ผี พราหมณ์ พุทธ l ของฝากจากชั้นเรียนมรณานุสติ : เรียนรู้เรื่องการเตรียมตัวตายในวิถีพุทธวัชรยาน / คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

 

ของฝากจากชั้นเรียนมรณานุสติ

: เรียนรู้เรื่องการเตรียมตัวตายในวิถีพุทธวัชรยาน

 

วีกนี้ผมขอพักเรื่องเทพเจ้าจีนไว้สักหน่อยเนื่องจากยังไม่ได้ค้นคว้าเพิ่มเติม และต้องเดินทางกลับบ้านเกิดที่ระนองเพื่อมาร่วมงานศพของคุณย่า

ด้วยเหตุนี้จึงอยากจะย้อนไปกล่าวถึงประสบการณ์จากการเรียนในคลาสเตรียมตัวตายที่ผมไปเรียนมาเพราะดูจะเป็นเรื่องเดียวกัน

แม้บางท่านอาจถือโชคลางว่ามาพูดเรื่องตายๆ ช่วงใกล้ปีใหม่ ดูไม่มงคลเอาเสียเลย ก็ขอได้โปรดอภัยผมด้วยเถิดเพราะผมถือตามหลวงพ่อคูณที่ท่านว่า การพูดเรื่องกเฬวรากซากศพนี่เป็นมงคล

โดยเฉพาะเมื่อท่านพูดถึงการเตรียมตัวตายของท่านเอง

 

ช่วงต้นเดือนธันวาคม ผมพาตัวเองออกจากบ้านไปเรียนในคลาสการเตรียมตัวตาย ที่อาศรมวงษ์สนิทซึ่งจัดโดยสังฆะวัชรปัญญาที่ผมเป็นสมาชิกอยู่ โดยทางสังฆะถือว่าเป็นการรีทรีตเข้าภาวนาช่วงปลายปีด้วย

ปกติทางสังฆะจะมีรีทรีตปีละสองครั้ง คือกลางปี ซึ่งใช้เวลาสองถึงสามวัน กับรีทรีตปลายปีซึ่งจะจัดประมาณหนึ่งอาทิตย์ขึ้นไป และยังมีภาวนาและเรียนรู้ร่วมกันทุกสัปดาห์ทางออนไลน์

เอาเข้าจริงผมเคยได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับการเตรียมตัวตายในแนวทางของพุทธศาสนาของทิเบตอยู่บ้าง เช่น คัมภีร์มรณศาสตร์ของทิเบตที่แปลโดยอาจารย์ต้น อนุสรณ์ ติปยานนท์ หรือประตูสู่สภาวะใหม่ ซึ่งท่านพระไพศาล วิสาโล แปลจาก The Tibetan Book of Living And Dying ของโซเกียล ริมโปเช ซึ่งมีชื่อเสียงในบรรณพิภพไทยไม่น้อย

รวมทั้งพอจะมีประสบการณ์จากการดูแลแม่ในระยะสุดท้าย ดังที่ได้เลยเล่าไปแล้วหลายหน

กระนั้น การตายของผู้อื่นก็คือการตายของผู้อื่นครับ ไม่ใช่ประสบการณ์ของเรา นักปรัชญาบางท่านกล่าวว่า ความตายเป็นประสบการณ์ที่ลึกลับที่สุดของมนุษย์เพราะไม่เคยมีใครกลับมาบอกได้ว่าความตายเป็นอย่างไร แล้วพอเราตายเราก็ไปแล้วไปลับเช่นกัน เราจึงมีประสบการณ์แต่เพียงความตายของคนอื่นเท่านั้น

ฝรั่งเขาว่างี้

 

ทว่า พุทธศาสนาฝ่ายวัชรยานเชื่อว่า กระบวนการตายเป็นสิ่งที่เราเรียนรู้และเข้าใจได้ เพราะมีครูบาอาจารย์ในอดีตได้นำเอาประสบการณ์ “ลับ” เหล่านี้รจนาไว้เป็นคัมภีร์ ซึ่งเป็น “ธรรมสมบัติ” ที่สืบทอดกันลงมา คือ คัมภีร์มรณศาสตร์ของทิเบต (The Tibetan Book of the Dead)

ครูบาอาจารย์หลายท่านกล่าวว่า ที่จริงประสบการณ์ของการตายนั้นคล้ายคลึงกับประสบการณ์ในเวลาที่เรานอนหลับ เพียงแต่กระบวนการของการนอนหลับนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อเราตายลงกระบวนการคล้ายๆ กันจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ

กระบวนการดังกล่าวนี้หมายถึงการที่ตัว “จิต” เดิมอันใสกระจ่างของเราได้แสดงตัวออกมา ซึ่งในเวลาปกติเราจะไม่ได้เห็นตัวจิตเดิมแท้ (ทิเบตเรียก ริกปะ) อันนี้

