมเป็นอานุภาพของจักรวาลก็พอ แต่อย่าให้เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ

เพื่อที่เราจะได้มีปีใหม่ที่น่าจะมีความหวังได้มากขึ้น

เพื่อเราจะได้ไม่ลืมว่า มีคนที่ควรได้ “สวัสดีปีใหม่” กับครอบครัว

อย่าลืม