การตายจึงเป็นโอกาสที่สำคัญมากๆ ของนักภาวนา เพราะการปรากฏแห่งจิตเดิมแท้ หรือการปรากฏของจิตในลักษณาการต่างๆ จะช่วยให้นักภาวนาสามารถ “หลุดพ้น” ในช่วงเวลาที่สำคัญนี้ได้

หรือหากคิดตามคติของพุทธศาสนา หากไม่สามารถหลุดพ้นในช่วงเวลาของการตาย ก็ยังสามารถที่จะไปเกิดใหม่ในสภาพที่เหมาะสมเพื่อจะทำกุศลและได้ฝึกฝนปฏิบัติต่อไป

ด้วยเหตุนี้ ชาวพุทธทิเบตจึงมีความเชื่อว่า บรรดาคุรุ (ลามะ) ทั้งหลาย จึงสามารถ “เลือก” ที่จะกลับมาเกิดใหม่แม้ท่านจะตรัสรู้แล้ว เพื่อจะประกอบกรณียกิจที่ท่านยังทำไม่เสร็จในภพชาติก่อน หรือเพื่อทำคุณประโยชน์แก่สรรพสัตว์ตามแต่ปณิธานโพธิสัตว์ของท่าน เพราะท่านได้ฝึกฝนเรื่องนี้มาเป็นอย่างดี

 

หากพูดตามคติพุทธ ที่จริงเราทุกคนก็ต่าง “กลับมาเกิด” กันทั้งนั้น ไม่ต่างจากครูบาอาจารย์ชั้นสูงทุกท่าน แต่เราไม่ได้มีปณิธานที่ชัดเจนหรืออาจยังไม่รู้ว่า เรามี “ภารกิจ” อะไรในชีวิตนี้ อะไรที่เรากลับมาเพื่อจะทำ ซึ่งไม่ใช่เพียงภารกิจเพื่อตัวเองแต่เพื่อผู้อื่นอย่างที่ท่านเหล่านั้นเข้าใจหรือรู้สึก

เราจึงมีชีวิตเพื่อค้นหาภารกิจนั้น แต่ก็น่าเสียดายที่เราหลายคนอาจหาไม่พบ หรือไม่อยากจะหา

คัมภีร์มรณศาสตร์พูดถึงการตายในสองส่วน

ส่วนแรกเป็นกระบวนการการแตกสลายของธาตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นดินน้ำไฟลม เมื่อแต่ละธาตุสลายจากสภาวะใกล้ตาย ผู้ใกล้ตายจะมีอาการต่างๆ ซึ่งมีทั้งส่วนที่สามารถสังเกตได้จากภายนอก เช่น เมื่อธาตุน้ำเริ่มแตกสลาย ร่างกายจะแห้งผาก ริมฝีปากแห้งและแตก เมื่อธาตุลมแตกสลาย จะหายใจได้ลำบากขึ้น หายใจเข้าสั้นหายใจออกยาว เป็นต้น

นอกจากสภาวะที่อาจสังเกตได้จากภายนอก ก็ยังปรากฏสภาวะภายในเช่นนิมิตหรือภาวะทางอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ที่ผู้กำลังตายต้องเผชิญ ซึ่งเราอาจสังเกตเห็นได้ยากมาก

ช่วงที่เราเรียนกันเรื่องกระบวนการตาย บรรดาพี่ๆ นักภาวนาซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ พากันอุทานว่าน่าสนใจจริงๆ ราวกับคนเขียนคัมภีร์เคยตายและฟื้นขึ้นมาบอกอย่างนั้นแหละ เพราะหลายส่วนตรงกับลักษณะที่พบได้ในทางการแพทย์

 

ส่วนที่สองเป็นส่วนหลังจากที่ตาย ทางทิเบตถือว่า เราตายจริงๆ หลังจากการ “ตายทางการแพทย์” ไปแล้วไม่น้อยกว่ายี่สิบนาทีหรืออาจมากกว่านั้น

แต่ “สัตว์” ที่ตายยังคงต้องประสบกับสภาวะแห่ง “ช่วงกลาง” (อันตรภพหรือบาร์โด-ในภาษาทิเบต) ก่อนที่จะไปสู่ภพภูมิใหม่

ขั้นตอนของสภาวะอันตรภพอาจฟังดูเหลือเชื่อ เช่น การมีประสบการณ์ต่อ “แสงกระจ่าง” ซึ่งคือการคลี่คลายตัวเองของจิต จากนั้นจิตก็สำแดงคุณสมบัติต่างๆ ออกเป็นนิมิตแห่งเทพสันติและเทพพิโรธจำนวนมาก และสุดท้ายพลังของกรรมจะชักนำไปสู่การเกิดใหม่

หลายคนอาจเคยได้ยินว่า ใครที่ทำความดีมาตลอดชีวิต มักมีนิมิตของสิ่งดีๆ ใกล้ตาย ส่วนใครที่ประกอบอกุศลกรรมมาตลอดก็อาจเกิดนิมิตที่เลวร้ายขณะใกล้ตาย อันนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานของจิตเช่นกัน

ครูบาอาจารย์ท่านว่า ที่จริงแล้วสภาวะแห่งองค์เทพพิโรธและสันติไม่ใช่สิ่งอื่นใดนอกจากการสำแดงของจิตเราเอง หากเราหวาดกลัวด้วยหลงในมายาภาพของจิต เราก็จะหลงไปสู่กระบวนการต่อไปแทนที่จะได้โอกาสแห่งการหลุดพ้น

ใครสนใจเรื่องนี้ โปรดไปอ่านหนังสือที่ผมกล่าวชื่อไว้ในข้างต้นเถิดครับ หรือจะเรียนในคลาสต่างๆ ที่ยังพอไปเข้าเรียนได้ มีรายละเอียดมากทีเดียว คงมิอาจกล่าวในที่นี้ได้หมด

 

หลายท่านที่ไม่ได้นับถือพุทธ หรือไม่ได้สนใจวัชรยานคงเห็นว่า เรื่องนี้ออกจะแปลกๆ สักหน่อย ดูราวกับต้องอาศัยความเชื่อความศรัทธามากทีเดียว ซึ่งก็ไม่ผิดนักครับ

หากแม้เรายังไม่ได้ศรัทธาหรือเชื่อคำอธิบายดังกล่าว ทว่าครูผู้สอนที่ยอดเยี่ยมในชั้นเรียนนี้ คือคุณวิกตอเรีย สุพีรณะ (Victoria Subirana) ผู้เป็นศิษย์ของลามะหลายท่าน กล่าวสิ่งที่น่าสนใจว่า ที่เราเรียนกันคือจริงๆ แล้วการกลับมาทำงานกับจิตไร้สำนึกหรือจิตใต้สำนึกซึ่งยังคงมีอยู่ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าการทำงานกับความคิดดังที่เราคุ้นเคย

เพราะจิตไร้สำนึกหรือจิตใต้สำนึกที่เราฝังสิ่งต่างๆ ไว้ตลอดชีวิต จะผุดพลุ่งสำแดงขึ้นมาอย่างมากมายเมื่อเราใกล้ตาย เพราะจิตสำนึกไม่อาจซุกซ่อนมันไว้ได้อีกต่อไป (ซึ่งคือเรื่องเดียวกับรูปนิมิตต่างๆ ในภาษาคัมภีร์) หากเราไม่ปลดปล่อยมันออกมาก่อน หรือทำงานกับมัน อาจทำให้เราไม่ประสบกับการตายอย่างสงบ อย่างที่ควรเป็น

ดังนั้น หัวใจของการเตรียมตัวตาย จึงไม่ใช่การเตรียมในระดับของความคิดเท่านั้น แต่คือการปล่อยวางจากความยึดมั่นที่ลึกเข้าไปภายใน

การปล่อยวางในที่นี้จึงไม่ใช่คำสวยๆ ที่เราเอาไว้ปลอบใจ ไม่ใช่การปล่อยวางในเชิงรูปแบบ เช่น สวมชุดขาวปอนๆ อยู่ห้องเล็กๆ ทว่าคือการล้วงเข้าไปทำงานกับสิ่งที่เราไม่อยากเจอในชีวิตของเรา ทั้งปมในอดีต ความน่าเกลียด ความกลัว ความเศร้า ความโกรธแค้น ฯลฯ

เราไม่ได้เข้าไปค้นหาสิ่งเหล่านี้เพื่อจะตอกย้ำหรือเพียงเพื่อก่นด่าสิ่งเหล่านั้น เราใช้วิถีแห่งการภาวนาเพื่อจะค่อยๆ ยอมรับโดยไม่ตัดสิน ด้วยความเมตตาที่เรามีต่อตัวเองและคนอื่นอย่างแท้จริง ซึ่งยากลำบากเหลือแสน แต่เป็นไปได้

เมื่อนั้น การปล่อยวางที่แท้จริงจึงจะค่อยๆ เกิดขึ้น คือการปล่อยวางจากอารมณ์ความรู้สึกด้านลบของตัวเอง จนวันหนึ่งเมื่อความตายมาถึง เราก็ปล่อยให้เราเองตายอย่างสงบได้

หมดพื้นที่เสียแล้ว ถ้ามีโอกาสผมคงจะได้เล่าถึงรายละเอียดอื่นๆ ของคอร์สนี้ที่ผมได้เรียนรู้มาอีก หวังว่าคงเป็นประโยชน์และเป็นความปรารถนาดีจากใจ

ในปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง